เยี่ยมโรงเรียนนอกกะลา ทำความรู้จักแผน PBL และสร้างเครือข่ายเรียนรู้ของครู PLC ออนไลน์ โดย คุณสมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์
ToRzz Apt

นับเป็นครั้งที่ 5 แล้ว สำหรับตัวเองที่ได้ไปเรียนรู้แนวทางการจัดการเรียนการสอน และการออกแบบการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนของโรงเรียนนอกกะลา "ลำปลายมาศพัฒนา" ที่ไม่ว่าจะไปกี่ึครั้งก็มักจะได้อะไรกลับมาขบคิดและเสริมความคิดตลอด เพราะที่โรงเรียนแห่งนี้ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาตนเอง เช่นเดียวกันกับครูพอเพียง เครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเองไม่หยุดยั้งเช่นกัน

สำหรับกิจกรรมล่าสุดที่ได้ไปเยี่ยมเยียนลำปลายมาศพัฒนาครั้งนี้ มีชื่อว่า โครงการเสริมศักยภาพการออกแบบหน่วยการเรียนรู้บูรณาการบนฐานปัญหา (PBL) เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ (PLC) ออนไลน์ ดำเนินการโดยทีมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการสนับสนุนของโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล ระหว่างวันที่ 20 - 23 มิถุนายน 2556 ณ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์

มีเป้าหมายเพื่อให้ครูได้รู้จักวิธีการจัดการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่จับตามอง คือ การออกแบบหน่วยการเรียนรู้บูรณาการบนฐานปัญหา (Project Based Learning : PBL) พร้อมกันนี้ก็หวังให้เกิดเครือข่ายเรียนรู้ (Professional Learning Community : PLC) ของครูออนไลน์ ผ่านเครื่องมือ ICT อย่าง "บล็อก" (Blog) ของมูลนิธิสยามกัมมาจล (www.scbfoundation.com)

ด้านคณะครูที่เข้าร่วมการอบรม มีจำนวน 40 ท่าน ประกอบด้วยครูจากโรงเรียนเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของมูลนิธิสยามกัมมาจล 9 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร จ.ร้อยเอ็ด โรงเรียนบ้านคูเมือง (อ่อนอนุเคราะห์) จ.อุบลราชธานี โรงเรียนประชารัฐสามัคคี จ.นครราชสีมา โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ 206 และโรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น โรงเรียนบ้านไร่พวยมิตรภาพที่ 18 จ.เลย โรงเรียนบ้านห้วยหว้า และโรงเรียนโคกเพชรวิทยาคาร จ.ชัยภูมิ และ โรงเรียนบ้านหนองบัวบาน (บัวบานวิทยาคม) จ.สุรินทร์

โดยระหว่างกระบวนการอบรม ได้เกิดคำพูด แง่คิด ตลอดจนรูปภาพบรรยากาศดีๆ มากมาย ในบล็อกชิ้นนี้ขออนุญาตนำมาแบ่งปันกัน ...

ภาพที่ 1 วง BAR : before action review คุณครูพอเพียงเครือข่ายภาคอีสานตอนบน นำโดยพี่เลี้ยง 'ทีมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม' กำลังชวนกันคิดและแบ่งปันความคาดหวัง และประเด็นการเรียนรู้ที่ต้องการเก็บเกี่ยวจากการศึกษาดูงาน โดยครูหลายท่านสะท้อนว่าปัญหาหลักที่ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นเพราะ ขาดการลงมือทำอย่างจริงจัง และครูยังตีโจทย์หลักสูตรปี 51 ไม่แตก ทำให้ติดตัวเนื้อหา โดยคาดหวังว่าการเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้จะช่วยให้ครูมีพลังใจกลับไปขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และครุ่นคิดทบทวนจนเข้าใจแก่นแกนของหลักสูตรปี 51 มากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 2 ดร.ฤทธิำไกร ไชยงาม หัวหน้าทีมขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชวนครูคิดก่อนเริ่มกระบวนการ บอกว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ PBL ที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ มีข้อดีที่จะเปลี่ยนบทบาทของครูจาก "ผู้บอก - ผู้สอน" มาเป็น "พี่เลี้ยง" สนับสนุนการเรียนรู้ของลูกศิษย์ และ "ครูร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน" วิธีการนี้จะทำให้ครูมีภาระการสอนน้อยลง เพราะเป็นการสอนบูรณาการแปดกลุ่มสาระ แต่ลูกศิษย์ได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

ภาพที่ 3 ในระหว่างการอบรม อ.วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนนอกกะลา วิทยากรหลักของการอบรมฯ ได้พูดถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเีรียนรู้ในเรื่อง "ลำดับขั้นของความเข้่าใจของผู้เรียน 4 ขั้น"

ขั้นที่ 1 มีความรู้ สามารถอธิบายได้อย่างแตกฉาน

ขั้นที่ 2 ลงมือทำได้ ทำเป็น

ขั้นที่ 3 เกิดทัศนคติที่ดี มีความรู้สึกซาบซึ้งต่อสิ่งนั้น

ขั้นที่ 4 เมื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถ่องแท้ จะเป็นพลังทำให้คนเราเกิดเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายใน


ครูวิเชียร ยังบอกด้วยว่า "ครูต้องฝึกตัวเองและฝึกเด็กให้มีความสามารถในการคิดแบบเป็นมโนทัศน์ เวลาเราสอนอะไรเรื่องหนึ่ง เรามักจะบอกความหมาย แต่เด็กเรียนได้แต่ไม่เข้าใจ ท่องได้แต่ไม่เข้าใจ รู้ความหมายแต่ไม่เคยทำ ... การรู้ความหมายอะไรสักอย่างต้องเกิดขึ้นหลังจากได้ีรู้ ได้ทำไปแล้ว ได้เกิดมโนทัศน์ เกิดคอนเซ็บต์ขึ้น แล้วบอกว่าฉันเข้าใจตรงนี้แล้ว อย่่างนี้เกิดความหมายแล้ว เวลาอาจารย์จัดการเรียนอาจสลับตรงนี้ใหม่ ไม่ต้องสอนความหมายแต่ต้น เพราะกว่าที่เราจะเข้าใจเรื่องหนึ่งมันต้องผ่านการทำ การเรียน การรู้ เมื่อเขาได้รู้ ได้ทำ ได้เข้าใจแล้ว เราจึงค่อยให้ความหมาย"

ภาพที่ 4 หลังจากได้เครื่องมือคิดและเครื่องมือการทำงานแล้ว ครูที่เข้าร่วมการอบรมก็ได้ทดลองเขียนแผนการเรียนรู้แบบ PBL ของตัวเอง ซึ่งโรงเรียนสามารถนำกลับไปทดลองปรับใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเสริมประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้

ภาพที่ 5 ครูที่ทำแผน PBL เสร็จแล้วก็ลองนำมานำเสนอให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน ระหว่างนี้ ครูอีกหลายท่านก็เริ่มเปิดบล็อกเขียนบันทึกร่องรอยการเรียนรู้ของตนเองแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเครือข่าย

ภาพที่ 6 บันทึกภาพประทับใจร่วมกันก่อนนำสิ่งที่ได้จากการอบรมไปขับเคลื่อนขยายผลที่โรงเรียนต่อไป