เวทีสังเคราะห์ความรู้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง วันที่ 6 - 7 ส.ค. 57
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์

ระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2557  โครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา) มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสังเคราะห์ความรู้การขับเคลื่อนโครงการในภูมิภาคขึ้น ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยมีมหาวิทยาลัยผู้ประสานงานภูมิภาค และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์

­

­

- เริ่มสังเคราะห์วันแรก -


คุณศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวต้อนรับอาจารย์จากมหาวิทยาลัย-หัวหน้าโครงการฯและอาจารย์จากศูนย์การเรียนรู้ฯทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ "วันนี้เชิญทุกท่านมาร่วมกันถอดบทเรียนในบทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อดึงคุณค่าของการทำงานที่ทุกท่านไปช่วยขับเคลื่อนฯให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้และนำหลักปรัชญาของเรษฐกิจพอเพียงไปใช้"

­

­

ประเด็นการแลกเปลี่ยนวงย่อยของวันนี้

- มหาวิทยาลัย -

บทบาทในการขับเคลื่อนโรงเรียนเครือข่ายเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ อย่างไร

บทบาทการทำงานกับโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ ในการขับเคลื่อนโรงเรียนเครือข่ายเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ อย่างไร

ความสำเร็จ / ปัจจัยความสำเร็จ

ปัญหา / อุปสรรค วิธีแก้ไข

­

- โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ -

(ทำงานกับมหาวิทยาลัย)

คุณลักษณะโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่ดี

การคงคุณลักษณะของโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่ดี

การขยายผลไปโรงเรียนอื่น

ความสำเร็จ / ปัจจัยความสำเร็จ

ปัญหา / อุปสรรค วิธีแก้ไข

­

­

วงแลกเปลี่ยนฯ วันนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ คุณนงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษากิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นผู้อำนวยการเรียนรู

­

­

วงแลกเปลี่ยนโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา คุณครูกัญพิมา เชื่อมชิต อดีตผู้บริหาร และผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี เล่าว่า การขับเคลื่อนฯ โรงเรียนไม่ได้เน้นการสร้างเครือข่าย แต่เน้น "การขยายความรู้" สำหรับเรื่องการขยายผลภายนอกเป็นไปในลักษณะวิทยากรตามที่ได้รับเชิญ เริ่มตั้งแต่บรรยายให้เขาฟัง จากนั้นฝึกให้เขาวิเคราะห์สามห่วงสองเงื่อนไขได้ ต่อมาจึงสาธิตการสอนให้เขาดู วางบทบาทให้เราเป็นครูและเขาเป็นลูกศิษย์ที่เราพาคิดวิเคราะห์ วิธีนี้เขานำไปทำกับเด็กเองได้ ถามเขาว่าวิธีนี้ ครูสนุกไหม ถ้าครูสนุก ลูกศิษย์ก็สนุกไปด้วย ครูหลายคนบอกว่าการสาธิตการสอนทำให้เขาเข้าใจจริง 

­

­

อ.ดุษิต พรหมชนะ ผู้บริหารและคุณครูแกนนำขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนปริ้นส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ บอกว่า ความสำเร็จของโรงเรียนที่ภาคภูมิใจมากคือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ละลายไปเป็นเนื้อเดียวกันกับงานปกติ สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตครู และมีกิจกรรมใหม่ๆ ต่อเนื่อง มีวง PLC ที่ผู้บริหารมอบโจทย์ให้ครูแกนนำใช้ทำวิจัยแล้วนำเอาสิ่งที่ได้ไปใช้ในการนิเทศก์ขับเคลื่อนขยายผลเศรษฐกิจพอเพียงกับโรงเรียนเครือข่าย มีไทม์ไลน์ชัดเจน และกำหนดวันที่ครูจะนำผลงานของเด็กมาแสดง เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ ได้พัฒนาบุคลากร ทั้งเรื่องการเขียนแผน การนิเทศก์ ฯลฯ พร้อมๆ กับ 2. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาเครือข่าย

­

สำหรับลักษณะของศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่ดี มองว่าคือโรงเรียนต้องรู้จักเรียนรู้จากบริบทของตัวเอง และสร้างองค์ความรู้ของตัวเองจากสิ่งที่ตัวเองมี สามารถต่อยอดองค์ความรู้ของตนเองได้ มีกิจกรรมส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจ ทำให้มีผลงานออกมาเรื่อยๆ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูและนักเรียนเพื่อเป็นพื้นที่นำผลงานมาแสดง รวมถึงมีกุศโลบายการขับเคลื่อน เช่น ผู้บริหารมอบโจทย์ให้ครูทำวิจัย ทำให้การขับเคลื่อนเข้มแข็ง ที่สำคัญคือต้องมีเพื่อนร่วมทาง เพราะเราจะได้ทำงานไม่โดดเดี่ยว มีเพื่อนไว้คอยปรึกษาหารือ และได้เห็นวิธีการทำงานของเพื่อนซึ่งมีความหลากหลาย

­

­

­

­ผอ.ธนิตา กุลสุวรรณ โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ความภูมิใจของโรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไรคือการเป็นโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ พี่ดูแลน้อง ไม่ทะเลาะวิวาท ครูของเรามีคุณภาพ ปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนคือความรักความผูกพันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของครู ครูรักลูกศิษย์เหมือนลูก ลูกศิษย์ก็รักครูเหมือนพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่

­

­

ด้าน อ.สมจริง อินทรักเดช และ อ.สุทธิรัตน์ เสนีชัย รร.ห้วยยอด จ.ตรัง บอกว่าที่โรงเรียนมีการขยายผลเศรษฐกิจพอเพียง 4 รูปแบบ


1.การศึกษาดูงานที่โรงเรียน มีเงื่อนไขว่า ผู้บริหารโรงเรียนต้องมา โรงเรียนถึงจะรับดูงาน
2.เปิดบ้านจัดอบรมครูบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง มีวิทยากรอยู่ประจำศูนย์
3.การส่งวิทยากรประจำศูนย์ไปอบรมนอกสถานที่ตามที่ได้รับแจ้งขอการสนับสนุน
4.การเป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษาพอเพียง

­

­

อ.ฉลาด ปาโส ครูแกนนำโรงเรียนเชียงขวัญพิทยา บอกว่า ลักษณะที่ดีของศูนย์เรียนรู้ฯ ของโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม จ.ร้อยเอ็ด คือ เป็นแบบอย่างสถานศึกษาอื่นในการพัฒนา ทั้งในส่วนของผู้บริหารและครู และเป็นที่พึ่งของชุมชนให้บริการการพัฒนาชุมชน

­

­

ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม หัวหน้าโครงการภาคอีสานตอนบน ได้นำเสนอTimeline การขับเคลื่อนโครงการในระดับภาคพบว่าการขับเคลื่อนโรงเรียนให้มีความยั่งยืนคือโรงเรียนที่นำการเรียนการสอนเข้าไปบูรณาการในรายวิชาโดยโฉพาะโรงเรียนที่เข้าใจหลักสูตรปี 51 การเกิดโมเดล 6 เหลี่ยม มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางเชื่อมไปที่โรงเรียนศูนย์และโรงเรียนศูนย์เชื่อมไปโรงเรียนเครือข่ายจนเกิดโมเดลที่สร้างความสำเร็จได้ในที่สุด

­

­

อ.อนันต์ แม้นพยัคฆ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่า "ผมติดตามโดยลงไปที่โรงเรียน ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ตั้ง"คำถาม"กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้"

­

ด้าน รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หัวหน้าโครงการภาคใต้ แลกเปลี่ยนบ้างว่า "การประเมินว่าครูสอนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ผลหรือไม่ ให้ดูที่"เด็กหลังห้อง" เพราะว่าถ้าเด็กหลังห้องเข้าใจแสดงว่าเด็กทั้งห้องก็เข้าใจ"

­

­

ส่วน ผศ.ดร.เรขา อรัญวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชรหัวหน้าโครงการภาคเหนือตอนล่าง บอกว่า "ผู้บริหารสำคัญมากกับความสำเร็จของการเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ และผู้บริหารต้องมีพลังขับเคลื่อนให้ครูทำงานได้ทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจก็ตาม"

­

­

ในกลุ่มย่อย"มหาวิทยาลัย"ช่วงบ่าย ทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ม.ราชภัฏกำแพงเพชร ม.มหาสารคาม ม.ราชภัฏอุบลราชธานี และม.สงขลานครินทร์ เริ่มถอดบทเรียนtimeline ของแต่ละมหาวิทยาลัยต่อเริ่มที่ อาจารย์ต๋อย - ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม หัวหน้าโครงการภาคอีสานตอนบน ม.มหาสารคาม บอกเล่าผ่านโมเดลบันไดสามขั้นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการเรียนการสอน

- ขั้นแรก บอก-สอน-ป้อน-สั่ง

- ขั้นที่สอง ถอดบทเรียน ตั้งคำถาม

- ขั้นที่สาม บูรณาการ แบบ CAL C=classroom (ห้องเรียน) A=(กิจกรรม)Active L=life

­

­

­

สะท้อนบทบาทการทำงานเป็น 8 หัวข้อ

โดย อ.อนันต์ แม้นพยัคฆ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการภาคอีสานตอนล่าง

1.ทำความเข้าใจศูนย์ฯ ทำความเข้าใจความหมายของศูนย์การเรียนรู้ให้ตรงกันเสียก่อน

2.ออกแบบการทำงานร่วมกัน

3.สร้างความเข้าใจในโรงเรียน(ผู้บริหาร+ครู)

4.พัฒนา การเขียนแผน ออกแบบ การสอน ถอดบทเรียน (ครูแกนนำ)

5.จัดวงCOP ทีม ติดตามงาน เสริมกำลังใจ

6.พัฒนานักเรียนแกนนำ ถอดบทเรียน การตั้งคำถาม เลือกมาโรงเรียนละ 5 คน จัดกิจกรรมค่าย

7.พัฒนาฐานการเรียนรู้ (สอนอย่างไร วัดอย่างไร)

8.นิเทศติดตาม

­

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หัวหน้าโครงการภาคใต้ ถอดบทเรียนตอนหนึ่งว่า...การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้วิชาเสริมหลักสูตรที่ให้นักศึกษาราชภัฏในพื้นที่มาเรียน มากินนอนในเวลา 1 เทอม หรือ สองเทอม จนทำให้ครูเข้าใจว่าจะสอนหลักหลักปรัชญาฯ อย่างไร ผลที่เกิดประเมินการเรียนเด็กได้เกรด A 11 โรงเรียน

­

­

­

ในวงของอาจารย์มหาวิทยาลัยสรุปได้ถอดบทเรียนตามที่ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ ได้สรุปบนฟลิปชาร์ต

- บทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

- ปัจจัยความสำเร็จ

- ความมุ่งหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

- วิธีการประเมิน

- การ feedback

- การขยายผล

- รูปแบบวิธีการขยายผล

- บทเรียนของอาจารย์มหาวิทยาลัย

โดย ดร.เจือจันทร์ได้ให้คำถามเป็นการบ้านคืนวันที่ 6 ส.ค. 

- อะไรที่เป็นความสำเร็จของโครงการที่อาจารย์ทำ ?

- มีใครเกิดการเปลี่ยนแปลง ในด้านไหน อย่างไร ?

- บทเรียนที่แต่ละคนได้รับจากการทำงานคืออะไร อย่างไร ?

­

­

- วันที่สองของการประชุมฯ : นำเสนอผลการสังเคราะห์ความรู้และโมเดล - ­

­

­

­

­

ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม หัวหน้าโครงการภาคอีสานตอนบน ม.มหาสารคาม ได้สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของตนเองได้เกิดผลดังนี้

• เกิดเครือข่ายการขับเคลื่อนฯ หลายระดับ (LLEN มหาสารคาม)

• ได้รูปแบบการขับเคลื่อนฯ ที่ประสบผลสำเร็จ ได้แนวปฏิบัติที่ดี และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนฯ สู่โรงเรียนในบริบทต่างๆ

• บุคลากรของโรงเรียนจำนวนมาก รู้และเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาจำนวนมาก สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนได้อย่างถูกต้อง

• เกิดการเปลี่ยนแปลงกับนักเรียนแกนนำจำนวนมาก ทำให้นักเรียนแกนนำรู้จักตนเอง ภูมิใจในตนเอง และมั่นใจในตนเอง มีการวางแผนชีวิตและกล้าตัดสินใจดำเนินตามความมุ่งมั่นของตนเอง หลายคนอยากเป็นครู บางคนอย่างเรียนต่อเพื่อทำงานสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ

• ทำให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนฯ ภายในมหาวิทยาลัย จนมอบหมายเป็นนโยบายให้สำนักศึกษาทั่วไป โดยศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ ดำเนินการอย่างเป็นระบบ

­­

­

จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามในฐานะผู้ดูแลโครงการระดับภาคอีสานตอนบน สู่โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ โดย อาจารย์ฉลาด ปาโส เสริมว่า การทำงานร่วมกับม.มหาสารคามใช้หลักเดินไปพร้อมๆกัน ทั้งทำความเข้าใจเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการนำไปใช้ในโรงเรียนโดยใช้หลักสูตรแกนกลาง 51พร้อมทั้งออกแบบกระบวนการร่วมกัน และที่น่าสนใจคือให้คุณครูศูนย์ฯ สาธิตการสอนว่ามีวิธีนำหลักฯไปลงสู่ตัวเด็กได้อย่างไรทำให้คุณครูเกิดความเข้าใจได้อย่างแท้จริง

­

ผู้อำนวยการธนิตา กุลสุวรรณ โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ฯ เรียนรู้จากโรงเรียนเชียงขวัญฯ จนเกิดเป็นศูนย์ฯ เรียบร้อยแล้วและได้นำความรู้เรื่องการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การเรียน การสอน อาทิโรงเรียนหนองผักชี โรงเรียนโคกเพชร จนทั้งสองโรงเรียนเกิดความเข้าใจหลักคิดได้ดีขึ้นจนเห็นผลเช่นให้โรงเรียนโคกเพชรไปดูงานที่โรงเรียนหนองผักชีเมื่อเห็นว่าโรงเรียนเขาสะอาด สะอ้านกว่าก็กลับมาปรับปรุงโรงเรียนตัวเองโดยใช้งบประมาณไม่มากแต่ผลที่ได้โรงเรียนถูกซ่อมแซมจนดูดีขึ้น

­

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการภาคใต้ นำเสนอมีวิธีการสอนครูให้เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร มี 4 หลักได้แก่ ให้ความรู้ ฝึกทักษะที่จำเป็น ทดลองสอน สรุปผล/แลกเปลี่ยนเรียนรู้

­­

อาจารย์จรวยพรรณ เย่าเฉื้อง ครูศูนย์การเรียนรู้ฯ โรงเรียนห้วยยอด นำเสนอว่า "ข้อค้นพบคือถ้ามีศูนย์การเรียนรู้ฯ ใด ต้องการให้โรงเรียนห้วยยอดเข้าไปช่วยพัฒนาเราจะจัดเวทีครูและนักเรียนควบคู่กันไปด้วยถึงจะเห็นผลและประสบความสำเร็จได้"

โดยขยายการจัดกระบวนการเรียนรู้หน่อยการเรียนรู้ครูพอเพียง มี8 หน่วยดังนี้

หน่วยที่ 1.Bar เปิดใจครูพอเพียง

หน่วยที่ 2.ใช้หลักเพียงพอ

หน่วยที่ 3.ต่อยอดด้วยหลักคิด หลักยึด หลักปฏิบัติ

หน่วยที่ 4 จัดฐานการเรียนรู้สู่จิตอาสา

หน่วยที่ 5 พาสู่การจัดการเรียนรู้

หน่วยที่ 6 บูรณาการด้วยโครงงาน

หน่วยที่ 7 สานต่องานวิจัย

หน่วยที่ 8 ใส่ใจพัฒนา

หน่วยที่ 9 AAR สรุปบทเรียน

­

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า “ท่านที่สามารถหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จในโรงเรียนจะมุ่งไปที่ตัวครูเป็นหลัก เป็นจุดสำคัญมากที่ไปทำเรื่องการศึกษาไม่ใช่เฉพาะเรื่องการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปทำให้เป็นเรื่องซีเรียสมาก ได้มองเห็นสถานการณ์เป็นจริงของไทย บันไดก้าวแรกทำความเข้าใจ ครู – เด็ก เข้าใจ ปรับใช้เป็นหลักคิด วิเคราะห์ บันไดขั้นสุดยอดคือสามารถนำไปใช้ให้เกิดเป็นคาแร็คเตอร์ บิ้วดิ้ง ก่อนเราจะปรับบุคลิกเด็กให้มีคาแร็คเตอร์แบบนี้ไม่ใช่ไปพูดได้อย่างเดียวต้องไปออกแบบให้เด็กนำหลักฯ ไปฝึกใช้บ่อยๆ ตั้งแต่ระดับประถม ถึงมัธยมฯ ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ใช้เป็น เพราะหลักฯ นี้เป็นทักษะอย่างหนึ่งจึงจำเป็นต้องฝึกใช้ เน้นแอ็คทีฟเลิร์นนิ่งให้เด็กฝึกในทุกกระบวนการใช้ ส่วนมหาวิทยาลัยก็ใช้ความเชี่ยวชาญมาเสริม เติม มาช่วยแบบเพื่อนช่วยเพื่อส จุดเงื่อนไขความสำเร็จคือการปรับเปลี่ยนครู และให้เชื่อมรอยต่อระหว่างครูกับเด็ก ผู้อำนวยการก็สร้างบรรยากาศหนุนให้ครูทำได้สำเร็จ”

­

ผู้อำนวยการธีระเชษฐ์ ป้องจันมณีสกุล โรงเรียนอนุบาลประชารัฐสามัคคี ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ บอกว่า "ต้องให้ผู้ปกครองเห็นพฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคล โดยให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการปลูกฝังเด็ก และที่สำคัญเราใช้ป้อนคำถามด้วย mindmaping กับครูและนักเรียน"

­

อ.กัญพิมา เชื่อมชิต อดีต ผอ.โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพชรบุรี กล่าวว่า "การทำเรื่องการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ ไม่ได้ เพราะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ต้องหากิจกรรมใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ กิจกรรมใหม่ๆ ทำให้เกิดการตื่นตาตื่นใจ คนที่เป็นผู้บริหารต้องคิดงานอยู่เรื่อยๆ คิดเรื่องใหม่ๆ คิดบนหลักปศพพ. ให้หลักปศพพ.ซึมซับอยู่ตลอด และต้องทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ"

­

­

ก่อนปิดเวที ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ฝากไว้ว่า "หวังว่าอาจารย์ทุกท่านยังมีไฟที่จะทำงานเพื่อชาติต่อไป เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่เป็น"ไฟไหม้ฟาง"อย่างแน่นอน"

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่

http://www.scbfoundation.com/activity_detail.php?p...