โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕
นงนาท สนธิสุวรรณ

 
 มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดประชุมโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ เมื่อ วันที่ ๒๘-๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ รร.วินเซอร์สวีท สุขุมวิท กทม. เพื่อ ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน พัฒนางานของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงและทีมงานประสานภูมิภาคของโรงเรียนศูนย์การ เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มรฏ.อุบลราชธานี มรฏ.กำแพงเพชร สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซี่ยน ม.มหิดล ม.มหาสารคาม ม.สงขลานครินทร์ ทีมงานภาคกลางและกทม. และทีมงานเสริมศักยภาพ ๔ จ.ภาคใต้ )
 

 
    คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศ.กิติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา  ทรงพล เจตนาวณิชย์ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร นงนาท สนธิสุวรรณ  และ ศศินี ลิ้มพงษ์
 

 
    โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้และเครือข่าย ๒๘ แห่งโดยผู้อำนวยการ คณะผู้บริหารและครูจากทุกภูมิภาค ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ กว่า ๖๐ คน

   การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ ๒ นี้เป็นการสรุปความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค แนวทางการแก้ไข รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีการขับเคลื่อนของแต่ละภูมิภาค ทั้งในมิติของโรงเรียนแกนนำ มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง และทีมประสานงาน รวมทั้งการรับฟังคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางขับเคลื่อนโครงการฯ จนบรรลุวัตถุประสงค์ของการมีศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน ๘๔ ศูนย์ในช่วงปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖
     
   ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานการประชุม ได้ชี้ให้เห็นเป้าหมายที่สำคัญของการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อนำไปสู่ความอยู่รอดของบ้านเมือง บนรากฐานอันมั่นคงของความพอเพียง โดยเพิ่มทักษะชีวิต อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ 21st Century Skills แก่เยาวชน ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งต่อความท้าทายของกระแสบริโภคนิยมที่นับ วันจะถาโถมรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นนี้ จึงอยากเห็นแบบ อย่างที่ชัดเจนของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันอย่างแท้จริงของครูและเยาวชน   และครูเพื่อศิษย์ควรสร้างห้องเรียนกลับทาง ให้นักเรียนตั้งโจทย์ปัญหามาจากการเรียนผ่านสื่อที่บ้าน ในขณะที่ครูใช้เวลาสอนในห้องเรียนน้อยลง แต่ให้เด็กคิดวิเคราะห์เองมากขึ้น
    
      การนำเสนอรายงานความคืบหน้าของผู้ร่วมโครงการฯในครั้งนี้ อาจสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ :
... บทบาทของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ได้เข้ามาเติมเครื่องมือการเรียนรู้ ให้การบ้าน นิเทศติดตาม  พาคิดพาทำ และจัดการให้เกิดเครือข่ายเรียนรู้ในระดับโรงเรียนและพื้นที่ ... ทุกมหาวิทยาลัย เริ่มที่จะทำความเข้าใจเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกต้อง พร้อมทำการสำรวจทุนของโรงเรียน และส่งเสริมศักยภาพ ตามความต้องการจุดเน้นที่ต่างกัน โดยเข้ามาเสริมศักยภาพครู เรื่องการจัดการเรียนรู้ ออกแบบการเรียนการสอน ทำให้ผู้บริหารเข้าใจชัดเจน มีข้อตกลงร่วมกัน ในการสร้างกลไกขับเคลื่อนภายในโรงเรียน เช่น สร้างPLC ในโรงเรียน รวมทั้งสร้างเครือข่ายเรียนรู้ระดับพื้นที่และภูมิภาค ตลอดจนสร้างเครือข่าย on line ร่วมกัน   

    ในด้านการทำงานของศูนย์การเรียนรู้ฯในสถานศึกษา ๑๕ แห่ง ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยใช้กลไก PBL กับกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาหลักสูตรการทำงาน รวมทั้งการจัดทำแผนรองรับการย้ายของผู้บริหารและครู

    ในส่วนของการขยายผลสู่ภายนอก ได้คิดถึงการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้ามาศึกษาดูงาน และไม่ก่อผลกระทบที่เป็นภาระต่อทรัพยากร และเวลาของศูนย์เรียนรู้ฯ ขณะเดียวกัน พัฒนาหลักสูตรการดูงานแก่ครุและนักเรียนที่ทำหน้าที่วิทยากร รวมทั้งจัดการเครือข่ายการเรียนรู้ด้วย      ข้อสังเกตจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และข้อเสนอแนะจากการประชุม สรุปได้ ดังนี้ : ... ศูนย์ เรียนรู้ฯที่ดี ต้องมีการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีวิธีการพัฒนาทักษะของบุคลากร และวิธีการสร้างเครือข่ายของการเรียนรู้ (PLC) ... สร้างความเข้าใจชัดเจน ในความหมายของคำว่า "พอเพียง" กับ "การปลูกฝังนิสัยพอเพียง" ... การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะได้ผลอย่างแท้จริง คือ สามารถชี้ชวนเพื่อน ให้เห็นคุณค่าของตนเอง ของศูนย์เรียนรู้ฯ หลีกเลี่ยงการใช้โครงสร้างเชิงอำนาจ ... โรงเรียนเครือข่าย มีจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนต่างกัน ส่วนใหญ่เริ่ม จากมีศรัทธาในพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต้องการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน เพื่อมุ่งสู่การเป็นโรงเรียนคุณธรรม ... ความสำเร็จย่อมต้องเริ่มจากผุ้บริหาร ทำตนเป็นแบบอย่าง มีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ สร้างวิสัยทัศน์และอัตลักษณ์ร่วม สร้างความตระหนักและกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริงของบุคลากรทุกระดับในโรงเรียน สร้างแกนนำขับเคลื่อน ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้ครู เชื่อมต่อนโยบายสู่การปฏิบัติของครู ซึ่งเป็นผู้คลี่คลายปัญหาในโรงเรียน และมีการนิเทศติดตาม ... กิจกรรมการเรียนรู้  ให้เด็กลงมือปฏิบัติ เช่น กิจกรรมฐานการเรียนรู้ การทำโครงงานเรียนรู้กับชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน นำมาเชื่อมโยงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย PBL ที่สะท้อนหลักคิดระหว่างการทำงาน รวมทั้งอาจใช้  Mind Map และ PLC ชวนนักเรียนถอดบทเรียนหลังกิจกรรมเหล่านั้น ... การประเมินความสำเร็จมักใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมจากเรื่องเล่า เปรียบเทียบกันก่อนและหลังการเรียนรู้ ... ครูใช้เครื่องมือบันทึกหลังการสอน และการวิจัยช่วยพัฒนางาน ... ผู้บริหารและครูมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโรงเรียน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง  

­

..............................................................................................................................................
ที่มา : มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ