กระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่นเพื่อการจัดการอย่างเป็นระบบ
RATTANAPORN

                 ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมาเป็นโอกาสดีๆสำหรับคณะทำงานของสงขลาฟอรั่ม โดยได้เข้าร่วมฝึกอบรมหลักของการเรียนรู้และปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบในหัวข้อที่ว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ KM ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก คุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิต (พี่โจ้) และคุณอุบลวรรณ เสือเดช (พี่แจง) จากมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ดีๆ กับเจ้าหน้าสงขลาฟอรั่ม

1.คุณค่าที่ได้รับจากการทำกิจกรรม

กิจกรรมวันนี้เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนเงาของความคิดโดยได้จากการฟังตนเอง ฟังผู้อื่นด้วยการใช้ใจฟัง ซึ่งเป็นกระบวนและทักษะการฟังแล้วนำมาคิดตามอย่างมีเหตุและผลที่หลวมรวมโดยการวิเคราะห์ออกเป็นประเด็นเพื่อการนำไปใช้และพัฒนาตนเองและการทำงาน

2.วันนี้ทำกิจกรรมอะไรและมีผลสะท้อนกลับมายังไง


               กิจกรรมที่ 1 การเตรียมความพร้อมทั้งกายและใจ กระบวนการเรียนรู้ในเริ่มจากการที่ พี่โจ้และพี่แจงให้ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายในส่วนของร่างกายด้วยการหลับตาทำสมาธิ ตั้งแต่หน้า แขน ขา เท้า สมอง ใจ ให้มีสติอยู่กับสิ่งที่กำลังจะเริ่มทำและให้ใจกับร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกันพร้อมที่จะเรียนรู้ ในประเด็นเรื่องที่ว่า จากการฟังเราสามารถรับรู้อะไรได้บ้างและเกิดข้อคิดอะไรบ้าง (เน้นเรื่องการฟังเป็นสำคัญ คือ ฟังความคิด ความรู้สึกของตัวเอง /เนื้อหาสาระของผู้เล่า /ความรู้สึก สีหน้า ท่าทางของผู้เล่า)

             กิจกรรมที่ 2 การทำความรู้จักกับทุกคนด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองว่าอายุเท่าไร ครอบครัวเป็นอย่างไร ประสบการณ์ทั้งในด้านของการเรียนและการทำงานโดยให้ทุกคนเล่าประวัติของตนเองและสรุปร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ว่าสิ่งที่เราได้จากการฟังนั้นคืออะไร ผลของกิจกรรมแสดงให้เห็นว่าทุกคนเคยผ่านเรื่องราวต่างๆมามากมายและผ่านการแก้ปัญหานั้นๆภายใต้ มุมมอง ทัศนะคติ ความรู้สึกหรือจะเป็นความคิดที่แตกต่างกัน

              กิจกรรมที่ 3 การฟังแบบแยกแยะประเด็น รูปแบบของการเรียนรู้ โดยการจับคู่เพื่อพูดคุยและเล่าเรื่องที่ตัวเองรู้สึกดีและรู้สึกแย่ให้คู่ของตนเองฟังและจับประเด็น ใจความสำคัญว่าเราได้รับและสัมผัสอะไรได้บ้างจากสิ่งที่เราได้รับฟัง โดยกระบวนการแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ความรู้สึกดีๆ 2.ความรู้สึกแย่ๆ 3.การวิเคราะห์งาน การแยกทั้ง 3 ออกนั้นเพื่อต้องการหาค่าน้ำหนักว่าเราทำงานว่าควรให้ความสำคัญหรือรู้สึกอย่างไรกับทั้งการทำงานและการร่วมงานกับคนในองค์กรและชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างในทั้ง 3 ประเด็น

               กิจกรรมที่ 4 ทำความรู้จักกับตัวละคร/บทบาทในการทำ KM โดย พี่โจ้ และ พี่แจง ชี้ให้เห็นว่าใครบ้างที่มีส่วนร่วมในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้โดยแบ่งออกเป็น 3 บทบาทหลัก 1.คนชวนคุย จะมีหน้าที่หลัก คือการตั้งประเด็นคำถามเพื่อให้คิดและเป็นผู้ฟังเพื่อเก็บรายละเอียดของแต่ละคนทีสื่อสารออกมาทั้งทางคำพูดและภาษากายและต้องทำหน้าที่ในการคุมเวลา2.คนจดบันทึกจะมีหน้าที่หลักในการจดบันทึกเรื่องราวทั้งหมดเพื่อจัดเก็บเป็นความรู้และถ่ายทอด3.ผู้เล่าประสบการณ์ จะมีหน้าที่หลักในการเล่าประสบการณ์ผ่านทางความคิด เหตุการณ์ ให้ผู้อื่นได้รับฟังและคิดตาม

­

               กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมกลุ่มโดยให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มพูดคุยและเล่าประสบการณ์ที่ตนเองภาคภูมิใจที่สุดที่เคยทำมา ว่าของแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไรและจัดทำในรูปแบบการสื่อสารให้คนอื่นรู้ได้ โดยได้แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก คือ 1.กิจกรรม/โครงการที่แต่ละคนไปทำมา 2.ปัญหา/อุปสรรค 3.วิธีแก้ปัญหา 4.ผลสำเร็จและความประทับใจ ในประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ทุกคนได้ทั้งการเรียนรู้วิธีการทำงานในหลายๆด้านทั้งกระบวนการติดต่อประสานงาน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การตัดสินใจภายใต้อำนาจที่ตนมี ความรับผิดชอบ และที่มาพร้อมกัน คือ เมื่อภาพรวมของกิจกรรมมันเกิดผลสำเร็จนั้นการตอบรับและตอบกลับที่เป็นทั้งคำชม ความสนใจ ความสุข รอยยิ้มบนใบหน้าของผู้เข้าร่วมผู้ดำเนินโครงการ

               กิจกรรมที่ 6 การตั้งคำถามในวงสนทนาว่าคุณค่าและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นคืออะไร และโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ กระบวนการทำงาน และผลสรุปสุดท้ายเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ โดยมีประเด็นที่ต้องรู้ คือ 1ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่2.ทำไมต้องทำ 3.ทำกับใคร 4.ทำอย่างไร 5.บทบาทว่าใครทำอะไรบ้าง 6.ทำอะไรได้ดีอะไรสำเร็จ 7.อะไรที่ไม่สำเร็จจะแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น 8.ได้เรียนรู้อะไร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการฟังและคิดอย่ามีเป้าหมายและคาดหวังถึงผลสำเร็จที่ต้องเกิดขึ้นตลอดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

­

3.สิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง

               สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตนเองเข้าใจในหลักและรูปแบบของกระบวนการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบโดยใช้ทักษะทางด้านการฟังเป็นหลักแล้วนำมาเชื่อมโยงกับความคิดอย่างมีเหตุและมีผลเพื่อนำไปวิเคราะห์แยกเป็นประเด็นและสามารถทำการสรุปผลเพื่อการถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาใช้กับกระบวนการทำงานของตนเองได้

­

­

สุพัตรา แกล้วทนงค์

27/6/55