เรื่องเล่าจากงาน worlddidaac : asia education leaders forum
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

                    วันก่อนผมได้มีโอกาสไปงาน worlddidaac : asia education leaders forum ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ไปฟัง ศาสตราจารย์ เกรแฮม ผุ้เชี่ยวชาญ จากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา OECD พูดเรื่อง "มาตรฐานการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา" เกรแฮมนำเสนอสถิติระดับนานาชาติว่าด้วยผลประเมินระดับคุณภาพการศึกษาบ้านเราเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พร้อมทั้งความสำคัญของการวัดและประเมินผลการศึกษาที่จะช่วยตัดสินใจวางแผน ปรับปรุง การศึกษาของโลก โดยใช้มาตรฐาน PISA ค่าตัวเลข ต่างๆ นานามาเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น ผลคะแนนความรู้ของเด็ก เป็นต้น

ผมเห็นความโยงใยว่า ระบบการวัดผลการศึกษาบ้านเรา ไปอิงกับมาตรฐานต่างๆ เยอะมาก เพื่อพยายามที่จะยกระดับคุณภาพความรู้ความสามารถของเด็ก เกรแฮมเองก็ทราบดีว่า การวัดผลเพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษานั้นจะทำให้เกิดความตึงเครียดต่างๆขึ้นมา และผมก็เข้าใจดีว่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่จัดการศึกษาบ้านเรา "ให้ค่า" กับการวัดและและเมินผลในกระบวนทัศน์นี้มากน้อยเพียงใด

ในช่วงเสวนา... ที่ผู้อภิปรายกำลังพูดกันถึง การยกระดับมาตรฐานครู ประสิทธิภาพของการสอน ผมอดไม่ได้ที่จะลุกขึ้นมาถามว่า

.....ในความซับซ้อนของการประเมินผล ที่มีหลายระดับ multi-level ต้องการใช้ประโยชน์จากการประเมินหลายระดับ ทั้งระดับนานาชาติ ระดับประเทศ ระดับชุมชน ระดับโรงเรียน เราจะมี "ทางเลือก" อื่น ในการประเมินไหม ที่จะพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาได้จริงในระดับชุมชน หรือระดับโรงเรียน??? ไม่ใช่การประเมินเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาเมื่อเทียบกับนานาอารยะระเทศ......

ศาสตราจารย์เกรแฮม ตอบได้น่าฟังว่า.. การเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนและชุมชน ได้เข้าร่วม "กระบวนการคิดทบทวน" แกใช้คำว่า "Reflection" เพื่อสนทนา และรับฟังการหาทางออกร่วม ในการพัฒนาปรับปรุงการศึกษา จะทำให้ได้ผลไปใช้ประโยชน์ได้...

ตอนแรกผมไม่คิดว่า คนที่สนใจตัวเลขและมาตรฐานระดับโลก ชี้วัดตามกระบวนทัศน์แบบกลไก จะเข้าใจกระบวนทัศน์แบบองค์รวม อย่างน้อยวันนี้อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ยังมีทางเลือกอื่นในการประเมิน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้แต่หวังว่าผู้นำต่างๆ ที่ฟังอยู่ "จะได้ยิน" และ "มองเห็น" ความสำคัญของชุมชน ในฐานะเจ้าของระบบการเรียนรู้ในท้องถิ่น มากกว่าส่วนกลางระดับอื่นๆ ที่ตั้งมาตฐานของตนเอง ติ้งต่างมาสร้างความเป็นเจ้าของระบบการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่น

นอกจากจะได้ฟังนักคิด นักสร้างสรรค์ นักสร้างวาทกรรมการศึกษา ในห้องประชุมแล้ว แต่ผมก็ยังชอบโซนนิทรรศการ ที่ประเทศต่างๆ ทั้งเยอรมัน จีน เกาหลี อังกฤษ ฝรั่งเศส ขนเอานวัตกรรมการเรียนรู้ สื่อ และเทคโนโลยีมาจัดแสดง ผมเห็นบอร์ดกระดานอัจฉริยะทั้งของไทย ฝรั่ง เกาหลี ที่ใช้นิ้วจิ้มๆ บนจอยักษ์เหมือนคอมพิวเตอร์ เขียนโน้นนี่นั่น ใส่สี เปลี่ยนอักษร จากลายมือ เป็นตัวพิมพ์ เพิ่มรูป search อัตโนมัติ รวดเร็ว วูบวาบ (แต่ถึงยังไงผมก็ยังชอบกระดานดำ กะสีชอล์กมากกว่า สงสัยชอบตอนที่ได้ผลัดเปลี่ยนเป็นเวรเอาผ้าชุบน้ำเช็ดกระดานให้สะอาดตาน่าเขียนเป็นที่สุด) ผมเห็นกระดาน tablet เป็นโต๊ะใหญ่ที่นั่งเล่นได้ 4 คน พร้อม solfware เยอะมาก เกมเอย ฝึกภาษาเอย ฝึกคำนวนเอย ฝึกเรียนชีววิทยา วิทยาศาสตร์เอย ได้แต่คิดว่าน่าสนใจนะ

ผมเห็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่สมัยเรียนวิทย์ตอนประถม มัธยมอาจารย์หวงเป็นที่สุด ยากที่จะจับต้องเอามาใช้ได้อย่างคุ้นมือ แต่ญี่ปุ่นเอามาจัดแสดงได้ คือ พวกบิกเกอร์ หลอดทดลองต่างๆ กล้องจุลทรรศน์ที่เห็นเซลล์ของพืช แมลงตัวเล็กจิ๋วที่กำลังดิ้น แด้กๆ อยู่ในจาน เหมือนมีหัวใจเต้นตุ๊บๆ ปอดยุบๆพองๆ น้ำในตัวไหลไปมา แต่ถ่ายทอดออกจอได้ เห็นกายวิภาคร่างกายคนที่โอ้โห ตับไตไส้พุง ลูกตา ฟัน ออกมาให้หยิบจับ แงะแคะเป็นชิ้นๆ 

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือ ซุ้มของไต้หวัน ที่อาจารย์เข้าไปกันเยอะมาก คือ เค้าแสกน "ลายนิ้วมือ" เพื่อค้นหา "ตัวตน" และความเป็นอัจฉริยะภาพในตัวมนุษย์ โดยเชื่อว่า ลายนิ้วมือ ที่พ่อ แม่ให้มานั้น มันเชื่อมโยงกับระบบสมอง และจิตใจ บ่งบอกความเก่งในตัวเราที่รอการพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ฟังไป ฟังมา คล้ายๆกับว่าจะเป็นหมอดูยังไงก็ไม่รู้ ผมได้ลองไปทดสอบ และโดนโน้มน้าวให้สมัครเรียนวิเคราห์ ค่าเรียน 180,000 บาท เอาความรู้พร้อม solfware ไปใช้ได้ลงทุนครั้งเดียว วิเคราะห์หาตังได้ตลอดชีวิต อย่างกะแฟรนชายน์ ผมว่า คนเข้าซุ้มนี้เยอะเพราะใคร่รู้จักศักยภาพภายในตัวของตนเอง (ที่ถูกกดทับมาให้ไม่เห็นตัวตนที่แท้จริง) คิดไป คิดมา ว่าไม่ต้องๆปแสกนนิ้วมือให้คนอื่นมาบอกหรอกว่าเรามีดีอะไร เราบอกตัวเราเองได้เป็นดีที่สุด วิชาศิลปะ วิชาสนทนา กับครูที่สร้างแรงบันดาลใจ จะเป็นเครื่องมือให้เราได้ค้นพบตัวเอง....