เวที EE ประเมินแบบเสริมพลัง ... ทบทวนวันวาน ตั้งหลักปัจจุบัน ร่วมพัฒนางานสู่อนาคต
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์

­

มูลนิธิสยามกัมมาจล ดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ มีสำนึกความเป็นพลเมือง มีจิตอาสา ใช้ศักยภาพให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม แต่การที่เป้าหมายดังกล่าวจะประ สบความสำเร็จได้นั้น บุคคลที่มีบทบาทสำคัญ คือ คนทำงาน หรือ “พี่เลี้ยง” ซึ่งทำหน้าที่เป็น "โค้ช" สร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชนในพื้นที่

การสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคี มูลนิธิสยามกัมมาจล จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรภาคี ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเติมความรู้-เครื่องมือในการพัฒนาเยาวชนใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

การประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการทำงานโครงการพัฒนาเยาวชนระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 – 11 มิถุนายน 2558 ณ ห้องกินนรี โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ นับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่โครงการในการบริหารจัดการโครงการ และประเมินผลโครงการ โดยใช้เครื่องมือการประเมินแบบเสริมพลัง (Empowerment Evaluation : EE)

สำหรับภาคีที่เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย

1.สงขลาฟอรั่ม ผู้ดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชน (กลุ่มมหาวิทยาลัย)

2.มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ ผู้ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน

3.ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ผู้ดำเนินโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก

4.ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ

­

หลังจากกระบวนการ Check In แนะนำตัวเอง และชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุมโดยพี่โจ้ กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่โครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อการพัฒนาเยาวชนแล้ว ก็เริ่มกระบวนการการประเมินแบบเสริมพลังทันที แต่ละโครงการก็มีสเต็ปการพูดคุยที่แตกต่าง ทว่าเพื่อตอบเป้าหมายเดียวคือ "ทบทวนวันวาน ตั้งหลักปัจจุบัน ร่วมพัฒนางานสู่อนาคต"

­

­

เริ่มต้นที่การทบทวนเป้าหมายของโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยทีมงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์)

­

"3 ปีของโครงการ เป้าหมายที่เราต้องการทำให้ได้ คือ 1.การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีสำนึกของความเป็นพลเมืองผ่านการลงมือทำ 2.การใช้การทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพของทีมงานให้สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ดีขึ้น 3.การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง 4.การสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เป็นคนทำงานในรุ่นต่อไป 5.การพัฒนาเครือข่ายคณะทำงานที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งที่มาจากภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ และ 6.ชุดความรู้เผยแพร่สู่สังคมเพื่อนำไปใช้และพัฒนาต่อยอดได้"

­

ทบทวนการออกแบบกิจกรรมของโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สงขลาฟอรั่ม ผู้ดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชน (กลุ่มมหาวิทยาลัย) นำทีมโดยนางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือ พี่หนู

­

สงขลากับโมเดล "ประเด็น"

สรุปการเรียนรู้ที่สำคัญคือเรื่องของเวลาและการเปิดเรียนตาม AEC มีผลทำให้การจัดทำโครงการมีอุปสรรค แต่ผลลัทธ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีโครงการที่ขับเคลื่อนอย่างได้ผลจำนวน 10 โครงการ แบ่งออกเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยจำนวน 6 โครงการกลุ่มชุมชนจำนวน 3 โครงการ และกลุ่มเครือข่ายเยาวชน จำนวน 1 โครงการ
ซึ่งได้ทดลองโมเดลใหม่ๆ ในการจัดเวที เป็นการจัดเวทีตามประเด็นตามเนื้อหาของกลุ่มเยาวชนได้แก่ 


1.เวทีจิตสำนึกเรื่องขยะในหัวใจพลเมืองรุ่นใหม่ เป็นการเปิดเวทีผนึกกำลังกลุ่มเยาวชนที่สนใจเรื่องขยะเป็นรูปแบบการเรียนรู้สัญจรที่อ.ปริก
2.เวทีเยาวชนกับมิติใหม่ในการทำงานกับภาคราชการ เอกชน และภาคพลเมือง ได้แก่กลุ่มต้นกล้ามนุษยศาสตร์ กลุ่มคนสร้างป่า กลุ่มคันทรีเกลอ
3.เวทีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้แก่กลุ่มเที่ยวทั่วท่อง ล่องนาวา และ Media Saveklongdan
4.เวทีนายหนังพลเมือง มีการจัดผ้าป่าสามัคคี วันที่ 27 มิ.ย.นี้
5.เวทีขยะเป็นทอง ซึ่งอยู่ในระหว่างการประสานงาน

­

­

"โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเป็นกระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนที่พัฒนาตนเองและกลุ่มให้มีทักษะชีวิตและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีจิตสำนึกพลเมือง รักและปกป้องบ้านเกิด" เป้าหมายโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

­

ช่วงทบทวนการออกแบบกิจกรรมของโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ ผู้ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน นำทีมโดยพระครูสุจิณนันทกิจ

­

วิสัยทัศน์พลังพลเมืองเยาวชน จ.น่าน

"พลังเยาวชนกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นน่าน"

-พัฒนาเยาวชนต้นแบบ
-ปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิด
-ยกระดับการพัฒนาเยาวชน จ. น่านในท้องถิ่น
ฯลฯ

­

­

วิสัยทัศน์โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ : เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเป็นพลังพลเมืองแห่งการ "ตื่นรู้" ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วย "ความรู้" ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์

­

­

คุณลักษณะของเยาวชนที่สังคมอยากเห็น : โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเก

1.มีสำนึกความเป็นพลเมือง
2.เป็นแกนนำพัฒนาชุมชน
3.มีสำนึกท้องถิ่น
4.รู้จักตนเอง
5.คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ ใช้ข้อมูลความรู้ในการทำงาน
6.รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
7.กล้าแสดงออก
8.ทักษะในการจัดการโครงการ
9.รู้เท่าทันสื่อ
10.มีการทำงานเป็นทีม การทำงานแบบมีส่วนร่วม

­

­

คุณลักษณะของเยาวชนที่สังคมอยากเห็น : โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยทีมงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์)

เยาวชนมีคุณลักษณะของความเป็นพลเมือง

1.รู้จักชุมชนบ้านตัวเอง
2.รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
3.ใส่ใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
4.คิดเชื่อมโยงและมองโลกเชิงระบบได้ (เรื่องใกล้ตัวเด็ก)
5.มีความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง (ที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง) ประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน
6.ร่วมคิดร่วมทำอะไรเพื่อชุมชนหรือจังหวัดของตัวเอง
7.เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของจังหวัด (หาประเด็นร่วมให้เจอ)
8.มีทักษะการบริหารจัดการโครงการ (การออกแบบกระบวนการ)
9.มีทักษะการเก็บเรื่องราวข้อมูล เรียนรู้ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบโครงการ
10.มีทักษะการสกัดเนื้อหาและสื่อสารผ่านสื่อ / นำเสนอที่สร้างสรรค์

­

­

เยาวชนที่พึงประสงค์ของจ.สงขลา...


พลเมืองเยาวชนมีทักษะมีชีวิตในการส่งเสริมการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง 5 ด้าน
1.ด้านการคิด วิเคราะห์วิจารณ์คิดสร้างสรรค์ตัดสินใจและเชื่อมโยง
2.ด้านตระหนักรู้ในตน ความเห็นใจผู้อื่น ความภูมิใจในตน
3.ด้านการจัดการอารมณ์และความเครียด
4.ด้านการสื่อสารสาธารณะอย่างมีพลัง
5.ด้านการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตสำนึกพลเมือง

­

­

แกนนำเยาวชนต้นแบบที่พึงประสงค์ จ.น่าน


1.สำนึกพลเมืองที่มีความภูมิใจ
2.ศักยภาพการบริหารจัดการ
3.มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์
4.ทำงานเป็นทีม
5.ความสัมพันธ์กับชุมชน
6.สามารถพึ่งตนและช่วยเหลือผู้อื่น
7.เคารพในความเท่าเทียมของคนต่างวัฒนธรรม
8.ภูมิใจในการรากเหง้าของตัวเอง

­

­

คุณลักษณะของพี่เลี้ยงที่พึงประสงค์ของ จ.น่าน


1.มีความรู้ ความเข้าใจการทำงานกับเยาวช
2.สามารถประสานงานระหว่างเยาวชนกับเครือข่ายภายนอกได้
3.รู้เท่าทันสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนและชุมชน
4.ไม่ชี้นำความคิด และสามารถสนับสนุนกระบวนการทำงานของเยาวชนได้
5.เรียนรู้ร่วมกันกับเยาวชน

­

­

คุณลักษณะของพี่เลี้ยงเยาวชนมีอะไรบ้าง ?

ระดมโดยทีมงานศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ


1. เป็นคนในชุมชน อยู่ใกล้ชิด : เด็กและผู้ปกครองไว้ใจ
2. ไม่ครอบงำ ชี้นำ ให้เด็กคิดเอง ทำเอง
3. มีฐานความสัมพันธ์กับเด็ก
4. รู้จักเด็ก : นิสัยใจคอ ความสามารถ
5. รู้สถานการณ์เด็ก - การเปลี่ยนผ่านของวัย
6. Coach เยาวชนได้
7. ไวต้อสถานการณ์ในพื้นที่, ในการทำงานของเด็ก
8. เข้าใจความเป็นพลเมือง

­

­

After Action Review : AAR เวทีการประชุมประเมินแบบเสริมพลัง (Empowerment Evalution : EE) วันแรก โดยทีมงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ผู้ดำเนินโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก

- ในการทำงาน ผมไม่เคยคิดถึงเรื่อง KPI มาก่อนเลย มาทำแล้วก็รู้สึกดี เพราะทำให้เราได้มาทบทวนจุดอ่อน จุดแข็ง และเห็นบทเรียนการทำงานที่เราสามารถนำไปพัฒนางานของเราต่อไปในอนาคตให้ดีขึ้น

- การประชุมวันนี้นั่งทั้งวัน คิดทั้งวัน แต่ก็ไม่เหนื่อยหรือเพลีย เป็นการมาทบทวนการทำงานของตัวเราเอง ทำให้ได้คิดว่าเรื่องยากๆ มันก็กลายเป็นเรื่องง่ายๆ ได้นะถ้าทีมของเราได้มาเปิดพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันแบบนี้

- EE ทำให้เราได้กลับมา Re - Check การทำงานของเราเอง ช่วยกันคุย ช่วยกันคิด หาทางออกด้วยกัน หากุญแจที่ไขไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน

- แต่เดิมการทำโครงการมีความกังวลมากเพราะไม่มีความชำนาญในการทำงานกับเยาวชนมาก่อน การประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการทำงานที่สำเร็จมาได้นั้น เพราะเรามีการทำงานที่เป็น Team Work อย่างแท้จริง ทำให้งานออกมาดีทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

- EE ยกระดับการทำงานของเรา

- ที่ผ่านมาเราเติบโตเพราะการทำงานและการได้รับการเติมความรู้ และการที่เราพร้อมที่จะเรียนรู้

­

///////// วันที่ 2 ของการประชุม //////////

­

Check In ตอนเช้า : ทบทวน 1 วันที่ผ่านมาของการประเมินแบบเสริมพลัง มีอะไรเป็นบทเรียนที่แจ่มชัดในบทบาทหน้าที่ของเรา

= ทีมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก =

- ที่ผ่านมาไม่เคยกลับมาทบทวน KRA และ KPI เลย แต่ทำงานตามกิจกรรมที่เราวางแผนไว้แล้ว การมาประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นชัดว่าจะแก้ไขจุดอ่อนในปีแรกกับการทำโครงการปีที่ 2 อย่างไร ที่เห็นชัดคือเรื่องการทำข้อมูล
- ได้เห็นความเติบโตของทีมมากขึ้น
- ความสำเร็จ 1 ปีที่ผ่านมาเกิดจาก "ทีม" ที่ทำงานร่วมกัน วางแผนร่วมกัน ร่วมกันรับผลสำเร็จ และร่วมกันรับผิดชอบร่วมกัน
- ถ้าขาดความเป็นทีม ความสำเร็จทุกอย่างจะไม่เกิ
- ทีมที่มีการพูดคุยและเดินไปด้วยกัน
- วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทุกคนได้พูด ได้ฟัง และได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
- เราได้เห็นทางเดินต่อๆ ไปของการทำงานปีที่ 2
- มองว่าการประเมินเสริมพลังทำให้เห็นภาพทีมที่กล้าแสดงออก ทีมที่ได้แลกเปลี่ยนกัน เป็นภาพฝันที่อยากเห็นมานานแล้ว

= ทีมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา =

- เป็นกระบวนการพูดคุยที่มีความสุข สรุปได้ว่าบทเรียนจะดีหรือเลว ถ้าเป็นสิ่งที่เราทำมาเองน่าจะสอนใจเราได้ดีที่สุด
- เรียนรู้เรื่องการทำบทบาทโค้ชกับโครงการเยาวชนอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในสังคม
- ได้กลับมานั่งนิ่งๆ ทบทวนว่าเรากำลังเดินไปสู่วิสัยทัศน์หรือเปล่า งานตรงไหนที่เรายังขาดไป เช่น เรื่องการเก็บและจัดการข้อมูล
- กระบวนการ EE ทำให้เรามีอิสระทางความคิดในการทบทวนโครงการของเรา สนุกที่เราเป็นคนทำแล้วเราให้คะแนนเอง ต้องเป็นเราให้คะแนนตัวเองจึงดีที่สุด
- ทำให้มองเห็นจุดที่ยังสามารถยกระดับการทำงานของเราให้ดีขึ้นได้อีก

= ทีมโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ =

- กระบวนการให้บรรยากาศการพูดคุยกันเหมือนพี่น้อง ไม่เหมือนการประเมิน ได้รู้ข้อมูลที่อยู่ในใจของเพื่อน จะนำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้การทำงานปี 2
- การแลกเปลี่ยนเมื่อวานทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาเราเน้นน้ำหนักไปที่จุดไหน และจุดไหนที่ยังให้ความสำคัญต่อไป
- ได้ทบทวนว่าการทำงานจำเป็นต้องเคลื่อนงานหลายก้อนไปพร้อมกัน ต้องไม่เน้นไปแต่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง

= ทีมโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน =

- การทำงานเราคาดหวังเป้าหมายที่โครงการของน้องๆ ไว้สูง เกิดความท้อใจ และโดยไม่รู้ตัว หรือไม่รู้เขาด้วย ก็ทำให้การทำงานมีปัญหา เมื่อเรามาพูดคุยทำความเข้าใจ การทำให้เห็นแนวทางการทำงานร่วมกัน เห็นจุดอ่อนจุดแข็ง เติมเต็มกันและกัน
- เห็นทิศทางการทำงานไปพร้อมกัน
- เห็นแนวทาง สิ่งที่จะเอาไปปรับในการทำงานพัฒนาเยาวชน
- ได้มานั่งพูดคุยร่วมกัน ทำให้มีความชัดเจนขึ้น
- 1 ปีที่ผ่านมาเราพัฒนาน้องเป็นหลัก แต่เราลืมมองไปว่าเราต้องเปิดใจเรียนรู้และพัฒนาตัวเองด้วย
- ได้มาทบทวน KPI การทำงาน มีบางข้อปรับใหม่ บางข้อเพิ่มเข้ามา
- การจะไปให้ถึงเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมงานจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพตัวเอง ต้องมีการลงพื้นที่ติดตามเยาวชนมากขึ้น พาตัวเองเข้าไปสัมผัสกับเยาวชนมากขึ้น

­

­

จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการประชุมต่อจากเมื่อวันวาน : ทบทวนกิจกรรมที่ดำเนินการในปีที่ผ่านมาของโครงการ

- อะไรที่ทำได้ดีแล้ว ดีอย่างไร มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอะไรบ้าง
- อะไรที่ยังทำได้ไม่ดี ทำอย่างไรที่จะทำให้ดีขึ้นในปีต่อไป

­

­

กระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนสงขลา

หัวข้อการสนทนาเช้านี้ของทีมสงขลาฟอรั่ม พี่เลี้ยงในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา.....

ต้องมีกระบวนการอบรมพลเมืองเยาวชนตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตลอดแม่น้ำสายนี้มีกระบวนการพัฒนาทักษะ
อาทิ การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างกระบวนการพลเมืองเยาวชน
โดยการเวิร์คช้อปพัฒนาโครงการ การเวิร์คช้อปพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง การลงพื้นที่ติดตามและสนับสนุน (Coaching) การทำโครงการ และการเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์
จากการทำโครงการ..กระบวนการต่างๆ เหล่านี้เป็นการบ่มเพาะให้พลเมืองเยาวชนสงขลามีทักษะชีวิตและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีจิตสำนึกพลเมือง รักและปกป้องบ้านเกิด

...นี่คือผู้ใหญ่ที่กล้าเปิดโอกาสให้เด็กได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาตนเองเพื่อเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป

­

­

หลังจากทบทวนอดีตแล้ว ก็มาถึงการวางแผนการทำงานร่วมกันในปีที่ 2 ของแต่ละโครงการ หนึ่งในนั้นคือการวางไทม์ไลน์อย่างคร่าวๆ ...

­

เยาวชนน่านฟังทางนี้
ทีมพี่เลี้ยงกำลังระดมความคิดกันอย่างเข้มข้นถึงเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการปี 2
เยาวชนต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง.....อาทิ
+อายุ ระหว่าง 15 - 25 ปี เด็กคิดทำโครงการเอง /มีสมาชิกที่ชัดเจนเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ / มีความเป็นไปได้ที่โครงการจะสำเร็จ / ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม /ต้องไม่เป็นโครงการที่โรงเรียน องค์กร หน่วยงานทำอยู่แล้ว / มีพี่เลี้ยงประจำ 1 คน และมีที่ปรึกษาอย่างน้อย 1 คน

+ใครที่เข้าข่ายนี้สนใจร่วมโครงการ ติดตามได้ที่งานมหกรรมเยาวชน จ.น่าน 18-19 ก.ค.นี้หรือ www.scbfoundation.con

­

­

เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วกับแผนการทำงานปี 2 โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ

เยาวชนจังหวัดศรีสะเกษที่สนใจห้ามพลาดติดตามข่าวเปิดรับสมัครโครงการปี 2 ที่นี่ เร็วๆ นี้

­

­

"การที่เด็กลงทำงานในพื้นที่จริงทำให้เขาเห็น "ระบบความสัมพันธ์" ในประเด็นที่ทำ"

ทีมงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ผู้ดำเนินโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก

­

///////////// เช้าวันที่ 3 ของการประชุม ////////////

­

เช้าวันสุดท้ายของการประชุมการประเมินแบบเสริมพลัง เริ่มด้วยการเจริญภาวนาเล็กน้อย ก่อนที่ภาคี 4 พื้นที่จะได้ทบทวนกระบวนการประชุม 2 วันที่ผ่านมา และสะท้อนออกมาผ่านการ Check In ภาคีหลายท่านบอกว่าการประชุมครั้งนี้ทำให้ได้เห็นภาพการทำงานชัดเจนขึ้น ทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และรู้ว่าจะทำอะไรต่อ จากนั้นต่อด้วยวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่

­

­

เริ่มวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่

พื้นทื่แรก : โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์)

โครงการฯ ทำงานใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี รวม 20 โครงการ ครอบคลุมหลายประเด็นทั้งการเรียนรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต ทรัพยากร ปัญหาที่พบตอนเริ่มโครงการคือเยาวชนไม่รู้จักชุมชนบ้านตัวเอง ตอนแรกที่คิดโจทย์ทำโครงการ น้องคิดโจทย์ใหญ่เกินกว่าจะทำไหว และน้องมาจากหลากหลายบริบททั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา บ้างเรียนต่างช่วงชั้นกัน บ้างอยู่ในเมือง บ้างอยู่นอกเมือง พี่เลี้ยงจึงช่วยกระตุ้นให้สำรวจทุนในชุมชน ลองระดมออกมาผ่านกิจกรรมเสริมศักยภาพ จากนั้นพี่เลี้ยงช่วยเสริมให้น้องเห็นว่าจากฐานทุนเดิมที่มีอยู่ เยาวชนสามารถทำโครงการอะไรได้บ้างตามศักยภาพของตนเอง ก่อนให้น้องได้ทำโครงการร่วมกันต่อไป "ในใจลึกๆ ของเรา เราอยากสานเครือข่ายภาคตะวันตกโดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นตัวเชื่อม ซึ่งภูมิภาคนี้เป็นที่ตั้งของผืนป่าภาคตะวันตกที่เป็นผืนป่าผืนสุดท้ายที่มีอะไรหลายอย่างเข้ามากระทบ" โดยมีเครือข่ายงานวิจัยเดิมของ สกว. เป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่

ไทม์ไลน์แผนปีที่ 2 ที่วางไว้ จะเริ่มเดือน ก.ค.นัดประชุมทีมพี่เลี้ยงปี 1 ทีมงานโครงการ คณะทำงานจังหวัด ฯลฯ โดยจะดึงคณะทำงานจังหวัดให้มามีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าปีแรกเพื่อทำให้เห็นว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดผลอะไรบ้าง และในวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งเป็นวันเยาวชนแห่งชาติจะมีการจัดงานเทศกาลการเรียนรู้ให้น้องๆ ปี 1 นำเสนอผลงานสู่สาธารณะและเป็นการรับสมัครน้องๆ ปีใหม่เข้าร่วมโครงการด้วย

­

­

“กำลังใจเยาวชนแผ่วระหว่างทำโครงการ”

โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านนำเสนอประเด็นการเรียนรู้จากการทำงาน หัวข้อ “กำลังใจเยาวชนแผ่วระหว่างทำโครงการ”
จากปัญหาดั้งเดิม
1.เคยชินยึดติดกรอบที่เป็นทางการ ต่างจากการทำโครงการแบบใหม่ที่ให้เยาวชนทำคือมีกระบวนการ ความละเอียดของโครงการ ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ต่างจากการทำงานแบบเดิมตามกรอบที่ทางการวางไว้ วิธีแก้ไข
ให้เยาวชนนำทักษะที่มีมาทำโครงการจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและเข้าใจการทำโครงการมากขึ้น
2.ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เช่น ม้ง ลาว ลั้วะ ฯลฯ การเติมแนวคิดปลูกฝังเรื่องทำประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นคือคุณค่าของตนเองปรับให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย ให้เรียนรู้เพื่อสร้างฐานของชุมชนให้เข้มแข็ง เช่นกลุ่มสามเณรทำเรื่องปลูกข้าวอินทรีย์ ให้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยอย่างไร
เครื่องมือใช้ปลุกพลังใจคือการทำเวิร์คช้อปครึ่งโครงการเพื่อจัดเวที"เสริมพลังและแรงบันดาลใจ"ทำให้เยาวชนกลับไปทำโครงการต่อได้จนสำเร็จ โดยเป็นกระบวนการเติมเต็มข้อมูลและการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเพราะการคิดเกินตัว จะทำให้เกิดสภาวะท้อ...ใช้กิจกรรมง่ายๆ ให้เกิดความภาคภูมิใจ เช่นบ้านหนองบัว ใช้กิจกรรมผังเครือญาติ พอรู้ว่าใครเป็นญาติใครทำให้เด็กเกิดพลังจากการเป็นพี่น้องกันมาร่วมกันทำโครงการการทำงานร่วมกันจนสำเร็จ
กระบวนการวิธีแก้
+วิเคราะห์ปัญหากลุ่มเยาวชนเพื่อหนุนเสริม +ปรับแผนของเยาวชน +ให้เยาวชนเริ่มทำกิจกรรมเล็กๆ ให้เห็นผลสำเร็จเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง +และพี่เลี้ยงลงไปหนุนเสริมกิจกรรมสม่ำเสมอ

­

­

พี่เลี้ยงต้องทำให้น้องดูก่อน

ทางทีมงานสงขลาฟอรั่ม นางสาวนูรอามีนี สาและ (มีนี) ผู้ดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชน นำเสนอประเด็นการเรียนรู้
"การลงพื้นที่ติดตามและสนับสนุน (Coaching) การทำโครงการของพลเมืองเยาวชน
มีเป้าหมาย
1.เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ เสริมความมั่นใจให้เยาวชน
ก้าวข้ามปัญหาที่พบระหว่างการทำงาน
2.กระตุ้นให้เยาวชนทำงานตามแผนการเชื่อมโยงงานกับสถานการสังคม
3.การชวนคุย ชวนคิด พัฒนางานของน้องและพัฒนาทักษะชีวิต
4.พัฒนาจิตสำนึกพลเมือง การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
"โค้ชแต่ละคนต้องมีบันทึกการเปลี่ยนแปลงของน้องเป็นลักษณะstory telling (การเล่านิทาน)หากพบเจอสถานการณ์อะไร จะนำมาหารือและลงไปปรับแผนในครั้งต่อไป บทบาทโค้ชหรือพี่เลี้ยงที่ต้องมีคือทักษะชีวิต 5 ด้านก่อน ก่อนที่จะไปสอนน้องให้เกิดขึ้นในตัว พี่เลี้ยงต้องทำให้ดูก่อนจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นและมีการพูดคุยกันเพื่อให้น้องๆ เกิดความเข้าใจสามารถให้น้องๆ เห็นคุณค่างานของตนเองและเชื่อมโยงความเป็นพลเมืองและให้เห็นงานเล็กๆ ของน้องมีความสำคัญกับบ้านเมืองอย่างไร"

­

­

โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ

จังหวัดศรีสะเกษประกอบด้วยกลุ่มคน 4 ชาติพันธุ์ ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ได้แก่ ส่วย เขมร ลาว เยอ ปีแรกของโครงการมีโครงการเยาวชน 11 โครงการใน 5 อำเภอ ครอบคลุมประเด็นการเกษตร การออม การสืบทอดภูมิปัญญา พบปัญหาเยาวชนคิดโจทย์โครงการใหญ่เกินกว่าศักยภาพตัวเองจะทำไหว ทีมงานจึงใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยง กลั่นกรองคัดเลือกโครงการเยาวชนเพื่อให้ได้รับการหนุนเสริม โดยใช้ฐานทุนการวิจัยเดิมของ สกว. และนักพัฒนาในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่ ผลที่เกิดจากการทำโครงการ ช่วยเปลี่ยนทัศนคติผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก จากที่ผ่านมาผู้ใหญ่มองเด็กเป็นปัญหา เป็นภาระ ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพว่าสามารถทำอะไรเพื่อชุมชนสังคมได้ ตอนนี้ผู้ใหญ่ในชุมชนเริ่มมีสายตาใหม่กับเยาวชนว่าเป็นพลัง ไม่ใช่เป็นภาระอย่างที่เคยเข้าใจ ขณะที่ตัวเยาวชนเองก็เกิดการเรียนรู้และมีฉันทะอยากพัฒนาตัวเองต่อ

สำหรับโครงการปีที่ 2 จะมีการประชาสัมพันธ์และเปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

­

­

เป้าหมายของ 3 วันนี้ เรามาแวะพัก ทบทวน เพื่อที่จะเดินทางไปต่อ ; 3 ปีต่อจากนี้เราจะร่วมคิดร่วมทำให้กลไกของเราเป็นกลไกของจังหวัดเพื่อการพัฒนาเยาวชนพลเมือง

หลังจากระดมสมองกันมาตลอด 3 วันก็ได้ Check Out สิ่งที่เราจะกลับไปทำทันทีในหน้างานของเรา และปิดเวทีอย่างเป็นทางการ #