เวที EE โครงการปลูกใจรักษ์โลก หนุนเสริมการพัฒนา Active Citizen เยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์

ระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน 2558 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ มูลนิธิสยามกัมมาจลได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินผลเสริมพลัง (Empowerment Evaluation : EE) โครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อการพัฒนาเยาวชน ขึ้นโดยมี 2 ภาคี เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ "สงขลาฟอรั่ม" ผู้ดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา และ "มูลนิธิกองทุนไทย" ผู้ดำเนินโครงการ "ปลูกใจ...รักษ์โลก" กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน 

­

เป้าหมายสำคัญของเวทีนี้คือ การมาทบทวน KRA KPI และ Activity ของโครงการร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการทำงานต่อไปให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลดีขึ้น

­

ในบันทึกนี้ขอนำเสนอเฉพาะในส่วนของโครงการ "ปลูกใจ...รักษ์โลก" กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน จะมีเนื้อหาอะไรที่น่าสนใจบ้าง ลองมาชมกันครับ 

­

­

­

­

หลังจากเปิดเวที โจทย์แรกที่ทีมงานโครงการ ผู้บริหารกองทุนไทย ทีมพี่เลี้ยง อาจารย์ที่ปรึกษา และเยาวชน ได้ร่วมระดมความคิดด้วยกันคือ "เป้าหมาย" ของโครงการที่ต้องการไปถึง โดยสรุปเป็นภาพฝันร่วมกันดังนี้ ...


" โครงการ "ปลูกใจ...รักษ์โลก" เป็นกลไกพัฒนาเยาวชนให้มีกระบวนการคิด กระบวนการทำงาน มีทักษะชีวิต รักบ้านเกิด มีจิตสำนึก เติบโตเป็นบุคลากรที่ช่วยดูแลทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมของชุมชนผ่านการลงมือทำโครงการ และรวมตัวเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ให้เห็นผลจนเกิดพลังสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ... "

­

­

­

­

เมื่อหลอมรวมดวงใจและทุกคนต่างเห็นดาวดวงเดียวกันแล้ว กิจกรรมทบทวน KRA KPI Acticity ก็เริ่มขึ้น “แอ๋ว-รัตนติกา เพชรทองมา” เป็นตัวแทนนำเสนอว่า “การพัฒนาเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมมีเป้าหมายให้เยาวชนเป็น Active Citizen” อนาคตอยากเห็นเยาวชนขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง มีกองทุนสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น"

­

­

ผลจากการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอด 3 วัน ทำให้สมาชิกโครงการมองเห็นโครงการชัดเจนขึ้น มองเห็น "คุณค่า" และ "ผลกระทบ" ของโครงการฯ ดังนี้

­

­

  • คุณค่าและผลกระทบ มี 3 ระดับ คือระดับโรงเรียน ชุมชน และจังหวัด 
  • ระดับที่เห็นชัดที่สุดที่เกิดขึ้นกับเยาวชน คือตัวน้องๆ ได้เรียนรู้ ได้องค์ความรู้จากชุมชน หลายกลุ่มนำความรู้ที่ตัวเองมีนำไปให้ชุมชนได้เรียนรู้ด้วย เช่น การจัดการขยะในชุมชน ที่เมื่อทำสำเร็จในโรงเรียนแล้วก็ไปชวนชุมชนแก้ปัญหาขยะชุมชนจนมีการจัดการขยะได้ อีกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กและเยาวชนออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน ความคิดหลุดออกจากกรอบ มองได้ไกลและกว้างขึ้น กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำ นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชน เช่น การรักษาป่า เยาวชนสามารถเรียนรู้ ถ่ายทอด ภูมิรู้ภูมิปัญญาในการดูแลทรัพยากรได้ เด็กๆ กล้าลุกขึ้นมาสื่อสารสร้างความตระหนักเมื่อเห็นปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้นในชุมชน มีการขยายตัวเด็กที่ทำมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียน 
  • ในส่วนของชุมชนเกิดขบวนการปกป้องผืนป่าของชุมชน การทำงานของเยาวชนทำให้เกิดกฎกติกาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปกป้องทรัพยากร การทำงานของเด็กระตุกกระตุ้นชุมชนให้ขบคิด เกิดจิตสำนึก ในเรื่องการแก้ปัญหาในชุมชน หลายพื้นที่เด็กเป็นตัวกลางประสานแก้ปัญหาความขัดแย้งของผู้ใหญ่ในด้านการจัดการทรัพยากร ชุมชนเห็นบทบาทและศักยภาพของเด็กในฐานะพลมืองของชุมชนที่มีศักยภาพลุกขึ้นมาแก้ปัญหาในชุมชนตนเองได้ 
  • หลายกลุ่มยังมีการทำงานเชื่อมประสานกับหน่วยงานภายนอกระดับจังหวัดเช่น เกษตรจังหวัด พมจ. การทำงานของเด็กทำให้ผู้ว่าฯ เสนอให้การสนับสนุนเด็กเมื่อเด็กต้องการ"


เรียกได้ว่าได้ทั้งทบทวนการทำงาน มองเห็นความสำเร็จ ข้อควรปรับปรุง และยังได้แนวทาง รวมถึงพลังใจกลับไปทำงานกันต่อไป .