"ฝึกทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มี "ฝีมือ" เพื่อรักษาชุมชนจาก.....ค่ายเรียนรู้...สู่การพัฒนาโครงการ กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ปีที่ 2
Atomdony Modtanoy

         วันนี้ขออนุญาตนำบันทึกถอดบทเรียนของคุณ “กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร” หรือคุณโจ้คนรุ่นใหม่จาก มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ที่ดูแลโครงการเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน หลายโครงการ อาทิ ต้นกล้าในป่าใหญ่ เยาวชนสงขลา หรือโครงการปลูกใจรักษ์โลก ที่มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนมาเป็นปีที่ 2 แล้ว

 

        สำหรับครั้งนี้จะเป็นบันทึกในโครงการปลูกใจรักษ์โลก คือ โครงการที่ให้เยาวชนได้ส่งโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชน ทั้งเรื่อง ดิน น้ำ อากาศ ป่า ชายหาด ฯลฯ สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ ตามศักยภาพที่เยาวชนจะทำได้ สู่การเปลี่ยนแปลงชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

        ณ ขณะนี้อยู่ในช่วงของเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ ค่าย "เรียนรู้สู่ ... การพัฒนาโครงการ" โครงการปลูกใจ … รักษ์โลก ปีที่ 2 ซึ่งแบ่งเป็น 2 รอบ โดยในรอบแรกที่ผ่านมา วันที่ 14-17 จำนวน 18 โครงการ เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องป่าไม้ และรอบสองที่กำลังจะถึง ในวันที่23 – 26 ตุลาคม นี้ อีก 17 โครงการ ในด้านอื่นๆ เช่น ความเสื่อมโทรมของดิน แหล่งน้ำ ทรัพยากรชายฝั่ง มลพิษทางอากาศ ฯลฯ  ณ ศูนย์ฝึกอบรมวีเทรน กรุงเทพฯ

 

        ทั้งนี้ในการ Workshop ทั้ง 2 ครั้งนี้ จะช่วยให้เยาวชนทั้ง 35 โครงการ สามารถเชื่อมโยงปัญหาสิ่งแวดล้อม กับวิถีชีวิตของตนเองได้ชัดเจนมากขึ้น พร้อมสามารถใช้ศักยภาพความเป็นเยาวชนหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ซึ่งจะมีการนำโครงการที่สมบูรณ์กลับมาให้คณะกรรมการพิจารณา พร้อมคัดเลือกให้เหลือ 20 โครงการต่อไป

 

 

……………………………………………..

(ถอดบทเรียนจากกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร)

 

 

 

          "ฝึกทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มี "ฝีมือ" เพื่อรักษาชุมชน
จาก.....ค่ายเรียนรู้...สู่การพัฒนาโครงการ กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ปีที่ 2 


            17 กลุ่มเยาวชนทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมพัฒนาตนเอง ในรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาด้านป่าไม้ "ป่าชุมชน"

 น้องๆ เล็งเห็นปัญหาใน 3 ลักษณะ คือ 
1) ป่าชุมชนที่ได้ถูกถางตัดแล้ว เหลือแต่ที่ดิน และพื้นที่ว่างเปล่าที่พวกเขาสนใจฟื้นฟูให้สมบูรณ์ขึ้น
2) ป่าชุมชนที่สมบูรณ์อยู่ และกำลังจะถูกนายทุนบ้าง ผู้นำชุมชนบ้างบุกรุก เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่า เป็นแปลงเกษตร ปลูกยางบ้าง ปาล์มน้ำมันบ้าง เพราะให้ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจมากกว่า 
3) ป่าชุมชนที่สมบูรณ์แล้ว ชุมชนเห็นคุณค่า มีวิถีรากเหง้าในการใช้ประโยชน์ รักษา และจัดการ แต่ขาดคนรุ่นใหม่ ที่เข้าใจ และสืบทอดต่อจากผู้ใหญ่

            ผมเห็นแรงบันดาลใจของน้องๆ ที่เชื่อมโยงได้ว่าปัญหาทรัพยากรป่าไม้นี้ "เกี่ยวข้อง" หรือ "เป็นส่วนหนึ่ง" ในวิถีชีวิตของเขาอย่างไร และเขาจะใช้ "ศักยภาพ" "ความสามารถ" เป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายปัญหาอย่างไร ในฐานะ "พลเมืองเยาวชน"

            จากการที่พี่ๆ องค์กรภาคีสิ่งแวดล้อมได้ชวนวิเคราะห์ทุนศักยภาพของชุมชน วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา และชวนมองให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหากับสถานการณ์ต่างๆ ในชุมชน ดิน น้ำ ป่า อากาศ คนใช้ประโยชน์ คนทำลายป่าไม้ ทำให้น้องๆ ได้เห็นแนวทางแก้ปัญหาดังนี้...

            1) ข้อมูล ด้านต่างๆ ข้อมูลชุมชน ข้อมูลสถานการณ์ปัญหา ข้อมูลทุนศักยภาพที่จะช่วยสนับสนุนการทำงาน ผู้รู้ ข้อมูลสภาพป่า การใช้ประโยชน์จากป่า มีความสำคัญที่จะช่วยให้น้องได้เข้าใจสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และหาทางออกในการแก้ปัญหาได้ ดังนั้นการหาข้อมูลจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทุกกลุ่มให้ความสำคัญ

            2) การใช้ความรู้เชิงเทคนิค ที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เทคนิคในการสำรวจความสมบูรณ์ของป่าไม้ การบันทึกความรู้ ความรู้ในการตรวจสภาพดิน น้ำ อากาศ การวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของป่าไม้ การฟื้นฟูป่า โดยการปลูกพืชที่เหมาะสมกับระบบนิเวศน์ป่า นั้นๆ ช่วงเวลาที่จะปลูกเพิ่ม การฟื้นฟูบำรุงดิน การฟื้นฟูปรับสภาพน้ำ เป็นต้น ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ดังนั้นการมีความรู้ก่อนทำจึงมีความสำคัญมาก น้องๆ จึงมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้ของทีมงานก่อนแก้ปัญหาจริง

            3) การสื่อสาร และสร้างความตระหนักในปัญหากับผู้ที่เกี่ยวข้อง กับผืาป่า ให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการรักษา ฟื้นฟูสภาพป่าของชุมชน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่มีความสำคัญ เพราะการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้จากเด็กๆ เพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องใช้ความสามารถร่วมกันของทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหา

            4) การจัดการแก้ปัญหา ที่ต้องมีการใช้ข้อมูล ความรู้ด้านต่างๆ ข้างต้น ที่มาจากการรับรู้ข้อมูลของเยาวชนและคนในชุมชนเท่าๆกัน มา "วางแผน" และ "สร้างสรรค์วิธีการ" จัดการแก้ปัญหาไปที่สาเหตุของปัญหา เช่น การสำรวจและรวบรวมบ้อมูลป่าเพื่อทราบประโยชน์และความสมบูรณ์ของป่า การลงมือร่วมปลูก สร้างฝาย ทำแนวกันไฟ การจัดการขยะในครัวเรือนที่จะป้องกันไม่ให้คนในชุมชนเข้าไปทิ้งขยะในชุมชน เป็นต้น 

 

 

 


            จากการวางแผนข้างต้นนี้ น้องๆ จะได้ลงมือทำบทบาทต่างๆ เพื่อ "ติดตั้งวิธีคิด" และ "ใช้ทักษะ" "การคิดวิเคราะห์" "คิดสร้างสรรค์" "คิดเชื่อมโยง" "การคิดแก้ปัญหา" "ทักษะการทำงานแบบร่วมมือ" "ทักษะการสื่อสารนำเสนอไอเดีย" ใช้ "หัวใจของความเป็นพลเมือง" พิสูจน์ และดึงการมีส่วนร่วมของผู้ใหญ่ที่มีหัวใจเดียวกัน นำไปสู่การลงมือทำจริง และรับประสบการณ์เรียนรู้ ประสบการณ์ความสำเร็จ และความล้มเหลวร่วมกัน

            ได้แต่หวังว่าน้องๆ คงได้นำทักษะ และฝีมือ เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ในการจัดการชีวิต จัดการชุมชน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ทั้ง ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ สัตว์อยู่ได้