สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ♡อยู่ที่ครูฝึก (coach)
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

­

ครูฝึกที่  "ออกแบบกระบวนการเรียนรู้"  เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ "คิด" ตั้งคำถามกระตุ้นการวิเคราะห์ หนุนให้คิดสร้างสรรค์ ได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะผ่านการ "ลงมือทำ" "สังเกตพัฒนาการ" สนใจ "วิเคราะห์การเรียนรู้" ของน้องเป็นรายคน "เสมอกัน" โดยไม่แบ่งแยกน้องที่เก่ง-ไม่เก่ง น้องที่น่าจะไปได้เร็ว-หรือช้า น้องที่โดดเด่นกว่าหรือไม่น่าสนใจ ไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรม แต่โจทย์คือ จะช่วยน้องๆ ทุกคนอย่างไรให้ได้พัฒนาตนตามศักยภาพได้อย่างเท่าเทียม



ค่ายเปิดประตูสู่การเรียนรู้...พัฒนาโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน ภายใต้โครงการปลูกใจรักษ์โลก กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน โดยมูลนิธิกองทุนไทย มูลนิธิสยามกัมมาจล และภาคีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม


เป็นการรวมตัวของทีมโค้ช กว่า 10 คน ที่ใส่ใจพัฒนาการการเรียนรู้ของน้องๆ นอกห้องเรียน กว่า 3 ปี ที่พวกเขาได้ออกแบบกระบวนการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ สร้างสำนึกพลเมือง ทักษะการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดิน น้ำ ป่า ขยะ พลังงาน ทักษะการบริหารจัดการโครงการ การคิด การฟัง การพูด การสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกับชุมชน ทีมโค้ชออกแบบกระบวนการทำงานอย่างไร?


  1. เมื่อน้องๆ เสนอสิ่งที่อยากทำงานมา ผ่านโครงการก็ดี ผ่านคลิปวิดิโอสั้นๆก็ดี งานเขียนแรงบันดาลใจก็ดี... ทีมโค้ชได้ตั้งวงประชุมศึกษาวิเคราะห์น้องๆเป็นรายกลุ่ม ทำความเข้าใจร่วมกันว่า น้องคิด น้องอยากทำอะไร? อะไรคือโจทย์ที่น้องสนใจ? การออกแบบการทำงานของน้องติดขัดตรงไหน? ต้องเติมทักษะอะไร? อะไรคือกรอบที่ทำให้น้องติดขัด? และจะชวนคิดให้เขาออกจากกรอบได้อย่างไร? พร้อมทั้งโค้ช ตั้งวงประชุมปรึกษากับกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านงานชุมชน ด้านงานสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมเป็นรายกลุ่มว่าจะช่วยน้องให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร ก่อนที่จะเจอน้องๆ ในครั้งนี้สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน คือ เรื่องการออกแบบการทำงาน โดยขาดข้อมูล ความเข้าใจสภาพพื้นที่ เข้าใจสาเหตุของปัญหา การกำหนดเป้าหมายในการทำงานที่ขัดเจนและพอเพียงกับศักยภาพ การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย การสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน และการออกแบบกิจกรรมที่เป็นขั้นเป็นตอน การหากลวิธีในการจัดการทรัพยากรได้ตรงกับสภาพปัญหา รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ที่โค้ชทำ เรียกว่า "early detection"
  2. ทีมโค้ชได้นำปัญหามาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม โดยนำเอาโจทย์หรือสิ่งที่น้องต้องพัฒนาเสริมเพิ่มเติม หรือปัญหาของน้องเป็นตัวตั้ง เป็น early intervention ที่เราต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่เราอยากจะสอนเนื้อหาอะไรให้กับน้อง... ครั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้น้องๆมีพลังที่ยากจะทำโครงการให้สำเร็จ จากพี่ๆที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม จากสื่อคลิปวิดิโอที่ทำให้เห็นว่าการทำงานเล็กๆ มีคุณค่า และสร้างการเปลี่ยนแปลงทำได้อย่างไร เปิดโอกาส ให้ฝึกฝนการคิดนอกกรอบ การคิดสรางงสรรค์ โดยใช้หลัก design thinking "คิดด้วยมือ" เปิดโอกาสให้น้องๆได้ ทบทวนโครงการตนเอง ได้พูด ได้คิดในสิ่งที่ตั้งใจอยากทำ โดยพี่ๆ ช่วยจัดระบบระเบียบความคิด ช่วยตั้งคำถามเพื่อให้น้องๆ ได้กำหนดเป้าหมายในการทำงาได้ชัดเจน และพอประมาณกับศักยภาพ พาวิเคราะห์ปัญหาให้น้องๆ เข้าใจสภาพพื้นที่ และค้นหาต้นทุนต่างๆในชุมชนที่จะเป็นประโยชน์กับการทำโครงการ พาวางแผนการทำกิจกรรมให้เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้สามารถคลื่คลายปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจนมากขึ้น หาวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน และวางแผนรับมือกับความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องทำโครงการจริงๆ ในระยะเวลา 7 เดือน
  3. วางกำลังคน โดยจัดสรรจำนวนทีมโค้ช อย่างเพียงพอต่อการช่วยกับน้อง โดยลงกลุ่มย่อยเพื่อทำกระบวนการทางความคิด โค้ชที่ใส่ใจน้องๆ เป็นรายบุคคลได้ สามารถรับฟัง และใช้คำถามกระตุ้นคิดให้ น้องทุกคนในกลุ่มได้ดึงศักยภาพที่แตกต่างกันของตนเองออกมา
  4. สังเกตและบันทึกพัฒนาการเรียนรู้ของน้องๆ เป็นรายคน เพื่อใช้ในการวางแผนช่วยน้องให้ได้พัฒนาทักษะตนในส่วนที่ยังทำไม่ได้ โจทย์คือพี่เลี้ยงจะต้องรู้ให้ได้ว่า ถ้าน้องจะทำโครงการนี้ให้ได้ ต้องเสริมทักษะอะไร ซึ่งน้องแต่ละกลุ่ม แต่ละทีม มีความต้องการแตกต่างกัน ความแตกต่างนี่เองที่พี่เลี้ยงสนใจ และหาวิธีการช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในค่ายครั้งนี้ ทีมโค้ชตั้งวงประชุมวิเคราะห์พัฒนาการน้องๆ ทุกวันจนจบค่าย ก็มาสรุป ติดตามดูว่าอะไรที่ดีขึ้น ถ้ากลับไปทำโครงการจริงในพื้นที่ควรจะเสริมเรื่องอะไร
  5. เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ทบทวนการเรียนรู้ และสรุปบทเรียนจากการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จัดกระบวนการพูดคุย ให้น้องๆ ได้พูด รับฟัง แสดงความเห็นถึงสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆในกลุ่ม อย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การท้าทายให้พัฒนาต่อ ให้เกิดความใคร่รู้ที่จะทำงาน/เรียนรู้ต่อเนื่อง
  6. หัวใจสำคัญ คือ สายตาของครูฝึก ในการวิเคราะห์การเรียนรู้ของน้องๆ อะไรคือจุดเด่น ทักษะที่ทำได้ดี อะไรคือทักษะที่น้องๆ ในทีมมีแตกต่างกัน และจะเสริมการทำงานร่วมกันได้ น้องมีความรู้อะไร อะไรคือโจทย์ที่ต้องเติมทักษะเพิ่ม "การมีวงประชุมสรุปการทำงาน และวิเคราะห์พัฒนาการของน้องๆ ระหว่างโค้ช" จะเป็นการช่วยฝึกตัวโค้ชเองด้วย ให้มีทักษะ และใช้ sense ได้เร็วขึ้นในการสังเกตได้ไว เพื่อช่วยน้องให้เรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ




โค้ชในฐานะ ครูผู้สร้างความเท่าเทียมการศึกษา คือ โค้ชที่มีปฏิภาณไหวพริบต่อความต่าง ไวต่อการสังเกต และจับประเด็นการเรียนรู้ของน้องๆ ได้อย่างเท่าทัน และสนใจพัฒนาการน้องๆเป็นรายคน บันทึก ทำการบ้าน ติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยน้อง ให้พัฒนาตน มีศักยภาพพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกับทีมได้อย่างเท่าเทียม