ค่ายพิจารณาความก้าวหน้าการพัฒนาต่อยอดผลงานโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปี 2557
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์


­

- ค่ายเด็กเก่ง ICT ต่อกล้าให้เติบใหญ่ ครั้งที่ 2/2557 -

หลังจากที่เราได้น้องๆ เยาวชนคนเก่ง ICT ทั้ง 13 ทีมที่มีความมุ่งหวังตั้งใจต่อยอดผลงานการพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และโครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จากเวทีการประกวดไปสู่ชิ้นงานสำเร็จที่สามารถใช้งานกับกลุ่มเป้าหมายได้จริง

ในค่ายที่แล้ว (ต้นเดือนมิถุนายน) พี่ๆ วิทยากรจากเนคเทคได้เติมพลังเสริมเครื่องมือ Project Management ( บริหารงาน จัดการเวลา จัดการการเงิน ฯลฯ ) กันไปแล้ว

ค่ายครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. - 1 ส.ค. ในช่วงบ่ายวันนี้ น้องๆ จะได้มาถอดบทเรียนทำไทม์ไลน์การทำงานของตัวเอง (งานอะไรที่ทำมาแล้ว และงานอะไรที่จะทำต่อไป ทั้งสองช่วงนี้ได้ผลอย่างไร เรียนรู้อะไรไปปรับการทำงานได้ ) โดยมีพี่โบ้และพี่สุนจากเนคเทค พี่โจ้ พี่แจง พี่โต้ง พี่แฟง จากมูลนิธิสยามกัมมาจลพาเรียนรู้

จากนั้นในวันพรุ่งนี้น้องๆ จะได้รายงานความก้าวหน้าผลงานต่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 14 ท่านจากแวดวง ICT แวดวงการศึกษา และแวดวงธุรกิจ ที่จะมาให้ข้อแนะนำดีๆ ให้น้องๆ กลับไปพัฒนาผลงานตนเองให้ดีที่สุด ...

พี่ๆ ย้ำว่า สำหรับโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นี้ ไม่ใช่เวทีการประกวด และน้องๆ ไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันกับใครคนอื่น ... แต่น้องๆ ต้องแข่งขันกับตัวเองเพื่อให้ได้ชิ้นงานสำเร็จที่ใช้งานได้จริง และมีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ในค่ายนี้จึงอยากให้น้องๆ เปิดใจเข้ามาเรียนรู้ นำอุปสรรคปัญหาที่พบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างไม่ขวยเขิน เพื่อที่จะนำข้อแนะนำจากเวทีกลับไปพัฒนาผลงานของตนเองให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ...

­

­

"เมื่อศิษย์พร้อม ครูก็มา" :- ก่อนเริ่มกิจกรรม พี่โจ้ กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ก็ชวนน้องๆ คนเก่ง ICT ทำกิจกรรมสันทนาการละลายพฤติกรรม จากนั้นจับคู่เช็คอินพูดคุยกับเพื่อน แชร์ความคาดหวังของการมาพบกันครั้งนี้ เพื่อปรับอารมณ์น้องๆ ให้พร้อมกับโจทย์การเรียนรู้เรื่องไทม์ไลน์ตลอดบ่ายนี้

โจทย์การทำไทม์ไลน์ ช่วงแรก

- เป้าหมายของเราคืออะไร ?
- กลุ่มผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของเราคือใคร ?

- กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มทดลองคือใคร ?

­

­

ตัวอย่างการทำไทม์ไลน์ของน้องๆ :- น้องๆ สามสาวนักผลิตเกมเพื่อการเรียนรู้ "Cooking Family" โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เกมสอนทำอาหาร บนเครื่อง PC แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน กำลังช่วยกันคิดทบทวนกลุ่มเป้าหมายเกมของตัวเองอีกครั้ง จากทีแรกตั้งใจให้เป็นเกมสำหรับเด็กนักเรียนหญิงกลุ่มอายุ 7-12 ปี แต่เมื่อคิดดีๆ แล้ว อาจมีข้อจำกัดสำคัญบางอย่างเมื่อจำแนกน้องๆ กลุ่มนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม วัย 6-10 ปี กับวัย 10 -12 ปี น้องๆ กลุ่มแรกส่วนใหญ่ยังเรียนอยู่ชั้น ป .1 - 3 อาจดาวน์โหลดเกมเล่นเองไม่ได้ และน้องๆ วัยนี้ยังเล็กเกินไปที่จะอ่านหนังสือและทำความเข้าใจได้แจ่มแจ้ง ส่วนน้องกลุ่มหลังส่วนใหญ่เรียนอยู่ชั้น ป.4-6 น้องๆ สามารถดาวน์โหลดเกมได้เอง อ่านและทำความเข้าใจเกมได้ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะลองนำความรู้ไปทดลองทำอาหารจริงๆ ในที่สุด น้องๆ จึงพิจารณาเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นช่วงนักเรียนชั้น ป. 3 - 5 อายุ 9 - 11 ปี ที่น่าจะรู้สึกสนุกและเรียนรู้จากเกมได้มากที่สุด

­

­

ผลงานเพื่อสังคมจากน้องโครงการนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ : มีโมเดลผลงานมาอวด ! ... ผลงาน Military Assistance Robot (MAR) สิ่งประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของแบบจำลอง AIR BOAT ด้วยตัวตรวจวัดค่าความเร็วเชิงมุม (Rate Gyro Sensor) ที่สามารถขยายผลสู่การพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจไร้คนขับภาคพื้นดิน ควบคุมทางไกลด้วยรีโมทบังคับวิทยุ สามารถบันทึกและส่งภาพวิดีโอความละเอียดสูงแบบเรียลไทม์ เหมาะกับงานกู้ภัยยามเกิดภัยพิบัติ การสำรวจจำนวนผู้ประสบภัย และการขนส่งปัจจัยจำเป็นยังพื้นที่

­

­

โจทย์การทำไทม์ไลน์ ช่วงที่ 2
ให้น้องๆ แตกก้อนงานที่ทำมาแล้วในช่วงเดือน พ.ค. และมิ.ย. ที่ผ่านมา และทบทวนว่า

- ได้ผลเป็นอย่างไร
- ปัญหา / อุปสรรค ที่พบมีอะไรบ้าง / แก้ไขอย่างไร

­

­

­

โจทย์การทำไทม์ไลน์ ช่วงที่ 3
ให้น้องๆ แตกก้อนงานที่กำลังจะทำต่อไปในเดือน ส.ค. และ ก.ย. และลองตั้งคำถามดูว่า

- อะไรคือข้อกังวลที่จะต้องเจอในแผนงานระยะต่อไป
- ต้องการคำแนะนำหรือการช่วยเหลืออะไรจากคณะกรรมการ ในเรื่องอะไรบ้าง

โดยโจทย์ข้อสุดท้ายนี้เอง ถือเป็นโจทย์สำคัญที่สุดของวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้น้องๆ จะได้ขอรับคำปรึกษาแนะนำจากคณะกรรมการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพี่โจ้ย้ำความเข้าใจให้น้องอีกครั้งว่า การนำเสนอความก้าวหน้าในวันพรุ่งนี้ จะเป็นการที่น้องนำปัญหาและข้อกังวลมานำเสนอและซักถามต่อคณะกรรมการ การนำเสนอความสำเร็จของงานอาจเป็นเรื่องรองลงไป ...

­

­

เช้าวันที่สองของค่ายเด็กเก่ง ICT โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 2

ดร.กว้าน สีตะธนี กล่าวเปิดเวทีรายงานความก้าวหน้าโครงการของน้องๆ โดยเน้นไปยัง 3 ประเด็นสำคัญ :

- ให้เยาวชนแข่งขันกับตัวเอง
- ผลงานของเรา ผู้ใช้จะเป็นคนบอกว่าผลงานของเราสำเร็จจริงหรือไม่
- ขอให้ใช้โอกาสนี้รับคำแนะนำจากกรรมการไปพัฒนางานตนเองให้มากที่สุด

­

­

ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้าน ICT ธุรกิจ และการศึกษา ต่อผลงานน้องๆ ตลอดช่วงเช้า หลายข้อเป็นประเด็นร่วมที่น่าสนใจ เช่น

- เมื่อพัฒนาผลงานออกมาได้ในระดับหนึ่งแล้วอย่ากลัวที่จะนำไปเสนอขายต่อลูกค้า ต้องอาศัยความกล้า

- วิธีการพูดการนำเสนอสิ่งที่เราทำต่อกลุ่มเป้าหมายทดลอง เราจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น เพื่อให้เขาให้ความร่วมมือ อาทิ ประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากผลิตภัณฑ์ของเรา เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์แบบเก่าที่เขาใช้ อาจต้องมีหลักฐานผลงานเชิงประจักษ์ไปให้ดูด้วย เช่น มีค่าใช้จ่ายน้อยลง ใช้เวลาน้อยลง ประสิทธิภาพที่มากขึ้น

- ผลงานที่ดี ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมหรือความคุ้นชินเดิมของกลุ่มผู้ใช้ อย่ามุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ใช้โดยไม่จำเป็น เพราะอาจส่งผลต่อความกลัว ไม่ไว้วางใจ และไม่เกิดการใช้งานในที่สุ

- ผลิตภัณฑ์ที่ดี ต้องไม่มองข้ามเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งานมาเป็นลำดับความสำคัญต้นๆ

- การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะข้อมูลของกลุ่มเฉพาะ การพึ่งพิงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก อาจทำให้เราได้แต่ข้อมูลที่ไม่อัพเดท

- ไม่ลืมศึกษาคู่แข่ง และย้อนกลับมาดูผลงานของเราในการพบกลุ่มเป้าหมาย หากมีการนำเสนอข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

­

­

­

หลังจากผ่านมาตลอดช่วงเช้าและช่วงบ่ายที่น้องๆ นำเสนอความก้าวหน้าของผลงาน และนำข้อกังวลใจในการพัฒนาต่อยอดมาปรึกษากับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจนครบถ้วนทุกกลุ่มแล้ว พี่ๆ ผู้ใหญ่ใจดีที่มาเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ประชุมร่วมกันเพื่อประมวลคำแนะนำมาชี้แนะน้องๆ ทุกกลุ่มเป็นรายกลุ่ม ในวงใหญ่

­

­

 สุดท้ายนี้ ก่อนปิดเวที พี่โอ๊ต ปฤษฎา หิรัญบูรณะ นักวิจัยจากฝ่ายบริหารเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สวทช. ได้ฝากคำแนะนำแก่น้องๆ โดยเฉพาะจุดสำคัญคือเรื่องของ "ข้อมูล" เป็นตัวตัดสินความสำเร็จ น้องๆ ไม่ควรคิดเองเออเอง ควรต้องไปหาข้อมูล การที่น้องๆ ได้ข้อมูลมาทำงานนั้นต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ที่สำคัญต้องมาจากแหล่งข้อมูลเฉพาะ ข้อมูลที่มีประโยชน์มักไม่ได้เผยแพร่และค้นหาได้ผ่าน search engine ทั่วไป สุดท้ายเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว น้องๆ ยังไม่อาจนำมาใช้ได้ทันที เพราะยังเป็นข้อมูลดิบ จึงต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้ข้อมูลที่ใช้งานได้จริง

­

­

ปิดค่ายลงแล้ว แล้วพบกันใหม่กับเหล่าเยาวชนคนเก่ง ICT ทั้ง 13 ทีม ในเวทีนำเสนอผลงานของน้องๆ วันที่ 17 ก.ย. ภายในงาน NECTEC ACE 2014 ผู้สนใจมาร่วมชมความก้าวหน้าของน้องๆ ในงานได้นะคะ ( ^ _ ^ )

­

///////////////////////////////////////////////////

ค่ายพิจารณาความก้าวหน้าการพัฒนาต่อยอดผลงานโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปี 2557 วันที่ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2557 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมในโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์