ความหวังใหม่หลังภัยสึนามิ สู่การบริหารจัดการตนเองอย่างยั่งยืน
นงนาท สนธิสุวรรณ

­

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ได้นำขบวนผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัยเพื่อท้องถิ่นชุมชนแกนนำในพื้นที่ประสบภัยสึนามิจากจังหวัดตรัง และสตูล พร้อมด้วยอาจารย์/นักศึกษาภาคสังคมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฯและมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ไปร่วม เวทีสัญจร โครงการ"สร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเอง ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิระยะ ๑" ที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ มีนาคมที่ผ่านมา

­

ภาพจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ภาพจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น

­

โครงการนี้ ดำเนินการโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ โดยใช้เงินจากกองทุนไทยพาณิชย์ช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ ที่ได้รับบริจาคสมทบจากประชาชนและองค์กรต่างๆ แบ่งการดำเนินงานเป็น ๓ ระยะ คือช่วงช่วยให้อยู่รอดจากภัยพิบัติ ช่วงฟื้นฟูชีวิตและความเป็นอยู่ ช่วงพัฒนาบริหารจัดการตนเองอย่างยั่งยืน

­

ภาพจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ภาพจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น

­

พื้นที่ดำเนินโครงการ จำแนกตามประเด็น ๓ ลักษณะ คือ การจัดการสวัสดิการชุมชน ๒ โครงการ การจัดการทรัพยากร ๕ โครงการ และ การจัดการอาชีพทางเลือก ๔ โครงการ รวมพื้นที่ทั้งหมด ๑๑ แห่ง ครอบคลุม ๑๑ ชุมชน ๕ อำเภอ ๓ จังหวัด ของ จ.ระนอง จ.ตรัง และ จ.สตูล

­

ภาพจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น

­

ภาพจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น

­

กรอบงาน ๓ ด้าน คือ การวิจัย (R) คือ คุณค่าของข้อมูล ด้วยการ ค้นหาข้อมูล และความรู้ที่จำเป็น รวมทั้งการออกแบบ ตัดสินใจ เพื่อแก้ปัญหาฐานข้อมูลและความรู้ >>> การพัฒนางาน(D) คือ ลงมือแก้ไขปัญหา และพัฒนาให้เกิดรูปธรรมความเปลี่ยนแปลง >>> การจัดการร่วมกันของคนในชุมชน(M) >>> คนพัฒนา >>> กลไกต่อเนื่องและยั่งยืน

­

­

­

­

ชุมชนแรกที่ได้ไปพบปะพูดคุยเป็น กระบวนการกองทุนวันละบาท ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง โดย เชื่อมโยงเครือข่าย ๖ มัสยิด ใช้หลักศาสนามาช่วยการขับเคลื่อน กองทุนวันละบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และติดเชื้อในชุมชน

­

­

พวกเราประทับใจมากคือ ชาวบ้านมีความเอื้ออารี และให้โอกาสกัน จากสภาพของคนสิ้นหวังท้อแท้กับสภาพความเป็นอยู่ ได้พลิกฟื้นชีวิตจากการเป็น "ผู้รับ" มาเป็น"ผู้ให้ต่อสังคม" ...กองทุนวันละบาทที่รวบรวมเงินออม และบริหารผ่านคณะกรรมการของชุมชน ได้สร้างความเข้มแข็ง เป็นรากฐานของใจและกายเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในหลายมิติของชุมชนยั่งยืน เป็นที่น่าสังเกตว่า สตรีมีบทบาทสูง ทั้งในด้านการเป็นแกนนำ และการตัดสินในนโยบายสำคัญของชุมชน นับเป็นเรื่องน่ายินดี

­

­

พื้นที่ต่อมาที่ได้เข้าเยี่ยมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น คือ ชุมชนบ้านบางกล้วยนอก ที่มีวิถีการสร้างฐานชีวิต ๓ ฐาน คือ ฐานที่ ๑ วิถีชีวิตคนต้นน้ำ บทเรียนการทำงานป่าต้นน้ำห้วยเสียด ที่สร้างจิตสำนึกร่วมกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ปราศจากมลภาวะเป็นพิษจากสารเคมี และการตัดทำลายป่าไม้ ฐานที่ ๒ วิถีชีวิตคนกลางน้ำ บทเรียนจากการจัดการพื้นที่การเกษตร ปลูกพืชผัก และไม้ผลยืนต้นผสมผสาน เพื่อการยังชีพ และแลกเปลี่ยนกัน ฐานที่ ๓ วิถีชีวิตคนปลายน้ำ บทเรียนการจัดทรัพยากรป่าชายเลน วิถีชีวิตคนประมง พึ่งพาฐานทรัพยากร

­

­

­

ณ ท่าเรือบ้านบางกล้วยนอก เยาวชนนำเสนอแผนที่ร้านค้าในชุมชน ปฏิทินฤดูกาล ตารางปลา และขั้นตอนการหมักน้ำปลา ซึ่งเป็นผลิตภัณท์ที่ชุมชนมีความภาคภูมิใจมาก ได้เชิญชวนให้ผู้มาเยือนได้ชิมกันทั่วหน้า แม้อายุการหมักยังไม่ได้ที่ตามที่กำหนดไว้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่สามารถขยายฐานการผลิตได้เป็นจำนวนมาก สืบเนื่องจากปริมาณปลาที่จับได้ไม่แน่นอน ขึ้นกับฤดูกาลที่แปรปรวน

­

­

อีกบรรยากาศหนึ่งที่พลาดไม่ได้ ของการมาเยี่ยมเมืองชายฝั่งทะเลเช่นนี้ คือการล่องเรือยนต์เล็กออกไปชมวิถีชีวิตชาวเล และทรัพยากรป่าชายเลน ของอ่าวทะเลนอก ที่เคยถูกทำลายด้วยแรงคลื่นยักษ์สึนามิ แต่บัดนี้ ป่าโกงกางได้ฟื้นขึ้นมาเขียวชอุ่มตลอดแนวยาวของชายฝั่ง ซึ่งเยาวชนหญิง-ชาย ได้ผลัดกันเล่าบทเรียนอุตสาหะเพาะต้นกล้าโกงกาง นำมาปลูกครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ย่อท้อต่อการที่ฝูงลิงแสม ได้เข้ามาบุกรุกเก็บกินยอดต้นอ่อนอยู่เป็นเนืองนิจ

­

­

­

หลังจากขึ้นฝั่งแล้ว คณะได้มาเยี่ยมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการหมักแก๊ซชีวภาพสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งมีรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน ใช้วัตถุดิบจากมูลสัตว์ ที่เก็บได้จากพื้นที่สาธารณะ ซึ่งได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือ รักษาความสะอาดของถนนหนทางที่ วัว ควาย ถูกปล่อยให้ทิ้งมูลไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อหมักมูลสัตว์ในบ่อพักได้ที่แล้ว จะเก็บแก๊ซไว้ในถังขนาดใหญ่ที่เคลือบด้วยปูนและสีกันซึมปล่อยออกทางท่อสู่เตาหุงต้มประกอบอาหารต่อไป ได้ปริมาณแ๊ก๊ซไม่มากนัก เพราะมีอุปสรรคเรื่องบริเวณที่ตั้งจำกัด และมูลสัตว์ที่เก็บได้น้อยลง ไม่เพียงพอต่อการผลิตแก๊ซจำนวนมาก

­

­

­

รายการสุดท้ายของการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ คือการสรุปบทเรียนรู้ ณ บริเวณ โรงเรียนเก่าบ้านทะเลเกาะนอก ตั้งอยู่หน้าหาดบ้านทะเลนอก ซึ่งเป็นจุดที่คลื่นสึนามิ ได้กวาดชีวิตของครูและนักเรียนทั้งสิ้น ทางการยังเก็บซากสลักหักพังไว้เป็นอนุสรณ์ แต่ได้ย้ายโรงเรียนสร้างใหม่เข้าไปไว้ด้านใน ห่างจากหาดทะเลนอกในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยาบรมราชกุมารี

­

­

ข้าพเจ้ากลับกรุงเทพ พร้อมความรู้สึกดีๆมากมายในพัฒนาการของชุมชน ที่สร้างความเข้มแข็งในการจัดการชีวิตที่มีประสิทธิภาพด้วยตนเอง ในบริบทต้นทุนสังคมที่เป็นอยู่ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนอื่นๆได้เป็นอย่างดี สะท้อนการไม่สิ้นหวังในชะตาชีวิตที่เคยล่มสลายมาแล้ว แม้สภาพจิตใจยังไม่เคยลืมเลือนความสูญเสียจากมหันตภัยครั้งนั้น แต่ได้พลิกฟื้นวิกฤตเป็นโอกาสอย่างน่าชมเชย ข้าพเจ้ายังจดจำภาพความงดงามตามธรรมชาติ ด้วยเกาะแก่งน่าท่องเที่ยว อาหารอร่อย ที่พักสะอาด และประทับใจชาวระนองที่ผสมผสานระหว่าง ชาวมุสลิมและพุทธ อยู่กันอย่างสงบสามัคคี มีน้ำใจต่อผู้มาเยือน อยากกลับไปอีก...

­

­

.......................................................................................................................................

ภาพบางส่วนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์

­