เมื่อ “เกาะสุกร” ไม่มี “หมู” แต่มี “นา” วิถีดั้งเดิม“การซอนา”ไปด้วยกันกับ “การท่องเที่ยว”ได้จริงหรือ
นาถชิดา อินทร์สอาด

­

เป็นครั้งแรกที่ได้มาเยือน “เกาะสุกร” มาทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ทีมสื่อสารสังคม ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ในโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ โดยมีเวทีสัญจรที่ จ.ตรัง และหนึ่งในพื้นที่คือ บ้านแหลม/บ้านทุ่ง ต.เกาะสุกร แหลมทุ่ง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เมื่อวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา


ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ “เกาะสุกร” ก็น่าสนใจเพราะคิดว่าที่นี่ต้องมี “หมู” แน่ๆ แต่มาได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชุมชนที่นี่เป็นชาวมุสลิมเกือบร้อยเปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้น “หมู” หรือ “สุนัข” ไม่มีที่เกาะนี้อย่างแน่นอน ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วทำไมจึงชื่อว่า “เกาะสุกร” ข้อมูลในอินเตอร์เนตบอกว่าสำหรับที่มาของชื่อ เกาะสุกร นั่นมีเรื่องเล่าหลากหลาย เช่น ในอดีตบนเกาะมีหมูป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งมีชาวประมงกลุ่มหนึ่งซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะ จึงขับไล่หมูป่าออกไปจากเกาะ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนชายฝั่งมองไปเห็นฝูงหมูป่ากำลังว่ายน้ำอยู่ จึงเรียกเกาะนี้ว่า ก่อนจะเปลี่ยนเป็น เกาะหมูเกาะสุกร

­

และอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า มีเรือสำเภาของเศรษฐีมาจอดที่ปากน้ำ ซึ่งลูกชายของเศรษฐีนับถือศาสนาอิสลาม มาชอบลูกสาวของตายายที่นับถือศาสนาพุทธ และได้อยู่กินกันเป็นเวลานาน ต่อมาเรือสำเภากลับมาที่ปากน้ำ ตายายจึงมาเยี่ยมลูกสาว โดยเตรียมหมูปิ้งไม้เสียบมาให้ลูก แต่ลูกสาวแกล้งจำพ่อแม่ไม่ได้ ตายายโกรธ

­

เป็นไปได้ทั้งสองตำนาน อยู่ที่เราจะชอบตำนานไหน................

ข้อมูลของเกาะสุกร หรือที่เรียกกันว่า เกาะหมู เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ตัวเกาะขนานกับแนวชายฝั่ง และห่างจากฝั่งเพียง 3 กิโลเมตร สภาพตัวเกาะประกอบด้วยภูเขา สวนยางพารา ป่าโกงกาง นาข้าว และทะเล ทำให้ชาวบ้านบน เกาะสุกร มีอาชีพประมง ทำสวนยาง และเกษตรกรรม นอกจากนี้ เมื่อหมดฤดูนาข้าวในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ก็จะเห็นไร่แตงโมพันธุ์หวานแดงอร่อย ออกผลเต็มทั่วท้องทุ่ง เพราะเป็นสินค้าขึ้นชื่อของ เกาะสุกร

­

รู้จัก “เกาะสุกร” มากพอควร คราวนี้ มารู้จักคนในชุมชน “บ้านแหลม/บ้านทุ่ง” ที่รวมกลุ่มกันเข้าโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามินี้กัน ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร

นางสาวสุทิน สีสุข ผู้ประสานงานสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดตรัง


เล่าที่มาว่า

โครงการนี้เป็นการนำ “กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น” มาใช้ตั้งแต่เริ่มด้วยให้คนในชุมชนรวมตัวกันขึ้นมาร่วมคิดร่วมกันค้นหาปัญหา ของตนเอง ค้นหาสิ่งที่อยากจะแก้ เป็นกระบวนการที่ทำให้ชาวบ้านเห็นถึงปัญหาของตัวเอง

­

ดังนั้น สิ่งที่ ชุมชนนี้เลือกโจทย์ มาทำก็คือ “ชุมชนจัดการตนเองเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร” เพราะที่นี่แต่โบราณกาล อาชีพดั้งเดิมคือ การทำนา ที่ปู่ย่าตายาย ภูมิใจไม่ต้องซื้อข้าวกินก็มีชีวิตอยู่ได้ แต่ด้วยสภาพปัจจุบันที่ดินกำลังจะสูญหาย คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการทำนา จึงทำให้เกิดโจทย์นี้ขึ้นมา โดยมีกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงและมูลนิธิสยามกัมมาจลได้มาช่วยต่อยอด จนปัจจุบันความเข้มแข็งของชุมชน “บ้านแหลม/บ้านทุ่ง” เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างโดยมี “จ๊ะหนา” หรือ “นางสาวรัตนา ไชยมล”เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก โดยมีผู้ใหญ่ใจดีในหมู่บ้านที่คอยมาช่วยเหลือกัน

­

ในวันที่ไปเยือน ได้เห็นภาพของคนในชุมชนที่ออกมานำเสนอ บรรยายการทำงานแบบรู้หน้าที่ โดยมีการเก็บ “ข้อมูล” ที่มีมากมายมหาศาลเป็นหลักในการทำงาน จากเสียงสะท้อนของชาวบ้าน บอกว่าเพราะโครงการฯ นี้ทำให้สามารถดึงวิถีชีวิต ดั้งเดิม “การซอนา” (ลงแขก) กลับมาใหม่อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ได้หายไปนานมากเพราะต่างคนต่างเร่งทำผลผลิตของตัวเอง แต่ด้วยโครงการฯ นี้ทำให้เห็นปัญหา ค่าแรงค่าปุ๋ย ค่าพันธ์พืชฯลฯ ทำให้มีการรื้อฟื้นกระบวนการนี้กลับมาอีกครั้ง สิ่งที่ได้คือการได้รวมกลุ่มกันช่วยทำนา ได้พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบ “รู้สึกว่าดีจริงๆค่ะที่ได้กลับมาช่วยกันอีกครั้ง” ชาวบ้านคนหนึ่งบอก

­

จากการรวมกลุ่ม มาเป็นศึกษาการดูงาน การผลิตพันธุ์ข้าวเอง การทำปุ๋ยหมัก เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ ความยั่งยืนหลายอย่างกำลังตามมาเพราะเกิดจากการเรียนรู้จากการทำโครงการฯ นี้ และเกิดการจัดตั้ง “กองทุนชาวนา” ที่เห็นเป็นรูปธรรมของผลที่เกิดขึ้นจากความพยายามรวมกลุ่มของคนในชุมชน

­

แม้จะมีเสียงสะท้อนจากคนรุ่นพ่อถึงความกังวลเกี่ยวกับ “ผืนนา” ที่กำลังถูกนายทุนจากนอกพื้นที่กว้านซื้อเพื่อทำรีสอร์ทและอื่นๆ หรือ ความกังวัลเกี่ยวกับลูกหลานที่ไม่มีใครคิดจะสานต่อการทำนา แต่เพราะโครงการฯ นี้ยังทำให้ทุกคนเห็นความหวัง ภาพเยาวชนตัวน้อยๆ ที่ผู้ใหญ่พยายามเปิดโอกาสให้มาร่วมกิจกรรม วาดภาพชุมชนที่ถนัด กลับไปชวนพ่อแม่คุยทำไมถึงอยากทำนา “เพราะทำนาจึงมีข้าวกิน” เสียงสะท้อนจากพ่อแม่ อาจจะทำให้ทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับไปบ้างไม่มากก็น้อย

­

ภาพวิถีชีวิตดั้งเดิมที่กำลังจะกลับมา ภาพท้องทุ่ง ชายชราจูงควายกลับบ้าน สลับกับสวนแตงโม ต้นมะพร้าวเรียงรายเป็นทิวแถว ตั้งรับชายทะเลที่รายล้อมเกาะกับภูเขาสูง ป่าไม้ นักท่องเที่ยว รีสอร์ท ความเจริญ รถซาเล้งรับนักท่องเที่ยว ภาพเหล่านี้วนเวียน ระหว่างการ “ซอนา” กับ “ธุรกิจท่องเที่ยว” เราได้แต่เอาใจช่วยให้ “คนในชุมชน” ต่อสู้และเดินไปพร้อมๆ กันได้อย่างลงตัว

“บ้านแหลม/บ้านทุ่ง” บน “เกาะสุกร” คือตัวอย่างชุมชนที่น่าจะนำมาเป็นแบบอย่าง ถึงการ “ต่อสู้” กับวิถีชีวิตเก่า-ใหม่ ขอให้ต่อสู้ต่อไป แล้วเราจะกลับไปเยือนอีกนะ....

­

ข้อมูลการเดินทาง

สามารถนั่งรถตู้สายตรัง-ย่านตาขาว ลงที่ตลาดย่านตาขาว แล้วต่อรถสองแถวสายย่านตาขาว-ปากปรน-แหลมตะเสะ ระยะทาง 47 กิโลเมตร ถึงท่าเรือแหลมตะเสะ หรือใช้เส้นทางตรัง-ปะเหลียน(หลวงหมายเลข 404) เลี้ยวขวาสี่แยกบ้านนาประมาณ 18 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงท่าเรือ ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือหางยาวประมาณ 30 นาที ค่าเช่าเหมาเรือราคา 700 บาท นั่งได้ 10 คน และบนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว

­

โดย นาถชิดา อินทร์สอาด