บทบาทของครูยุคใหม่
suttiwat naskan

     หลักจากมีโอกาสในการเข้าร่วมฟังและเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการศึกษาหลายครั้ง เลยคิดว่าสิ่งที่ได้รับน่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ทุกคนที่ตั้งใจจะเรียนครู หรือ อยากจะทำโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา จึงอยากจะนำสิ่งเหล่านี้มาถ่ายทอดเพื่อเป็นมุมมองในการนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

­

­

     ถ้ามองย้อนกลับไป เราหลายคนคงเคยชินกับการนั่งเรียนในห้องเรียน เมื่อถึงเวลาก็สอบวัดผล วันๆ ตั้งหน้าตั้งตากับการวางแผนว่าจะเรียนต่ออะไร วิชาไหนที่คะแนนไม่ดีก็คิดแต่จะเรียนพิเศษที่ไหนให้ได้คะแนนเพิ่ม เครียดและกดดันอยู่กับหนังสือและตำรา รวมถึงความคาดหวังจากครอบครัว และในท้ายที่สุดก็มีทั้งความดีใจและความผิดหวัง

­

­

     แต่สำหรับครูยุคใหม่แล้ว .....ไม่จำเป็นว่าครูต้องจบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เสมอไป แต่ครูอาจมาจากผู้มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้ ผู้ที่เก่งและที่สำคัญต้องเป็นคนดี  ส่วนบทบาทที่สำคัญคงไม่ใช่การเป็นผู้สอนหรือผู้ที่ถ่ายทอดความรู้เพียงผู้เดียว แต่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ให้แก้ผู้เรียน (Facilitator) และ เป็นเสมือนพี่เลี้ยง (Coach) ที่จะคอยตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นและให้เด็กได้มีส่วนร่วม (Interactive) ในห้องเรียน (ที่ไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมอีกต่อไป แต่หมายถึงการให้เด็กได้ออกไปสัมผัสของจริงนอกห้องเรียน) นอกจากนั้นยังต้องให้ความสำคัญกับผู้เรียนที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะเด็กที่เรียนเก่งหรือเรียนดีเท่านั้น เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้เรียนทุกคนให้มีโอกาสได้บรรลุในภาวะหรือข้อจำกัดของแต่ละคนได้ (Mastery Learning) รวมถึงการวัดผลของผู้เรียนนั้นอาจไม่ได้วัดด้วยเกณฑ์เดียวหรือคะแนนเสมอไป แต่อาจวัดจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการวัดที่ตัวผู้เรียน ไม่ใช่ผลการเรียน (Formative Assessment) ส่วนครูก็สามารถจัดการความรู้ (KM- Knowledge Management) โดยให้เด็กได้ถ่ายทอดและสะท้อนสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้จากการลงมือทำ จากบทเรียน รวมถึงครูเองก็สามารถแลกเปลี่ยนการทำงานประสบการณ์และข้อค้นพบที่ได้จากการสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้สอนด้วยกัน เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาการออกแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้