การประชุมเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมในการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนห้วยยอด โดย ศิริชัย พรหมทอง
Webmaster

เรื่องเล่าจากภาคใต้/พื้นที่เครือข่าย รร.ห้วยยอด จ.ตรัง 

ตอนที่ 1 การประชุมเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมในการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง วันที่ 16 มีนาคม 2554 ณ โรงเรียนห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

ทุ่มงบฯ 1.4 แสนล้านปฏิรูปการศึกษา

จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.)

งบประมาณขับเคลื่อน 2555-2561 รวม 143,142 ล้านบาท

ขับเคลื่อน 4 ด้าน

1. ครูยุคใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ และครูสาขาขาดแคลน 
2. สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ 
3. กระบวนการเรียนรู้ใหม่ 
4. การบริหารจัดการใหม่  
ร้อยละ   48
ร้อยละ   36.3
ร้อยละ     8
ร้อยละ     8

  

“โครงการเฝ้าระวังรักษาคุณภาพอนาคตเยาวชนไทย” 

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปี 2548

ปัญหารุนแรงที่สุด ๕ อันดับแรก เด็กเยาวชน อายุ 12-24 ปี เกี่ยวข้อง

อันดับ 1   เหล้า บุหรี่
                เหล้า
                บุหรี่ 
อันดับ 2 หนีเรียน 
อันดับ 3 ยาเสพติด ยาบ้า
อันดับ 4 เพศสัมพันธ์  
อันดับ 5   การพนัน (นักศึกษา กทม.)

5,921,257  คน
2,023,893  คน
2,086,527  คน 
516,823      คน
472,575     คน 
101,306      คน 

­

          ในช่วงที่ผ่านมา เราคงจะพบว่า รูปแบบการศึกษาในระบบโรงเรียนของเราไม่สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการศึกษาขึ้นหลายอย่าง การศึกษาไม่ตอบสนองเป้าหมายชีวิตของคน การศึกษาไม่สามารถยกระดับจิตใจของคนให้สูงขึ้น การศึกษาส่วนใหญ่ยังจำกัดวงแคบอยู่แต่ในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แม้จะมีแนวคิดแนวทางใน “การปฏิรูปการศึกษา” แต่ก็ยังไม่สามารถส่งเสริมให้ทุกคนเกิดการพัฒนาตนเองทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ รวมทั้งสามารถปรับตนเองให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก และยังไม่สามารถทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้จริง 

 

          ภายใต้ความตระหนักต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ผอ.สมจริง อินทรักเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยยอด จึงรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือถึงปัญหาการศึกษาของเด็กเยาวชน รวมทั้งหาทางออก ทางแก้ร่วมกัน ในวันที่ 16 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากโรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมได้แก่ 1) โรงเรียนบางดีวิทยาคม อ.ห้วยยอด 2) โรงเรียนห้วยนางราษฎร์บำรุง อ.ห้วยยอด 3) โรงเรียนสามัคคีศึกษา อ.ห้วยยอด 4) โรงเรียนรัษฎานุประดิษฐ์อนุสรณ์ อ.วังวิเศษ 5) โรงเรียนรัษฎา อ.รัษฎา และ 6) โรงเรียนห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง 

 

          ผอ.สมจริง อินทรักเดช กล่าวว่า “ที่ผ่านมาแม้ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะให้ความสำคัญกับการปลูกฝังหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียน แต่ในการปฏิบัติยังถือว่าไม่น่าพอใจ ดังนั้น เราจึงต้องมี 1) การเรียนรู้ที่ลงลึกในกลุ่มสาระต่างๆ 2) การสร้างนิสัยพอเพียงให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน 3) การประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

 

          ผมมีข้อเสนอแนวทางในการดำเนินงานดังนี้คือ 1) การสร้างองค์กรหรือมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสังคมเป็นสุข ในจังหวัดตรัง เพื่อเป็นหน่วยย่อยในการจัดการในพื้นที่ และ 2) การสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ในกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อน  

 

          ผมเชื่อว่า การสร้างนิสัยพอเพียง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มากกว่าผลการประเมินของ สมศ. ตัวอย่างภัยธรรมชาติที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นบทเรียนหนึ่งที่ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความพอเพียง พอประมาณ และเรื่องหลักภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น”

 

          ในเวทีครั้งนี้ มี อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และหัวหน้า “โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)” ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมในฐานะ “ผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator)” พาผู้เข้าร่วมประชุมชวนคิด ชวนคุย ให้เห็นว่า การศึกษาเล่าเรียนของเด็กเยาวชนที่ผ่านมาจำกัดแต่เพียงในโรงเรียน ซึ่งเด็กจะได้แต่ความรู้เชิงวิชาการ เด็กเยาวชนไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น วิชาชีวิต วิชาชีพ และวิชาชุมชน การศึกษาสำหรับเด็กเยาวชนโดยเฉพาะในท้องถิ่น จึงไม่ควรจำกัดด้วยระบบ รูปแบบและสถานที่ แต่ควรเกิดขึ้นตามโอกาส ตามฐานทุนของชุมชนท้องถิ่นที่จะอำนวยให้ได้ เช่น จากสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้รู้ในชุมชน และเรียนรู้จากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนทุกขณะ เช่น จากการทำมาหากิน การละเล่น พิธีกรรม วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น เด็กเยาวชนสามารถเลือกเรียนตามรูปแบบที่ตนต้องการ โดยสามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อให้ได้เรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อที่จะพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการศึกษาเรียนรู้อย่างไม่มีจุดจบไปตลอดชีวิต 

 

          อ.ทรงพล กล่าวว่า “สิ่งที่เรากำลังทำ ก็คือการปฏิรูปการศึกษานั้นเอง จะเห็นว่า 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปในปี 2554 เช่น ปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นกิจกรรมมากขึ้น, กิจกรรมในการพัฒนาทักษะครู โดยเปลี่ยนกรอบความคิดจากการสอนมาเป็นกระบวนการเรียนรู้, การผลิตครูพันธุ์ใหม่, โรงเรียนดีประจำตำบล ประจำอำเภอ และโรงเรียนมาตรฐานสากล, ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้เชิงบูรณาการ ฯลฯ

 

          ขณะนี้เด็กทั่วประเทศประสบปัญหาเดียวกันคือ ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด, ขาดภูมิคุ้มกัน ไม่เท่าทันกระแสสังคม และความเปลี่ยนแปลงของโลก ฯลฯ

 

           ในพื้นที่ อำเภอห้วยยอด มีทุนทางสังคมมากมาย คำถามคือ แล้วเราจะจัดการต่อย่างไรให้เป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จึงควรมีการใช้ทุนหรือศักยภาพของแกนนำเยาวชนรุ่นพี่ เช่น พี่สอนน้อง (พี่ที่ไปเรียนมหาวิทยาลัย พี่ที่เรียนอยู่ใน รร.มัธยม ไปสอนน้อง รร.ประถม), มีการให้นักเรียนทำโครงงานในชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง เช่น การพัฒนาอาชีพ การทำเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรม ซึ่งกระบวนการนี้จะเป็นการช่วยพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้แก่เด็ก, มีการบูรณาการสาระการเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้ในชุมชน, ครูทำแผนการสอนจากโครงงานที่เด็กทำ, มีการให้เด็กสืบค้นในชุมชนว่า พ่อแม่ของตัวเองเก่งเรื่องอะไร หรือในชุมชนมีของดี มีความรู้เรื่องอะไร เรานำมารวบรวมและจัดเป็นเมนูให้เด็กเลือกว่าเขาอยากจะเรียนอะไร โดยให้เด็กลงตารางเวลาเอาเองว่าใน 1 สัปดาห์ จะเรียนเรื่องอะไรบ้าง โดยครูหรือผู้สอนค่อยบูรณาการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เด็กเรียนรู้ไปด้วย (ทำเป็นตาราง สร้าง “สนุก สุข เรียนรู้ และพัฒนา”) 

 

ตาราง สนุก สุข เรียนรู้ และพัฒนา ประจำสัปดาห์ที่.......

  วิชาชีวิต วิชาชีพ วิชาชุมชน วิชาการ
ครอบครัว        
โรงเรียน        
ชุมชน        

­

          นอกจากนี้ ในพื้นที่ห้วยยอดยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถหลายคน เช่น ในโรงเรียนห้วยยอด ซึ่งขณะนี้มีอาจารย์ที่ใกล้จะเกษียณหลายคน เป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของท้องถิ่น (ตัวอย่าง บ้าน อ.จรูญ แก้วละเอียด ที่มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไม้หอมเทพทาโร ที่มีการปลูก ผลิต แปรรูป รวมถึงการอนุรักษ์ไม้เทพทาโร ถือเป็นทุนทางสังคมอีกแห่งหนึ่งในชุมชน ที่เราสามารถใช้เป็นแห่งเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ ให้กับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นของเราได้) ถ้าในพื้นที่ห้วยยอดมีการรวมตัวรวมกลุ่มของคนเหล่านี้ เพื่อทำประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนในอำเภอห้วยยอดเอง ก็จะเป็นสถาบันทางภูมิปัญญาของชุมชน ซึ่งจะเกิดคุณค่ามหาศาล” 

 

ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาที่พบในการดำเนินงานคือ 

- ปัญหาการทำงานเป็นทีมของคณะครูในโรงเรียน 
- ครูขาดทักษะ ขาดความมั่นใจในการนำเด็ก 
- เมื่อแผนการเรียนการสอนไม่สำเร็จ ก็ไม่กล้าเชิญผู้ปกครองมาคุยเพื่อขับเคลื่อนงานต่อ
- โรงเรียนยังไมได้ดำเนินการสร้างความตระหนักและให้ความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ครูและนักเรียนทั้งโรงเรียน
- การให้ความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ไปถึงผู้ปกครอง 
- การนำไปปฏิบัติของครูยังไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร 
- ยังไม่มีการบูรณาการระหว่าง โรงเรียน ชุมชน (ผู้ปกครอง) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
- โรงเรียนมีครูผู้รับผิดชอบเพียง 1 คน ขาดกลุ่มครูแกนนำในการขับเคลื่อน (ไม่มีใครอยากจะมาทำงานตรงนี้ เพราะเหนื่อย และเป็นงานที่หนัก) 
- เรื่องการทำโครงงาน เราก็พยายามชวนลูกไปทำ ลูกก็ปฏิเสธ เมื่อเด็กพาตัวเองออกจากกิจกรรม ปฏิเสธกิจกรรม แล้วเราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
- ในพื้นที่หรือชุมชน ช่วงตอนเย็น และวันเสาร์อาทิตย์ ยังไม่มีการจัดกิจกรรมเสริมให้กับเด็ก

 

          อ.ทรงพล กล่าวว่า “กิจกรรมที่เรากำลังทำ จะเป็นการช่วยโรงเรียนและครูในการพัฒนาหลักสูตร เสริมทักษะเรื่องการจัดการความรู้ และความรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

          ที่ผ่านมา ครูพาเด็กทำกิจกรรม แต่เด็กไม่ยอมทำ เพราะสิ่งที่ครูให้ทำ ไม่ต้องจริตเขา เพราะฉะนั้น ครูจะต้องมีกุศโลบายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กับเด็ก ถ้าทุกฝ่ายในชุมชนท้องถิ่นร่วมมือกัน ถ้าเราทำดีๆ มันจะเป็นตาข่ายคุ้มครองเด็ก เพราะจะมีหูตาของพี่คอยคุ้มครองเด็ก มีหูตาของคนทุกคนในชุมชนช่วยดูแลเด็ก เพราะฉะนั้น ผมขอเสนอแนวทางดังนี้คือ 1) มีการพัฒนาแกนนำเด็กหรือสร้างแกนนำเด็กขึ้นมาเป็นรุ่นพี่ 2) มีการรวมรวมแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้เด็กในการเรียนรู้ตามความสนใจ

 

          โดยมีหลักการทำงานร่วมกันคือ ใช้หลักผลประโยชน์ร่วมที่เท่าเทียมกัน (win - win Solution) โดยเราต้อง 1) ทำให้เด็กเขาเห็นดีด้วย 2) ทำให้เขาลงมือทำ 3) ทำให้เขาสัมผัสผล โดยถ้าเด็กไม่เคยทำ จะไม่มั่นใจ เพราะฉะนั้นครูจะต้องช่วยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (เปลี่ยนจากผู้สอน เป็น Learning Designer เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็ก) โดยทำให้เป็นวิถี ให้เด็กรู้สึกมีความสุขจากการให้ การทำดี ให้เขาฝึกให้เป็นนิสัย เป็นวิถีชีวิต”

 

           และเพื่อให้การขับเคลื่อนงานลงสู่การปฏิบัติมากขึ้น แกนนำและผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จึงมีการนัดหมายเพื่อถอดบทเรียนการทำงานและทำแผนปฏิบัติงานร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 29 มีนาคม 2554 ณ โรงเรียนห้วยยอด โดยมีประเด็นที่จะถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนพูดคุยกันคือ

          1. ผลลัพธ์ที่คาดหวังคืออะไร (ตัวชี้วัดและเกณฑ์ เชิงปริมาณ  คุณภาพ  และเวลา คืออะไร)

          2. ที่ผ่านมาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร 

                    2.1 อะไรบ้างที่บรรลุตามที่คาดหวัง (ให้ระบุ)

                           ที่บรรลุได้เป็นเพราะอะไร   อะไรเป็นเหตุ ปัจจัย ที่สำคัญ (ระบุ)

                    2.2 อะไรที่ยังไม่บรรลุ  หรือยังไม่ได้ดังใจ (ให้ระบุ)

                          ที่ไม่บรรลุเป็นเพราะอะไร   อะไรเป็นเหตุ  ปัจจัยที่สำคัญ (ระบุ)

                    2.3 อะไรที่ได้มาโดยมิได้คาดหวังไว้ก่อนหน้านี้ (ระบุ)   

                          เกิดขึ้นได้ เพราะ เหตุ ปัจจัยอะไร

          3. ผลที่ยังไม่บรรลุ เราจะทำให้บรรลุได้อย่างไร

              วิธีคิด วิธีการ ที่เราต้องเปลี่ยน มีอะไรบ้าง (ระบุ)

 

           กระบวนการทำงานของโครงการฯ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพื้นที่โรงเรียนห้วยยอดและเครือข่าย จ.ตรัง จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามในตอนต่อไป

 

สิริลักษณ์ ยิ้มประสาทพร

โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)

สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)