ทำความรู้จักสภาลานวัดตะโหมด โดย ศิริชัย พรหมทอง
Webmaster

เรื่องเล่าจากภาคใต้/สภาลานวัดตะโหมด จ.พัทลุง 

ตอนที่ 1 : ทำความรู้จักสภาลานวัดตะโหมด

 

 

          ที่มา ที่ไป…ที่ตะโหมด เมื่อหลายปีก่อน ชยุต อินทร์พรหม (ผู้ประสานงานโครงการฯ พื้นที่ภาคใต้) เคยไปทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “ทุนทางสังคม” ที่สภาลานวัดตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง 

 

          มาวันนี้ (24 กันยายน 2553) เขาก็ได้กลับไปที่นี่อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เขาไม่ได้ไปคนเดียว แต่มี อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และหัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ไปด้วย

 

          เพราะตะโหมดมี “ทุนดี” หลายอย่าง และที่สำคัญผู้นำสภาลานวัดตะโหมดก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประสานงานโครงการฯ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีการ “ต่อยอด” งานจากสิ่งที่ชุมชนมีดีอยู่แล้ว และช่วยเติมเต็มจากสิ่งที่ชุมชนยังขาด 

 

           ทำความรู้จักชุมชนตะโหมด ที่ผ่านมาบ้านตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เป็นชุมชนชนบทอีกแห่งหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการพัฒนาที่รวมศูนย์บริหารจากส่วนกลาง เมื่อลงสู่ชุมชนจึงไม่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของชุมชน ทำให้ชุมชนต้องหันมาพึ่งตนเอง โดยมี “วัด” เป็นศูนย์รวมของความร่วมมือมานานกว่า 50 ปี

 

           ปัจจุบัน ชุมชนตะโหมด มีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบและภูเขา บริเวณที่ตั้งของชุมชนเป็นที่ราบเหมาะสำหรับทำการเกษตร ซึ่งที่มีการทำกันมากได้แก่ การทำสวนยาง ทำนา และทำสวนผลไม้ต่างๆ มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรกรทำนาตะโหมด และชมรมไม้ผลอำเภอตะโหมด สภาลานวัดตะโหมด

 

          ก่อเกิดสภาลานวัดตะโหมด วัดตะโหมด นอกจากจะมีบทบาทเป็นที่พึ่งทางใจของชุมชนแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีพระครูอุทิตกิจจาทร เจ้าอาวาสเป็นผู้บุกเบิกงานพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการศึกษา และการพัฒนาท้องถิ่น 

 

          จากภูมิปัญญาชาวบ้านในการแก้ไขปัญหา วัดและชาวบ้านจึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรสภาลานวัดตะโหมดขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. 2538 เพื่อให้คนในชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันจัดการดูแลชุมชนตามสภาพของปัญหา โดยมีพระครูสุนทร กิจจานุโยค เป็นประธานสภาลานวัดตะโหมด (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ประกาศเกียรติคุณยกย่องเป็น "ครูภูมิปัญญาไทย ประจำปี 2548") ซึ่งท่านมีบทบาทสำคัญในการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านใช้ทรัพยากรของวัดในการพัฒนาท้องถิ่น ทำให้เกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิด และใช้วัดเป็นที่ระดมปัญหา แสดงความเห็นเพื่อช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ 

 

          วัตถุประสงค์ของสภาลานวัดตะโหมด คือ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนในการพัฒนาชุมชน ตลอดจนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เป็นการสร้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อหมู่บ้านและชุมชน เพื่อเกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่บ้าน และสามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

          ลักษณะการบริหารของสภาลานวัดตะโหมด สภาลานวัดตะโหมดแบ่งการบริหารงานออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) สมาชิกสภา ประกอบด้วยตัวแทนหมู่บ้านต่างๆ ในตำบล 2) คณะกรรมการบริหาร คัดเลือกจากตัวแทนของหมู่บ้าน และ 3) ฝ่ายที่ปรึกษา มาจากตัวแทนภาคราชการ 

 

          ในส่วนการบริหารของคณะกรรมการ ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ฝ่าย คือ 1) ด้านสังคม ดูแลสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิต ของเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ฯลฯ 2) ด้านเศรษฐกิจ ดูแลในเรื่องอาชีพ การตลาด ธุรกิจชุมชน การออมทรัพย์ ฯลฯ 3) ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ดูแลเรื่องการศึกษา ส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ และ 4) ด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องป่าไม้ แหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยว ฯลฯ

 

 

การจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชน

 

พระครูสุนทรกิจจานุโยค ประธานสภาลานวัดตะโหมด   

          พระครูสุนทรกิจจานุโยค ประธานสภาลานวัดตะโหมด กล่าวเสริมว่า “ที่ตะโหมดแห่งนี้ วัดจะเป็นศูนย์กลาง เป็นหลักของสังคม เพราะเป็นจุดเชื่อมแห่งความรัก ความสัมพันธ์ เป็นศูนย์รวมน้ำใจ เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญาให้คนในชุมชน รวมทั้งช่วยพัฒนาจิตใจ สร้างระเบียบวินัยให้แก่ชีวิต… กิจกรรมด้านเด็กเยาวชนก็เป็นงานของสภาลานวัดเช่นกัน โดยฝ่ายสังคม เปรียบเสมือนเป็นรัฐมนตรีคอยดูแลเด็กในชุมชน และยังมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเทศบาลตำบลคอยดูแลในระดับท้องถิ่น… นอกจากนี้ ยังมีพระครูสังฆรักษ์วิชาญ ซึ่งเป็นเลขานุการ มีความสามารถในการเป็นพระวิทยากรอบรมเด็กและเยาวชน(ค่ายคุณธรรม)ทั้งจังหวัด”

 

วรรณ ขุนจันทร์ รองประธานสภาลานวัดตะโหมด    

          วรรณ ขุนจันทร์ รองประธานสภาลานวัดตะโหมด บอกว่า “สภาลานวัดดูแลทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ในส่วนของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชน จะดูแลเรื่องยาเสพติด การแข่งขันกีฬา การบวชสามเณรฤดูร้อน การจัดค่ายคุณธรรม(มีพระเป็นวิทยากร) การเรียนนักธรรม หรือในงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่นี่มีป่าชุมชน ชาวบ้านก็ไปช่วยดูแลป่า ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และมีธนาคารน้ำ ทำฝายน้ำล้นตามห้วยบนภูเขา และดึงเด็กและเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ และศึกษาชุมชน

 

          นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ “หลักสูตรตะโหมดศึกษา” โดยที่ตำบลตะโหมดมีโรงเรียน 3 แห่ง คือ โรงเรียนอนุบาลตะโหมด (ประถม), โรงเรียนโล๊ะจังกระ(ประถมศึกษา), โรงเรียนประชาบำรุง (มัธยมศึกษา) ซึ่งทางโรงเรียนได้ร่วมกับสภาลานวัดสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมา เมื่อปี 2539

 

          เนื้อหาของหลักสูตรแบ่งเป็น (1) เรื่องประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชุมชนตะโหมด (2) เรื่องภูมิศาสตร์ของพื้นที่ และสภาพสังคม ชุมชน (3) เรื่องมรดกทางวัฒนธรรม เช่น ความหลากหลายของวัฒนธรรมการกินการอยู่ (4) เรื่องศิลปะการแสดงของท้องถิ่น เช่น หนังตะลุง มโนราห์ (5) เรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น (เช่น มีเขาหัวช้าง เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน) (6) เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยี เช่น หมอพื้นบ้าน หมอสมุนไพร คนทำเครื่องจักรสาน (7) เรื่องผู้นำท้องถิ่น เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้เรื่องคนดีที่อยู่ในชุมชน

 

          โดยหลักสูตรตะโหมดศึกษา ออกแบบมาเพื่อให้โรงเรียนใช้ และอีกส่วนหนึ่งต้องการให้ชาวบ้านได้เข้ามาเป็นครูสอนเด็กด้วย เช่น การปลูกยาง ต้องทำอย่างไร มีการศึกษาเปรียบเทียบต้นยาง เพื่อให้เด็กได้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เด็กเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง” 

 

ศักดิ์ เพชรสุข แกนนำสภาลานวัดตะโหมด    

          ศักดิ์ เพชรสุข ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ป้องกันเอดส์ของกองทุนโลก (Global Fund) บอกว่า ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มี 6 ตำบล (นำร่อง) คือ ตำบลตะโหมด, ตำบลคลองใหญ่, ตำบลหนองตุง, ตำบลแม่ขรี, ตำบลคลองเฉลิม และตำบลชะรัด โดยจะดูแลเรื่องสุขภาพเด็ก สุขภาวะเด็ก เรื่องเพศศึกษา ทั้งเด็กในระบบและนอกระบบ และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มเยาวชนใน 6 ตำบลด้วย 

 

          โดยคาดหวังว่าต่อไปจะมีการสร้างแกนนำเยาวชน มีหลักสูตรพัฒนาแกนนำ เพื่อให้เป็นกลไกในการพัฒนาชุมชนที่สามารถขับเคลื่อนงานต่อได้ และหวังว่าชุมชนจะพึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือตนเองได้ มีวิธีการดูแลสุขภาพเด็กในพื้นที่ มีเทคนิคการให้คำปรึกษา มีการสร้างเพื่อน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฯลฯ”

 

          ส่วนความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาเด็กและเยาวชน ศักดิ์ เพชรสุข บอกว่า “เป็นเรื่องของการขาดความต่อเนื่องของเยาวชนในการทำกิจกรรม และความเสี่ยงของเยาวชนในเรื่องการใช้เทคโนโลยี การรับสื่อทันสมัยจากภายนอก (โดยที่ขาดภูมิคุ้มกัน, ไม่รู้เท่าทัน) และปัญหาเรื่องเด็กท้องก่อนวัยอันควร”

 

พระครูสังฆรักษ์วิชาญ แกนนำสภาลานวัดตะโหมด   

          พระครูสังฆรักษ์วิชาญ ผู้รับผิดชอบโครงการสนับสนุนวัดเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและชุมชน ภายใต้แนวคิด “เข้าวัดทุกอาทิตย์จิตแจ่มใส” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และสำนักพุทธศาสนาจังหวัดพัทลุง บอกว่า “โครงการนี้มีวัดเข้าร่วมโครงการ 43 วัด มีเป้าหมายคือต้องการดึงเด็กเข้าวัด มาเรียนรู้และทำกิจกรรมต่างๆ (โดยกำหนดเป้าหมายในเชิงปริมาณ คือ 1,500 คน/ปี) ซึ่งขณะนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเด็กแล้ว เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์และชวนเด็กๆ เข้ามาทำกิจกรรมในวันว่างด้วยกัน ส่วนลักษณะการจัดกิจกรรม จะไม่เน้นการสอนแบบท่องจำ แต่จะเน้นการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละวัย สอดคล้องกับความสนใจในการเรียนรู้ของเขา”  

 

สถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชนในชุมชน 

 

          วรรณ ขุนจันทร์ รองประธานสภาลานวัดตะโหมด บอกว่า “เดี๋ยวนี้พ่อแม่มีลูก 2 คนก็เลี้ยงไม่ได้ เลี้ยงไม่เป็น ทำให้เด็กมีปัญหา, เด็กสมัยก่อนรู้จักหุงหาอาหารทำกินเองได้ แต่เด็กสมัยนี้ทำอะไรไม่เป็น พอหิวก็ไปซื้อแกงถุงมากิน, พ่อแม่บางคนหาเงินส่งให้ลูกเรียน แต่เรียนจบแล้วไปทำงานข้างนอก ไม่ได้กลับมาอยู่ในชุมชน, สังคมสมัยนี้ไม่ได้ช่วยกันพึ่งพากันแล้ว แต่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ทำให้เด็กก็ทำนาไม่เป็น กรีดยางไม่เป็น พอพ่อแม่ใช้งานก็บ่น(ทำให้เห็นว่า จะทำอย่างไรที่จะปลูกฝังให้เด็กในตำบลเรียนเรื่องปลูกยางตั้งแต่เด็กจนโตเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้ทิ้งอาชีพของพ่อแม่ และไม่ว่างงาน), ส่วนในด้านการศึกษา เด็กอ่านหนังสือไม่ออก คิดไม่เป็น ทำไม่ได้ ก็ปล่อยผ่านไป ปล่อยแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้เราได้ผลผลิตเป็นเด็กที่ขาดคุณภาพออกสู่สังคมเป็นจำนวนมาก”

 

          สมเกียรติ บัญชาพัฒนศักดิ์ดา แกนนำสภาลานวัดตะโหมด เสริมว่า “ปัญหาเด็กและเยาวชนที่พบคือ เมื่อเด็กผ่านการเรียนรู้การอบรมแล้ว แต่พอกลับถึงบ้านก็จะเหมือนเดิม จึงต้องคิดต่อว่า จะทำให้สังคมในบ้านเป็นสังคมที่ดีได้อย่างไรด้วย นอกจากนี้เมื่อเด็กกลับสู่สังคมภายนอก และไปเจอตัวแปรอื่นๆ ก็จะกลับไปเป็นแบบเดิมอีก แล้วเราจะทำอย่างไร… ที่ผ่านมาเราเคยคิดที่จะทำแผนร่วมกัน แต่การต้องสร้างความร่วมมือกับคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย จึงทำได้ยาก จึงยังไม่ได้พูดคุยกันจริงจัง”

 

          พระครูสังฆรักษ์วิชาญ ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเด็กในปัจจุบันว่า “เด็กแต่ก่อนเรียนแค่ ป.4 ก็คิดได้ ทำได้ แต่เด็กสมัยนี้จะไม่คิด (คิดไม่เป็น) และยิ่งไม่คิดไปกว่าเด็กสมัยก่อน เวลาจะทำอะไรจะต้องคอยสั่งการตลอด จึงต้องพยายามปลูกฝังหลักคิดแบบโยนิโสมนสิการ ให้เด็กฝึกคิดเอง ทำเองให้มากขึ้น และเด็กยังเข้าร่วมกิจกรรมไม่ต่อเนื่อง เพราะเด็กชอบเล่น เที่ยว สนุก แต่ไม่ชอบในเรื่องสาระ หรือเรื่องจริงจังมากนัก เมื่อออกนอกโรงเรียนก็เที่ยว ไม่สนใจช่วยเหลืองานของชุมชน…

 

          ตอนนี้หากแบ่งเด็กในชุมชนตะโหมด จะแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มดี (2) กลุ่มปานกลาง (3) กลุ่มชั่ว ซึ่งปัญหาของเด็กกลุ่มนี้เราจะช่วยกันอย่างไร 

 

          ขณะนี้กำลังหารือกับคุณวรรณ ขุนจันทร์ ว่าจะเปิดรับสมัครเด็ก มาเข้าค่ายเยาวชนต้นกล้า เพื่อสร้างเด็กให้เป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่งในอนาคต โดยจะพลิกรูปแบบการเข้าค่าย ให้ไปนอนพัก ทำกิจกรรม ในที่ไม่มีไฟฟ้า ไปในที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อจะดูว่าเด็กจะอยู่ได้หรือไม่ และให้ฝึกทำนา กรีดยาง ปลูกถั่ว เพื่อเรียนรู้อาชีพที่พ่อแม่ทำอยู่แล้ว โดยจะจัดกับเด็กจำนวน 10-20 คนก่อน

 

          โดยคาดหวังว่า เมื่อเด็กผ่านกิจกรรมแล้ว จะได้มีความรู้และทักษะในเรื่อง (1) การคิดเป็น รู้จักคิด รู้จักแก้ไขปัญหา (2) การพูดเป็น กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น (3) การทำเป็น คือ คิดแล้ว พูดได้ และต้องทำได้ด้วย

 

          ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า จะมีการพัฒนาเป็นหลักสูตรสำหรับเด็กและเยาวชน และต่อไปจะยกระดับให้เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย”

 

          พระครูสังฆรักษ์วิชาญ เห็นว่า “ถ้ามีกลุ่มผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาช่วยดึงเด็ก ช่วยดูแลเด็กก็จะเป็นการดี แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเอาจริงเอาจังกับงานนี้ ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน รวมทั้งเทศบาล วัด โรงเรียน… อยากจะให้ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันเรื่องลูกหลานของเราอย่างจริงจังสักที ตอนนี้แต่ละฝ่ายต่างทำงานตามหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น ทำให้เด็กยังเอาดีไม่ได้เสียที”

 

          ความคิดในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชน แกนนำสภาลานวัดตะโหมดมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชนต่างๆ เช่น 

 

          - มีวัดตะโหมดเป็นศูนย์รวมน้ำใจ เป็นศูนย์รวมผู้คนจำนวนมาก เป็นโอกาสที่ดีที่จะปลูกฝังเรื่องหลักธรรมให้ซึมซาบสู่จิตใจของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง (ใช้กระบวนการทำซ้ำ)

          - ท่านพระครูอุทิตกิจจาทร อดีตเจ้าอาวาส ให้หลักในการสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้คนว่า “ทำให้ดู สอนให้เป็น อยู่ให้เห็น”

          - มีการเปิดห้องเรียนธรรมชาติ สอนเรื่องเกษตรกรรมอินทรีย์ โดยให้เรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติ

          - เด็กที่ไปทำนอกชุมชน ไม่รู้เรื่องบ้านของตัวเอง เล่าเรื่องของบ้านตัวเองไม่ได้ ตอนนี้มีการฝึกให้เด็กในกลุ่มที่ดูแล ได้รู้จักการบันทึกข้อมูล เช่น ฝึกเด็กเก็บข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำฝน ดูความชื้น ให้ฝึกคิด วิเคราะห์ข้อมูล บันทึกข้อมูล แล้วมาคุยกัน และให้เด็กกลุ่มนี้ไปจัดรายการวิทยุชุมชนทุกวันเสาร์

 

          แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาเด็กและเยาวชนของโครงการฯ อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ เล่าถึงเป้าหมายของ “โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)” ที่ สรส. ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ว่า โครงการฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการจัดการความรู้(KM)ให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตนเองทั้งเรื่องทักษะชีวิต จิตอาสา และการสร้างฐานอาชีพ (วิชาชีวิต วิชาชุมชน วิชาชีพ)โดยคาดหวังให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม มีความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความสุข และเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

 

อ.ทรงพล แลกเปลี่ยนมุมมองสำหรับพื้นที่ตำบลตะโหมด ดังนี้  

          - การสร้าง “กลไก” ในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ จะมีแนวทางและวิธีการทำอย่างไร ที่จะให้การทำงานเด็กและเยาวชนในชุมชนขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งความยากของโครงการแบบนี้ คือ การหา “ผู้ใหญ่ใจดี” ที่เกาะติด ดูแลเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

          - หลักสูตรตะโหมดศึกษา นอกจากใช้ในโรงเรียนแล้ว ยังสามารถใช้กับกลุ่มพ่อแม่ ให้เกิดเป็น “ห้องเรียนพ่อแม่” โดยใช้เรื่องลูกเป็นตัวตั้ง ปรับประเด็นเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน (พ่อแม่ต้องตั้งคำถามว่าอยากให้ลูกเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี) 

           - การบ่มเพาะเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า จะต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชน ครอบครัว พ่อแม่ โรงเรียน วัด ฯลฯ มีการทำงานที่เชื่อมร้อยกัน (ชุมชนจัดการศึกษาโดยชุมชนเอง)

          - การทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน จะต้องดูที่ตัวเด็กว่า อยากจะเห็นเด็กเป็นอย่างไรบ้าง (เจตคติ ความรู้ ทักษะ นิสัย) แล้วค่อยวางหลักสูตร ว่าจะต้องมีกระบวนการและกิจกรรมอะไรบ้าง และเมื่อเด็กกลับไปบ้านแล้ว พ่อแม่ก็ต้องรับลูกต่อด้วย (พ่อแม่มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรด้วย)

          - ลักษณะหลักสูตร ควรมีทั้งด้านวิชาการ วิชาชีวิต วิชาชีพ และวิชาชุมชน (ให้เด็กมาเรียนเรื่องเหล่านี้ในชุมชน) เป็นความรู้ที่กินได้ ใช้ได้

          - การจัดการเรียนรู้ นอกจากครู พระ ผู้รู้ ชาวบ้านฯลฯ ที่มาสอนเด็กแล้ว ต้องให้พ่อแม่มีส่วนในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วย โดยใช้ความรู้เป็นฐานการเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้แบบเรียนปนเล่น

          - นำทุนที่มีในชุมชน ทั้งแหล่งเรียนรู้ ผู้รู้ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้จัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก (ใช้ทุนที่มีอยู่แล้ว  และต่อยอด)

          - ในปัจจุบัน เด็กไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าต้องการอะไร อยากจะทำอะไร อนาคตจะเป็นอะไร จึงน่าจะมีการฝึกให้เด็กได้ถอดบทเรียนตัวเองด้วย นอกจากนี้ ควรฝึกให้เด็กได้จดบันทึก ให้เขียน ให้อ่าน เพื่อให้เด็กได้ทบทวนความรู้และสรุปบทเรียน ให้เขาได้เรียนรู้ตนเองทุกวัน 

 

          ในตอนท้ายทุกฝ่ายต่างเห็นร่วมกันว่า หากจะเริ่มงานพัฒนาลูกหลานของเราอย่างจริงจัง อาจจะต้องมีการทำพิมพ์เขียว หรือแผนเบื้องต้นก่อน ว่าเราอยากจะเห็นเด็กเป็นอย่างไร จะมีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง จะมีวิธีการทำอะไร และอย่างไรบ้าง 

การจัดการเรียนรู้ของสภาลานวัดตะโหมด และชุมชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกันในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และรอบด้านสำหรับเด็ก จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามในตอนต่อไป

 

ชยุต อินทร์พรหม, สิริลักษณ์ ยิ้มประสาทพร

โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)

สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)