​ร่วมงานถอดบทเรียนนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว (๑)
นงนาท สนธิสุวรรณ


เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน นี้ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุม และให้ความเห็นในฐานะคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ครั้งที่๑/๒๕๕๗ ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ที่จัดร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ณ รร.มิราเคิลแกรนด์ กทม. ที่สนับสนุนให้สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ให้ดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ๔ ภาคระยะที่ ๒ โดยได้จัดหลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี (มกราคม ๒๕๕๖ - ธันวาคม ๒๕๕๘) โดยมีบุคลากรท้องถิ่นจากเทศบาล และองค์กรบริหารส่วนตำบลของอปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)ในพื้นที่เป้าหมายนำร่อง ๑๓ ตำบลใน ๕ จังหวัด จำนวน ๘๐ คน เข้าร่วมในโครงการนี้

­

­

การประชุมในครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ทีมนักถักทอชุมชนฯแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ อปท ที่ได้รับการพัฒนาเข้าหลักสูตรนักถักทอจากโครงการข้างต้น มานำเสนอความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนงาน ที่ประกอบด้วย กิจกรรมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาที่เกิดขึ้นกับบุคลากรในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการการพัฒนาเด็กและเยาวชน แกนนำเยาวชน เด็กและเยาวชนที่ร่วมกิจกรรม ผู้ปกครองของแกนนำเยาวชนและเด็กที่ร่วมกิจกรรม ผู้ใหญ่ใจดี และผู้รู้ในชุมชนที่ร่วมกิจกรรม รวมทั้งนักถักทอชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ

­

­

ท่ามกลางปัญหาของชุมชนตั้งแต่ระดับครอบครัว ทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพ ความไม่มั่นคงในสถานภาพของพ่อ-แม่-ลูก ที่ผู้ปกครองไม่สามารถเป็นครูคนแรกของลูกในการสอนวิชาชีวิต เป็นผลกดดันให้เกิดพฤติกรรมเสื่อมถอยของเด็กและเยาวชน เช่น หนีเรียน ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การขาดระเบียบวินัย ทะเลาะวิวาท ฯลฯ ในหลายกรณีส่วนใหญ่วัด โรงเรียนและครูไม่มีพลังและสร้างแรงบันดาลใจเพียงพอในการเรียนรู้ทั้งในเชิงจริยธรรมและเป้าหมายชีวิตที่เหมาะสม ผู้นำและคนในชุมชนขาดความเอาใจใส่ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา หากแต่ทำงานแบบแยกส่วนและไม่มีกระบวนการหล่อหลอมเด็กและเยาวชนที่เหมาะสม สังคมจึงอ่อนแอมากยิ่งขึ้น

­

แนวคิดในการสร้างนักถักทอท้องถิ่น จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะเข้าไปเชื่อมร้อยผู้คนในชุมชน โดยผ่านกลไกขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท) ซึ่งมีนโยบาย งบประมาณ และคนที่ทำงานกับชุมชนโดยตรง เช่น นักพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนการศึกษา เจ้าหน้าที่วิเคระห์นโยบายและแผน ฯลฯ ซึ่งทุกตำแหน่งต้องทำงานเชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน ทั้งบทบาทหน้าที่และวิธีการทำงาน ภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหารอปท. (นายก/ปลัด) เป็นผู้พัฒนากลไกในการดูแลเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้เกิดความเข้มแข็งต่อไปอย่างยั่งยืน

­

­

งานขับเคลื่อนที่นำเสนอครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) การจัดการเรียนรู้ให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ และคุณแม่วัยใส บอกเล่าโดยนักถักทอจาก อบต.ป่างิ้ว (จ.อ่างทอง) และ อบต.ดอนมะสังข์ จ.สุพรรณบุรี) ( ๒) การจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยและผู้ปกครอง โดยนักถักทอชุมชนจากเทศบาลเมืองแก (จ.สุรินทร์) อบต.วัดดาว  อบต.ไผ่กองดิน และอบต.หนองสาหร่าย (จ.สุพรรณบุรี) (๓) การจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในระบบและนอกระบบ โดย อบต.อินทร์บุรี (จ.สิงห์บุรี) อบต.หนองขาม (จ.สุพรรณบุรี) อบต.และเทศบาล ไผ่กองดิน  อบต.ดอนมะสังข์ (จ.สุพรรณบุรี) อบต.หนองสนิท และ อบต.เมืองลีง (จ.สุรินทร์) (๔) การจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนครอบครัว โดย อบต.หนองอียอ อบต.ป่างิ้ว และอบต.หนองสาหร่าย (บ้านห้วยม้าลอย หมู่สี่)

­

­

เส้นทางสู่นักถักทอชุมชน และผลสำเร็จระดับหนึ่งของการทำงานของนักถักทอชุมชนเหล่านี้ มูลนิธิสยามกัมมาจลได้รวบรวมเป็นหนังสือถอดบทเรียนเชื่อมร้อยและถักทอ ในการสร้างกลไกพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ weblink ของมูลนิธิสยามกัมมาจล

­

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่างให้ความเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของบทบาทนักถักทอชุมชน ต่อการพัฒนาเยาวชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จุดประกายให้เกิดการคิดเอง ทำเอง ของชุมชน โรงเรียนครอบครัว เด็กและเยาวชน ที่สมควรจะให้มีการขยายผลออกไปให้ทั่วประเทศโดยเร็ว และขณะเดียวกัน ต้องสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนทุกวัย ในมิติต่างๆ ทุกรูปแบบ เพื่อการพัฒนาที่ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างราบรื่นตลอดเส้นทางอย่างยั่งยืน


อ่านเนื้อหาตอนที่ 1 :ร่วมงานถอดบทเรียนนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว (๒)

­