ร่วมงานถอดบทเรียนนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว (๒)
นงนาท สนธิสุวรรณ

­

         ในช่วง Morning Dialog ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน นี้ ซึ่งมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน ภายหลังงานประชุมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๗ หลักสูตรนักถักทอชุมชน เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ที่ผ่านมา คุณสุทิน ศิรินคร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการต่อยอดพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชน ได้เล่าให้พวกเราฟังถึงประสบการณ์และบทเรียนในการเป็นผู้รับผิดชอบโครงการครั้งนี้ว่า จากวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการพัฒนาคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสที่ดีแก่เยาวชน โดยคาดหวังว่า บุคลากรของอปท.(องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเยาวชนหลังการผ่านหลักสูตรลงสู่การปฎิบัติจริง ซึ่งจากการทำงานร่วมกัน ได้พบว่า อปท.ที่เคยยึดติดกับระเบียบราชการ ได้ลงมาจัดการเรื่องปัญหาเด็กในชุมชนอย่างใกล้ชิดด้วยความตั้งใจจริงอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน แม้จะยังมีจุดอ่อนที่จะต้องได้รับการพัฒนาต่อไป คือ การขาดเครื่องมือและกระบวนการทำงาน เช่น การบริหารจัดการโครงการ ระบบการติดตามประเมินผล และวิธีการ coaching ที่เหมาะสม

­

­

        สำหรับการพัฒนาแกนนำเยาวชน ได้ใช้เครื่องมือพหุปัญญา เพื่อเปิดความคิด ในการทำงานร่วมกัน โดยใช้ในการสร้างทีม เพื่อแบ่งหน้าที่ทำงานตามความถนัด ด้วยการทำโครงงานชุมชนเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้ได้ใช้โมเดลแมนดาลา มาเป็นกรอบความคิด และวิธีการทำงานว่า ทำแล้วเราได้อะไร ผู้อื่นได้อะไร โดยใช้หลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงมาประยุกต์ เด็กได้รับการเปิดโอกาสให้คิดเอง ทำเอง ในทุกขั้นตอน ในบริบทแผนที่เดินดิน จากตัวอย่างของชุมชนบ้านดินที่ภูเวียง จ.ขอนแก่น ในการค้นหาภูมิปัญญาในชุมชน ทั้งนี้ ในขณะที่ สรส.มุ่งเน้นพัฒนานักถักทอชุมชน ทีมงานของคุณสุทินจะพัฒนาแกนนำเยาวชนพร้อมกันไป และประสานการบูรณาการอย่างสอดคล้องสู่การบูรณาการอย่างยั่งยืน

­

­

          ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การทำงานของคุณสุทิน ในฐานะบทบาทการcoaching ที่ให้ความสนับสนุน จุดประกาย ให้เกิดการคิดเอง ทำเอง เช่นนี้ เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของโครงการ ขอฝากให้ดูแลเด็กที่อ่อนแอด้วย และควรจัดทำสื่อถอดบทเรียนที่สะท้อนทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลวที่ผ่านมา และผลต่อสังคม เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ ทั้งด้านบวกและลบ

­

          ข้าพเจ้าได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในการติดตามงาน ควรจัดทำตาราง matrix สะท้อนคุณภาพการเป็นนักถักทอในระดับต่างๆ เนื่องจากทุนสังคม และปัจจัยแห่งความสำเร็จแตกต่างกัน และขณะเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูล และการขยายผลในวงกว้าง สมควรแสวงหา อปท.จิตอาสา ที่อาจกระจายอยู่แล้วในบางพื้นที่ ให้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วย


อ่านเนื้อหาตอนที่ 1 : ร่วมงานถอดบทเรียนนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว (๑)

­