เติมกำลังใจ ได้พลัง และสร้างแผนงาน โดย ศิริชัย พรหมทอง
Webmaster

โครงการสร้างเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมนท้องถิ่น (4 ภาค)

เรื่องบอกเล่าจากพื้นที่...    

 

เติมกำลังใจ ได้พลัง และสร้างแผนงาน

เวที “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน” สำหรับผู้ใหญ่ใจดี

ระหว่างวันที่ 29–30 พฤษภาคม 2554

นวลทิพย์  ชูศรีโฉม

30 พ.ค.54

 

         ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2554 โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชน (4 ภาค) ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน  ได้เชิญท่านผู้ใหญ่ใจดีของเด็กและเยาวชนจาก 4 ตำบล ในจังหวัดนครศรีธรรมราช (ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมือง ตำบลท้ายสำเภา อำเภอพระพรหม ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเมือง ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง)   เพื่อมารู้จักพบปะพูดคุยกันในเวที “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน” นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมด้วย เช่น ตัวแทนจากสหทัยมูลนิธิ ตัวแทนวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช ตัวแทนจากกศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวแทนจากโรงพยาบาลมหาราช และตัวแทนจากศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานกระบี่ที่ 441 จังหวัดกระบี่ เรียกว่าเป็นการรวมตัวของ “กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีหัวใจรักเด็ก” ก็ว่าได้ 

 

วันที่ 29 พฤษภาคม 2554

เรียนรู้การสร้างสุขที่ไสต้นทง

 

          “กลุ่มสร้างสุขชุมชนไสต้นทง  หรือ “โรงเรียนชีวิต” เป็นชุมชนที่ใครๆ มาแล้วจะพบความสุข เพราะเป็นแหล่งมั่วสุมของคนคิดดี ทำดี เพราะที่แห่งนี้อบอวลด้วยความรัก ด้วยการให้ด้วยหัวใจ และความสุข” ดังนั้น จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นแหล่งเรียนของผู้ใหญ่ใจดีในวันนี้

 

          นั่งล้อมวงไต้ร่มไม้ใหญ่ที่ชื่อ “ยางนา”  พูดจากันด้วยภาษาใต้แบบคุ้ยเคย ในบรรยากาศที่ตลอดทั้งวันร้อนบ้างเย็นบ้างสลับกันไปตามอารมณ์ของสายลมผู้เป็นใหญ่ในเวลานั้น ผสมกับดอกยางนาที่ร่วงหล่นลงมาพร้อมกลิ่นหอมกรุ่นพองาม เหมือนกำลังแสดงให้ผู้มารวมกลุ่มวันนี้เห็นว่าทุกอย่างล้วนมีหน้าที่ของตัวเอง  เท่านั้นยังไม่พอ ยังตามด้วยความตื่นเต้นเป็นระยะที่ทุกคนจะต้องลุ้นกับฝน ฟ้า พายุ ที่ทำท่าจะมาเยือน แต่...ก็ผ่านไปด้วยดีเพราะฝนคงรู้หน้าที่ว่าต้องตกตอนเย็น แต่ที่ทำหน้าที่ทั้งวันอย่างขยันขันแข็งนั่นคือแสงแดดนั่นเอง ทำให้กลุ่มต้องขยับหนีเมื่อมีแสงแดดรุกล้ำเข้ามา จึงทำให้เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วันนี้กลายเป็น “การเรียนรู้แบบ 360 องศารอบต้นยางนา” ไปโดยปริยาย แม่ต้นยางนา... เธอเยี่ยมมากเพราะ แดดแรงแค่ไหนเธอก็ไม่ขยับ

 

          ในช่วงเช้า เมื่อผ่านการแนะนำตัว “ใครเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรอยู่” จากนั้นเป็นการชี้แจงวัตถุประสงค์โดยท่านอาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส. ในฐานะเป็น “คนปูเสื่อ” ให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ 

 

          “...ท่านที่มาวัดนี้ล้วนแต่ได้รับการคัดสรรว่าแต่ละท่านมีอะไรดีๆ เพื่อมาพูดคุยกันเชื่อว่าจะเป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกัน อีกทั้งเพื่อให้ท่านผู้ใหญ่ใจดีได้มาเรียนรู้และสัมผัสพื้นที่จริง และทำแผนปฏิบัติการในแต่ละตำบลว่าหากผู้ใหญ่ใจดีจะลงไปทำหน้าที่ในหมู่บ้าน แต่ละท่านคิดแผนไว้อย่างไร และอบต. สรส. มูลนิธิสยามกัมมาจลจะมาช่วยหนุนเสริมอะไรได้บ้าง”

 

          ต่อด้วยการเรียนรู้เรื่อง “โรงเรียนชีวิต” โดย ท่านอาจารย์สมพงศ์  สงวนพงศ์ ประธานกลุ่มสร้างสุขชุมชนไสต้นธง ผู้ใหญ่ใจดีของที่นี่ ท่านได้ให้ความกรุณามาบอกเล่าความเป็นมาและกิจกรรมของโรงเรียนชีวิต ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ โดยมีท่านอาจารย์ทรงพล ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการพูดคุย โดยก่อนการพูดคุยได้วางกติกาว่าให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ได้ตั้งใจฟัง “แบบการจับความรู้” เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ “ไม่ใช่ฟังแบบจำรูปแบบกิจกรรม”

 

          ท่านอาจารย์สมพงศ์บอกเล่าเรื่องราว "กว่าจะมาเป็นโรงเรียนชีวิต กลุ่มสร้างสุขชุมชนไสต้นทง” ด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุข บอกเล่าด้วยการ “แลงใต้” แบบที่ทุกคนคุ้นเคยฟังง่ายเข้าใจเร็ว บวกกับเนื้อหาที่แฝงด้วยหลักคิด วิธีคิด วิธีทำที่เป็นแก่นความรู้ที่สำคัญที่ผ่านทั้งความสำเร็จและล้มเหลวกว่าจะมาถึงวันนี้ต้องใช้เวลา ใช้ใจรวมกับการเรียนรู้อย่างไม่ท้อ โดยท่านอาจารย์ทรงพลคอยสรุปเป็นระยะๆ เช่น วิธีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม  รูปแบบกิจกรรมที่ทำให้กลุ่มเข้มแข็ง กิจกรรมที่ทำกับเด็กเยาวชนและครอบครัว หลักคิดในการทำงานกับชุมชน ที่เน้นเรื่อง “การให้ด้วยใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน”  วิธีคิด วิธีทำในเรื่องต่างๆ อีกมากมายหลายเรื่อง จึงนับเป็นความโชคดีของผู้เข้าร่วมเรียนรู้วันนี้ที่ได้ “เรียนลัด”จากท่านผู้รู้อย่างท่านอาจารย์สมพงศ์ที่ได้บอกเล่าถ่ายทอดในฐานะที่เป็น “เจ้าของความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง” 

 

          “กระบวนการเรียนรู้ที่ดี ทุกคนทุกฝ่ายเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ” ดังนั้น เมื่อฟังเรื่องราวโรงเรียนชีวิตแล้ว จากนั้น ในวงได้มีการเปิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยท่านอาจารย์ทรงพลเป็นผู้คอยชวนคุยและสรุปการพูดคุยเป็นระยะ เพื่อให้เกิด “ความคม ชัด ลึก” ในเนื้อหาที่พูดคุยกัน บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีทั้งคำถามจากผู้อยากรู้ และคำตอบจากผู้อยากให้ นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะ และข้อแลกเปลี่ยนกันอีกมากมาย 

 

          หลังที่ทุกคนอิ่มท้องด้วยอาหารกลางวันแบบบ้านๆ ดูเหมือนธรรมดาตามวิถีชีวิตปกติ แต่ที่อาจจะพิเศษสำหรับวันนี้คือการที่ทุกคนได้ทานอาหารเที่ยงร่วมกันพูดคุยกันไปด้วย ช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อฝึกทำหน้าที่ผู้ใหญ่ใจดีในการชวนคุยชวนคิดเรื่องลูกหลานในชุมชน “หากไปชวนพ่อแม่คิดและคุย เรื่องลูกหลานจะทำอย่างไร” โดยท่านอาจารย์ทรงพลให้ “ชุดคำถาม” เพื่อให้ผู้ใหญ่ใจดีได้ฝึกตั้งคำถาม พร้อมการฝึกปฏิบัติการ

 

     

          แบ่งกลุ่มละ 4 คน แต่ละกลุ่มมีควนคิดชวนคุยประจำกลุ่ม คุยในบรรยากาศแบบบ้านๆ กันเอง (ให้เวลาประมาณ 45 นาที)  โดยให้แต่ละกลุ่มเลือกสถานที่คุยตามอัธยาศัย ตามศาลาบ้าง ใต้ร่มไม้บ้าง

 

ชุดคำถาม :

          1) ความกังวล และความห่วงใยในลูกหลาน (ปัญหา สาเหตุ)

          2) อยากให้ลูกหลานเป็นอย่างไรในอนาคต (หน้าที่ การงาน นิสัย)

          3) วิธีการสอนลูกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (วิธีการ ผลที่เกิด ได้ผลหรือไม่)

          4) ผู้ปกครองมีรู้ ความสามารถอะไร ที่นำมาสอนเด็กและเยาวชนได้บ้าง

 

     

          เมื่อพูดคุยจบแล้วจากนั้นให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่อง  “วิธีการเลี้ยงดูลูกหลาน” ที่มีหลากหลายมากมายวิธีตามประสบการณ์ของแต่ละท่าน ตบท้ายสรุปให้เห็นภาพรวมโดยท่านอาจารย์ทรงพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอกย้ำให้เห็นความ “คม ชัด ลึก” ของประเด็นการเรียนรู้ที่ผู้เข้าร่วมเรียนรู้จะต้องนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ความรู้ที่ได้ที่จะต้องนำไปใช้อธิบายเวลาทำเวทีพ่อแม่ “การตั้งคำถาม วิธีพูดคุย การสรุป” เป็นต้น ซึ่งการสรุปตบท้ายเพื่อขมวดประเด็นให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ได้เข้าใจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงาน หากขาดส่วนนี้แล้วถือว่าไม่ครบถ้วนกระบวนการ

 

          ผลของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับวันแรกนี้ แต่ละท่านสะท้อนออกมาด้วยความรู้ที่ไม่ค่อยแตกต่าง คือ ดีใจ ได้พลัง ได้ความรู้ เห็นสิ่งดีๆ ที่อยู่ในชุมชน เช่น

 

          “เคยแต่ไปดูงานที่อื่น ที่ไกลๆ ไม่เคยเห็น ไม่รู้เลยว่าในชุมชนใกล้ก็มีของดี มีแหล่งเรียนรู้ดีๆ ต่อไปจะนำเยาวชนมาเรียนรู้ที่นี่”

          “แต่ก่อนรู้สึกหนักใจกับการเป็นผู้ใหญ่ใจดี แต่ตอนนี้ไม่หนักใจ ได้พบเพื่อน ได้รู้จักและเรียนรู้จากคนอื่น รู้สึกเห็นแนวทางในการไปทำในชุมชนตัวเองแล้ว”

          “...”

 

          ปิดท้ายสำหรับการเรียนรู้วันนี้ด้วยการแสดงของ “วงไหดำ” ซึ่งเป็นวงดนตรีประจำกลุ่มฯ มีทั้งผู้ใหญ่ใจดีและน้องๆ เยาวชนในกลุ่มฯ ได้กรุณามาบรรเลงเครื่องดนตรีที่เกิดจากภูมิปัญญา เครื่องดนตรีหลักคือไหดำที่มีเส้นยางผูกที่ปากไห เล่นโดยการจับเส้นยางแล้วดีด ให้เสียงแหลม ทุ้มต่างกันบรรเลงรวมกันการตีถังน้ำเก่าๆ เป็นเครื่องประกอบ รวมๆ กันเสียงที่ออกมา ต้องบอกว่า โอแม่เจ้า! คิดได้อย่างไร

 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2554

ลงลึกเรื่องแผนงานเพื่อไปปฏิบัติการจริง

 

จากใต้ร่มไม้ ย้ายไปห้องแอร์

          แรกเริ่มเดิมที ความตั้งใจ สรส. จะจัดเวทีการเรียนรู้ที่กลุ่มสร้างสุขชุมชนไสต้นธงทั้ง ๒ วัน แต่ติดด้วยความไม่สะดวกเรื่องอาหาร การกิน (โรงเรียนเปิดเรียนแม่ครัวต้องไปทำอาหารให้นักเรียน) ดังนั้น จึงต้องจัดที่ห้องประชุมโรงแรมในตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช วันนี้พี่ป้า น้า อา ผู้ใหญ่ใจดีหลายท่านอาจจะหนาวเล็กน้อย เพราะเป็นห้องแอร์  คราวหน้า สรส.จะไม่ทำให้ท่านต้องเดินทางมาหนาวอย่างนี้อีก เพราะเวทีครั้งต่อไปจะพยายามจัดในชุมชน เวียนไปในแต่ละตำบล จะได้ไม่แปลกแยกไปจากวิถีชีวิตปกติ

 

เรียนรู้จากเรื่องการจัดค่ายเยาวชน

          ช่วงเช้าวันนี้เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้การจัดค่ายเยาวชน เหมือนเป็นการถอดบทเรียน “ค่ายเยาวชน” ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อประมาณกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มสร้างสุขชุมชนไสต้นธง

          การถอดบทเรียน มีภาพกิจกรรมค่ายประกอบฉายขึ้นจอ โดยท่านอาจารย์ทรงพล เป็นคนชวนทีมที่จัดค่าย (อาจารย์สมพงศ์ สงวนพงศ์และทีม) คุยเกี่ยวกับเรื่องเบื้องหลังการจัดค่ายเยาวชน ที่เน้นเรื่อง “วิธีคิด วิธีทำ...คิดอย่างไร เพราะอะไร เพื่ออะไร ออกแบบอย่างไร” ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นวิธีการจัดค่าย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้หากต้องจัดกิจกรรมแบบนี้ในพื้นที่ของตนเอง 

 

เรียนรู้จากที่อื่น เขาทำเรื่องเด็กเยาวชนอย่างไร

          ต่อมาเป็นการเรียนรู้การทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ เช่น การพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษา เช่น โครงการนาฏศิลป์อาสาพัฒนาถิ่นเกิด ซึ่งเป็นโครงการที่สรส.ร่วมมือกับวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช (ปี 2553) โดยการให้นักเรียนทำโครงงาน “พี่สอนน้อง” เพื่อกลับไปทำกิจกรรมในชุมชนบ้านเกิดโดยการนำวิชานาฏศิลป์กลับไปสอนน้องๆ ในชุมชน ซึ่งการบอกเล่ามีภาพฉายประกอบและให้ท่านอาจารย์สถาพร ปาณะศรี ซึ่งเป็นอาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราชที่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักเรียนที่ทำโครงงานพื้นที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี มาบอกเล่ากิจกรรมและผลที่เกิดจากการทำโครงการอย่างออกรสออกชาติ เพราะท่านนี้ถือได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ใจดีอีกท่านที่ทำหน้าที่มากว่า “ครูผู้สอนในสถานศึกษา”

          ตามด้วยเรื่องราวของ “ศูนย์เรียนรู้บ้านดิน” ที่อยู่ไกลถึงอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น แต่กิจกรรมสามารถนำมาเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้ได้ในทุกพื้นที่ คือ “การพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น” 

          การให้เรียนรู้ จากพื้นที่ที่หลากหลาย เพื่อให้เห็นว่าที่อื่นเขาทำกิจกรรมอะไร ทำอย่างไร เกิดผลอย่างไรนั้น คาดหวังว่าจะทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดพลัง รู้สึกว่ามีเพื่อน มีที่อื่นเขาก็ทำสิ่งดี เห็นวิธีการทำ  จะได้รู้สึกว่าไม่ได้ทำอยู่คนเดียว ถือว่าเป็นการเสริมพลังอีกทางหนึ่ง

 

สร้างแผนงาน เพื่อไปปฏิบัติการจริง

          หลังจากเรียนรู้จากพื้นที่จริง คือ โรงเรียนชีวิต กลุ่มสร้างสุขชุมชนไสต้นทง เรียนรู้การพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช เรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้บ้านดิน จังหวัดขอนแก่น รวมกับการเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกัน และเสริมพลังตอกย้ำให้เห็นคุณค่าและความสำคัญในการเป็นผู้ใหญ่ใจดีจากท่านอาจารย์ทรงพลแล้ว เรียกว่า “ได้หลักคิด ได้วิธีคิด วิธีทำและได้พลัง” กันพอสมควรพอที่จะแปลงเป็นแผนงานได้แล้ว ดังนั้น ช่วงบ่าย จึงเป็นช่วงของการเขียนแผนงาน

          “เราจะกลับไปทำอะไร... ผู้ใหญ่ใจดีแต่ละหมู่บ้านะต้องทำอะไร” แบ่งกลุ่มย่อยรายตำบล เพื่อทำแผนการกิจกรรม (ให้คิดเป็นแผน ๓ เดือน) 

 

โจทย์ในกลุ่มย่อย

          1) ผู้ใหญ่ใจดีจะไปสื่อแกนนำในหมู่บ้านที่ไม่ได้มาร่วมเวทีครั้งนี้อย่างไร (เพื่อให้เขาเข้าใจเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าในสิ่งที่จะทำร่วมกัน)

          2) ผู้ใหญ่ใจดีจะเลือกครอบครัวไหนที่จะมาทำงานด้วยกัน (หากลุ่มเป้าหมาย) 

          3) ผู้ใหญ่ใจดีจะไปชี้แจงให้ครอบครัว (กลุ่มเป้าหมาย)เข้าใจได้อย่างไร (ครอบครัวที่เราเลือกเราจะไปชี้แจงทำความเข้าใจอย่างไร)

          4) รู้ว่าจะเริ่มต้นด้วยกิจกรรมอะไร (ทำกิจกรรมอะไร)

          5) แกนนำเด็กและเยาวชนตำบลจะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างๆ ไร

 

          เป็นโจทย์ที่อาจารย์ทรงพลให้ผู้ใหญ่ใจดีคุยกันเพื่อรู้ว่ากลับไปในพื้นที่แล้วจะไปเริ่มต้นทำหน้าที่ผู้ใหญ่ใจดีกันอย่างไร

 

     

          วิธีคิด ให้คิดจากทุนฐานของตัวเอง เมื่อทำแผนเสร็จให้ตัวแทนกลุ่มย่อยนำเสนอ เหมือนเป็นสัญญาว่าจะกลับไปทำตามแผนที่เสนอนี้ ...แน่นอน 

 

          ท่านอาจารย์ทรงพล สรุปตบท้ายให้หลักการ “วิธีคิด วิธีทำในการแปลงแผนงานสู่การปฏิบัติการจริงในแต่ละพื้นที่” ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่ใจดีนำไปประยุกต์ใช้ในการทำหน้าที่ให้บรรลุตามความตั้งใจของแต่ละท่าน

 

          “การที่เราจะทำงาน เราต้องเห็นคุณค่า คนเราจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ต้องเห็นคุณเห็นโทษ ก่อน  ซึ่งก็ เป็นความยากที่จะทำให้คนอื่นเห็นประโยชน์ ดังนั้น การเลือกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องคุยให้เขาเห็นคุณ เห็นโทษ ชี้ให้เขาเห็นว่าหากไม่ทำจะเกิดโทษอะไรกับเขาทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเรื่องลูกหลาน  ดังนั้น เราจะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการชวนให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นคุณ เห็นโทษ...”

 

          จากการสะท้อนความรู้สึกสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมเรียนรู้ครั้งนี้  ผู้เข้าร่วมได้ทั้ง “วิธีคิด วิธีทำ ได้เพื่อน ได้เครือข่าย ได้พลังกำลังใจ” จากเพื่อนที่มีหัวใจเดียวกัน อีกทั้งได้รู้จักหน่วยงาน องค์กรที่จะเป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้ ไว้ร่วมด้วยช่วยกันไม่ว่าจะเป็นสหทัยมูลนิธิ วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสาน จ.กระบี่  ครั้งนี้ คงไม่ใช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งสุดท้าย  เมื่อแต่ละพื้นที่แต่ละท่านไป “แปลงแผน แปลงความรู้สู่การปฏิบัติ” กันแล้ว  นัดหมายที่จะพบกันครั้งต่อไปประมาณเดือนกันยายน ๒๕๕๔  ส่วนสถานที่คงไม่ใช้ที่ห้องประชุมในโรงแรมแน่นอน.

  ขอบคุณทุกท่านสำหรับการเป็นผู้ให้ และผู้รับที่ดี