เรื่องเล่าการลงพื้นที่ อบต.ท่างิ้ว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดย ศิริชัย พรหมทอง
Webmaster

วันที่ 26 ก.พ. 2554

 

แผนที่หมู่บ้าน ตำบลท่างิ้ว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

 

          ตำบลท่างิ้ว เมื่อก่อนมีท่าน้ำขนาดใหญ่ และมีต้นงิ้วอยู่ริมท่าน้ำ ต่อมามีประชาชนเข้ามาจับจองที่ดิน เพื่อทำมาหากิน และเมื่อมีประชาชนมาอาศัยอยู่หนาแน่นมากขึ้น จึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้าน เรียกว่า “บ้านท่างิ้ว” เนื้อที่ ตำบลท่างิ้วมีเนื้อที่ประมาณ 49.51 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,943.75 ไร่ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และทำสวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ที่มีในตำบล เช่น ลำน้ำ ลำห้วย

 

          ในส่วนของ อบต.ท่างิ้ว มีหมู่บ้านในตำบลจำนวน 8 หมู่บ้าน มีที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลท่างิ้ว อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ว่าการอำเภอห้วยยอด ตั้งอยู่ เลขที่ 55 หมู่ที่ 2 ต.ท่างิ้ว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ปัจจุบันมี นายธรรมทรรศ กี่สุ้น เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่างิ้ว โดยวิสัยทัศน์ของ อบต.ท่างิ้ว คือ “ภายในปี 2555 ชาวประชาท่างิ้ว ต้องอยู่ดีมีสุข”

 

อบต.ท่างิ้ว ตั้งอยู่ เลขที่ 55 ม. 2 ต.ท่างิ้ว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

 

          ทีมงานผู้ใหญ่ใจดีของ อบต.ท่างิ้ว ได้แก่ คุณเอกชัย ชัยโย : สมาชิกอบต.ท่างิ้ว หมู่ 5 คุณเกียรติศักดิ์ ศิลวิศาล : นักวิชาการศึกษา อบต.ท่างิ้ว และคุณเชาวลิต หาญกิจ : ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ นโยบายและแผน อบต.ท่างิ้ว ได้มีการจัดกิจกรรมเรียนรู้กับแกนนำเด็กและเยาวชนเป็นประจำทุกเดือน 

 

          “อบต.ท่างิ้ว มีจุดแข็งด้านนโยบาย คือ ผู้บริหาร อบต. มีวิสัยทัศน์และเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชน (ไฟเขียว)”

เชาวลิต หาญกิจ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ นโยบายและแผน อบต.ท่างิ้ว  

 

          ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554 โครงการฯ จึงได้มีส่วนร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมของทีมผู้ใหญ่ใจดีของ อบต.ท่างิ้ว โดยในครั้งนี้ นอกจากจะมี อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และหัวหน้า “โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)” ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ยังมีคุณสุทิน ศิรินคร จากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

 

     

ในภาพจากซ้าย : อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ (กลาง), คุณเอกชัย ชัยโย สมาชิก อบต.ท่างิ้ว 

 

 

     

ในภาพจากซ้าย : คุณสุทิน ศิรินคร, คุณเกียรติศักดิ์ ศีลวิศาล, คุณเชาวลิต หาญกิจ

 

          คุณเชาวลิต หาญกิจ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ นโยบายและแผน อบต.ท่างิ้ว เล่าให้ฟังว่า อบต.ท่างิ้ว เพิ่งดำเนินการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบลไปเมื่อเดือนมกราคม 2554 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนเด็กและเยาวชนที่เป็นแกนนำมาจากทุกหมู่บ้านในตำบล แต่แกนนำเด็กกลุ่มนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้มแข็งนัก ที่ผ่านมา ทาง อบต.จึงพยายามจัดกิจกรรมการเรียนรู้กับเด็กๆ ทุกอาทิตย์ เพื่อดึงเด็กให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมกับทาง อบต. เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อไม่ให้เด็กไปข้องเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีต่างๆ และเป็นการเสริมศักยภาพให้แก่เด็กไปในตัวด้วย

 

          “เด็กที่เราให้มาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ไม่ใช่แกนนำสภาเด็กและเยาวชนอย่างเดียว แต่เป็นเด็กเยาวชนจากหมู่บ้านต่างๆ ด้วย คือ เราต้องการให้เด็กมีการขยายผลไปยังเด็กคนอื่นในหมู่บ้าน และเป็นการสร้างทายาทสืบทอดรุ่นต่อรุ่นด้วย ถ้าเราจัดกิจกรรมเรียนรู้เฉพาะกับแกนนำสภาเด็กและเยาวชนเท่านั้น พอเด็กรุ่นนี้หมดวาระหรือไปเรียนต่อ เราก็จะขาดเด็กรุ่นใหม่ที่มาสานงานต่อ จะขาดความต่อเนื่อง”

เชาวลิต หาญกิจ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ นโยบายและแผน อบต.ท่างิ้ว  

 

          จำนวนเด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้มีประมาณ 30 คน ในจำนวนนี้มีแกนนำสภาเด็กและเยาวชนประมาณ 10 คน คุณเอกชัย ชัยโย ผู้ใหญ่ใจดีของ อบต.ท่างิ้ว ชวนน้องๆ ทำกิจกรรมสันทนาการ เพื่อสร้างความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน สร้างความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน และส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น

 

     

รับฟังข้อตกลง กฎกติกา, ฝึกปฏิบัติ

 

     

กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรม

 

          บทบาทของผู้ใหญ่ใจดีจะมีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง กระตุ้น หนุนเสริมการทำกิจกรรมของเด็ก (ชื่นชม, เชียร์) รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่เด็กในเรื่องต่างๆ

 

     

ฝึกให้กล้าแสดงออกในที่ชุมชน

 

          แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะยังเคอะเขินที่จะแสดงออก แต่เมื่อผ่านกระบวนการละลายพฤติกรรมแล้ว การมีส่วนร่วมและการกล้าแสดงออกก็เริ่มดีขึ้น

 

     

ฝึกให้กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น

 

          กลุ่มเด็กเยาวชนตำบลท่างิ้ว ส่วนใหญ่พูดเป็นภาษาท้องถิ่น (แล่งใต้) สะท้อนกลิ่นอายวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวใต้ ผ่านความน่ารัก สดใสของเด็กๆ 

 

     

           แต่ด้วยความที่เป็น อบต.ขนาดเล็กในต่างจังหวัด อุปกรณ์ เครื่องมือ ประกอบการจัดกิจกรรมอาจจะไม่ทัดเทียมกับเด็กในเมือง ซึ่งในแง่นี้เป็นมุมมองที่สะท้อนให้เห็นว่าในต่างจังหวัดของประเทศไทย มีเด็กที่สนใจใฝ่รู้อีกมากมาย เพียงแต่ว่าพวกเขาขาดเครื่องมือ ขาดพื้นที่ (สร้างสรรค์) และโอกาสในการทำฝันให้ไปสู่จุดหมาย 

 

          ซึ่งทางโครงการฯ โดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข(สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ยินดีเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ หาความรู้ หาวิทยากรเข้ามาช่วยเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับพื้นที่ เพราะทั้ง อบต.และโครงการฯ เอง ต่างก็มีเป้าหมายการในทำงานที่เหมือนกันคือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในท้องถิ่นอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี โดยการทำให้ เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองมากขึ้น ผ่านการจัดการศึกษา “วิชาชีวิต วิชาชุมชน วิชาชีพ และวิชาการ” เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านเจตคติ ความรู้ ทักษะ และนิสัย (พฤติกรรม) และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเด็กเยาวชนอื่นๆ ในตำบล หรือสามารถสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ของคนในชุมชน 

 

          “โจทย์ที่สำคัญคือ เราจะมีวิธีการสร้างนิสัย(ที่ดี)ให้เด็กอย่างไร ให้เป็นคนเก่ง คนดี มีคุณธรรม มีจิตอาสา มีสำนึกพลเมือง และห่างไกลยาเสพติด”

อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส.และหัวหน้าโครงการฯ 

 

อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส.และหัวหน้าโครงการฯ ให้โจทย์กับเด็กๆ ว่า “หลังจากที่ทานอาหารว่างแล้ว ให้พวกเราช่วยกันเก็บขวดเปล่า แก้วเปล่าที่ผู้ใหญ่ทิ้งไว้ มาใส่ถุงรวมกัน เพื่อนำไปทิ้งในถังขยะต่อไป”

 

     

 

     

เมื่อเด็กๆ มารวมพลังกัน ขยะที่ดูเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ก็หายวับไปในพริบตา

 

หลังจากที่เด็กๆ เก็บขยะกันเสร็จแล้ว อ.ทรงพล ก็ตั้งคำถามชวนคุยต่อว่า 

­

         

      

 

     

          หลังจากนั้นก็เป็นการชวนคิดชวนคุยกับแกนนำสภาเด็กและเยาวชนตำบลท่างิ้วที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งกันได้ไม่กี่เดือน โดย อ.ทรงพล รับหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อสร้างเป้าหมายในการใช้ชีวิตให้แก่เด็กๆ ดังนี้

   

     

น้องๆ แกนนำสภาเด็กและเยาวชนตำบลท่างิ้ว อ.ห้วยยอด

 

          อ.ทรงพล กล่าวย้ำกับแกนนำสภาเด็กและเยาวชนตำบลท่างิ้วว่า “พวกเรามีโอกาสที่ดี ที่ได้ฝึกฝนตนเอง ได้พาน้องเรียนรู้ ช่วยทำให้น้องสนุก ช่วยให้น้องไม่ไปติดยา ติดเหล้า พวกเราในฐานะแกนนำเยาวชนจึงมีความสำคัญมาก ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือชุมชน และพ่อแม่ก็จะได้มีความภาคภูมิใจในตัวเรา พวกเราโชคดีที่มีทีมผู้ใหญ่ใจดีใน อบต.เข้ามาช่วยสนับสนุน ช่วยเปิดโอกาสให้เราได้แสดงศักยภาพ เมื่อเรามีโอกาสแล้ว เราก็ต้องทำจริงและทำให้ดี”

 

เชาวลิต หาญกิจ หนึ่งในผู้ใหญ่ใจดีของ อบต.ท่างิ้ว ผู้อยู่เบื้องหลังเด็กและเยาวชน

 

          ทีมผู้ใหญ่ใจดีของ อบต.ท่างิ้ว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “กลไกสภาเด็กฯ ยังไม่ต่อเนื่อง ยังไม่เข้มแข็ง เมื่อทำไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็จะล้า… ตอนนี้เวลาทำกิจกรรมจึงต้องให้เด็กมาทำกิจกรรมรวมกันก่อน แล้วค่อยให้แยกไปทำในหมู่บ้านของตัวเอง (หลังจากฝึกให้เด็กมีประสบการณ์สักระยะหนึ่งก่อน) ค่อยไปหาเพื่อนมาเพิ่ม เพื่อให้เด็กเข้าใจก่อนว่ามาวันนี้ทำอะไรได้ ซึ่งบางครั้งยังไม่รู้แนวทาง”

 

     

อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ และคุณสุทิน ศิรินคร ประชุมร่วมกับทีมผู้ใหญ่ใจดี อบต.ท่างิ้ว

 

          อ.ทรงพล แนะนำว่า “ให้จูนบทบาทกับหน้าที่กับสภาเด็กฯ ให้ชัดเจนก่อน ส่วนกิจกรรมนั้น อาจจะให้แกนนำไปสืบค้นว่า เด็กในหมู่บ้าน สนใจอะไร, จุดเรียนรู้ในหมู่บ้านมีอะไร แล้วนำมาออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ให้กับเด็กในหมู่บ้าน… ตอนนี้เราอาจจะต้องคลี่แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนก่อน ว่ามีกิจกรรมอะไร จะต้องทำอะไรบ้าง แล้วก็ทำไปถอดบทเรียนไป”

 

          ในตอนท้าย อ.ทรงพลกล่าวกับทีมผู้ใหญ่ใจของ อบต.ท่างิ้วว่า ทุกที่จะมีทุนหลักในการเคลื่อนงาน แต่ละพื้นที่นั้น ถ้าไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ก็จะไปไม่ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นจากวิถีของพื้นที่เอง ก็จะไปได้ จะเริ่มอะไรก็จะต้องเริ่มจากทุนของตัวเองก่อน โดยภาพปลายทางที่โครงการฯ อยากจะเห็นคือ อบต.ท่างิ้ว เป็นกลไกในการสร้างการมีส่วนของชุมชนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยใช้ทุนทางสังคมของชุมชน และการเชื่อมโยงทุนจากภายนอก ส่วนชุมชนท้องถิ่นเองก็ให้ความสำคัญ มีส่วนร่วม และสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ตลอดจนมีการใช้องค์ความรู้และทุนทางสังคมที่มีอยู่ มาจัดการศึกษาเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นของตนเอง