พลังของเด็กหลังห้อง พลังแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง และสร้างสรรค์สื่อเพื่อเมืองสงขลา
RATTANAPORN

“กลุ่มเด็กดื้อรื้อฝัน” นักเรียนหลังห้องชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ของโรงเรียนเทศบาล ๕ จังหวัดสงขลา ที่ปัจจุบันกำลังเรียนรู้และพัฒนาตนเองเป็นนักข่าวพลเมือง โดยการผลิตข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการของเครือข่ายพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เพื่อนำเสนอผ่านรายการนักข่าวพลเมือง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส:ทีวีสาธารณะ มีเป้าหมายในการทำข่าว คือ (๑) เสริมแรงใจให้กับเพื่อนเยาวชนกลุ่มต่างๆที่มุ่งมั่นกับการทำงานพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง (๒) สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองของเยาวชน (๓) สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลชุมชนของตนเอง กระบวนการทำงานของทีม เด็กดื้อรื้อฝัน เริ่มจากการประชุมทีมเพื่อค้นหาประเด็นทำข่าว สืบค้นข้อมูลหาความรู้ที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลต่างๆ นำข้อมูลที่ได้มาเขียนบท ลงพื้นที่ถ่ายทำ ตัดต่อ ประสานงานกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แก้ไขงาน รอการออกอากาศ ฯลฯ แกนนำกลุ่มเล่าว่า สาหรับใครหลายคนอาจคิดว่าก็แค่ทาข่าวออกอากาศทางโทรทัศน์ แต่สาหรับเรามันไม่ใช่แค่ข่าวได้ออกอากาศ แต่มันคือจุดเริ่มต้นในการที่เราสามารถสื่อสารความดี ของเพื่อนให้กับสังคมได้รับรู้ต่างหาก เราได้มีโอกาสผจญภัยและเรียนรู้ไปกับประสบการณ์จริง ทำให้เรามองเห็นศักยภาพของตัวเอง ศักยภาพที่จะทำงานกับองค์สื่อระดับประเทศมันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับกลุ่มของเรา และมันคือประสบการณ์ที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับการตอบตัวเองว่าเป็นพลเมืองเยาวชนจัดเตรียมข้อมูล


วันนี้พลังความดื้อรั้นของเด็กหลังห้องได้เปลี่ยนมาเป็นพลังแห่งการเรียนรู้

เพื่อพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์สื่อเพื่อเมืองสงขลา


บทเรียนในการทำสื่อเล็กๆเด็กสงขลาครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า การทำงานใหญ่ๆไม่สามารถทำคนเดียวได้ เราต้องทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม เพราะทำให้งานสำเร็จได้รวดเร็วกว่า ทำให้รู้ว่าต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ต้องร่วมนำเสนอความคิด และร่วมกันใช้เหตุผลในการตัดสินใจ อย่างตรงไปตรงมา


ประสบการณ์ครั้งนี้มีคุณค่ามากมาย บางเรื่องหาไม่ได้ในห้องเรียน เช่น ประสบการณ์ที่สอนให้คิดอย่างเป็นกระบวนการ สอนให้หาทางและแก้ปัญหาด้วยตนเอง ประสานงานกับองค์กรใหญ่ๆ ฝึกให้อดทน ใจเย็น จัดการกับอารมณ์ เราค้นพบการเรียนรู้เหล่านี้ด้วยตนเองเมื่อได้มีโอกาสทบทวนในสิ่งที่ทำ (AAR)


เรารู้ว่าผู้ใหญ่ชอบเด็กแบบไหน เราทำให้ได้แต่มันก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด มันคือสิ่งที่เราทำเพื่อให้เขาพอใจ เราถูกฝึกมาอย่างนั้นจริงๆ ถูกฝึกทำให้ผู้ใหญ่พอใจ ความจริงคือว่า เราหลายคนไม่ใช่จะเป็นเด็กดีอะไรหนักหนา มีเที่ยว มีแข่งรถซิ่ง มีโดดเรียน ซึ่งมันอาจสวนทางกับสิ่งที่โครงการนี้ต้องการหรือเปล่าเราไม่แน่ใจ


ยอมรับว่าแรกๆเราก็ไม่รู้สึกกับคำว่าจิตสำนึกความเป็นพลเมืองสักเท่าไหร่ แต่พอทำเข้าจริงๆ เสมือนหนึ่งเราค้นพบเสรีภาพในการเรียนรู้ของตนเอง เราสามารถกำหนดสิ่งที่เราอยากจะเรียนรู้ได้ แต่ความยากของมันคือเราเองต้องมีวินัยและซื่อสัตย์กับการเรียนรู้ของตนเอง และการทำงานที่ผ่านมาทำให้เราตระหนักขึ้นมาว่า บ้านเมืองของเรา ถ้าเราไม่ดูแล ใครจะดูแล เราต่างมีศักยภาพที่จะแบ่งปันมารับใช้สังคม สังคมที่เราต้องการมันเริ่มสร้างได้จากตัวเราเอง เริ่มจากสามัญสำนึกของตนเอง พลังเล็กๆยิ่งรวมตัวกันมากก็สามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มันก็เปลี่ยนแปลง ซึ่งดีกว่าการอยู่เฉยๆประณามสังคมไปวันๆโดยไม่ทำอะไรเลย