การจัดการอบรมการสำรวจและประเมินสภาพป่าอย่างง่าย
นาถชิดา อินทร์สอาด

เปิดกิจกรรมเรียนรู้สำรวจป่าน่าน....

โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ได้มีการจัดการอบรมการสำรวจและประเมินสภาพป่าอย่างง่าย โดยสองวิทยากร นายวุฒิพงษ์ นาคสกุล และ น.ส.สุภาภรณ์ ปันวารี นักวิชาการอิสระ มาให้ความรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการสำรวจและประเมินสภาพป่าอย่างง่าย เพื่อที่เยาวชนจะได้นำการเรียนรู้ครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำข้อมูลในโครงการของตนเอง โดยมีกลุ่มเยาวชนที่ทำเกี่ยวกับเรื่องป่าเข้าร่วมดังนี้ 

1. โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนต้นน้ำ กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนา อ.สันติสุข
2.โครงการปลูกผักพันธุกรรมพื้นบ้าน กลุ่มเยาวชนห้วยหมี อ.บ่อเกลือ
3.โครงการสร้างฝ้าย สร้างบารมี กลุ่มโรงเรียนวัดบ่อหลวง อ.บ่อเกลือ 
4.โครงการอนุรักษ์การบวชป่า กลุ่มสามเณรโรงเรียนวัดปรางค์ อ.ปัว และมีเยาวชนโรงเรียนบ้านป่าแดด จำนวน 10 พร้อมผู้ใหญ่ในพื้นที่ร่วมเรียนรู้ด้วย สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ในวันที่ 24-25 มกราคม 2558 ที่โรงเรียนบ้านป่าแดดและป่าชุมชนบ้านหัวนา อ.สันติสุข จ.น่าน


เริ่มเช้าวันที่ 24 ม.ค. พิธีเปิดการอบรมโดยมีพระครูสุจิณนันทกิจ (พระอาจารย์สมคิด จารณธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน มาเป็นประธาน “พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ได้มาร่วมกันพัฒนา เติมความรู้ เติมประสบการณ์สิ่งใหม่ๆ ให้กับเยาวชนทั้งหลาย ในวันนี้และพรุ่งนี้เราทั้งหลายได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและกระตุกเรื่องวิธีคิด ถ้าเราคิดเป็นแล้วเราก็จะแสวงหาวิธีคิดเป็น เราก็จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลดีๆ และนำความคิดดีๆ นี้ไปสื่อสารกระจายให้คนภายนอกรับรู้ด้วย ตรงนี่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาถิ่นฐานบ้านของเราด้วยเป็นการช่วยกันปกปักษ์รักษาฟื้นฟูอนุรักษ์ ธรรมชาติให้คงอยู่”

­

เริ่มให้ความรู้การสำรวจป่า เตรียมตัวลงสำรวจ

น.ส.สุภาภรณ์ ปันวารี นักวิชาการอิสระ ได้เริ่ม ให้ความรู้ขั้นตอนและวิธีการสำรวจและประเมินสภาพป่าอย่างง่ายโดยมีการวางแผนลงพื้นที่และเตรียมอุปกรณ์สำรวจป่า ทำแผนที่ป่า การลงพื้นที่สำรวจป่าบ้านหัวนาเพื่อเป็นการให้เยาวชนได้ฝึกเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยวิทยากรได้แบ่งกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม การแบ่งกลุ่มสำรวจ โดยมีการแบ่งหน้าที่กันในกลุ่มเยาวชน

ความรู้หนึ่งของการสำรวจป่าคือ “...วิธีการวางแปลง 10 X 10 แปลง และภายในแปลง 10 X 10 แปลง ให้วางแปลงขนาดเล็กขนาด 1x1 เมตร สองแปลง เพื่อดูลูกไม้ มีการวางแผนการลงพื้นที่และมีการเตรียมอุปกรณ์สำรวจป่า (ได้แก่ เชือกฟางสีแดงเส้นใหญ่ เชือกฟางสีน้ำเงินเส้นใหญ่ สายวัดตัว ไม้ไผ่หรือไม้หลัก ความยาว 1.30 เมตร แบบฟอร์มสำรวจป่า) การทำแผนที่ป่า” การเรียนรู้ครั้งนี้ได้เห็นภาพสามเณรน้อยและฆราวาสร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

เรียนรู้การสำรวจป่าแบบคันๆ

เด็กทั้งสองกลุ่มแยกย้ายกันไปทำแปลงสำรวจป่าอย่างง่ายที่บริเวณห้วยนาคาป่าชุมชนขนของบ้านหัวนาที่เป็นป่าฟื้นฟูจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชน ป่าที่สำรวจเป็นป่าเต็งรัง อากาศอบอ้าวแต่เด็กๆก็สนุกสนานกับการเรียนรู้จากของจริงตามขั้นตอนที่วิทยากรแนะนำ ใช้เชือกฟางทำแปลงขนาด 10x10 เมตร และค่อยสำรวจ จดบันทึก วัดขนาดต้นไม้ เรียนรู้วิธีดูประเภทต้นไม้ การคำนวนเปอร์เซนต์ของแสงที่ลอดลงมา ฯลฯ กระบวนการเรียนรู้นี้จะทำให้เยาวชนได้ความรู้และซึมซับความเป็นธรรมชาติในบ้านตนเอง ไม่มากก็น้อย เสียงสะท้อนเล็กๆ ระหว่างทำกิจกรรมของเด็กๆ "...สนุกแต่ก็คันและร้อนด้วย"

­

ถอดบทเรียน...สำรวจป่า
การเรียนรู้จากการสำรวจป่าที่เด็กๆ ได้เรียนรู้แบบเร็วๆ ในวันนี้ หลังลงพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วได้ให้เยาวชนมาร่วมถอดบทเรียน
1.ปัญหา/อุปสรรค
2.ความรู้สึก(ส่วนตัว)
3.สิ่งที่ได้เรียนรู้
4.ข้อเสนอแนะ/ถ้าจะทำให้ดีขึ้นควรทำอย่างไ

ทั้งสองกลุ่มสะท้อนทั้ง 4 หัวข้อ ใกล้เคียงกันทั้งเรื่องปัญหา/อุปสรรค ในพื้นที่ที่เดินทางไกล ร้อน และ ค่อนข้างรก ทำให้มีอุปสรรคในกรทำงาน
ความรู้สึกส่วนตัวมีทั้งอากาศร้อน ทำให้เหนื่อย แต่ก็สนุกในการทำงาน และได้เรียนรู้เรื่องพันธ์ไม้ต่างๆ มากขึ้น ได้รู้จักการแบ่งกันทำงาน ความรู้ในการวีดต้นไม้ เป็นต้น และถ้าครั้งหน้าจะจัดกิจกรรมสำรวจอีกควรจะหาความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ และชนิดของต้นไม้ก่อนลงจะทำให้การสำรวจป่าดีขึ้นกว่านี
การกระตือร้อล้นในการเรียนรู้ของเยาวชน ถึงแม้ได้เรียนรู้ในระยะเวลาสั้นแต่คิดว่าอย่างน้อยจะทำให้กระตุกความคิดของเยาวชนในการเห็นความสำคัญของป่าไม่มากก็น้อย

­

­

ผลจากการสำรวจข้อมูลป่าชุมชนบ้านหัวนา
วิทยากรให้น้องๆ ทั้งสองกลุ่มแบ่งกันสรุปและวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บ แบ่งตาม 6 หัวข้อ
1.สรุปสภาพทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม
2.สรุปข้อมูลต้นไม้
3.สรุปข้อมูลพรรณพืชๆ ที่พอจดบันทึกได้
4.สรุปข้อมูลสัตว์ป่าและแมลงที่พบ
5.สรุปข้อมูลลูกไม้
6.สรุปข้อมูลไผ่
สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้คือการสรุปงานจากข้อมูลที่บันทึกมาและทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนของการลงไปสำรวจป่าชุมชนบ้านตนเอง มีต้นไม้ มีพืชสมุนไพร และสัตว์อะไรบ้างและที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ คือได้ค้นพบว่าในป่าของบ้านตนเองมีคุณค่าในการนำมาใช้ประโยชน์ได้รอบตัว อาทิ ไผ่ใช้ทำเครื่องจักสาน มีหน่อไว้กิน ฯลฯ
และสิ่งที่พบจากการสำรวจเป็นความรู้ เช่น ไผ่ ถ้าพบไผ่มีลำแก่น้อย ลำอ่อนจะมีน้อยเกิน ลำตายเยอะเกินไปจะแสดงให้เห็นป่าเริ่มเสื่อมโทรม จะได้รู้ว่าจะได้ช่วยกันฟื้นฟู หรือกำหนดการใช้ประโยชน์จากไผ่ในชุมชนอย่างไร
นี่คือตัวอย่างความรู้ที่ทำให้เด็กๆ เห็นความสำคัญการเรียนรู้ในครั้งนี้ได้ดียิ่งขึ้น

­

นำความรู้ไปใช้อย่างไร
โจทย์ : เราสามารถนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม"การสำรวจป่า"ไปใช้ประโยชน์กับโครงการของพวกเราได้อย่างไร
คำตอบ:โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านหัวนา บอกว่า"พวกเราจะหาพื้นที่ที่จะปลูกต้นไม้เพิ่ม จะไปวางแปลงสำรวจพื้นที่ป่าร่วมกับชุมชน นำเทคนิค วิธีการจดบันทึกข้อมูลจากการสำรวจป่า วิธีสำรวจป่า การวัดขนาดต้นไม้ การนำข้อมูลการสำรวจป่าและทรัพยากรไปนำเสนอในที่ประชุมในชุมชนได้เห็นคุณค่าของป่าและหาแนวทางฟื้นฟูป่า

­

กลุ่มที่สอง:โครงการบวชป่า
นำไปใช้กับโครงการของพวกเรา โดยจะนำหลักและวิธีการสำรวจป่าด้วยการจดบันทึกข้อมูล นำการคำนวณความหนาแน่นของต้นไม้ในพื้นที่โครงการ นำความรู้ที่ได้ไปสำรวจป่า และนำผลสรุปที่ได้ไปนำเสนอกับชุมชนเพื่อให้เกิดตวามร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า

­

และกลุ่มสุดท้าย โครงการสร้างฝายเก็บน้ำ
...."จะนำความรู้ไปใช้ในการวางแผนแบ่งหน้าที่ของแต่ละบุคคลว่าใครมีหน้าที่อะไรบ้างจะนำไปสำรวจพื้นที่ที่จะทำฝ้ายและบันทึกข้อมูลเก็บไว้ จะมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะทำฝ้ายให้พร้อมและติดตามประเมินกิจกรรม มีการเปรียบเทียบกิจกรรมก่อนทำ ระหว่างทำ หลังทำ และสรุปกิจกรรมทั้งหมดนำมาบันทึกไว้..,"

­

ความยั่งยืนฝากไว้ที่เยาวชน
จบการอบรมการสำรวจและประเมินสภาพป่าอย่างง่าย เยาวชน จ.น่าน ต่างให้คำมั่นสัญญาจะกลับไปดูแลทรัพยากรบ้านของตนเอง พลังเล็กๆ ของเยาวชนเมืองน่านที่จะช่วยกันปกป้องทรัพยากรที่เป็นสมบัติของชาติสืบต่อไป