ฝึกคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ชุมชนให้ รู้ทุกข์ รู้ทุนชุมชน ด้วยเครื่องมือ "แผนที่ชุมชน"
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร



วันนี้ผมได้มีโอกาสมา "น่านเหนือ" ร่วมกับพระอาจารย์สมคิด มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) พร้อมทีมวิทยากรกระบวนการ เพื่อจัดกระบวนการให้กับแกนนำเยาวชนที่มีใจอยากทำโครงการเพื่อชุมชน 5 กลุ่ม ได้แก่

● ชุมชนหนองบัว

● ชุมชน อ.เชียงกลาง

● ชุมชนบ้านหัวนา

● ชุมชนบ้านห้วยหมี

● ชุมชนบ้านฮวก


ให้สำรวจและวิเคราะห์ชุมชน ผ่านการทำแผนที่ชุมชน คิดถึงภาพชุมชนในฝัน ค้นหาทุกข์ และทุนของชุมชนด้านต่างๆ เพื่อเลือก "โจทย์" ที่กลุ่มเยาวชนสนใจอยากทำโครงการพัฒนาชุมชน


"สิ่งดีดี" ที่ผมเห็นในวันนี้ คือ เยาวชนแต่ละกลุ่มได้กลับมามองชุมชน ใน "มุมใหม่" เป็นการถอยออกมามองให้เห็นศักยภาพ และปัญหาชุมชนในมุมกว้าง ได้เห็นแผนที่ตั้งบ้านของตนว่า รวมกลุ่มอย่างไร เชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างไร อะไรคือศูนย์รวมภูมิปัญญา ประเพณีชุมชน


พวกเขาสำรวจทุกๆ มิติ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของตน ได้ใช้ post-it ในการตกผลึกความคิดของกลุ่มว่า เขาเห็น "ต้นทุน/สิ่งดีดี" เห็น "ทุกข์/ปัญหา" ของชุมชนตรงไหน ทั้ง

1) ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า หนอง นา อาหารและสัตว์

2) ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ การค้าขาย และหนี้สินของชุมชน

3) ด้านสังคม ผู้นำชุมชน การรวมกลุ่ม พื้นที่สร้างสรรค์ และพื้นที่เสี่ยงในชุมชน ศักยภาพของเยาวชน รวมทั้งความขัดแย้งต่างๆ ในชุมชน

4) ด้านประเพณีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา อาหาร สมุนไพร และระบบสุขภาพท้องถิ่น




เรื่องเหล่านี้ เยาวชนได้คลี่ความคิด และทำความเข้าใจร่วมกันผ่านการ "การวาดภาพ" แผนที่ตั้งของชุมชน และ "พูดคุย" ถึง ชุมชนของตน


ผมได้เห็นพี่เลี้ยงวิทยากรกลุ่ม ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ และมีประสบการณ์การทำงานด้านวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรืองานพัฒนาชุมชน ที่ชวนคิดชวนคุย ชวนตั้งคำถาม ลากเส้นความสัมพันธ์ให้น้อง ได้เชื่อมโยงประสบการณ์ของตน กับสภาพบ้านเกิดที่เขาอยู่


น้องๆ หลายคนสะท้อนว่า "เขาไม่เคยมองชุมชนแบบนี้มาก่อน การทำแผนที่ชุมชน ทำให้เขารู้จักชุมชนของตนเองมากขึ้น"  ทั้งข้อดี ข้อเสีย ทำให้ได้รู้ว่าเขาควรจะใช้ศักยภาพของตน ช่วยพัฒนาปรับปรุงหมู่บ้านของตนอย่างไร?.....


ค่ำวันนี้... แต่ละกลุ่มได้เลือกโจทย์ที่พวกเขา "คิดเอง" สนใจอยาก "ลงมือทำ" โครงการเพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเกิด ตามความสามารถ และศักยภาพที่มี เช่น

● การสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านหนองบัว ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองน่าน ในอำเภอท่าวังผา เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนรู้ข้อมูล เห็นคุณค่า และส่งต่อข้อมูลให้คนอื่นได้ว่า กว่าจะเป็นชุมชนหนองบัว มีประวัติความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐานบ้านเกิด อย่างไร มีพัฒนาการอย่างไร

● การศึกษาพืชสำคัญของชุมชนบ้านฮวก "ต้นหมาก" กับเศรษฐกิจ และฐานทรัพยากรของชุมชน ตั้งแต่อดีต จนปัจจุบัน

● การศึกษาสถานการณ์ป่าชุมชนบ้านหัวนา ความสมบูรณ์ของฐานทรัพยากร การใช้ประโยชน์ และภัยคุกคามจากเกษตรเชิงเดี่ยว การปลูกข้าวโพดที่ส่งผลต่อป่าต้นน้ำน่าน และบทบาทของเยาวชนที่จะลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข ในเรื่องที่ยากๆ ของประเทศ

● การศึกษาคุณค่า ความสำคัญ และวิธีการสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นถิ่น ของเยาวชนอำเภอเชียงกลาง การแสดงในฐานะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนน่าน




และเรื่องราวนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของ "พลเมืองเยาวชนคนเมืองน่าน" ที่จะลุกขึ้นมา ร่วม "ลงมือทำ" เพื่อแสดงถึงพลังของคนรุ่นใหม่ ที่มีใจ "สำนึกรักถิ่นเกิด" พวกเขาจะทำอะไร ทำอย่างไร ได้ผลอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป...

­

­