"เกม พฤติกรรม และสำนึกพลเมือง"
คำรณ นิ่มอนงค์

     หลังจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำงานเด็กและเยาวชนทั้ง 4 จังหวัด ผมกลับมานั่งคิดถึงเรื่องที่พี่ๆหลายคนสนใจเกมที่ผมคิดขึ้นและอยากจะเอาไปทดลองใช้กับน้องๆในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผมยินดีอย่างมากถ้าจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับน้องๆเยาวชนในภูมิภาคอื่นๆด้วย

­

     แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เกมที่ผมออกแบบนั้นเอาเข้าจริงมันเป็นแค่เครื่องมือเล็กๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ผมจะพาน้องๆไปเรียนรู้เท่านั้น แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญมันมีหัวใจหลักๆ คือ

­

­

1.) การสังเกตพฤติกรรมน้องทุกคนในแต่ละทีม ในปีที่ 2 นี้ ผมพยายามทำความเข้าใจกับน้องๆและพี่เลี้ยงทุกทีมที่ผมรับผิดชอบ เก็บพฤติกรรมและการแสดงออกผ่านการจดบันทึกในแต่ละครั้ง เพื่อให้ผมเห็นพัฒนาการของทีม เห็นการแสดงออกของแต่ละคน เห็นข้อจำกัดที่เป็นข้อติดขัด รวมทั้งเห็นจุดเด่นของน้องๆที่จะดึงมาเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวข้ามอุปสรรคไปสู่เป้าที่น้องตั้งใจไว้ ดังนั้นเกมที่ดีสำหรับผมแล้วจึงต้องมาจากการออกแบบภายใต้ความเข้าใจในพฤติกรรมของน้อง ที่เราต้องหมั่นสังเกต ดังนั้นเกมบางเกมเวลาที่ผมออกแบบและนำไปใช้ บางครั้งมันได้ผลสำเร็จมากกับทีมหนึ่ง แต่พอไปใช้กับอีกทีมหนึ่งกับไม่สามารถพาน้องไปถึงเป้าหมายได้ อย่างเช่น จิ๊กซอต่อแผน ที่มีเป้าหมายเพื่อชวนน้องให้เห็นความสำคัญของการดูแผนโครงการ ครั้งแรกผมเอาไปใช้กับน้องทีมแพะโจ๋ มันได้ผลตอบรับดีมาก แต่พอเอามาใช้กับน้องทีมเดอะเพอฟอร์มิ่งอาร์ท กลับได้ผลตอบรับที่ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นผมจึงได้บทเรียนสำคัญที่ว่า การจะพาน้องไปให้ถึงเป้าหมายนั้นผมต้องศึกษาเรื่องพฤติกรรมเด็กและวัยของเด็กให้มากยิ่งขึ้น และจึงเป็นที่มาว่าทำไมผมจึงต้องออกแบบเกมใหม่ๆอยู่เสมอ

­

2.) การออกแบบเกม คำตอบไม่ใช่เพื่อสร้างความสนุกสนาน และความสนใจให้น้องๆเท่านั้น แต่มันต้องนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้น้องเดินไปสู่เป้าหมายที่เข้าตั้งไว้ และแสดงออกถึงสำนึกของความเป็นพลเมือง การทำให้น้องสนุกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเป้าหมายเท่านั้น แต่การพาน้องให้เห็นสิ่งที่เขาทำผ่านเกม และนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตจริง เพื่อเดินไปสู่สำนึกความเป็นพลเมืองนั่นเป็นเป้าหมายที่ใหญ่กว่า เช่น เกมขวดน้ำถามพฤติกรรม เกมเล็กๆใช้เวลาไม่นาน แต่เป้าหมายของมันทำให้น้องเข้าใจพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายที่ชัด และกำลังบอกน้องว่าสิ่งพวกเขาทำมันเป็นประโยชน์กับใครบ้าง และเขาเองจะได้ประโยชน์อะไร

­

3.) ในระหว่างการเล่นเกม สิ่งสำคัญที่ผมต้องทำ คือ การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมที่น้องแต่ละคนได้แสดงออก หลายๆเกมเมื่อเล่นไปได้สักระยะ เกมเหล่านี้จะไปดึงตัวตนของน้องออกมาให้เราเห็นดังนั้นการจับสังเกตพฤติกรรมของน้องจะช่วยให้เราเข้าใจตัวตนของน้องแต่ละคนได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เรามีทิศทางในการพาน้องเรียนรู้ให้เหมาะสมกับน้องได้มากขึ้น

­

4.) การจะเล่นเกมให้ได้ดีนั้นเราต้องเข้าใจเป้หมายโครงการน้องให้ชัด แผนโครงการของน้องต้องเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวของเรา และต้องมีทางออกไว้ให้น้องเสมอ การเล่นเกมเป็นเหมือนเครื่องมือให้เราสร้างความเข้าใจโครงการและแผนการให้กับน้อง บางครั้งการไปพูดกับน้องตรงๆ น้องเหมือนจะเข้าใจแต่เอาเข้าจริงน้องกลับฟังแบบผ่าน ๆซะงั้น พอถึงเวลามาเจอน้องอีกครั้ง อ่าว ทำไมน้องถึงทำกิจกรรมตามความอยากของตัวเองแบบเดิม เกมที่ดีจึงต้องมาจากเป้าหมายที่ชัดเจน

­

5.) ต้องเป็นนักตั้งคำถาม มีชุดคำถามในแต่ละกิจกรรม ถ้าเรารู้จักน้องมากเข้าใจพฤติกรรมและข้อจำกัดน้องมากเท่าไหร่ เกมที่เราออกแบบจะยิ่งทรงพลังมากเท่านั้น คำถามที่ดีต้องมาจากการนำ ข้อ 1-4 มารวมกัน เมื่อเราเข้าใจจะสร้างคำถามที่เป็นเหมือนยาชูกำลังใจชั้นดีให้กับน้องได้ เหมือนเกม นิ้วทั้งสิบ เล่นดีไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย เพียงแต่เราเข้าใจพฤติกรรมน้อง เข้าใจสถานการณ์ของทีมน้องที่กำลังเกิด เข้าใจเป้าหมายที่น้องอยากไปให้ชัด เพียงแค่ทุกคนยกนิ้วมาชูทั้งสิบนิ้วก็กลายเป็นเกมที่สร้างพลังใจแล้ว

­

     ดังนั้นถ้าจะเอาเกมผมไปเล่นให้ได้ดีที่สุด คือ 1.ต้องเข้าใจพฤติกรรมน้อง/พี่เลี้ยง 2.ต้องรู้ว่าสิ่งที่น้องทำนำไปสู่สำนึกพลเมืองอย่างไร 3.ในระหว่างทำต้องเฝ้าสังเกตอย่างละเอียด 4.ต้องเข้าใจเป้าหมายและแผนโครงการน้องให้อยู่ในเนื้อในตัว 5.ต้องมีชุดคำถามที่ดีที่เกิดมาจากการทำ 4 ข้อแรก

     เพราะเราไม่ได้พาน้องๆทำโครงการให้จบตามระยะเวลา แต่เรากำลังพาเขาปลุกสำนึกพลเมืองออกมาเพื่อบ้านเกิดของเขาเอง ไม่ว่าบ้านเราจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ขอเพียงพลังเล็กๆไม่นิ่งเฉยดูดาย เมื่อน้องเติบโต พี่อย่างผมก็เติบโตไปด้วยเช่นกัน ในขณะที่เรากำลังสร้างน้องน้องเองก็กำลังสร้างเราให้มีคุณภาพมากขึ้น ผมเป็นแบบนั้นละ