"ไม่ยอมจำนน"
คำรณ นิ่มอนงค์



ถ้าวันหนึ่งน้องๆมาบอกเราว่า "พี่หนูทำต่อไม่ไหวแล้ว" "พี่หนูรวมเพื่อนไม่ได้แล้ว" "พี่พวกหนูติดข้อจำกัดแบบนี้" และอีกสารพัดเหตุผล เพื่อกำลังจะสื่อสารเราว่าพวกหนูเดินไปต่อยากนะ พี่เลี้ยงอย่างเราจะทำอย่างไร

พอดีผมได้ลงไปพูดคุยกับน้องๆแหลมใหญ่ทีม ซึ่งผมพบว่าน้องๆต่างก็มีข้อจำกัดของตัวเองมากมาย วิธีการที่ผมใช้ คือ

1.) อยากบอกอยากเล่าอะไรให้พี่ฟังก็ใส่มาเต็มที่เลยนะ
2.) ข้อจำกัดของแต่ละคนเป็นอย่างไรกันบ้าง พูดมาให้หมดพี่จะฟัง
3.) มาดูกันหน่อยซิ ว่าข้อจำกัดข้อไหนมันสามารถจัดการได้เลย ข้อไหนที่ต้องช่วยกัน มาหาทางออกร่วมกันหน่อย
4.) มาดูแผนกันหน่อยไหมว่าเป้าหมายเรา คืออะไร และเรามีแผนการทำอย่างไร
5.) ตอนนี้ทำกิจกรรมตามแผนไปถึงไหนแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งต่อตัวเอง ต่อชุมชนทเราเห็นคุณค่าอะไรบ้าง
6.) จากนี้เราสามารถทำอะไรกันได้บ้าง อะไรที่ยังไม่สามารถทำได้ ลองมาออกแบบกิจกรรมที่จะต่อกันดีไหม ใช้แผนเป็นแนวทางเดินแต่กิจกรรมให้อิสระน้องๆในการออกแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่น้องสามารถทำได้
7.) ทีนี้ก็กลับไปทำซะ

สุดท้ายพี่เลี้ยงอย่างเราจึงต้องไม่ยอมจำนนกับข้อจำกัดสารพัดของน้อง แต่ก็ไม่ใช่การไปสั่งไปบังคับให้น้องต้องทำแบบนั้นแบบนี้โดยไม่ฟังข้อจำกัดของน้อง ไม่เช่นนั้นเราก็คงจะไม่ต่างจากการสอนให้เด็กเป็นเช่นเดิม. คือ ต้องไปทำแบบนั้นแบบนี้

     หน้าที่ของพี่เลี้ยงอย่างเราจึงต้องตั้งคำถามให้เขาอ๋อให้ได้ หัดเป็นนักฟังมากกว่านักสอน ค้นหาทางออกร่วมกับน้อง ที่สำคัญต้องไม่มองว่าข้อจำกัดที่น้องบอกเรานั้น คือ ข้ออ้าง แต่เราจะไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่น้องพูด เขายิ่งพูด เรายิ่งถาม ถามเพื่อสร้างการเรียนรู้และค้นหาสำนึกพลเมืองในตัวของน้องๆให้เขาได้ครุ่นคิดและทบทวนด้วยตัวเอง
ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการแบบนี้ใช้เวลาค่อนข้างมากและไม่ได้ดั่งใจ สำหรับบางคนกับการต้องมานั่งรอ ฟัง ฟัง แล้วก็ฟัง แต่เชื่อเถอะครับว่าผลของมันคือรอยยิ้ม

     วันนี้น้องๆแหลมใหญ่ทีมเปลี่ยนจากการทำสื่อหนังสั้น มาเป็นการวาดการ์ตูนทำเป็นเรื่องเล่า จึงเป็นสิ่งที่ทำได้เมื่อตอนนี้การทำหนังสั้นคือข้อจำกัดของน้องๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงต้องชัดเจนและไม่เปลี่ยนแปลง นั่นก็คือเป้าหมายที่อยากเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลแหลมใหญ่ให้คงอยู่ต่อไป