​ผู้นำการเปลี่ยนแปลง "การเรียนรู้" เพื่อสร้าง "พลเมืองเยาวชน"
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

­

ศรีสะเกษวันนี้ ผมจัดกระบวนการกับ... ผู้นำชุมชน ครูภูมิปัญญา สารวัตรกำนัน หมอโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นักพัฒนาชุมชน ครู อาจารย์ นักศึกษาฝึกงานวิชาชีพครู สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล แกนนำผู้สูงอายุ ใน 9 อำเภอ จังหวัดศรีสะเกษ

ผู้นำทั้ง 20 ท่านนี้ เป็นผู้ที่กำลังจะทำบทบาทเป็น "พี่เลี้ยง" ในอีก 1 ปีข้างหน้าเพื่อบ่มเพาะเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ผ่านการ "สนับสนุน" เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ พี่เลี้ยงเป็น "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ที่ลุกขึ้นมาทำบทบาทจัดการศึกษา "นอกห้องเรียน" สร้างการเรียนรู้ สร้างเยาวชนในชุมชนของตัวเองเพื่อที่จะก้าวไปเป็น คนที่มี....

­

"สำนึกความเป็นพลเมือง" ที่เขื่อมโยงตนเองกับชุมขนบ้านเกิดได้
"มีทักษะการคิด ทำ แก้ปัญหาร่วมกับเพื่อน" ในการทำโครงการ
"มีนิสัยของความเป็นคนดีที่มีความรับผิดชอบ มุ่งมั่น ขยัน มานะพยายาม"
"สามารถเชื่อมโยงกับผู้ใหญ่ เพื่อนเยาวชน และคนในชุมชน" เข้ามาสนับสนุนเพื่อให้งานที่ตนทำสามารถพัฒนาขุมชนได้

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเรียนรู้จากการ "ลงมือทำ" โครงการเพื่อชุมชน ที่ชุมชนบ้านเกิดของทั้ง "พี่เลี้ยง" และ "เยาวชน"

เป็นการเรียนรู้ที่ "ระเบิดจากภายใน" จากสำนึก สู่ทักษะ และสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
เป้าหมายร่วมของกลุ่มพี่เลี้ยงชุมชนจาก 9 อำเภอ 20 หมู่บ้านใน 1 ปีข้างหน้าของโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษที่พี่เลี้ยงร่วมสะท้อนคือ...

เยาวชนเห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ลุกขึ้นมาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน จังหวัด ได้แสดงความสามารถ ค้นพบทักษะของตนเอง (คิด วิเคราะห์ กล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก) ปรับตัวทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น มีทักษะชีวิต ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองและคนในชุมชน มีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบ เห็นปัญหาแล้วไม่นิ่งดูดาย ลุกขึ้นมาแก้ไข มีพื้นที่ทำความดี

และที่สำคัญคือการทำโครงการของกลุ่มเยาวชนจะช่วย “เชื่อม” คนในชุมชนให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งผู้สูงอายุที่มีความรู้ ครูภูมิปัญญา เชื่อมโรงเรียนสู่ชุมชน เชื่อมชุมชนสู่โรงเรียน นี่คือ “เจตต์จำนงร่วม” ที่กลุ่มพี่เลี้ยงชุมชนจาก 9 อำเภอ 20 หมู่บ้าน “ปักหมุด” ร่วมกัน เพื่อช่วยกัน “หนุนเสริม” และสร้าง “สำนึกพลเมือง” ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนในจังหวัดศรีสะเกษ

­

­

เพื่อให้บรรลุเจตน์จำนงร่วม พี่เลี้ยงยังได้ร่วมกันกำหนดว่าพี่เลี้ยงต้องมีบทบาท...

พี่เลี้ยงต้องมีคุณธรรม มีใจ “เมตตา” เข้าไปนั่งอยู่ในใจของน้องๆ เยาวชน น้องต้องศรัทธาในตัวพี่เลี้ยงเพื่อประสานการทำงานได้ง่ายขึ้น พี่เลี้ยงต้องมีใจหนักแน่น ไม่ทิ้งน้อง เป็นร่มเงาให้น้องและต้องไม่ครอบงำความคิดของน้องๆ ให้น้องแสดงความสามารถได้เต็มที่ ต้องหากิจกรรมที่ทำให้น้องประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างกำลังใจและความภาคภูมิใจให้น้องๆ ด้วยการชี้ให้น้องเห็นเป้าหมายรายทาง และสัมผัสกับความสำเร็จทุกระยะ

พี่เลี้ยงคือ "ผู้ปิดทองหลังพระ” เพื่อให้เด็กประสบความสำเร็จ ต้องรักและเป็นที่ปรึกษาเด็กในทุกเรื่อง ไม่ครอบงำความคิด อยากให้เด็กรักบ้านเกิดกลับมาดูแลชุมชนเพื่อให้บ้านเกิดของเราดีขึ้น

พี่เลี้ยงต้องให้ “ใจ” น้อง ทำให้น้องไว้วางใจ และต้องทำให้น้องๆ เบ่งบานด้วยตนเอง ไม่ไปจู้จี้กับน้องๆ พี่เลี้ยงต้องคอยสังเกตอาการน้องๆ ตลอดเวลา คอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา ต้องทำให้น้องโจ๊ะ พรึ่มๆ ตลอดเวลา (กระตือรือร้น มีความสุข ความสนุก) และต้องพร้อมที่จะก้าวไปพร้อมกับน้อง รวมทั้งคอยหนุนเสริมไม่ให้เด็กไปทำเรื่องไม่ดี (แว้น มั่วสุม) ต้องดึงใจเด็กเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาของชุมชน

พี่เลี้ยงต้องมี “หัวใจเดียวกัน” ในการผลักดันน้องๆ ขับเคลื่อนงานไปได้ด้วยดี พี่เลี้ยงต้องมี “กลยุทธ์” เพื่อพาน้องไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

พี่เลี้ยงเปรียบเสมือน “ต้นไม้” ที่คอยดูแลเด็กๆ คอยเป็นร่มโพธิ์ให้คำชี้แนะเด็ก เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้แสดงออกได้เต็มที่ เป็นกิ่งก้านคอยประคบประหงมปลอบประโลมตอนเด็กๆ ทุกข์ ท้อ และเหนื่อย พี่เลี้ยงต้อง “ใจกว้าง” ให้เด็กได้พูดได้ระบาย พี่เลี้ยงต้องรู้จัก “จับประเด็น” ว่าปัญหาของน้องๆ คืออะไร ต้องทำความเข้าใจร่วมกันทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน เมื่อเด็กมีความสุขพี่เลี้ยงมีหน้าที่เติมเต็มด้วยการสร้างสถานการณ์ให้เด็กเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง พี่เลี้ยงต้องมีคุณธรรม แววตาของพี่เลี้ยงต้องมองดูเด็กเหมือนลูกหลานหรือเพื่อน เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัยให้เขารู้สึกว่าเราดูแลเขาได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าทำได้เด็กจะเติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง และชุมชนก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย