เทศกาลแห่งการเรียนรู้ครั้งที่ 1 พลังคุณค่าเยาวชนพลเมืองศรีสะเกษ 2558
NatSu Nattawut


      น้องๆ เยาวชนศรีสะเกษพร้อมต้อนรับทุกคนในงาน เทศกาลแห่งการเรียนรู้ครั้งที่ 1 พลังคุณค่าเยาวชนพลเมืองศรีสะเกษ "เติมพลัง เสริมคุณค่า สร้างสำนึกพลเมืองรุ่นใหม่ เพื่อการพัฒนาสังคม ชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ" จัดโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ

เยาวชนพลเมืองศรีสะเกษพร้อมห้ทุกคนร่วมเรียนรู้การทำโครงการผ่านบูธนิทรรศการ

­

­

เปิดเวทีเยาวชนพลเมืองศรีสะเกษโดยกลุ่มเยาวชนกอนทร่วยอิก ได้แสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นต้อนรับทุกคนก่อนเปิดเวทีเป็นทางการ...มีความสวยงามและทรงคุณค่า

­

­

เริ่มต้นขึ้นแล้วกับงานเทศกาลแห่งการเรียนรู้ครั้งที่ 1 เริ่มโดยการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นศรีสะเกษ "สานสัมพันธ์สายใยโซดละเว"

­

­

‪‎เบื้องหลังการแสดง‬
การแสดงของ เยาวชนพลเมืองศรีสะเกษ กว่าจะเป็นการแสดงที่เห็น น้องๆ ได้ศึกษาคุณค่าภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ซึมซับ รับรู้ จึงร่วมสืบสาน สืบทอด --กว่าจะเป็นการแสดงที่สวยงาม -- น้องๆ ได้ฝึกฝน ขัดเกลา บ่มเพาะคุณลักษณะนิสัยที่ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ และเป็นพลเมืองร่วมสร้างสรรค์สังคม ทักษะการคิด วิเคราะห์ การบริหารจัดการ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ได้ฝึกความอดทน ความรับผิดชอบ ความมีวินัย รวมถึง การควบคุมภาวะอารมณ์ การเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี --โดยมีพี่เลี้ยง ผู้ใหญ่ใจดี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ กระตุ้นคิด อย่างต่อเนื่อง 

­

     

­

"วันนี้เยาวชนภายใต้โครงการนี้เป็นเยาวชนจุดใหญ่ที่แสดงพลังให้ผู้ใหญ่ได้เหลียวมามองพลังของเยาวชนเพื่อร่วมกันสนับสนุนต่อไป การสร้างพลเมืองไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง หรือเฉพาะในสถานศึกษาเท่านั้น ทุกภาคส่วนมีส่วนกันช่วยสร้างพลเมืองได้"
นายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ ประธานกล่าวพร้อมลั่นฆ้องชัยเปิดงานอย่างเป็นทางการ
โดยมีผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ตัวแทนจากสสส.ร่วมพิธีเปิดด้วย

­

­

คุณเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ (กลาง) และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เยี่ยมชมบูธนิทรรศการของมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยมีคุณกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่โครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อพัฒนาเยาวชนนำเสนอวิธีคิด วิธีการทำงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลในการพัฒนาเยาวชนเพื่อให้เป็นกำลังคนคุณภาพของพื้นที่ หรือ Active Citizen นั่นเอง

­

สะท้อนคุณค่าการเรียนรู้หลังจากการทำโครงการชุมชน ... น้องนุ่น นิภาดา บุญท่วม เยาวชนในโครงการเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูย เป็นตัวแทนเพื่อนๆ กลุ่มโครงการด้านวัฒนธรรมนำเสนอว่า ผ้าไหมลายลูกแก้วเป็นของดีในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งงานบุญ งานประเพณี ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่วันนี้กลับเริ่มเลือนลางลงเรื่ิอยๆ จนเกรงว่าจะสูญหาย กลุ่มเยาวชนจึงรวมกลุ่มกันทำโครงการอนุรักษ์และสืบสานขึ้น ทั้งเป็นการดึงเพื่อนๆ น้องๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่เอาแต่เที่ยว หรือติดโซเชี่ยล จนตอนนี้รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมสืบทอด สมาชิกทุกคนทอผ้าเป็น ทำได้ทุกขั้นตอน จากก่อนหน้านี้ไม่เคยทำกันมาก่อน และพอมาทำก็เห็นศักยภาพตัวเองว่าถ้าจะทำก็ทำได้

­

­

การแสดงดนตรีพื้นบ้านชาวกูยที่เหลือผู้เฒ่าเพียงสามท่านที่เล่นดนตรีนี้เป็น ก่อนจะสูญหายไปเยาวชนบ้านรงระร่วมมาสืบสานดนตรีพื้นบ้านนี้ต่อให้มีชีวิตอยู่คู่บ้านรงระต่อไป

­

­

น้องอวย เจนจิรา แสงมาศ เยาวชนโครงการสืบสานภูมิปัญญาการละเล่นดนตรีพื้นบ้านชาวกูย โดยกลุ่มเยาวชนบ้านรงระ อีกหนึ่งเยาวชนในโครงการด้านวัฒนธรรม สะท้อนการเรียนรู้ว่าเมื่อได้เข้ามาทำโครงการชุมชนทำให้สมาชิกในกลุ่มได้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมาก จากเมื่อก่อนไม่เคยสนใจชุมชนเลย วันๆ มีแต่บ้านกับโรงเรียน อยู่บ้านก็ดูหนังฟังเพลงเฮฮาไปตามภาษา แต่พอมาทำโครงการแล้วก็ได้รู้จักชุมชนตัวเอง และวัฒนธรรมในชุมชนตัวเองมากขึ้น ทุกคนรู้จักรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา กล้าคิดกล้าทำ กล้าแสดงออก รู้จักเทคนิคการทำงานกับชุมชน และมีจิตอาสาทำประโยชน์ให้ชุมชนบ้านตัวเอง โดยส่วนตัวยังค้นพบตัวเองด้วยว่าไม่เก่งด้านดนตรีเลย แต่มีความถนัดในการทำงานด้านข้อมูลและการประสานงานมากกว่า ก็สามารถนำข้อค้นพบนี้ไปใช้กับชีวิตและการทำงานต่อไปได้

­

การแสดงสาธิตการละเล่นพื้นบ้าน "กอนกวยทร่วยอิก"ของเด็กๆกลุ่มเยาวชนกอนกวยทร่วยอิก บ้านซำ จากโครงการสานสัมพันธ์กอนกวยทร่วยอิก ให้พี่สื่อมวลชนจากช่อง 3 ได้ดู
..,คุณค่าของโครงการ การฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้านนี้ทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนทุกช่วงวัยกลับคืนมา..ความสุขกลับคืนสู่ชุมชน

­

­

การสวดสรภัญญะภาษากูย โดยกลุ่มเยาวชน Spy Kids บ้านขี้นาค ต.ตูม
เยาวชนได้ร่วมกันแต่งเนื้อร้องสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นเมืองศรีสะเกษ เสียงร้องที่ไพเราะสะกดให้ทุกคนฟังอย่างตั้งใจ

­

­

ต่อมาที่กลุ่มโครงการด้านสัมมาชีพ น้องแหม่ม ด.ญ. รวีวรรณ สว่างภพ และน้องกุ๊กไก่ นางสาวปนัดดา ศรีบุญเรือง เยาวชนในโครงการต้นกล้าเยาวชนคนหมาน้อย มาบอกเล่าการเรียนรู้ อนุรักษ์ และต่อยอดการแปรรูปสมุนไพรหมาน้อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ขับสารพิษ ลดไข้ รักษาโรคผิวหนัง ฯลฯ ให้อยู่คู่ชุมชน คนในชุมชนรู้จักวิธีใช้ประโยชน์ และวิธีการเพาะปลูกให้มีกินมีใช้ไม่ขาด

­

­

อีกหนึ่งไฮไลท์ของกิจกรรมวันนี้คือ วงเสวนาเรียนรู้ 'พลังคุณค่าพลังพลเมืองเยาวชน 4 ภาค' โดยตัวแทนเยาวชนเครือข่าย 4 จังหวัดได้แก่ น่าน ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม และสงขลา

น้องๆ บอกตรงกันว่า เยาวชนไทยยังต้องการการหนุนเสริมจากผู้ใหญ่ใจดี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนอีกมาก เพื่อให้เยาวชนได้เติบโตเรียนรู้ และก้าวเข้ามาเป็นพลังท้องถิ่น อยากให้ผู้ใหญ่เชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชน อย่ามองว่าเป็นเด็ก หากได้พื้นที่และโอกาสที่เพียงพอ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ร่วมสร้างสังคมได้

'เด็กคิด เด็กทำ ผู้ใหญ่หนุน'
เด็กคิด คือ เปิดโอกาสให้เขาทำในสิ่งที่ชอบ เด็กทำคือเมื่อเขาเป็นคนคิดเอง เขาก็จะทำอย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่หนุนคือผู้ใหญ่ให้โอกาสและพื้นที่แสดงพลัง ให้คำแนะนำปรึกษา ให้งบประมาณ โดยเฉพาะกำลังใจที่จะขาดไปไม่ได้เลย

­

­

ความสำคัญของผู้ใหญ่ต่อการพัฒนาเด็กไทยให้เป็นคนคุณภาพของสังคม สะท้อนโดยพี่เลี้ยงในพื้นที่ผู้ทำงานใกล้ชิดเยาวชน
'ถ้าผู้ใหญ่อย่างเราไม่เข้มแข็งพอ ก็ยากที่จะทำให้เด็กไทยรอดพ้นจากความเสี่ยงรอบด้านในปัจจุบันได้'
นางเพ็ญทิวา สารบุตร พี่เลี้ยงเยาวชนโครงการต้นกล้าเยาวชนคนหมาน้อย

­

­

เริ่มเวทีในช่วงบ่ายหลังจากการแสดงทางวัฒนธรรมเบิกโรงแล้วก็ถึงคิวเยาวชนในโครงการประเด็นสังคมและการศึกษามาสะท้อนคุณค่าและความเปลี่ยนแปลงหลังทำโครงการชุมชน ... เริ่มจากโครงการเติมใจวัยใสใส่ใจวัยเก๋าของกลุ่มดาวกระจาย น้องเพี๊ยส ด.ญ. ปรียาลักษณ์ พุฒเคน บอกว่าจากปัญหาเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ใช้เวลาว่างแสวงหาความบันเทิงส่วนตัวจึงทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อกระตุกเตือนให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนใส่ใจดูแลคนเฒ่าคนแก่มากขึ้น เมื่อทำโครงการแล้วก็ได้เรียนรู้ทักษะการดูแลผู้สูงอายุติดตัวด้วย

­

­

กลุ่มรากแก้ว โครงการ Eng Easy สานใจเติมฝันเรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง น้องๆมาบอกเล่าเรื่องราวการทำโครงการสอนภาษาอังกฤษให้น้องชั้น ม.1 ทำให้น้องมีทัศนคติที่ดีและอยากเรียนวิชาภาษาอังกฤษมากขึ้น เมื่อทำแล้วก็ทำให้สมาชิกกลุ่มเติบโตภายใน มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา ที่สำคัญยังรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและความหมายมากขึ้น

ในภาพน้องๆ เล่าเรื่องผ่านละครเวทีสั้นๆ ซึ่งเราจะนำมาแบ่งปันต่อไปค่ะ

­

­

'การเข้าร่วมเครือข่ายการพัฒนาเยาวชนนี้ ท่านไม่ได้เดินคนเดียว วันนี้ลูกๆ เยาวชนของเราเขาเดินมาถูกทางแล้ว ขอชื่นชมผู้ใหญ่ใจดีที่เข้ามาหนุนเสริมเยาวชน โอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ต่อให้มีเงินแสนเงินล้านก็ไม่สามารถซื้อได้ อยากให้ทุกภาคส่วนอาศัยจังหวะนี้ร่วมด้วยช่วยกันหนุนเสริมการพัฒนาเยาวชน'

ผศ.ดร.เอมอร แสนภูวา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.ศรีสะเกษ

­

­

'ผมเป็นคนศรีสะเกษโดยกำเนิด เมื่อมองภาพศรีสะเกษในอนาคต งานวันนี้ เรากำลังสร้างหน่ออ่อนของความเป็นพลเมือง บางหน่อเริ่มเข้มแข็งแล้ว บางหน่อกำลังแตกปุ่ม เริ่มเติบโต เปรียบเทียบกับต้นไผ่ หากเราอยากเห็นหน่อไผ่ที่เข้มแข็ง เป็นหน่อไผ่ที่สมบูรณ์ ระหว่างไผ่ต้นใหญ่และหน่อไผ่เล็กๆ ต้องเกื้อกูลอาศัยกัน หน่อไผ่ ต้องอาศัยไผ่ต้นใหญ่เพื่อเติบโต ต้นไผ่ใหญ่ก็ต้องอาศัยหน่อไผ่เพื่อให้ไผ่ยังคงอยู่ได้'
ผศ. ดร. บัญชร แก้วส่อง
ผอ. สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

­

­

"...ผู้ใหญ่อย่างเราจะไม่มีคำว่า " ต้อง " ในพจนานุกรมอีกต่อไปแล้ว เรามีหน้าที่ตั้งคำถาม..."

"บทบาทของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่หนุนต้องไม่ใช่สั่งเขา แต่การเข้าไปหนุนเขา เราต้องดูจังหวะ และเราต้องฟังเด็กด้วย เรารับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ข้อนี้เป็นทักษะที่จำเป็นมากในสังคมไทย ถ้ามีก็จะช่วยให้หาข้อยุติได้ สุดท้ายนี้ ผู้ใหญ่อย่างเราวันนี้ต้องรู้จักเปลี่ยน เปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน แล้วอีกสิบปีข้างหน้าเรามองย้อนกลับมา เราจะดีใจที่เรามีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น"

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)