นิเทศ ทต.เมืองแก จ.สุรินทร์
สุทิน ศิรินคร

     อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ วิทยากรของหลักสูตรนักถักทอชุมชน จากสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุนเป็นสุข(สรส.) ร่วมกับ อ.วราภรณ์ หลวงมณี วิทยากรจากสถาบันยุวโพธิชน และ ป.เช่ หรือสุรศักดิ์ สังหาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก จุดประกายสภาผู้นำชุมชน ด้วยโมเดลประเทศหมู่บ้านเมืองแก เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวในหมู่ 3 ซึ่งมีผู้ใหญ่เบิ้ม สงนวน ประธานสภาผู้นำชุมชน ร่วมเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว

­

­

     คณะกรรมการสภาผู้นำชุมชนหมู่บ้านเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนแกนนำช่วยกันระดมสมอง

     เร่ิมต้น อ.วราภรณ์ หลวงมณี วิทยากรกระบวนการชวนคิดชวนคุยด้วยการแนะนำตนเองเป็นใครมีบทบาทใดในสภาผู้นำชุมชน ประทับใจหรือได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานร่วมกัน

     จากนั้นอ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ วิทยากรกระบวนการ ชวนคอดชวนคุยโจทย์ที่ 1 ความคาดหวังต่อเป้าหมายและบทบาทภารกิจของสภาผู้นำชุมชนเพื่อมองให้เห็นคุณค่า ความหมายของสิ่งที่ทำ โดยให้ทุกคนช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่า ความหมายของครอบครัวอยู่ดีมีสุขคืออะไร และสิ่งที่ขาดอยู่ทำให้ครอบครัวไม่มีความสุขคืออะไร

ส่วนใหญ่สะท้อนตรงกันว่าปัญหาที่ทำให้ครอบครัวไม่มีความสุขคือ เงินเพราะรายจ่ายสูงกว่ารายได้ และเวลาที่จะอยู่ด้วยกันมีน้อยทำให้ขาดความรักความอบอุ่นความเข้าใจกันในครอบครัวเพราะต้องไปทำงานไกลบ้าน สามีภรรยา พ่อแม่ลูกไม่ค่อยได้อยู่ร่วมกัน ลูกหลานจะถูกทอดทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้อง

     อ.ทรงพล ได้สะท้อนให้เห็นว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเราใช้เงินเกินความจำเป็น ไม่มีการจัดสรรปันส่วนว่าใช้เท่าใด ออมเท่าใด หากเราทำบัญชีครัวเรือนจะทำให้ชัดเจนว่าเราใช้จ่ายเกินความจำเป็นอย่างไร ที้งที่เป้าหมายของเราเพียงแค่ต้องการปัจจัย4 และแท้จริงแล้วเป้าหมายสำคัญของครอบครัวคือความมั่นคงทางอาหาร ที่มีความปลอดภัยทำให้สุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจ มีอาชีพ มีกิน มีใช้ มีเก็บไว้ในยามจำเป็นฉุกเฉิน และมีมิติทางสังคม มีเพื่อนที่รักกันพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกัน

­

     เมื่อสิ่งที่เราอยากเห็นและคาดหวังคือครอบครัวอยู่ดีมีสุข เรารู้ว่าสิ่งที่ขาดคืออะไร เราต้องใช้สติปัญญาเพื่อคิดแก้ปัญหา อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ วิทยากร หลักสูตรนักถักทอชุมชนฯ จึงชวนคิดชวนคุยแบ่งกลุ่มย่อยตามความถนัดและความสนใจโดยจำลองพื้นที่หมู่ 3 เป็นประเทศหมู่บ้าน ที่ต้องมีเจ้าภาพดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการในแต่
ละกระทรวงต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา ด้านการเกษตร ด้านคมนาคม ด้านสาธารณสุข ด้านการคลัง ด้านศาสนาและวัฒนธรรม และด้านเด็กและเยาวชน เป็นต้น

     คำถามว่าทำไมต้องเป็นโมเดลประเทศหมู่บ้านเมืองแก เป้าหมายคือการฝึกฝนให้สภาผู้นำหมู่บ้านเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ มองสถานการณ์ปัญหาอย่างรอบด้าน รู้จักแสวงหาการเรียนรู้และหาคำตอบด้วยตนเอง เมื่อชวนคิดชวนคุยแล้วทำให้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ยังขาดอยู่คือข้อมูลในแต่ละด้านที่ต้องทำการสำรวจ/สัมภาษณ์หรือศึกษาชุมชนอย่างเป็นระบบลึกซึ้งเป็นการเริ่มต้นฝึกฝนทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนแกนนำได้ทำงานร่วมกันเป็นทีมและลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในแต่ละกระทรวงฯตามความสมัครใจ

­

­

­

­

     เสียงสะท้อนจากเวทีถอดบทเรียนผลจากการเก็บข้อมูลบุคคลของกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชน ผู้ปกครองพี่เลี้ยงชุมชน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน ที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเยาวชนของนักถักทอชุมชน และเจ้าหน้าที่ ทต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ พบว่า การฝึกฝนทักษะการจัดเก็บข้อมูล ด้วยการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้ง 4 มิติ คือได้ทักษะการสื่อสารเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเตรียมแบบสอบถาม การตั้งชุดคำถาม การหาวิธีการขั้นตอนในการชวนคิดชวนคุยกับชุมชน เพื่อทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก มิใช่เพียงได้แค่ข้อมูลตามแบบสอบถาม แต่ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นความต้องการหรือปัญหาของเยาวชน ผู้ปกครอง พี่เลี้ยงและผู้นำชุมชน รวมทั้งได้ทบทวนการทำงานของเจ้าหน้าที่เองว่ามีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ไม่ตรงกันกับการทำกิจกรรม/โครงการ/โครงงานในพื้นที่ที่ส่งผลให้การทำงาน/กิจกรรมไม่ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ แต่ทว่าก็ได้รับความเชื่อใจความไว้วางใจจากชุมชนมากขึ้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจ มีความสุขกับการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม และสิ่งสำคัญทำให้สามารถนำข้อมูลมาวางแผนงานต่อได้

     อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ประโยชน์ของการลงชุมชนทำให้เรารู้วิธีการ ได้พบ ได้เห็น ได้รู้หรือรู้เขารู้เรารู้สถานการณ์ และน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงตรัสว่า"เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน และทำอะไรก็ตามต้องตอบได้ว่า "ประโยชน์และคุณค่าของสิ่งที่ทำนั้นคืออะไร จะดูที่ตรงไหนถึงจะรู้ว่าเราทำได้ดีแล้ว เราต้องสามารถสร้างบรรทัดฐานของตนเอง นั่นก็คือ "ตัวชี้วัดความก้าวหน้า/ความสำเร็จ"

     เราควรมีหลักคิดและหลักยึดว่าทำงานอะไรก็ตามถือว่าเป็นโอกาสให้เราได้พัฒนา และการทำงานที่ดีต้องคิดและวางแผน ชัดเจนกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ต้องมีกระบวนการขั้นตอนจัดการให้ไปสู่เป้าหมายภายใต้ข้อจำกัดของเงื่อนไขเรื่องการจัดการเวลาของตนเอง

­

­