ประชุมกระบวนการ Workshop ครั้งที่ 3 เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์

­

เริ่มแล้ว ... การประชุมกระบวนการ Workshop ครั้งที่ 3 เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่น่าอยู่ วันอาทิตย์ที่ 5 เม.ย. 58 ณ อาคารเลิศ อุรัสยะนันทน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

­

เปิดงานด้วยการชมวีดีทัศน์ : ประมวลภาพการทำกิจกรรมของนักศึกษา และการกล่าวต้อนรับ โดย ผศ.ดร.เถกิง พัฒโนภาษ รักษาการผู้อำนวยการหลักสูตรนานาชาติ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

­

­

"มหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่ง ที่ไม่ควรเป็นเลยคือหอคอยงาช้าง ขาดความเชื่อมโยงกับสังคมซึ่งกำลังมีปัญหาเยอะ มหาวิทยาลัยต้องถ่วงดุลให้ดีระหว่างสิ่งที่เราพยายามสอนนักเรียน กับการเชื่อมโยงให้ได้กับปัญหาจริงๆ โครงการนี้มีประโยชน์มากในแง่ของการเชื่อมโยงไปสู่สังคม สิ่งหนึ่งที่ผมเตือนลูกศิษย์ของผมมากๆ เลยว่า อย่าไปวางตัวว่าเป็นผู้รู้อะไร แต่จริงๆ แล้วเราออกไปเรียนรู้จากการสัมผัสมากกว่า ผมไม่แน่ใจหรอกว่าท้ายที่สุดแล้ว Outcome จากงานนี้มันช่วยอะไรสังคมได้ในเชิงปฏิบัติหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ผมสังเกตเห็นมากๆ เลยก็คือว่าลูกศิษย์ของเราได้เรียนรู้จากสังคมจริงๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากๆ แล้ว ในอนาคตพวกเขาอาจนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงๆ เป็นความฝันที่เราหวังไว้มากๆ" ผศ.ดร.เถกิง พัฒโนภาษ กล่าว

­

­

ถัดจากนั้นเป็นการชี้แจงที่มาและวัตถุประสงค์กระบวนการ Workshop 3 โดย รศ.ดร.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า สังคมไทยมีปัญหา เราเป็นส่วนที่ทำงานศิลปะและการสื่อสาร จะทำอย่างไรที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ให้บรรเทาหรือหมดลงไป สิ่งที่เราดำเนินการมานี้เป็นการ Workshop ครั้งที่ 3 เป็นการนำเสนอผลงาน ที่เราได้ไปศึกษา เก็บเกี่ยวข้อมูล และกลั่นกรอง สังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมา ผมเชื่อว่างานที่เราทำออกมาจะมีผลอย่างหนึ่งอย่างใดต่อสังคม และเชื่อว่านิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมครั้งนี้จะได้พัฒนาตนเอง มีเพื่อนใหม่ สนุกกับการทำงาน และมีผลงานนำเสนอสู่สังคมในเวลาอันใกล้นี้ โดย Workshop ครั้งนี้จะมีการนำเสนอผลงานเยาวชนจาก 11 สถาบันใน 6 ประเด็นด้วยกัน คือ เด็กเยาวชน คนพิการ เกษตรกรรม ที่ดินทำกิน ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม แรงงาน-กลุ่มชาติพันธุ์

­

­

เริ่มกระบวนการ ... น้องๆ นิสิตนักศึกษานำเสนอเนื้อหาและรูปแบบงานสื่อสาร พร้อมทั้งรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ (นำเสนอทีมละ 15 นาที / ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อเสนอแนะ 15 นาที)

­

ในห้องย่อยที่ 2 เริ่มด้วย นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในประเด็นคนพิการ กับโครงการ "ความฝัน ขาฉัน, ไดอารี่ My Rights!" วัตถุประสงค์ "เราจะบอกคนทั่วไปให้รู้ว่าผู้ที่นั่งวีลแชร์มีสิทธิอะไรบ้าง ทั้งทางการแพทย์ การศึกษา การคมนาคม การใช้ชีวิต และกระตุ้นให้คนทั่วไปปรับเปลี่ยนทัศนคติ พร้อมทั้งปฏิบัติ และพัฒนาสังคมให้ ผู้พิการมีความสุขมากยิ่งขึ้น " ผ่านกิจกรรม 4 อย่าง ได้แก่ ไดอารี่ชีวิตของคนพิการ อินโฟกราฟฟิกแสดงสิทธิเสรีภาพคนพิการ โบรชัวร์เผยแพร่ความรู้และสิทธิของคนพิการ และนิทรรศการจำลองห้องพักของผู้พิการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนชายหญิงวัยมี / กำลังมีครอบครัว ที่มีความใส่ใจสังคม

­

­

นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับประเด็นคนพิการ ในโครงการ Will , Share พวกเขามองว่าความพิการไม่เกิดขึ้นจากสภาพทางร่างกายที่พิการ แต่เกิดจากความไม่พร้อมของสภาพแวดล้อมที่เอื้อแก่การดำเนินชีวิตของคน ทุกกลุ่ม ทางกลุ่มจึงมองไปยังประเด็นเรื่อง "อารยสถาปัตย์" (Universal Design) หรือการปรับเปลี่ยน ปรับใช้พื้นที่ สิ่งแวดล้อม ให้เหมาะสมแก่คนทุกกลุ่มทุกประเภท คนปกติ คนพิการ ผู้ชรา ฯลฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน โดยใช้สื่อ Facebook เป็นช่องทางหลัก เผยแพร่ อินโฟกราฟฟิก การ์ตูน โค้ดคำพูด แอเนเมชั่น วิดีโอคลิป และในช่วงท้ายโครงการตั้งใจจัดนิทรรศการ และวงเสวนาเผยแพร่โครงการปิดท้าย

­

­

นิสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ - ผังเมือง - นฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับประเด็นคนพิการ ในโครงการฉันไม่พิการ พวกเขามองว่าความพิการไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่สภาพแวดล้อมที่มีหลากหลาย มีความเหมาะสมกับผู้คนแต่ละกลุ่มมากเพียงพอหรือไม่ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการให้แก่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-25 ปี ผ่านสื่อเกมออนไลน์ อินโฟกราฟฟิก สต็อปโมชั่น เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และแฟนเพจ

­

­

นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับประเด็นเด็กและเยาวชน ในโครงการ Child Abuse "Verbal Abuse" หรือ การทำร้ายเด็กผ่านทางคำพูด พวกเขามองว่าการทารุณกรรมเด็ก นอกจากจะมีเรื่องของการทำร้ายทางร่างกายตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจแล้ว ยังมีการทำร้ายผ่านคำพูดซึ่งมีผลเสียอย่างมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูกหลาน โดยเฉพาะการสูญเสียความเคารพตนเอง 

­

ประเภทของการทำร้ายทางคำพูดได้แก่ คำพูดแสดงความคาดหวัง คำพูดแสดงความกดดัน คำพูดแสดงการเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น ทำไมลูก ? ทำแล้วได้อะไร ? เรื่องแค่นี้เอง ?

­

กลุ่มเป้าหมายคือพ่อแม่ของเด็กอายุ 12 -16 ปี (ป. 4- ม. 6) เลือกกลุ่มคนเมือง ชนชั้นกลาง มีการศึกษา ใช้สื่อ Social Media

การสื่อสารทำผ่านทางเฟสบุ๊ค และไลน์ การติดสื่อโปสเตอร์ให้ความรู้ที่ที่เรียนพิเศษของเด็กๆ วัตถุประสงค์ ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจผลเสียของปัญหา ให้ความรู้เรื่องการเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมมากขึ้น

­

สื่อที่พวกเขาเลือกใช้ประกอบด้วยสื่อโปสเตอร์ และนิทรรศการ "เขียนเล่น (แต่) เจ็บจริง"

­

­

นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับประเด็นเด็กและเยาวชน โครงการ "จ้บต้นชนปลาย" ดึงผู้ใหญ่จากสังคมภายนอกมาเป็นเพื่อนต่างวัยแบ่งปันประสบการณ์ กับเด็กๆ ชุมชนวัดดวงแข ซึ่งเป็นชุมชนแออัด กลุ่มเป้าหมายเด็ก 6-15 ปี ผู้ใหญ่วัยเกษียณ และอาสาสมัครบุคคลทั่วไป กิจกรรมมี 3 ส่วน ได้แก่ 1.จดหมายเพื่อนวัย ต่างอย่างเข้าใจ : เขียนจดหมายถึงกัน,2.ต่อนิทาน พูดคนละที ต่อคนละทำ : สร้างเรื่องราวดีๆ ร่วมกัน, 3.ภาพถ่าย มุมที่ชอบ ของที่ใช่ : สร้างแรงบันดาลใจ โดยการแบ่งปันมุมมอง ให้เห็นโลกในมุมที่ต่างออกไ

­

สื่อที่นำเสนอประกอบด้วย สื่อสิ่งพิมพ์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนภายนอกมาร่วมกิจกรรม และ Social Media / Website เป็นตัวให้รายละเอียดโครงการในเชิงลึกมากขึ้น

­

­

นักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับประเด็นเด็กและเยาวชน ในโครงการ Creative Shield เป้าหมายเพื่อให้สื่อที่นำเสนอสามารถทำให้เด็กในชุมชนวัดดวงแขซึ่งเป็นชุมชน แออัด มีความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง ได้รับการพัฒนาศักยภาพ กล้าแสดงศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันป้องกันตนเองจากความเสี่ยง และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและสร้างสรรค์

­

สื่อที่นำมาใช้ได้แก่การสร้างแฟนเพจเฟสบุ๊ค Creative Shield มีวิดีโอเล่าถึงความเป็นมาของโครงการ มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการแก้ไข ปัญหา การผลิตการ์ตูน อินโฟกราฟฟิก และการจัดแคมเปญ "สี (สรรค์) จากของขวัญสีขาว" (White Present) เมื่อโปรโมทโครงการจนเป็นที่รับรู้แล้วจึงขอความร่วมมือจากผู้สนใจส่งของ ขวัญที่มีสีขาวมาให้ยังโครงการเพื่อให้น้องๆ ในชุมชนรับไปใช้เป็นวัสดุทำสื่อ Art Object ของโครงการ สุดท้ายจะมีการจัดงานนิทรรศการ one day exhibition ร่วมกับชุมชนเป็นการปิดท้าย

­

ชมแฟนเพจโครงการฯ ได้ที่ https://www.facebook.com/CreativeShield

­

­

นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับประเด็นเกษตรกรรม ในโครงการเกษตรอินทรีย์ หยิบยกประเด็นการกินพืชผักอย่างปลอดภัย ห่างไกลจากสารเคมีการเกษตร หรือการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ มานำเสนอผ่านสื่ออย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ นิทรรศการตู้แสดงสินค้าผักผลไม้ที่แฝงความรู้บอกถึงพิษภัยของสารเคมีการเกษตรที่ตกค้างบนพืชผล "แม้ไม่เห็นแต่ใช่ว่าไม่มี" การทำแผ่นพับให้ความรู้ โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการ และแฟนเพจเฟสบุ๊ค

­

พวกเขาเชื่อว่าแม้วันนี้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์อาจมีราคาสูง แต่หากผู้คนหันมาบริโภคผลิตผลเกษตรอินทรีย์มากขึ้น จนเป็นที่แพร่หลาย ผลผลิตเหล่านี้ก็จะมีราคาถูกลงแน่นอน

­

­

นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับประเด็นเกษตรกรรม ในโครงการรวบยอดผัก อีกหนึ่งกลุ่มที่หยิบยกเรื่องเกษตรอินทรีย์มาผลิตสื่อนำเสนอต่อสังคมในวงกว้าง 

­

หลังจากลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกผักออแกนนิกส์ที่สนามไชยเขตแล้วก็ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก เพียงพอที่จะผลิตเป็นสื่อให้ความรู้ได้ในรูปแผ่นพับและวิดีโอสต็อปโมชั่น ซึ่งจำแนกผักออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผักทั่วไป ผักอินทรีย์ ผักไฮโดรพอนิกส์ แต่ละชนิดมีปริมาณสารเคมีตกค้างในแต่ละขั้นตอนการผลิต - การขนส่งจนมาถึงมือผู้บริโภคแตกต่างกัน จุดประสงค์เพื่อเป็นการให้ความรู้ และเป็นข้อมูลตัดสินใจเลือกซื้อพืชผักมารับประทานสำหรับผู้บริโภค มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน ม.ปลาย นิสิต นักศึกษา ซึ่งจะเป็นสะพานข้อมูลไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์อีกต่อหนึ่ง

­

­

ก่อนแยกย้ายกันไป น้องๆ สะท้อนสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ

­

- รู้สึกดีที่ได้เข้าร่วมโครงการ ได้รับความรู้ดีๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
- ได้มาเรียนรู้กับเพื่อนต่างประเด็น
- ได้เห็นตัวอย่างการออกแบบที่น่าสนใจจากเพื่อนกลุ่มอื่นๆ
- ได้ฝึกตัวเองให้มีความรับผิดชอบ
-ได้ติดต่อประสานงานกับเพื่อนๆ ต่างสถาบัน
- ได้มาเรียนรู้วิธีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น
- ได้ทำงานโจทย์จริง
- ได้มิตรภาพจากเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัย
- ได้ทำงานกับพี่ๆ NGOs
- ได้รู้จักการทำงาน การแบ่งหน้าที่ การบริหารคน
- ได้รับความสนุกจากการงาน
- ได้มีโอกาสทุ่มเทเพื่อคนอื่นบ้าง เราก็จะทำให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ได้รับคอมเม้นต์ที่ดีจากคณะกรรมการให้กลับไปคิดและทำต่อ
- ได้วิธีคิดใหม่ๆ

­

ด้านผู้ทรงคุณวุฒิ และพี่ๆ NGOs ก็ร่วมสะท้อน

­

"ผมติดรายการนี้ จริงๆ ทุกครั้งที่ถูกเชิญ สตาฟก็จะรู้ ผมก็จะงอแงนิดหน่อย ประชุมอีกแล้วเหรอๆ แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธ ผมคิดว่าผมติดพวกคุณแล้ว หมายถึงว่าผมไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ใน Class แล้วตอนนี้ พูดตรงๆ ด้วยใจจริงว่าหลังจากนี้ผมจะเลิกสอน เพราะผมไม่เห็นอะไรบางอย่างแบบนี้ใน Class และมันไม่ทำให้ผมอยากไปมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ว่าที่นี่มีให้ผมอยู่ นี่คือความในใจ การที่พวกเรายังอยู่ตรงนี้มันยังทำให้ผมอยากจะมาอยู่" อ.สันติ ลอรัชวี อาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

­

ด้าน พี่เปีย สุริษา มุงมาตรมิตร จาก ThaiPBS สะท้อนว่า การมาร่วมชมการนำเสนองานครั้งนี้ทำให้เห็นอย่างหนึ่งคือมุมมองของคนที่เรียน ด้านการออกแบบแล้วพยายามใช้ศิลปะเข้ามาสื่อสารประเด็นของสังคม คิดว่าจะทำให้ผู้รับสารเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น ก็เห็นความตั้งใจของน้องทุกคน อยากให้รักษาตรงนี้ไว้ ก็เห็นว่ามีงานของน้องหลายชิ้นสามารถสื่อสารออกไปได้ ThaiPBS มีพื้นที่ให้อยู่นะคะ

­

สุดท้ายที่พี่ๆ NGOs จาก มพด.สะท้อนว่าได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องมุมมองและวิธีคิดของน้องๆ รู้สึกดีใจและภูมิใจ อยากเป็นกำลังใจให้สิ่งที่เราทำ หลังจากฟังพรีเซนต์ของน้องๆ หลายกลุ่มรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่น้องๆ น่าจะภาคภูมิใจคือเราได้ลงไปสัมผัสเรียนรู้ประสบการณ์และชีวิตจริงที่หาได้ ยาก ถ้าไม่ได้มีกิจกรรมที่ให้เราไปสัมผัสไปเจอได้ไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เขามี ปัญหา เป็นสิ่งที่พี่ๆ NGOs ยินดี รู้สึกดีเวลาที่มีนักศึกษาหรือกลุ่มคนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ปัญหากับพื้นที่ ได้มุมมองอะไรกลับไปใช้ ไปขบคิดกับชีวิต

­

สำหรับความคืบหน้าระยะต่อไป เยาวชนทั้ง 16 กลุ่มจะได้นำข้อคิดเห็นและคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิกลับไปพัฒนาผลงานของตนเอง จนสำเร็จ และนำเสนอนิทรรศการและผลงานชิ้นสมบูรณ์ ภายในงาน 20 ปีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วันที่ 22 - 24 พฤษภาคม 2558 ณ สถานีรถไฟฟ้า มักกะสัน กรุงเทพฯ