"กิ่ง" เชื่อมั่นเยาวชน หาก "รู้เท่าทันสื่อ" สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

­

“ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น 21 วัน ครั้งที่ 1" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินโครงการวิจัย 5 อปท และร่วมมือกับสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอจอมพระและนายอำเภอสนม เป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือ”เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนทั้งในและนอกระบบ ซึ่งในค่ายแห่งนี้ ได้กระบวนกรคนรุ่นใหม่คือ “กิ่ง - สุพัตรชัย อมชารัมย์”กระบวนกรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ“การรู้จักใช้สื่ออย่างสมสมัยและทรงพลัง”ร่วมกับ “หมูแดง - พิมพ์ขจี เย็นอุรา” กระบวนกรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฟัง “กิ่ง” เล่าถึงที่มาที่ไปในการเข้ามาร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ในค่าย 21 วัน ครั้งนี้กัน

“กิ่ง” เกริ่นว่าปัจจุบันนี้ทำงานที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย เป็นงานเกี่ยวข้องกับเรื่องของหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงอายุ และกำลังศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหิดล

“การมาร่วมค่ายครั้งนี้ ผมได้รู้จักคุณครูอ้อย (วราภรณ์ หลวงมณี) ตอนนั้นเราได้เรียนรู้เรื่องหลักสูตรผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ ตั้งแต่ปี 60 แล้วก็มาจบที่ช่วงปี 61 – 62 ได้ไปเรียนรู้เรื่องของหลักสูตรวิถีกระบวนกรครับ ตอนนั้นก็เรียนกัน 21 วัน ครูอ้อยได้สอนเรื่องของหลักสูตรเหล่านี้ด้วยครับ แล้วปรากฏว่าผมและน้องหมูแดงได้เรียนรู้ และไปร่วมกันออกแบบกระบวนการเพื่อทดลองในการเรียนการสอนในครั้งนั้น ก็เป็นเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อเลย ซึ่งเราสนใจเรื่องนี้คล้าย ๆ กัน หลังจากวันนั้นเราก็ได้รับคำชวนจากครูอ้อย ชวนมาจัดกระบวนการให้กับน้อง ๆ เยาวชนกลุ่มที่มาในครั้งนี้ ตอนแรกก็รู้สึกท้าทายครับ จริง ๆ ส่วนหนึ่งผมสนใจเรื่องงานเยาวชนด้วย เคยมีประสบการณ์ชวนเยาวชนในชุมชนได้ไปทำงานเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นของมูลนิธิสยามกัมมาจลที่ทำเรื่องของโครงการปลูกใจรักษ์โลกปี 3 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ครับ ตอนนั้นมีกลุ่มหนึ่งชื่อกลุ่มเมล็ดพันธุ์ดีรักบ้านเกิด ก็เลยมีความสนใจเรื่องของงานเยาวชนด้วยส่วนหนึ่ง แล้วพอครูอ้อยได้ชวนมาก็ยินดีทันทีครับที่จะมาร่วมจัดกิจกรรมกระบวนการ”

สำหรับการจัดกระบวนการในครั้งนี้ “กิ่ง” - กิจกรรม 2 วันนี้ ตอนแรกได้โจทย์ก่อนว่าต้องการที่จะทำค่ายเรื่อง “การรู้จักใช้สื่ออย่างสมสมัยและทรงพลัง”ทีนี้เราก็ได้คุยกันกับหมูแดงซึ่งก็มีความสนใจในระดับหนึ่งแล้ว และคิดว่าเยาวชนกลุ่มนี้ จะต้องรู้เรื่องอะไรบ้างในปัจจุบันที่เป็นกระแสหรือเป็นผลกระทบที่เขาจะได้รับ ก็เลยมาออกแบบกันว่าจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายเป็นอย่างไร มีวัตถุประสงค์อะไรในแต่ละกิจกรรม พอเราเห็นชื่อเราคิดว่าเด็ก ๆ น่าจะได้สัมผัสกับเรื่องสื่อมาค่อนข้างเยอะ แต่ไม่แน่ใจว่าน้อง ๆ เข้าใจเรื่องสื่อมากขนาดไหน ก็วางสเต็ปกันว่าอาจจะเริ่มรู้จักสื่อก่อน รู้จักตัวเอง อะไรแบบนี้ แล้วก็ออกแบบกิจกรรมอย่างไรที่ไม่ให้รู้สึกเบื่อจนเกินไป

“เรื่องที่เด็กต้องรู้ อย่างเช่น เราออกแบบกันคือรู้จักสื่อก่อน รู้จักตัวเอง อย่างกิจกรรมเมื่อเช้าที่เราจัดเป็นกิจกรรมชื่อ “มิเตอร์วัดใจ” คือเรามาสำรวจก่อน เพราะเราไม่รู้เลยว่าน้องๆ รู้จักสื่อขนาดไหน มิเตอร์วัดใจจะเป็นตัวทำให้เราได้รู้ว่าสถานการณ์น้อง ๆ ในค่ายนี้เป็นอย่างไร เราก็จะได้เห็นปรากฏการณ์ของน้อง ๆ ในค่ายในระดับของการรู้เท่าทันสื่อ รู้จักสื่อ

ทีนี้พอเรารู้แล้ว เราก็เห็นว่าควรออกแบบกิจกรรมที่เป็นลักษณะของการได้มา “รู้จักกับเพื่อน”ซึ่งการได้รู้จักกับเพื่อนที่เราออกแบบมันก็จะเป็น “ตาราง 9 ช่อง” ที่เราพยายามสอดแทรกเรื่องสื่อเข้าไปในนั้น เช่น สื่อทีวี สื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ ในแต่ละช่อง แฝงไปโดยไม่ให้เขาได้รู้ว่าเขากำลังรู้จักสื่อเหล่านี้อยู่ ซึ่งเป็นความคุ้นเคยหรือประสบการณ์ที่เขาเคยผ่านมา เสร็จแล้วเราก็คิดว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เรานำมาให้เขาคุยกัน ที่ใช้กระบวนการเรื่องไดอะล็อกเมื่อเช้านี้ที่ใช้กระบวนการพูดคุยโดยไม่ให้มีการตัดสิน รับฟังกันอย่างลึกซึ้ง และพยายามที่จะฟังเพื่อนให้ได้ยินมากกว่าเสียงที่เขาได้ยินโดยที่เรื่องเราก็ตั้งโจทย์ไปว่า “ประโยชน์ของสื่อมีอะไรบ้าง โทษของสื่อมีอะไรบ้าง” โดยที่ดึงประสบการณ์จากที่เขาได้เรียนมาตั้งแต่มิเตอร์วัดใจ ลงมาถึงตาราง 9 ช่อง คือพยายามเชื่อมโยงประสบการณ์ของเขากั บเนื้อหาที่เราจะสอดแทรกให้เขาได้รู้เท่าทัน และดึงประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นเรื่องของการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เขาไม่ได้เรียนแค่ความเข้าใจ แต่เขาจะเรียนด้วยความรู้สึกว่าเขามีคุณค่าและมีความสำคัญที่เขาจะต้องนำกลับไปใช้ต่อ

“ถามว่าทำไมเด็กต้องรู้เท่าทันสื่อ ผมคิดว่าสื่อในปัจจุบันมีพลังและทรงพลังมาก เพราะฉะนั้นมันมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ สื่อ ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน แน่นอนครับ เราพูดในภาพของสื่อที่พบนะครับ ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เราจะรู้สึกว่านำเสนอออกมามันดีจังเลย แชร์ต่อ แต่จริง ๆ แล้ว ในเบื้องหลังของสื่อมีอะไรที่มันแอบแฝงอยู่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโฆษณาเอง เรื่องของผลประโยชน์อะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่เพราะฉะนั้นการแชร์ออกไปคือการสร้างผลกระทบในระดับที่ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่เป็นระดับสังคม แล้วผลกระทบเหล่านั้น บางอย่างถ้าเป็นสื่อพวกโฆษณาที่สร้างแรงบันดาลใจ ถือว่าเป็นแง่บวก แต่มีอีกแง่หนึ่งคือแง่ลบที่เป็นสื่อในลักษณะของการจัดสร้างที่เป็น การบูลลี่กัน ในลักษณะของการนำเสนอข้อมูลแค่ฝ่ายเดียว อันนี้เราต้องมาวิเคราะห์ให้เห็นแล้วก็จะได้เท่าทันในแง่มุมของสื่อเหล่านี้

หากเด็กรู้เท่าทันสื่อ อันดับแรกผมคิดว่าเขาจะทำด้วยการคิดอย่างไตร่ตรองและคิดอย่างมีวิจารณญาณเพราะว่าการที่เขาจะแชร์หรือเขาจะโพสต์อะไรบางอย่างออกไป เขาเริ่มรับรู้ถึงความรู้สึกแล้ว เขารู้สึกกับตัวเอง เขารู้สึกกับคนอื่น ผมคิดว่าแม้การตัดสินใจทำลงไปของเขาคือการคิดไตร่ตรองที่ดีแล้ว จึงคิดว่าแม้ว่าการรู้เท่าทันของเขา อาจจะรู้เท่าทัน แต่เขาจะตัดสินใจอย่างไร มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เขาจะต้องตัดสินใจ ณ เวลานั้น ซึ่งคิดว่ามันเป็นเรื่องของการคิดที่ดีที่สุดแล้ว”

“ระยะเวลาสองวันที่จัดกระบวนการ ทั้งสองวันนี้ นอกจากให้น้องรู้จักสื่อแล้ว ได้เห็นว่าสื่อสร้างผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบอย่างไรแล้ว น้องได้รู้จักตัวเองแล้ว อันหนึ่งคือเราออกแบบกระบวนการเพื่อให้น้องได้สร้างประสบการณ์โดยการที่ใช้สื่อที่มีในตัว อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ที่เขามี สามารถถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นคลิปสั้น ๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ ในทางสร้างสรรค์ เพราะว่าเรามองว่าถ้าเกิดน้องสามารถที่จะมีหลักการ หลักคิด หรือมีทักษะเหล่านี้ เขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่อาจจะเป็นตัวเขาด้วย และให้กับชุมชน สังคม ของเขาด้วยได้

“หลักการ หลักคิด ในการสร้างสื่อ ที่เอามาให้น้อง ๆ เราจะมีเรื่องเทคนิคของการสร้างนะครับ เป็นการสอนในวันที่สอง หลักการจะเป็นลักษณะของการมารู้หลักการก่อน หลักการที่จะสร้างสื่อ 1 2 3 4 ว่ามีอะไรบ้าง แล้วในภาคเช้า น่าจะได้คุยกันเรื่องของหลักคิดทั้งหมดเลย และช่วงสาย ๆ หน่อย เราจะมาออกแบบกัน จะมาวางเรื่องราวที่เราจะออกแบบที่จะถ่ายเพื่อให้น้องเห็นว่าในการถ่ายทำครั้งหนึ่ง น้องจะต้องวางโครงอย่างไรบ้าง แล้วช่วงบ่ายจะเปิดเวทีให้น้องได้เลือกที่จะถ่ายทำเป็นของตัวเองในพื้นที่ตรงนี้ล่ะ เสร็จกิจกรรมน้องจะได้คลิปวิดีโอที่เราจะมานำเสนอกันในภาคเย็น ซึ่งน้องๆ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่น้อง ๆ ทำตามที่วางโครงกันเป็นอย่างไรบ้าง และอาจมีพี่ ๆ ทีมสื่อเอง หรือพี่ ๆ ที่อยู่ด้วย ให้แง่คิดหรือมุมมองสำหรับการสร้างสื่อนั้นว่าถ้าเกิดจะสร้างให้มีพลังมากกว่านี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งจริง ๆ การสร้างสื่ออย่างสร้างสรรค์ คุยกันว่าอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพราะว่าอาจจะต้องใช้เครื่องมืออะไรค่อนข้างเยอะ เราก็มองว่าอาจจะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่มาจุดประกายให้น้อง ๆ ได้เห็นว่าสิ่งที่เขามี เขาสามารถสร้างได้”

“สิ่งหนึ่งที่เห็นเลยนอกจากการเรียนรู้ในเบื้องต้นของวันนี้ มีเรื่องของการสร้างรอยเท้าไว้บนโลกออนไลน์ที่เรียกว่า “ดิจิตอลฟุตปริ้นท์” ซึ่งมีผลกระทบกับเด็กค่อนข้างสูงมาก แต่เด็กไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังโพสต์ไปบนโลกออนไลน์ สร้างผลกระทบกับตัวเองในระยะยาว ซึ่งพอเขาโพสต์วันนี้ เขาไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เขาโพสต์วันนี้จะกระทบกับเขา ผมได้มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนที่ทำงาน HR ต้องบอกว่าผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าระดับ HR ของบริษัทใหญ่ ๆ เขาเช็คประวัติของผู้ที่จะสมัครงานผ่านสื่อออนไลน์ทุกประเภท ที่เขามี เพราะฉะนั้นเป็นข้อที่ต้องพึงระวังมาก ๆ ว่าดิจิตอลฟุตปริ้นท์หรือรอยเท้าบนสื่อดิจิตอล ถ้าโพสต์ลงไปแล้ว ถ้าเป็นแง่ลบมาก ๆ จะมีผลกระทบกับเราแน่นอน เพราะฉะนั้นก่อนที่จะโพสต์ต้องไตร่ตรองให้ดีว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรกับเราบ้าง

“เด็กๆ จะบอกว่าเฟซบุ๊คเป็นพื้นที่ของเขา เขาจะทำอะไรก็ได้ เขาจะโพสต์หรือจะว่าใครก็ได้ ในมุมมองของผม ผมคิดว่าเป็นมุมหนึ่งที่เขาคิด ซึ่งเขายังมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นผลกระทบที่จะตามมากับเขา อาจจะเป็นแง่มุมหนึ่งที่เด็กคิดแบบนั้น ซึ่งผมคิดว่าการมองในมุมนี้ก็ไม่ผิดสำหรับเด็ก แต่ถ้าเขารับรู้ว่าในมุมที่เขาโพสต์ไม่ได้สร้างแค่ว่าผลกระทบกับตัวเขาอย่างเดียว แต่มันสร้างผลกระทบกับคนข้างนอกด้วย อันนี้ผมว่าต้องระวังแล้วก็คิดว่าจะต้องเสริมความรู้หรือว่าสร้างทักษะเหล่านี้ให้เด็กได้เห็น ได้ฟัง และได้สัมผัสจริงๆ เขาถึงจะเห็นแง่มุมหลายๆ แง่มุม”

“สำหรับคลิปที่นำมาให้น้อง ๆ ได้ชม กันนั้น ทั้งสองคลิปเป็นคลิปเรื่องของไซเบอร์บูลลี่ เรื่องของการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ ทำไมเราถึงเอาคลิปนี้มา สิ่งหนึ่งที่เราเห็นเลยในปัจจุบัน เด็กกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ค่อนข้างมากโดยที่เด็กไม่เคยรู้เลยว่ากำลังกลั่นแกล้งเพื่อนอยู่ สิ่งที่เราได้เห็นจากการถอดบทเรียนจากการดูคลิปเสร็จ จะเห็นคำพูดที่หลาย ๆ คนอาจจะบอกว่าก็แค่ขำ ๆ ใช่ไหมครับ อันนี้เป็นแง่มุมที่ใช่ อาจจะขำในมุมที่เขากระทำอยู่ ณ เวลานั้น แต่รู้สึกดีที่มีเด็กบางคนที่บอกว่าตอนทำสะใจนะ แต่พอกลับมาย้อนคิดกลับไป ปรากฏว่ารู้สึกสงสารเพื่อน อันนี้ทำให้เห็นรอยเส้นทางที่เขาทำ แล้วก็ความรู้สึกที่เขากำลังเกิดขึ้นในการที่เขารับรู้กับเรื่องนี้ ซึ่งวิดีโอ 2 วิดีโอนี้ ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นมุมเล็ก ๆ ที่มาจุดประกายให้น้องได้เห็นว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จริง ๆ มีเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเขาเคยเห็นคลิปเหล่านี้บ้างหรือเปล่า ถ้าเคยเห็นก็อาจจะเป็นในลักษณะของการดูผ่าน ๆ หรือเปล่า แต่ว่าวันนี้เรามาดูเพื่อที่จะมาคุยกัน คือการได้ดูแล้วได้คุย ได้แลกเปลี่ยน ผมว่าแง่มุมของการตระหนักขึ้นกำลังเกิดขึ้นกับเด็กแน่นอน”

“ในช่วงค่ำก็จะให้เขาดูคลิปอีกคลิปหนึ่ง เป็นคลิปเป้าหมายหลักเลยคือการรู้เท่าทันสื่อโดยเฉพาะ ให้มารู้หลักคิดของการรู้เท่าทันสื่อ มีประมาณ 5 ข้อ แล้วก็มีทักษะที่จะต้องรู้เท่าทันสื่ออีกประมาณ 5 ข้อ คลิปที่จะมาเปิดให้น้องดูชื่อว่าคลิปสารคดีรู้เท่าทันสื่อ เป็นของ กสทช.ที่ผลิตออกมาซึ่งเนื้อหาค่อนข้างที่จะตรงกับการที่เราคิดว่าเด็กน่าจะได้เรียนรู้กับเรื่องนี้ แล้วก็จะเชื่อมโยง คลิปนี้ช่วงแรกจะเป็นการรู้หลักคิด รู้ทักษะ และเชื่อมโยงไปถึงว่าพลเมืองดิจิตอลที่พวกเราเป็นพลเมืองที่สามารถใช้ดิจิตอลได้จะต้องสร้างสรรค์หรือขยับหรือทำอย่างไร ซึ่งอาจจะเห็นแง่มุมที่ว่าเราสามารถทำได้”

“สำหรับความคาดหวังในการอบรมครั้งนี้ ถ้าเป็นเรื่องของการออกแบบ เรื่องของหลักสูตรของการเรียน 2 วันนี้ ของการรู้เท่าทันสื่อ ผมคิดว่ามีความคาดหวังว่าน้องจะได้รู้จักสื่อมากขึ้น และได้เห็นแง่มุมของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสื่อออนไลน์อีกแง่มุมหนึ่งที่น้องอาจจะไม่ได้สนใจมากกว่า ซึ่งถามว่าคาดหวังให้น้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไหม ก็อาจจะยังไปไม่ถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อย ผมคิดว่าความคาดหวังหนึ่งคือการกระตุกความคิดให้น้องกลับมามองกับประสบการณ์ที่น้องเคยผ่านมา แล้วที่สำคัญคืออยากให้น้องรู้จักตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้ ในการใช้สื่อออนไลน์ หรือสื่ออะไรก็แล้วแต่ในชีวิตประจำวัน น้องเป็นอย่างไร แล้วหลังจากนี้มันอาจจะมีปิ๊งแวบขึ้นมาว่าเรื่องนี้ถ้าเธอจะแชร์ ลองคิดถึงเรื่องนี้ที่เรียนอยู่ในค่าย อาจเป็นการจุดประกายเล็กๆ แต่อาจจะเป็นเรื่องที่น้องอาจจะได้สื่อสารต่อด้วยอีกส่วนหนึ่ง”

“สุดท้าย สำหรับสิ่งที่ผมฝากถึงน้อง ๆ อยากจะบอกกับน้อง ๆ ว่าคุณค่าของทุกคนมีทุกวินาที แต่ในทุกวินาทีที่เราใช้ชีวิต เราเคยแสดงคุณค่าเหล่านั้นออกมาหรือเปล่า เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้ผมมองว่าเป็นพื้นที่แห่งการสร้างคุณค่าที่เขามีอยู่แล้ว และผมก็เชื่อว่าน้อง ๆ มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมของเรา” #

หากเด็กรู้เท่าทันสื่อ

อันดับแรกผมคิดว่า

เขาจะทำด้วยการคิดอย่างไตร่ตรอง

และคิดอย่างมีวิจารณญาณ