“ทต.กันตวจระมวล” มุ่งแก้ปัญหาเด็กนอกระบบ

­

เทศบาลตำบลกันตวจระมวล เป็นอีกหนึ่ง อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จังหวัดสุรินทร์ ที่เข้าร่วมโครงการ กับมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นระยะเวลานานหลายปี ในปี 2562 เทศบาลตำบลกันตวจระมวลได้เข้าร่วมโครงการอีกครั้งใช้ชื่อว่าโครงการ “ระบบและกลไกการพัฒนาส่งเสริมอาชีพเยาวชนในและนอกระบบ ตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์” ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาคระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย

ล่าสุดทางเทศบาลกันตวจระมวลได้ส่งเยาวชนนอกระบบจำนวน 3 คน ได้แก่ไพศาล บุญสม (กุ้ง) , ณัฐพงศ์ เสาศรี (นัท) และ รัตนพล เลไธสง (โก้) ซึ่งได้

ทำโครงการเลี้ยงปลา หมู่ 3 เข้าพัฒนาศักยภาพในค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา 25 อปท. จังหวัดสุรินทร์สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น , กสศ. , สถาบันยุวโพธิชน , สกสว. , ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อวันที่1 - 22 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ ต.ศรีสะเกษอ.นาน้อย จ.น่าน ที่ผ่านมา

ซึ่ง รัตนา สุขสบาย หัวหน้าสำนักงานปลัด ซึ่งมีบทบาทในการดูแลจัดการบริหารงานทั่วไป เกี่ยวกับงานสำนักงาน งานธุรการ งานบุคลากร และงานสารบรรณ และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวข้างต้นด้วย ด้วยบทบาทที่ได้รับ “รัตนา” จึงได้มาร่วมสะท้อนแนวคิดในการสนับสนุนเยาวชนนอกระบบให้เข้าร่วมกิจกรรมค่าย 21 วัน

“รัตนา” เกริ่นว่าการส่งเด็กทั้งสามคนมาเข้าร่วมค่าย 21 วัน เพราะอยากให้เด็กได้ประสบการณ์ “เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กนอกระบบที่ไม่ค่อยเข้าสังคม เขาจะอยู่กับตัวเอง เล่นเกม นอน เราเลือกจากเด็กที่สมัครใจ เขาอยากมาพัฒนาตัวเอง อยากได้ประสบการณ์เพื่อไปสานต่อกับเพื่อนๆ ที่อยู่ที่นั่น ส่งมาทั้งหมด 3 คน คาดหวังว่าอยากให้น้องมารู้จักเพื่อน ได้มาศึกษาเรียนรู้กับเพื่อนๆ ต่างชุมชนว่าเขาทำอะไรมาบ้าง เพื่อให้น้องได้ประสบการณ์และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันที่ชุมชนของตัวเอง พอกลับไปแล้วก็คาดหวังว่าเขาจะกลับไปทำกิจกรรมที่เขาเลือก คือ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ คือให้เขาทำสิ่งที่เขาชอบ เขาถนัด ให้ประสบความสำเร็จอย่างที่เขาหวัง”

สำหรับสถานการณ์เด็กนอกระบบของ ทต.กันตวจระมวล นั้นมีความรุนแรงระดับไหน “รัตนา” สะท้อนจากสถานการณ์จริงว่า “ถ้าในความคิดของตัวเอง คือรุนแรงค่ะ เพราะจะมีเด็กที่ออกจากโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น จากที่ได้คลุกคลีกับน้องๆ เขาไม่ชอบเรียนแล้ว อยากออกมาข้างนอก อยากใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยากเป็น บางคนบอกว่าไปโรงเรียนไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ ส่วนตัวคิดว่าจะขยายตัวไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เท่าที่ข้อมูลที่มีตอนนี้มีเด็กนอกระบบ 114 คนซึ่งเยอะมาก คิดเป็นประมาณ 10% ของเด็กทั้งหมดที่เรามีประมาณ 1,000 คน และมันจะขยายเพิ่ม และเขาจะอายุน้อยลงเรื่อยๆ ที่ว่าน่าเป็นห่วงคือตอนนี้เด็กประถมก็ไม่ไปโรงเรียนแล้วแต่ก่อนจะเป็นเด็กมัธยมปลายนะที่เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่ตอนนี้คือเด็กประถมก็เริ่มแล้ว เริ่มจับกลุ่ม เริ่มขี่มอเตอร์ไซด์แว้นกับพี่ๆ”..รัตนากล่าวอย่างเป็นห่วง

“รัตนา” เสริมว่าสำหรับบทบาทของเทศบาลและตัวเองนั้นคือการพยายามเข้าไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย “บทบาทของเรา ตอนนี้คือลงพื้นที่ ที่ว่าไปหาเป้าหมายให้น้องเข้ามา ก็พยายามเข้าไปพูดคุยกับเขา ว่าเป็นเพราะอะไร เขาถึงไม่ไปโรงเรียน เขาอยากทำอะไร เหมือนเขามองว่าไม่เรียนหนังสือก็ไม่เป็นไร เขายังอยู่ได้ ยังมีพ่อมีแม่ เหมือนเขาไม่ให้ความสำคัญกับการเรียน มันไม่สนุก เขาไม่ชอบ แล้วเขาก็จับกลุ่ม ยกพวกตีกันระหว่างหมู่บ้านเทศบาลก็มีการจัดค่ายให้เด็ก ๆ ในตำบล เวลามีค่าย เขาก็ไม่มีปัญหากัน แต่จะมีปัญหาวิวาทกันรุนแรง ในช่วงที่เป็นวันหยุดยาวหรือเทศกาล หรือ ในงานประเพณีแซนโฎนตา เยาวชนทุกคนจะกลับมาหาพ่อหาแม่ ประเพณีแซนโฎนตาเป็นของชาวเขมร เขาจะมาบูชาบรรพบุรุษ แล้ว พอเขากลับมาและมีเพื่อนมากขึ้น เขาก็จะเริ่มแล้ว เขาจะแว้นไปหาเรื่องเด็กอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มีเยอะมาก”

“ตอนนี้ที่เทศบาลมีการเรียกผู้นำมาประชุม ให้เขาเล่าสถานการณ์เด็ก ปัญหาที่มันแก้ไม่ได้ คือน้องไม่ได้อยู่ในชุมชน เขามาไม่นาน มาหาเรื่องกัน แล้วกลับไป มันจะเป็นแบบนั้น สมมติหัวโจกเขามาจากระยอง เขาก็จะมา “เฮ้ย ช่วงนี้เป็นอย่างไร” เหมือนที่เพิ่งผ่านมาวันออกพรรษา เขากวนข้าวทิพย์ในวัด บ้านถนนชัย ซึ่งเป็นหมู่บ้านวิจัยที่หนูทำกับหมู่ 8 เวลาเขาจะมากันตวจฯ จะต้องผ่านหมู่ 7 4 3 แล้วเขาผ่านไม่ได้ ถ้าเขาจะเข้าอำเภอปราสาท เขาจะต้องอ้อมไปอำเภอกาบเชิงแล้วค่อยมาอำเภอปราสาท แต่ตอนนี้ที่มันมีเรื่องกันคือ ลูกพี่เขามาแล้วเขาก็มาพาเด็กๆ ไปแว้น ไปหาเรื่อง ไปบิดแล้วไปตีกันแถวบ้านผู้ใหญ่บ้าน รู้สึกว่ารุนแรงมากค่ะ มีการฟันกันเลือดไหล กู้ชีพไปรับ แล้วทีนี้หมู่ 7 ให้ร่วมโครงการ เด็กเขาไม่มีปัญหา กับหมู่ 4 ไม่มีปัญหา พอผู้ใหญ่บ้านมาเขาบอกว่าเด็กพวกนี้มันไปทำงานหมดแล้ว แต่พอเขากลับมามันจะมีเรื่องแบบนี้ตลอด เราไม่รู้จะทำอย่างไร” รัตนา เล่าสถานการณ์วิวาทให้ฟังอย่างหมดเปลือก และเร่งหาทางแก้ไขให้ได้ในที่สุด

เมื่อสถานการณ์เด็กแว้น เด็กทะเลาะวิวาท ยังไม่สามารถจัดการได้ เพราะเจ้าของปัญหาไม่ได้ประจำอยู่ในพื้นที่ เด็กนอกระบบบางคนเริ่มงานทำ มีรายได้บ้างแล้ว และมีความคิดว่าตนสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เมื่อคิดเช่นนั้นการไปพูดห้ามปรามให้พฤติกรรมทะเลาะวิวาทลดน้อยลงจึงทำได้ยากมาก “สำหรับความคิดของตนเอง อาจจะเป็นคนที่มองแคบๆ ก็ได้ แต่คิดว่าเด็กก็ต้องมีหน้าที่เรียนหนังสือก่อน การเรียนเป็นพื้นฐานของทุกอย่างบางทีบางคนคิดว่าเรียนสูงก็ไม่ได้ช่วยอะไร แต่ในความคิดของตัวเองคือถ้าในช่วงระยะเวลาที่ว่า อายุประมาณนี้ ถ้าอยู่ในระบบจะควบคุมได้ง่ายกว่า แล้วบางทีการเรียน หรือการมีประสบการณ์อย่างอื่นสามารถเหมือนทำให้เขายั้งคิดได้แต่จริงๆ แล้วเหมือนที่น้องคิดก็ถูก บางคนไม่เรียนหนังสือก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้เยอะแยะไปหมด แต่คิดว่ามีเป็นส่วนน้อยที่คนไม่เรียนหนังสือแล้วสามารถไปแบบนั้นได้”

เมื่อมองเห็นปัญหาของเด็กนอกระบบในพื้นที่ ทางเทศบาลจึงเร่งหาทางออกเพื่อแก้ปัญหานี้ให้ได้ จากการลงพื้นที่ “รัตนา” ได้วิเคราะห์สถานการณ์เบื้องต้น”เหมือนตอนนี้เด็กนอกระบบมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือเด็กนอกระบบที่อยู่กับบ้าน เราสามารถเข้าถึงตัวได้ และช่วยเขาได้ ส่วนอีกกลุ่มที่เราช่วยเขาไม่ได้เลยคือกลุ่มที่ไปนอกพื้นที่ เราไม่สามารถจัดการเขาได้ แล้วเขายังกลับเข้ามาสร้างปัญหา เหมือนคนที่ไปทำงาน เขามีเงิน เขาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว แล้วพอเขากลับมา เขามีเงินมาซื้อเหล้าเลี้ยงเด็กที่อยู่ที่บ้าน เขาก็จะเป็นลูกพี่ บางคนมีรถ มีรถกระบะที่แต่งมา เด็กๆ ก็จะว้าว อะไรแบบนี้”

ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่มีสมการที่เหมาะสมที่จะแก้ปัญหาเด็กนอกระบบได้อย่างจริงจัง แต่การดึงเยาวชนบางส่วนมาเข้าร่วมโครงการอาชีพ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เทศบาลกำลังทำอยู่ และท้ายสุด “รัตนา” อยากฝากน้องๆ เพื่อเป็นข้อคิดว่า “อยากบอกกับน้องๆ เด็กนอกระบบ (กลุ่มปัญหา) ที่เราไม่เรียนหนังสือและมีงานทำเป็นสิ่งที่ดี ก็อยากให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้น้องๆ แล้วอะไรที่มันไม่ดีที่เราผ่านมาแล้วก็อยากให้สอนน้องๆ ไปในทางที่ดีด้วยเวลาเรากลับบ้านมา เราเป็นพี่ เราไม่จำเป็นต้องพาน้องไปสร้างปัญหา ไปทำร้ายเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งบางทีคนที่เดือดร้อนเขาไม่ได้เป็นคนที่เกี่ยวข้องด้วย เวลาเรากลับมาอยากให้เรารักตัวเอง รักเพื่อน รักน้อง รักพ่อแม่ รักบ้านเกิด ถ้าเรามีจิตสำนึกในการรักคนที่อยู่รอบตัวเรา ปัญหามันก็จะลดน้อยลง เราไม่คึกคะนองในสิ่งที่มันผิด” #