"วิเคราะห์และเข้าใจชุมชน - นิเวศน์ภาวนา" เพื่อค้นหาคุณค่าและศักยภาพเยาวชน

­

“ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น 21 วัน ครั้งที่ 1" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินโครงการวิจัย 5 อปท และร่วมมือกับสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอจอมพระและนายอำเภอสนม เป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือ”เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนทั้งในและนอกระบบ ในค่ายครั้งนี้ได้กระบวนกรอิสระมือดีอย่าง “นฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ”ที่มีความชำนาญเรื่องจัดกระบวนการพัฒนาศักยภาพภายในให้รู้จักตัวตนของตนเองมากขึ้น “มล” ได้มาพูดคุยถึงกิจกรรมที่นำมาจัดในค่ายนี้ให้ฟัง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจนำไปเป็นแนวคิดในการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตนเอง

“มลทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาชุมชน พัฒนาเยาวชน มาที่นี่มาช่วยโครงการนี้ฝึกอบรมเยาวชนที่มาจากจังหวัดสุรินทร์ บทบาทในค่าย 21 วัน มาครึ่งท้ายของค่าย เพราะครึ่งแรกน้อง ๆ เรียนเรื่องการจัดการตนเองและพลังกลุ่ม ส่วนที่มาทำ ทำ 2 เรื่องคือเรื่องการวิเคราะห์และเข้าใจชุมชน อีกเรื่องคือเรื่องนิเวศภาวนาค่ะ

เรื่องการวิเคราะห์และเข้าใจชุมชนเป็นเรื่องเดียวกัน ที่เราเลือกกิจกรรมนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการอบรมเยาวชนในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเยาวชนที่มา เขาต้องการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อที่จะกลับไปทำงานให้กับชุมชนได้ ผ่านศักยภาพที่เขามี ดังนั้นเขาต้องเข้าใจศักยภาพของเขาในครึ่งแรก แล้วช่วงที่เรามาต่อ เราทำให้น้องเห็นว่าชุมชนของเขามีศักยภาพอยู่มากมาย จัดกระบวนการให้น้องได้เห็นว่าชุมชนในมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งก็ออกมา ได้ข้อมูลออกมาจากกระบวนการแลกเปลี่ยนซักถาม เขาก็จะได้เห็นเนื้อหาและวิเคราะห์ด้วยว่าในมิติต่าง ๆ เขาเชื่อมโยงกับชุมชนอย่างไร ก่อนที่เขาจะเห็นว่าสถานการณ์ของชุมชน สภาพของชุมชน และบทบาทของเขาตอนนี้มีอะไรบ้าง แล้วเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร เช่น บางคนบอกว่าอยากจะปรับเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของตัวเอง อยากจะปรับพฤติกรรมของตัวเองเพราะว่ามิติทางด้านเศรษฐกิจ พอทำออกมาแล้วเห็นว่าการอยู่ในชุมชน ชุมชนมีทรัพยากรดีมาก มีวัฒนธรรมดีมาก แต่วิถีชีวิตของเขามันไม่ได้สอดคล้อง

เรามีการใช้“แผนที่ชุมชน”เพื่อจะวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างของชุมชนว่าตอนนี้สภาพชุมชนเป็นแบบไหน มีทรัพยากรอะไรอยู่บ้าง มีคนสำคัญ มีกลุ่มองค์กร มีกลุ่มเยาวชน กลุ่มแม่บ้านอยู่จุดไหนบ้าง อาคารสถานที่ การพัฒนาของชุมชน อยู่ที่ระดับไหน และเขามีความข้องเกี่ยวอย่างไร อีกอันหนึ่งที่ใช้คือใช้เรื่องของ “ปฏิทินวัฒนธรรม”รวมไปถึง “ปฏิทินอาชีพและทรัพยากร”ที่เกิดขึ้นในฤดูกาลต่างๆ ก็จะเป็นเครื่องมือ 2 ชิ้นที่ทำเรื่องเกี่ยวกับมิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมควบคู่กัน

ในส่วนของเศรษฐกิจเราให้น้องทำบัญชีรับจ่ายเล็ก ๆ ในส่วนของเขาที่เขาจะดึงออกมาได้ว่าตัวเขาที่เป็นเยาวชน เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ค่าใช้จ่ายที่เขารู้มีอะไรบ้าง เขาก็ถอดออกมา แล้วก็ทำให้เห็นภาพรวมว่าเยาวชนที่มาจากตำบลเดียวกัน มีพฤติกรรมใกล้เคียงกันหรือต่างกัน ค่าใช้จ่ายไปอยู่ส่วนไหนบ้าง ทำรายจ่ายออกมา เขาก็จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่เป็นประเภทฟุ่มเฟือยก็มีพอสมควร ทำให้เขาได้ฉุกคิดว่าการใช้ของเขาไปอยู่ในทิศทางแบบเกินความจำเป็น

ทีนี้เขาเห็นมิติต่าง ๆ แล้วเห็นเรื่องของเศรษฐกิจ เขารู้เลยว่าค่าใช้จ่ายของเขา เด็กสมัยนี้มีค่าใช้จ่ายที่ต้องมีรายรับเข้ามา เขาต้องรู้ว่าเขาต้องมีรายรับ เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่าย เป็นจุดเริ่มต้น ให้เขาคิดว่าเขาจะมีรายได้อย่างไรเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เขามีความจำเป็นจะต้องจ่ายเป็นพื้นฐาน อย่างเช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าน้ำค่าไฟ ไม่ได้รวมถึงเรื่องของขนม หรือกิจกรรมบันเทิงส่วนตัว เขาก็ได้เห็นว่าพื้นฐานเขามีค่าใช้จ่ายแน่นอน เขาจะหาค่าใช้จ่ายนี้ เขาจะหารายรับจากการทำกิจกรรมหรือทำอาชีพประเภทไหน อันนี้จะเป็นจุดเริ่มให้น้องเขาได้คิด

เรื่องโครงงานก็คือ การที่จะทำโครงงานเรามีฐานคิดว่าเขาต้องตระหนักรู้ก่อนว่าตอนนี้เขาอยู่จุดไหน เขามีอะไร ลักษณะกิจกรรมแบบนี้ เราเคยทำงานกับเด็กในพื้นที่สุรินทร์มาหลายครั้ง แต่ละครั้งในการวางเรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ เรื่องการเข้าใจสังคม เข้าใจชุมชน แกนหลักคือให้เขาวิเคราะห์เป็น และเห็นตัวเองว่าเชื่อมโยงอย่างไรกับชุมชน แต่ว่ากิจกรรมหรือเครื่องมือที่ใช้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไป กับน้องกลุ่มนี้ เขาต้องเห็นก่อนว่าเขามีคุณค่าและการดำเนินชีวิตของเขา เขาต้องพึ่งตัวเองให้ได้ เขาต้องรู้ว่าเขาใช้อะไร เขาทำอะไรอยู่ เครื่องมือที่วางไว้แบบนี้คือให้เขาได้กระตุกความคิดก่อนว่าอันนี้ที่ใช้อยู่ เขายอมรับกับมันได้ พร้อมที่จะบอกในวงได้ว่ารายจ่ายเขามีอะไรบ้าง อันนี้น่าจะเป็นจุดที่เราเห็นว่าต้องวางให้ต่างเพราะว่าค่ายนี้ เป็นการอบรมเยาวชนที่ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กนอกระบบการศึกษาที่เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องกระตุกให้เขาเห็นว่าจุดที่เขาต้องใส่ใจมีอะไรบ้าง ก่อนที่เขาจะก้าวเดินด้วยตัวเขาเอง

กับการทำสองกิจกรรมนี้ น้องก็ให้ความร่วมมือ จริง ๆ น้องไม่ได้ชินในเรื่องของการขีดเขียน แต่ว่ามีศักยภาพ แล้วเขาก็มีพื้นฐาน น้องทุกคนมีความมั่นใจ เขาก็ให้ความร่วมมือ และคุยในกลุ่ม แบ่งน้องเป็นกลุ่มตามฐาน แล้วก็ที่เหลือมาจากตำบลที่มา เขาก็มีการแลกเปลี่ยนกันว่า เขาใช้อะไร ระหว่างที่มีการแลกเปลี่ยน น้องเขาก็มีการเช็คกันเองว่าใช่หรือไม่ใช่ เห็นเรื่องนั้นเห็นเรื่องนี้ หรือไม่เขาก็ดูจากเพื่อนว่าเพื่อนมีการใช้อะไร เขาก็มาทบทวนตัวเองว่าถ้าเขาใช้เหมือนกัน เขาก็ลงของเขาไป เห็นว่าน้องเปิดว่าพฤติกรรมของเขาในเรื่องของการใช้จ่าย ในความสัมพันธ์กับในชุมชน วิถีชีวิตในชุมชนของเขา กับของเด็กที่อยู่นอกระบบ เขาก็จะมีความต่างจากเด็กในระบบ เขามีเรื่องของการกินพื้นฐานทั่วไป แต่เขาก็มีกิจกรรมนอกเหนืออย่างอื่นที่เขาทำเป็นประจำ เขาก็เปิดออกมา ทำให้เห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายชุดนี้ที่เกิดจากกิจกรรมที่เขาไปรวมกัน เพื่อความบันเทิง เพื่อความสนุกสนาน ที่ออกมาจากกลุ่มนี้เป็นค่าใช้จ่ายหลักเลย และเป็นค่าใช้จ่ายอันดับ 1 ถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายหมวดค่าใช้จ่ายอื่น เขาก็เปิดและพูดให้ฟังได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างเช่น การไปเที่ยวกับเพื่อน ค่าเดินทาง เป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะกว่าค่าอาหาร เครื่องมือชุดนี้ทำให้เขาเห็นพฤติกรรมของเขา เพื่อที่จะนำไปสู่การคิดว่าเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับชุมชนให้ได้มากขึ้น และอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เขาต้องเริ่มคิดแล้วว่าเขาจะทำอะไร จะทำเหมือนเดิม จะเลือกทำเหมือนเดิม หรือถ้าอยากเลือกทางใหม่เขาจะเลือกอะไรบ้าง ก็คิดว่าอันนี้เป็นครั้งแรกของน้อง ต้องถือว่าต้องชื่นชมเยาวชนที่มา คือ ทางโครงการให้โอกาส คนที่สนับสนุนให้โอกาส แต่การที่เขาได้เลือกมา เขาก็ให้ความร่วมมือ เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตเขาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ก้าวแรกที่เขาได้โอกาสจากโครงการ ทำให้เขาได้คิด ถ้าเขาคิดได้ เขาก็จะเลือกทางเดินของเขาได้ เราไม่สามารถดูแลเขาได้ตลอดชีวิตใช่ไหมคะ มองว่าการที่โครงการมีฐานคิด มีกรอบในการทำงานลักษณะนี้ จะช่วยเด็กได้ในระยะยาว แต่ถ้าหากมีการทำซ้ำ ก็จะดีขึ้นๆ

สำหรับกิจกรรมนิเวศภาวนาที่เลือกกิจกรรมนี้ขึ้นมาให้สอดคล้องกับกรอบการอบรมตลอดกระบวน เพราะว่าอยากให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ต้องการดึงศักยภาพของเขา ซึ่งเด็กต้องเห็นศักยภาพว่าตัวเองมีความถนัดเรื่องไหนหรือมีจุดอ่อนเรื่องไหนการเลือกนิเวศภาวนาคือการต้องการให้เยาวชนที่ปัจจุบันมีการรวมกลุ่ม มีการทำงาน มีความรู้สึกแปลกแยกจากชุมชน หรือจากองค์กร ให้เห็นว่าภาวะภายในของเขามีอารมณ์ หรือมีความคิดอะไรวนเวียนอยู่บ้าง การจัดกระบวนการ 1 คืนให้เด็กเข้าไปค้างในป่าแล้วมีการอดอาหาร 1 คืนเพื่อให้เขาได้อยู่กับตัวเอง ได้ใคร่ครวญ ได้ทบทวนว่าการอยู่กับตัวเองเขาอยู่ได้ ได้มากได้น้อยขนาดไหน แล้วความกลัวที่เกิด เกิดจากอะไร ก่อนเริ่มกิจกรรม ก็มีเสียงจากเด็กเยอะมากว่าทำไมต้องนอนป่า ทำไมต้องอดอาหาร ทำไมต้องอยู่คนเดียว เราก็ต้องมีการสื่อสารกับเด็ก การเลือกนอนป่าเพราะว่าเราเห็นว่าความแตกต่างหลากหลายในรอบด้าน ถ้าเขาได้เข้าไปอยู่แล้วเขาได้สัมผัส เขาจะได้รับรู้และสังเกตว่าสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างไรกับตัวเขา การที่เราเลือกป่า ไม่ได้เลือกเมือง เพราะว่าในเมืองมีความซับซ้อน มีความสับสนพลังในเมืองมีความวุ่นวาย ว้าวุ่น การเลือกป่าเพราะป่ามีพลังการเยียวยา การรักษา คนที่มาเรียนรู้ผ่านกระบวนการที่เชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจะสร้างการเปลี่ยนแปลง เขาก็จะได้สัมผัสตรงว่า 1 คืนกับการอยู่ป่าคนเดียว ที่พี่เลี้ยงก็เตรียมการ ดูแลเรื่องความปลอดภัย ความเป็นอยู่ ให้ระดับหนึ่ง เขาเกิดความรู้สึกอะไรบ้าง เขามีความกลัว เขามีความระแวง เขามีความว้าวุ่นใจ หรือเขามีความสงบภายในใจอะไรบ้างที่มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาได้ฝึกปฏิบัติ กรณีที่มีปัญหาเขาก้าวข้ามอย่างไร

ข้อค้นพบจากการทำกิจกรรม ของกลุ่มนี้เราพบว่าน่าสนใจมาก น้องผู้หญิงสามารถอยู่กับตัวเองได้มากกว่าน้องผู้ชาย น้องผู้ชายก็ให้ความร่วมมือ ให้ความพยายามดี ก็เป็นปกติก็จะมีบางกลุ่มก็จะมีการไปรวมกลุ่มกันบ้าง กลุ่มที่เขาไปรวมกลุ่มกัน ไม่สามารถอยู่กับตนเองได้ เขาก็สะท้อนตอนถอดบทเรียนว่าเขากลัว ถามเจาะลงไปว่ากลัวอะไร ที่ได้มาจากกลุ่มนี้ก็คือกลัวผี กลัวสัตว์ป่า พอเจาะลึกลงไปอีกเขาก็รู้ว่าเขามีจินตนาการกับเรื่องพวกนี้ เขาไม่ได้เห็นจริงหรอก เขาไม่ได้เจอจริง ๆ หรอก แต่เขามีพื้นฐานมีความเชื่อมาอยู่แล้วว่าเขาไม่ชอบ เขาไม่พอใจ ดังนั้นเวลาเขาอยู่กับตัวเอง เขาก็เลยขึ้นมา ทำให้เขาอยู่กับตัวเองไม่ได้ เลยต้องมารวมตัวกันแต่ก็มีน้องที่เขาบอกว่าเขาอยู่ได้ มีความกลัวแล้วก็มีความระแวงแต่เขาพยายามฝืนฝึกตัวเองให้อยู่ได้ เขาก็บอกว่าเขาเอากิจกรรมอื่นมาร่วม เช่น กลับมานั่งสมาธิ แม้เป็นสมาธิสั้น ๆ ที่เขาพอจับใจความได้ หรือไขว่คว้าได้ เขาก็บอกว่าการกลับมาอยู่กับตัว ทำให้เขารู้ว่าเขาคิดเอง ทำอะไรไปเอง แล้วก็พยายามฝึกตัวเอง ดันตัวเอง ให้อยู่ให้ได้ ตอนถอดบทเรียน หัวใจสำคัญคือเราอยากให้เขารู้ว่าการกลับมาดูอารมณ์ กลับมาอยู่กับตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ด้านหนึ่งคือการทำงานเป็นทีม ทำงานเป็นกลุ่ม เป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์กับระบบสังคมที่เราต้องการสร้างใหม่ แต่การเป็นระบบเข้ากับคนอื่นได้ เราต้องรู้พฤติกรรม รู้อารมณ์ ของเรา

ที่หวังให้น้องได้นำกลับไปใช้ต่อ คือการสังเกตอารมณ์ความกลัวว่าพออารมณ์กลัวขึ้นมาทุกคนยอมรับว่าทุกคนมีความกลัวจากหลากหลายเหตุผล พอมีความกลัว เราจะก้าวข้ามความกลัวอย่างไร น้องก็ถอดมานะคะว่าให้กลับมาอยู่กับสมาธิ ให้กลับมาอยู่กับตัวเอง พยายามฝืนและฝึกที่จะปรับตัวเองให้ได้

พอผ่านกิจกรรม จาก 2 กิจกรรม เรามีความเชื่อมั่น ไม่ใช่เฉพาะตัวเราเอง แต่ทีมพี่เลี้ยงและทีมกระบวนกรที่คุยกัน เราก็มีความเชื่อมั่นว่าเด็กนอกระบบเขามีศักยภาพ จากการวิเคราะห์ของกลุ่มเรามองว่า เพราะว่าระบบมีการเลือกให้คุณค่ากับคนที่เก่ง กับคนที่เงียบ ดังนั้นพอเด็กนอกระบบที่เขามีข้อจำกัดบางเรื่องและเขาไม่สามารถปรับตัวกับระบบได้ เขาจึงต้องถูกดีดออกมา ก็จะเป็นปัญหาส่วนหนึ่งในระยะยาวถ้าหากเขาไม่ได้เลือกในทางที่เหมาะสม และจัดการตัวเองได้ จากกลุ่มนี้เราก็เห็นความต่างระหว่างเด็กในระบบ เด็กในระบบจะมีความง่าย มีความเงียบกว่า แต่เด็กนอกระบบเขาก็จะมีความแข็งและจะเรียกว่ามีความมั่นใจมากกว่าด้วย เท่าที่เห็นแต่จากการเรียนรู้ทั้ง 2 กลุ่มไม่ต่างกันในเรื่องของการคิด ความเข้าใจ แต่ว่าท่าทีในการแสดงออก คำพูด อาจจะไม่เหมือนกัน แต่สื่อความหมายเข้าใจเรื่องที่สื่อ และถ้าหากไม่ต้องการหรือต้องการอะไร ก็จะบอกออกมาตรง ๆ ที่เห็นอีกอันหนึ่งคือเด็กนอกระบบ เขาไม่ได้เห็นคุณค่าของตัวเขาเอง เขาถึงออกมาจากระบบ

กระบวนการที่จัดนี้จะต้องการบอกเขาว่าทุกคนมีคุณค่า ทุกคนมีศักยภาพ แต่ว่าการค้นหาศักยภาพ การค้นหาคุณค่า สามารถมาจากการเรียนรู้ร่วมกัน และจากประสบการณ์ตรงอีกจุดหนึ่งที่เห็นคือเด็ก ถ้าหากไม่ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ก็จะตอบแบบเชิงหลักการและไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ ดังนั้นการทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ใน 21 วัน ทำให้เด็กไม่ว่าจะเรียนในระบบหรือนอกระบบ เขาได้กลับมาคิดว่าสิ่งที่เขาพูดนั่นใช่ไหม สิ่งที่เขาทำนั่นใช่ไหม และสิ่งที่เขาคิดสามารถเอามาปรับใช้ได้ขนาดไหน อย่างกิจกรรมเรื่องนิเวศภาวนา เด็กก็บอกว่ากิจกรรมก่อนหน้า การรู้จักตัวเอง ความมั่นใจตัวเอง เด็กก็ได้พูดมา แต่พอผ่านกิจกรรมที่ลึกมากขึ้น ท้าทายมากขึ้น เขาก็จะได้เห็นตัวเองว่าความกล้า ความมั่นใจของเขาสามารถพัฒนาได้อีก และยังมีตัวอื่นที่สัมพันธ์กัน เช่น ความมั่นใจกับความกลัว ซึ่งทำงานคู่กันเหมือนกัน ความกลัวมันมีหลายตัว ความมั่นใจก็มีได้หลายเรื่อง เขาก็ต้องค่อย ๆ พัฒนาผ่านการทำกิจกรรมที่ได้ลงมือทำจริง ได้รู้สึกจริง แล้วก็เชื่อมโยงกับตัวเขาได้จริง ๆ

เรื่องเครื่องมือเราต้องดู 2 ส่วน อันแรกคือเรื่องของกระบวนการอบรมเพื่อการเปลี่ยนแปลง เครื่องมืออาจจะไม่ต่างกันมาก ขออธิบายว่าทำไมต้อง 21 วัน เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดได้ในชั่วข้ามคืนจริง ๆ 21 วันคือการที่ทดลองมาจากหลาย ๆ กลุ่มแล้วว่าการที่มาอยู่ร่วมกัน แล้วทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ในกรอบเวลาอย่างนี้พอจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่ถ้าสั้นไปกว่านี้ ผลไม่เปลี่ยนแปลงเลย เขาก็จะไม่เชื่อในกระบวนการ ไม่เชื่อในกระบวนการการทำงานร่วมกัน ไม่เชื่อในกระบวนการการพัฒนาตนเองว่าทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ ไม่เชื่อในกระบวนการการสนับสนุน การพัฒนาศักยภาพด้านใน ไม่ได้เห็นโลกวัตถุกับโลกข้างในว่ามีอยู่ ดำรงอยู่ ทีนี้กับเด็กนอกระบบ มีกระบวนการชุดเดียวกัน แต่ว่าทีมทำงานจะมีผลกับเด็กเหมือนกันว่าเราต้องเข้าใจ มองเขาอย่างเป็นมิตร และมองเขาเท่าเทียมกับคนอื่นจริง ๆ และอาจจะต้องให้เวลามากขึ้น เพราะว่าเครื่องมือชุดเดียวกัน แม้แต่เป็นเด็กในระบบหรือผู้ใหญ่ สิ่งที่ได้ในแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน เพราะว่าพื้นฐาน ประสบการณ์มาต่างกัน

กับกลุ่มนี้ที่เห็นคือจากประสบการณ์ที่ทำมา อาจจะไม่ได้ทั้งหมด กระบวนกรอื่นหรือวิทยากรอื่นอาจทำอีกแบบ เราให้เห็นเรื่องของพลังกลุ่มก่อนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่กับกลุ่มนี้ สิ่งที่เห็นคือต้องสร้างเรื่องของคุณค่าภายใน เพราะเด็กทุกคนประสบการณ์น้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นการให้เด็กได้อะไรเท่ากับผู้ใหญ่ ต้องใช้เวลามากกว่า กับเด็กที่อยู่นอกระบบที่เขามีความแปลกแยก และพูดง่าย ๆ ว่าสังคมส่วนใหญ่อาจมีการตีตราเขาด้วยว่าเขามีพฤติกรรมที่ยากต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ยากต่อการดูแลตัวเอง ดังนั้นเขาก็จะมีเรื่องของความรู้สึกด้อยค่าอยู่ลึก ๆ หรือกลัวกับการไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน จากคนรอบข้างเยอะ ดังนั้นการดึงให้เขากลับมาเห็นคุณค่าของตัวเองก่อน ให้เขารับรู้ว่าเขามีอยู่ ก่อนไปถึงเรื่องของความมั่นใจ เรื่องของการกล้าแสดงออก เรื่องความรับผิดชอบ เรื่องดึงศักยภาพอื่น ๆ มาใช้กับตัวเอง มาใช้กับสังคม เรื่องการเห็นคุณค่าก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก#

เรามีความเชื่อมั่นว่าเด็กนอกระบบเขามีศักยภาพ


ติดตามชมกิจกรรมในเวทีและภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่นี่