Interview : การอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT ทบทวนและยกระดับสมรรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย

Interview นายปฏิวัติ สระแก้ว

รองนายกอบต.หนองอียอ อ.สนม จ.สุรินทร์


“เพราะเราเป็น อบต.เป็นหน่วยงานในพื้นที่ ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน 

เท่ากับว่าเป็นปัญหาขององค์กรเรา เป็นหน้าที่ที่เราต้องแก้ไขและลดปัญหาเหล่านั้น”


เข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้อย่างไร

ปีที่เราทำโครงการงานวิจัย ปี 2559 ก่อนหน้านั้นตัวผมเองทำเรื่องเกี่ยวกับโครงการเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น พอดีที่โครงการนี้(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 เฟรส 1) เข้ามา จึงได้ทำงานร่วมกับน้อง ๆ ทีมงานใน อบต. เรียกว่า โครงการงานวิจัย การทำงานของเราคือ โครงการเยาวชนรุ่นสู่รุ่น เพราะได้เห็นปัญหาเด็กสร้างจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งทำร่วมกับโรงเรียนหนองอียอวิทยา เป็นโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ ที่นี้เราเห็นปัญหาเด็กที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน รุ่น ม.2 ม.3 หลุดออกจากโรงเรียน เห็นปัญหานี้ เลยคุยกับโครงการนักถักทอ (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว)จึงสนใจทำเรื่องเด็กนอกระบบ ช่วงนั้นพอดีกับทาง สกว.(ชื่อเดิมของสำนั กงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เข้ามาพอดี ก็ตอบรับการทำงานกับ สกว.

ปัญหาเยาวชนที่เราทำ เพราะเราเป็น อบต.เป็นหน่วยงานในพื้นที่ ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เท่ากับว่า เป็นปัญหาขององค์กรเรา เป็นหน้าที่ที่เราต้องแก้ไขและลดปัญหาเหล่านั้น หนึ่งในนั้นคือเยาวชน โดยหน้าที่โดยความเป็นจริง หลายอบต. เยาวชนมักไม่ค่อยได้ไปอยู่ในแผนงานที่เราทำ ก็จะเป็นในเรื่องของแต่ละพื้นที่เห็นปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างไร และจะไปทำกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนเองอย่างไร เห็นคุณค่าของเด็กและเยาวชนอย่างไร จะไปในทิศทางนี้

สภาพปัญหาของเด็กนอกระบบในพื้นที่ อบต. หนองอียอ

ลักษณะทางกายภาพของเด็กและเยาวชนของหนองอียอ เป็นชนบทที่ยังไม่ได้เป็นชุมชนเมือง พออยู่ในชนบทแล้ว มันคล้าย ๆ กับว่า เราเองก็ทำกับเด็กและเยาวชนจะง่ายไหม ก็ยากเหมือนกัน แต่ชุมชนเมืองเขาอาจมีหลายปัจจัยมากกว่า

ปัญหาเด็ก เช่น เด็กนอกระบบที่เราทำคล้ายกับทั่ว ๆ ไป ด้านเศรษฐกิจ เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ฝากให้ตายายเลี้ยงดู พอเติบใหญ่ เด็กก็จะกลายเป็นเอาแต่ใจตัวเอง พออยู่กับตายายเลี้ยงดูโดยแกเองเลี้ยงดีอยู่แต่สังคมที่ปรับเปลี่ยนเร็ว แกไม่ทันต่อเด็กเหล่านี้ (เด็กยังไปทำงานไม่ได้) ก่อนที่เราจะทำกับ สกว. มีเด็กอยู่หลายกลุ่มหลายเขต หลายปัจจัย ทะเลาะวิวาท การแว้น แม้แต่ยาเสพติดเข้ามา ทำให้ชุมชนเราเอง ทั้ง อบต. ท้องที่ท้องถิ่นเห็นปัญหาว่า เด็กเราจะไปในทิศทางที่ล่อแหลมเลยต้องหันหน้ามาคุยกัน (เขายังไม่เป็นผู้ใหญ่ทำงานได้) ส่วนใหญ่ข้อมูลที่เราทำ เด็กอยู่ ม. 2 อายุไม่เกิน 15 ปี

บทบาทในโครงการ

อบต.ทั้งทีมถือว่าเป็นพระเอกในงานไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงเยาวชน รับทราบปัญหาเด็กทั้งระบบ เชื่อมประสานผู้นำ องค์กรต่าง ๆ ในชุมชนให้เห็นปัญหาร่วมกันในการแก้ไขเรื่องลูกหลานในชุมชน เหล่านี้เป็นบทบาทหน้าที่ของทีม อบต. เลยยกให้ทีมนี้เป็นพระเอกของงาน

โครงการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ อบต.หนองอียอ ระยะที่ 1

ย้อนไปนิดหนึ่ง ปกติของงาน อบต.เราเอง เราจะชินกับการพัฒนา พัฒนาจบ ๆ ก็เสร็จกันไป แต่ทีนี้ ไม่เชิงที่เราจะแก้ไขไปแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบได้ สิ่งหนึ่งที่เราทำมาตอนปี 59 เราใช้วิธีสืบค้นเกี่ยวกับตัวเด็ก เกี่ยวกับครอบครัว ไปสืบค้นเยอะมาก ทำให้เราได้เห็นปัญหาที่จะแก้ไขเรื่องความต้องการของตัวเด็กด้วย ว่าทำไมเขาถึงออกจากโรงเรียน เพราะอะไร ออกมาแล้วจะไปอย่างไร พอเราไปทำกับ สกว. เรารู้สึกว่า เราได้ข้อมูลพอสมควร เพียงแต่ว่า ข้อมูลอันนั้น เรายังวิเคราะห์สังเคราะห์ ไม่จบไม่สะเด็ดน้ำสักที ยังจะทำต่อไปอีก

โครงการที่ผ่านมา เป็นการทำและออกแบบร่วมกับเด็ก เราทำงานกับเด็กนอกระบบ เรื่องอาชีพ เขาถนัดอะไร เลือกอะไร ที่น่าสังเกตเด็กและเยาวชนหนองอียอไม่ชอบทำเกษตร ผมก็แปลกใจเพราะหนองอียอมีทุนเรื่องการเกษตร ก็จะมีการทำไร่ ทำนา ทำยางพารา มัน มีปศุสัตว์บ้าง ทำงานกับเด็กเรื่องนี้ เด็กสะท้อนว่า ไม่ชอบทำเกษตร จะเป็นด้วยวัยอะไรไม่รู้แต่ข้อมูลที่เก็บมา ส่วนมากเขาชอบเป็นงานช่างส่วนใหญ่ ก่อนเราจะทำงานกับ สกว. เราคิดว่า อยากกำหนดให้เขาเลย แต่พอทำแล้ว เราก็เห็นภาพอีกแบบหนึ่ง

เมื่อได้เข้าร่วมกระบวนการวิจัยมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ในทีมงานเองก็เปลี่ยน ถือว่าเปลี่ยนในด้านการมีข้อมูลทางวิชาการที่จะถ่ายทอดไปสู่อื่น ๆ แต่ก็เป็นปัญหากับทีมของเราด้วย คำว่า เชิงวิชาการ เรื่องเรียบเรียง การเขียนต่าง ๆ ส่วนมากก็ถนัดในเรื่องของการพัฒนา ก็จะต่างกัน ในทีมเราเองก็มีความมุ่งมั่นปรับเปลี่ยน หลายคนก็มีทักษะพื้นฐานอยู่


Interview จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท

////////////////////////////////////////////////////////