อารี หวันสู : บทสัมภาษณ์​พี่เลี้ยงเด่น โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล

บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่น โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล (รวมพลเยาวชนคนสร้างปันจักสีลัต)


พี่เลี้ยงเด่น

ชื่อ : นางสาวอารี หวันสู ชื่อเล่น : จ๊ะนุช

อายุ : 40 ปี อาชีพ : รับจ้างกรีดยาง



ถาม : จ๊ะนุชเป็นพี่เลี้ยงมาตั้งแต่ปีที่หนึ่งแล้วใช่ไหมคะ อยากให้ลองนึกย้อนกลับไปเล่าให้ฟังหน่อยค่ะว่า จากที่เรากรีดยางอยู่ที่บ้านแล้วทำไมถึงได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการนี้ได้

ตอบ : เมื่อก่อนเวลามีประชุมในหมู่บ้านมะเดียเป็นคนชวนเข้าร่วมอยู่บ่อย ๆ แล้วทำให้เรามีจิตอาสา บวกกับลูกตัวเองเริ่มมีนิสัยค่อนข้างเกเร ทำให้คิดว่าทำอย่างไรให้ลูกมาร่วมทำกิจกรรมกับคนอื่น ดึงลูกตัวเองกับเพื่อน ๆ ของลูกมาร่วมกิจกรรมในชุมชน เลยลองทำดู


ถาม : กิจกรรมตอนนั้นที่ทำกับมะเดีย เป็นกิจกรรมในชุมชนหรือว่าเอาลูกมาทำงาน Active เลยคะ

ตอบ : ตัวก๊ะเริ่มทำกิจกรรมกับมะเดียก่อน เป็นกิจกรรมที่มะเดียขอมาแล้วเราร่วมกันทำ


ถาม : แสดงว่าก่อนหน้านี้ เราก็ทำงานในชุมชนอยู่แล้ว ส่วนใหญ่งานที่ทำกับชุมชนเป็นลักษณะงานแบบไหน

ตอบ : กิจกรรมที่ทำอยู่ตอนนั้นเหมือนกับว่าขอโครงการไปกับ สปสช. ผ่านทางอบต. เป็นโครงการครอบครัวอบอุ่น ชุมชนมีทีมแม่อาสาประมาณ 20 กว่าคน ทำข้อตกลงกันว่าเราจะดูแลลูกหลานของเราเหมือนกับเป็นลูกของตัวเอง ลูกเพื่อนก็เหมือนลูกเรา ลูกเราก็เหมือนลูกเพื่อนสามารถตักเตือนกันได้ เราจะไม่โกรธกัน แต่จะช่วยดูแลกัน มีการจัดกิจกรรมคล้าย ๆ แรลรี่ (Rally) ให้พ่อแม่ลูกได้ทำกิจกรรมด้วยกันเชื่อมความสัมพันธ์กันผ่านกิจกรรม เพราะว่าในชุมชนมีเด็กที่ไม่ได้เรียนอยู่หลายคน แล้วเป็นชุมชนที่เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติดอยู่พอสมควร เราเลยพยายามคุยกันว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กเหล่านั้นหันมาคุยกับเรา เพราะบางทีเด็กต่างคนต่างไป ไม่เข้าหาผู้ใหญ่ เขาจะอยู่ในกลุ่มของเขามีอะไรเขาก็แก้ปัญหาของเขา เราเลยคุยกันกับทีมว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กกล้าเข้ามาหาเรา มีอะไรเข้ามาปรึกษาจะได้ช่วย และให้เขาได้มาช่วยทำงานกับเรา


ถาม : จ๊ะทำงานมานานแค่ไหนแล้ว

ตอบ : ถ้าว่าเป็นตัวหลัก ๆ ก็ไม่ใช่ เราเป็นแค่ตัวเสริม ทำประมาณ 4-5 ปีได้


ถาม : แต่ก็เข้าร่วมตลอด ระยะเวลาที่ผ่านมา 4-5 ปี เราดึงลูกเข้าไปทำกิจกรรมด้วยหรือเปล่าคะ

ตอบ : ตอนนั้นดึงลูกคนโตไป


ถาม : หลักๆ แล้วจ๊ะมีพื้นฐานในเรื่องของการทำงานเกี่ยวกับเยาวชนมาบ้างแล้วถูกต้องไหม

ตอบ : พูดถึงพื้นฐานก็ไม่ได้เต็มร้อย ไม่ได้ทำงานกับเยาวชนโดยตรงเพราะว่าปกติเราแค่ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่กับทีมแม่ แต่เวลาไปไหน ๆ ก็มักจะพาลูกไปด้วยแค่นั้น ทำโครงการกับเด็กจริงๆ เริ่มกับโครงการ Active นี้แหละค่ะ


ถาม : อยากให้จ๊ะเล่าให้หน่อยว่าถ้าอย่างนั้นใครเป็นคนชักชวนให้จ๊ะเข้ามาทำงานเป็นพี่เลี้ยงของโครงการ Active Citizenในปีที่ 1

ตอบ : เริ่มแรกมะเดียกับเพื่อนอีกคนเป็นคนรับเรื่องมาอีกที แล้วมาประชุมกันในหมู่บ้าน เพราะว่าตอนนั้นเขาต้องการหาเยาวชนไปเป็นแกนนำ มีการหารือกัน หนึ่งในแกนนำมีลูกคนโตไปด้วย จ๊ะเริ่มจากตรงนั้นพอลูกไปเราก็ไปด้วย แล้วก็กลายเป็นพี่เลี้ยงไปเลย


ถาม : ตอนที่จ๊ะบอกว่ามีลูกเราไป เราก็เลยไปด้วย ตอนนั้นที่ไป ไปในบทบาทของอะไรเป็นผู้ปกครองหรือว่าเป็นพี่เลี้ยง

ตอบ : ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงค่ะ เป็นผู้ปกครองแค่ไปด้วย


ถาม : ตอนนั้นเราไปทำอะไรบ้างคะ ที่ไปในฐานะผู้ปกครอง

ตอบ : ตอนนั้นเข้าไปร่วมนั่งฟังด้วย เวลาลูกเข้าไปในห้องประชุมก็ไปร่วมนั่งฟัง มีพูดคุยบ้าง เสริมบ้างนิดหน่อย ทั่ว ๆ ไปไม่ได้เป็นหลัก


ถาม : แล้วจากเป็นผู้ปกครองอยู่ดีๆ ทำไมเราถึงขยับบทบาทเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการได้

ตอบ : เหมือนกับว่าพอลูกเป็นหนึ่งในแกนนำแล้วก็มีเพื่อนของลูก เวลามีปัญหาอะไรลูกจะมาปรึกษาเราเป็นหลัก เวลามีกิจกรรมอะไรเราจะไปด้วยทุกครั้ง เราจะอยู่กับเขาตลอด


ถาม : น้องๆ เป็นคนเข้ามาขอให้เป็นพี่เลี้ยงหรือว่าเราก็อาสาเข้ามาเป็นเองคะตอนนั้น

ตอบ : ไม่เชิงขอและไม่เชิงอาสาแต่ว่ามันเป็นไปโดยปริยายเพราะว่าทุกครั้งที่ไปเราก็ไปกับมะเดีย กับลูก


ถาม : เวลามีกิจกรรมอะไรเราไปทุกเวทีตลอด ถ้าอย่างนั้นอยากให้ลองเล่าบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงในปี แรกให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า ในปีนั้นที่ไปเป็นพี่เลี้ยงเรามีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้าง

ตอบ : ตอนปีแรกไม่ได้ทำหน้าที่อะไรมากมายเพราะว่าน้องๆ แกนนำเขาเก่ง บอกก่อนว่าโครงการก๊ะจะมีสองชุด ปีแรกเรามีชุดของลูกก๊ะอยู่ด้วย น้องๆ เขาทำ เขาประสานงาน เราแค่ให้คำปรึกษาบางเรื่องที่เขาอาจไม่เข้าใจว่าโครงการต้องทำอย่างไร หรือว่าเราต้องไปทำอะไรก่อนหลัง โชคดีที่ว่าโครงการที่เราทำเหมือนเป็นครอบครัวบรรพบุรุษเราด้วย ก็เลยง่ายตรงนั้น แต่ว่าพอผ่านปีแรกไป โครงการอนุมัติไป น้องๆ แกนนำชุดแรกจำเป็นต้องไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยข้างนอกกัน กลายเป็นว่าตรงนั้นเราช๊อตไปแป๊บหนึ่ง แล้วก็โชคดีด้วยตรงที่แกนรุ่นที่หนึ่งมีเด็กในบ้านอยู่ด้วยก็เลยดันคนที่ยังไม่ออกข้างนอกเข้ามาประสานต่อโดยที่หาเด็กเพิ่ม


ถาม : ปีแรกที่ก๊ะเป็นพี่เลี้ยงเป็นพี่เลี้ยงโครงการอะไรคะ

ตอบ : โครงการสืบสานปัญจักสีลัตนี่แหละค่ะ


ถาม : ตอนนั้นเป็นพี่เลี้ยงในครั้งแรกอยากรู้ว่าก๊ะเข้าใจคำว่าพี่เลี้ยง ณ ตอนนั้นว่าเรามีหน้าที่ บทบาทอะไรเรารู้ไหม

ตอบ : ตอนนั้นไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ รู้แค่ว่าน้องๆ มาปรึกษา ถ้าเราตอบได้เราก็ตอบ ถ้าเราไม่รู้เราก็ค่อยๆ หาข้อมูลไปพร้อมกับเขา แต่ทักษะพี่เลี้ยงจริง ๆ ยังไม่รู้ เข้าใจอย่างเดียวว่าเราเป็นผู้ใหญ่ถ้าเราพูดอะไรเด็กก็ต้องตาม


ถาม : แล้วความคิดของก๊ะค่อยๆ เปลี่ยนไปไหมคะ

ตอบ : ค่อยๆ เปลี่ยน จุดเปลี่ยนจริงๆ ก็คือช่วงที่น้องๆ ชุดแรกไปเรียนแล้วชุดที่สองเข้ามา ชุดที่สองเราควบคุมค่อนข้างลำบาก ตอนแรกเราแค่ทำตามความเข้าใจเดิม เราบอกเด็กๆ ให้ทำอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของน้องๆ แล้วผลออกมา คือ น้องไม่อยากทำ เราเลยคิดว่าไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้โครงการเราคงไม่ผ่าน บวกกับมีการอบรมพี่เลี้ยงว่าทักษะพี่เลี้ยงต้องมีอะไรบ้าง เราเลยค่อยๆ เรียนรู้ไปปกติก๊ะเป็นคนที่ใจร้อน มีอะไรจะพูด ถ้าทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็มีการบังคับขู่เข็นกันนิดนึง แต่มาหลัง ๆ จากที่ได้ไปอบรมเราก็พยายามคิด นึกว่าวิธีเดิมทีเราใช้มันไม่ได้ผลกับน้อง ๆ แล้ว ตอนเด็กๆ ชุดแรกเราใช้วิธีนี้  เพราะมีลูกตัวเองอยู่ด้วย คนอื่นกลับบ้านลูกเราอยู่เราสามารถบังคับลูกเราได้ แต่พอมาชุดที่สองไม่มีลูกตัวเองกลายเป็นว่าเขาไม่พอใจเขาก็ไม่ทำ มันก็เลยไม่ค่อยมีงาน งานไม่ค่อยเกิดผลถ้าเราเป็นแบบเดิม


ถาม : จุดเปลี่ยนเป็นช่วงที่เราทำงานชุดที่สองลูกเราไม่อยู่แล้ว เราทำเหมือนที่ทำก่อนหน้านี้ไม่ได้แล้ว เราเปลี่ยนเป็นช่วงปีหนึ่งหรือว่าเกิดขึ้นในช่วงปีสองของโครงการ

ตอบ : หลัก ๆ เป็นช่วงปีสองเพราะปีหนึ่งที่ลูกก๊ะทำอยู่ด้วย เด็กๆ รุ่นพี่ทำงานเรียบร้อยเคลียร์งานเองทั้งหมดน้องๆ แค่มาช่วยเสริมในการทำกิจกรรม แต่พอว่าเขาไปเรียนข้างนอก ปีที่สองเด็กใหม่หมดเลย ทำใหม่หมดเลย เราเลยเปลี่ยนตัวเองด้วย  ไม่รู้คนรอบข้างคิดยังไงแต่ความรู้สึกเราเปลี่ยนตัวเองไปมาก จากที่ใจร้อนกลายเป็นว่าเราค่อย ๆ ฟังเขาเหมือนกัน ฟังคนรอบข้างมากขึ้น ยอมรับความคิดเห็นหรือข้อเสนอของเขามากขึ้น


ถาม : ทำไมจ๊ะนุชถึงยังรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงต่อในปีที่สองในเมื่อลูกเราก็จบไปแล้ว

ตอบ : ที่มาทำปีที่สองต่อเพราะอยากให้น้องๆ ได้สืบสานวัฒนธรรมที่มีอยู่ นั่นคือจุดประสงค์หลักในปีที่สองเลย ทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถเผยแพร่สิ่งที่ทำ ให้คนอื่นได้รู้จัก ให้น้อง ๆ ได้สืบทอดต่อไปนี่คือสิ่งที่ต้องการมาก ๆ

ตอบ : อยากให้โครงการยังไปต่อ ในชุมชนเราจะมีการประชุมพูดคุยกันเรื่อยๆ ลงมติบอกว่าให้ก๊ะทำต่อเพราะผู้รู้เป็นพ่อตาของก๊ะ บวกกับลูกคนที่สองบอกว่าอยากทำโครงการอยากเข้าร่วมโครงการด้วย เขาพอทำได้บ้างก็เลยอยากให้น้อง ๆ คนอื่นเข้าร่วมด้วย ก็เลยยังอยู่ต่อปีที่สอง


ถาม : แสดงว่าเวลาที่จ๊ะทำกิจกรรมหรือว่าทำอะไรก็แล้วแต่ก็จะเอากลับมาคุยกับคนในชุมชน คนในทีมอยู่แล้วใช่ไหมคะ

ตอบ : ใช่ค่ะ


ถาม : ปีแรกที่เราทำโครงการเราไม่เคยเป็นพี่เลี้ยงมาก่อน จ๊ะว่ามันยากไหมกับการเป็นพี่เลี้ยงเด็ก

ตอบ : ปีแรกไม่ยากเท่าไหร่เพราะทีมน้องแกนนำเขาเป็นเด็กมีความรับผิดชอบกันทุกคน แต่พอมาปีที่สองก๊ะต้องตาม เวทีอบรมพี่เลี้ยงที่ไปฝึกอบรมมา ทำให้ค่อยๆ เรียนรู้ว่าชีวิตของเด็กเราต้องเข้าใจเขาด้วย เวลาของเขา กิจกรรมของเขาสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละคน เราต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยเพราะไม่ได้เป๊ะเหมือนกันหมด เราต้องพยายามเข้าใจในจุดนั้นด้วย


ถาม : ปีแรกที่ทำโครงการ รับบทเป็นพี่เลี้ยงก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในระดับหนึ่งแล้ว อยากรู้ว่าพอเราเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในปีที่สอง จ๊ะได้เอาประสบการณ์หรือว่าความรู้ที่เราได้จากการเป็นพี่เลี้ยงในปีที่หนึ่งมาปรับใช้ในปีนี้อย่างไรบ้าง

ตอบ : เรื่องของการรับฟัง เราได้รับการอบรมมาว่าการเป็นพี่เลี้ยงต้องมีทักษะทั้งการฟัง การพูด การทำความเข้าใจ เราเอาตรงนั้นมาปรับใช้ เช่น การที่เราเอาแต่พูด ๆ แล้วให้น้องเขาฟังอย่างเดียว เรามีแต่สั่งๆ แล้วให้น้องเขาทำตามอย่างเดียว เราปรับตรงนั้นให้เขาเสนอมาเอง แล้วเราค่อยตาม เราแค่ช่วยชี้แนะในบางเรื่องว่าเขาทำผิดพลาดอะไรหรือว่าตรงไหนไม่สมบูรณ์บ้างเราแค่ช่วยเสริมตรงนั้น ในปีที่สอง


ถาม : ยากไหมกับการที่เราจะต้องเป็นคนรับฟังเขาให้เขาพูด

ตอบ : มันก็ยากเพราะว่าเราไม่มีทักษะมากมาย เราแค่รู้ว่าต้องรับฟัง ต้องเปิดใจ บางทีพอน้องเขาพูด เราก็ค้านกลางคันไปว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่การฟังที่ดีต้องฟังให้จบแล้วไม่มีใจเอนเอียง แต่ด้วยตัวเองเป็นคนที่ทำไม ทำไม ตลอดชอบตั้งคำถามแล้วให้เขาตอบให้ถูกใจเรา


ถาม : ที่จ๊ะบอกว่าเราต้องรับฟังเขา เราต้องเปิดใจ อันนี้เราไปได้เทคนิคนี้มาจากไหน

ตอบ : พยายามมองคนรอบข้างด้วย และพยายามฝึกตัวเองด้วย โดยมะเดียเขาเป็นตัวอย่างที่ดีมาก มะเดียจะเป็นคนที่มองโลกในแง่บวกตลอด มองคนในทางบวกตลอดแล้วเขาใจเย็นมาก ด้วยความที่เราอยู่กับเขา เราเลยพยายามเรียนรู้ไปด้วย แต่อาจไม่ได้ทั้งหมด


ถาม : อย่างนี้ถ้าเทียบก่อนเข้าโครงการกับปัจจุบันจ๊ะคิดว่าตัวเองใจเย็นลงมากน้อยแค่ไหน

ตอบ : มากเลย เหมือนที่ก๊ะบอกว่าคนรอบข้างก๊ะไม่รู้ว่าเขาจะคิดอย่างไร แต่สำหรับตัวเองคิดว่ารับฟังคนอื่นมากขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ คนรอบข้างเราไม่ได้เจอทุกวัน บางวันถ้าเราไม่ได้ออกไปไหนเราก็ไม่เจอ แต่คนในครอบครัวสำหรับลูก เราจะฟังเขาแล้วเราจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าการที่เขาพูดคือเขาต้องการให้เรารับฟังเขา ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปบังคับเขา การที่เขาบอกอะไรเรา เขาต้องการที่จะระบายกับเรา เขาต้องการบอกเล่ากับเรา เมื่อก่อนลูกคนเล็กตอนที่เข้าโครงการแรก ๆ เขาจะไม่เข้าหาก๊ะเลย ไปโรงเรียนกลับมาแค่ถามว่าที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าไม่มีอะไร ตัดบทไปเลยว่าไม่มี ไม่พูด ไม่คุย ไม่เข้าหาเลย แต่พอหลังจากที่เราได้มาเป็นพี่เลี้ยงแล้วมาปรับใช้กับชีวิตของเรา เราค่อยๆ พยายามเข้าหาเขาทีละนิดแล้วพยายามฟังเขามากขึ้น คุยกับเขามากขึ้นเรียนรู้ในชีวิตของเขา กลุ่มเพื่อนของเขามากขึ้น ว่าเขาต้องการแบบไหน ตอนนี้เราคุยกันทุกคืน มีอะไรเราจะบอกเล่ากันทุกเรื่อง แม้กระทั่งสิ่งไหนที่เราเห็นว่าเขาทำผิด ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะดุเลย จะมีการลงโทษว่าเธอต้องทำแบบนี้ เพราะเธอทำผิดเขาเลยถอยห่าง แต่มาตอนนี้รู้ว่าเขาผิดแต่ให้เขาบอกเหตุผลของเขามาก่อนว่าทำไมเขาถึงทำแล้วเราค่อยๆ เรียนรู้ไป ค่อยๆ บอกไป ค่อยๆ สอนไปว่าสิ่งที่ลูกทำมันมีเหตุผลของลูก แต่เหตุผลของคนอื่นมันเป็นแบบไหน ณ ตอนนี้เขาเข้าหาเรามากขึ้น นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัดในการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ได้มาเป็นพี่เลี้ยง


ถาม : ลูกก๊ะผู้หญิงหรือผู้ชาย

ตอบ : คนแรกผู้หญิงที่เป็นแกนนำแล้วเขาไปเรียนคนนี้ไม่มีปัญหาเขาเรียนเก่ง เขาทำได้ทุกอย่างเราไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับเขา แต่คนเล็กเป็นผู้ชายอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วย


ถาม : อายุเท่าไหร่คะ

ตอบ: ผู้ชายตอนนี้ก็ 15 ปี น้องอัฐยุทธ ตอนนี้กลายเป็นสนิทกันมากขึ้น เข้าหากันง่ายขึ้น


ถาม : ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคย

ตอบ : ไม่เลย ก่อนหน้านี้กลับจากโรงเรียนเขาไปอยู่กับเพื่อน กลับบ้านค่ำ ถามมีปัญหาอะไรไหมที่โรงเรียนครูสอนอะไรบ้าง แม้กระทั่งถามว่าที่โรงเรียนทานข้าวกับอะไร เขาจะตัดบอกไปเลยว่าไม่รู้จำไม่ได้ แต่ว่าตอนนี้กลับมาจากโรงเรียนเขาจะบอกว่าวันนี้เพื่อนคนนี้เป็นแบบนี้ ครูแบบนี้ระหว่างที่ไปโรงเรียนเจออะไรบ้างเขาจะเล่า


ถาม: บทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงในปีที่สองว่า เข้าไปช่วยสนับสนุนน้องๆ อย่างไรบ้างในปีนี้

ตอบ : ปีที่สองหลังจากรับจากรุ่นที่หนึ่งแล้วมีน้องๆของโครงการหมู่ 13 เขาเข้ามาเสริมด้วย หมู่ 5 กับหมู่ 13 เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันแล้วบังเอิญว่าหมู่ 13 พี่เลี้ยงไปต่อไม่ได้ด้วยด้วยภารกิจส่วนตัว น้องๆ อยากทำโครงการต่อก็เลยเอามารวมกันกับของก๊ะ น้องๆ เขารู้จักกันเดิมอยู่แล้วเขาก็สามารถทำต่อกันได้ เราก็แค่ช่วยเสริม พอปีสองเราปล่อยเขาเลย ให้เขาทำงานของเขา เราแค่บอกว่าตอนนี้โครงการควรถึงขั้นนี้แล้วนะ เขาจะดำเนินการของเขาเราแค่อยู่ด้วย คอยช่วยให้คำปรึกษาคอยเสริมแค่นั้น เขานัดแนะกันเอง เวลาซ้อมเขาจะนัดกันว่าซ้อมแบบไหน สมมุติมีงานประสานมาทางก๊ะโดยตรง ก๊ะจะไม่ประสานน้อง ๆ ทั้งทีมแต่จะประสานไปหัวหน้าคนเดียวแล้วให้เขาประสานกันเอง เราแค่เติมในบางส่วนแค่นั้น


ถาม : ทำไมถึงเลือกไม่บอกน้องๆ ทั้งหมดในทีมแต่เลือกบอกแค่คนๆ เดียว เรามีเหตุผลอะไร

ตอบ : บางทีเราสื่อสารกับเขา เราคิดว่าสื่อสารดีแล้วแต่ความหมายที่เขาเข้าใจมันอาจไม่ตรงกับที่เราสื่อสารก็เลยสื่อสารกับคนๆ หนึ่งที่รับผิดชอบ แล้วเขาจะประสานกันเองเลยในกลุ่มนัดกันเอง แล้วประสานกลับมาที่ก๊ะอีกที เราแค่คอยรับฟังตรงนั้น


ถาม : มีจังหวะไหนหรือว่าช่วงไหนที่รู้สึกว่าไม่ได้แล้วเราต้องเข้าไปช่วยน้องๆ

ตอบ : อาจเป็นช่วงที่ซ้อม เพราะว่าบางทีน้องเขามาแล้วเล่นกันเยอะ มากันหลายคนเราต้องอยู่ด้วยตลอด เวลาเขาเล่นก็เล่นไปแต่เวลาจริงจังเราก็ต้องคอยบอกว่าไม่ได้แล้วนะต้องทำแล้วนะ เล่นอยู่แบบนี้ไม่ได้ เราอยากให้ผลงานออกมาดี ก็ต้องจริงจังบ้างช่วงนั้นเป็นช่วงที่ก๊ะต้องอยู่ด้วยทุกวัน ตลอดที่เขามาซ้อมกัน


ถาม : ซึ่งน้องๆ ก็จะฟังเพราะว่าเราเป็นผู้ใหญ่

ตอบ : ใช่ โชคดีตรงที่ว่าเราเป็นพี่เลี้ยงมาปีหนึ่งแล้วประสบการณ์ตรงนั้นมันสอนให้เรารู้ว่าเราต้องทำอย่างไรกับน้องๆ ให้เขาฟังเรามากขึ้น


ถาม : แล้วก๊ะทำอย่างไรให้น้องฟังเรามากขึ้น

ตอบ :พยายามคุยกับเขามากขึ้น เราจะไม่ใช้น้ำเสียงที่บังคับขู่เข็น ก๊ะเป็นคนใจร้อน คุยเสียงดัง เขาอาจจะมองว่าพูดไม่เพราะแต่ในช่วงหลังเราพยายามพูดคุยหาเรื่องหัวเราะตลก ๆ กับเขา


ถาม : เหมือนตัวเองก็พยายามเปลี่ยนความเป็นตัวเองออกไปด้วย แล้วมีเทคนิคอะไรไหมที่เอามาใช้ หรือคิดว่าความถนัดของก๊ะในการเป็นพี่เลี้ยงเราถนัดในเรื่องอะไร

ตอบ : ถ้าถนัดจริงๆ ไม่ค่อยมีตัวเองคิดว่าทำได้ทุกเรื่อง แต่ไม่เก่งสักเรื่อง


ถาม : หรืออาจจะเป็นเทคนิควิธีการที่มักจะเอามาใช้กับน้องๆ ในกลุ่มนี้ตลอดเวลาที่น้องทำกิจกรรมอาจเป็นเรื่องของการชวนน้องวางแผน ตั้งคำถาม หรือว่าถอดบทเรียน ท้าทายเขาว่าจะทำได้ไหม ประมาณนี้คิดว่าเราเอาอะไรมาใช้กับน้องในโครงการนี้มากที่สุด

ตอบ : เราสร้างความท้าทาย พยายามบอกเขาว่าปันจักสีลัตไม่มีที่ไหนแล้วนะ มีที่นี่ที่เดียวถ้าเราไม่ทำมันก็จะหายไป โครงการที่เราทำมันเป็นวัฒนธรรมของชุมชนเรานะ เราต้องทำให้ได้ เราต้องสืบทอดให้ได้ ก็พยายามจะกระตุ้นเขาอยู่ตรงนั้นบ่อย ๆ


ถาม : พอเราท้าทายผลตอบรับกลับมาเป็นอย่างไรคะ

ตอบ : น้อง ๆ เขาก็เข้าใจนะ จากเมื่อก่อนเยาวชนจะไม่มีใครที่มาสนใจกลายเป็นว่าตอนนี้มีคนรำได้เล่นดนตรีได้ ไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็มีแล้ว ณ ตอนนี้ก็ยังพยายามคุยกับน้อง ๆ อยู่ว่าให้ชวนเพื่อนมา เให้เป็นทีมของเขา เป็นกลุ่มของเขาเลย ตอนนี้มีน้องๆ ต่างหมู่บ้าน ต่างชุมชนมาร่วมด้วย น้อง ๆ ในชุมชนของเรานี่แหละประสานเพื่อนของเขา ชวนกันมา เราก็เปิดโอกาสให้กับทุกคนใครก็ได้ที่อยากมา ไม่กีดกั้นแค่ว่าเด็กในโครงการ


ถาม : อย่างเมื่อกี้ที่ก๊ะบอกว่า ปีแรกทำงานแล้วไม่เหนื่อยเพราะว่าเรามีลูกของเราอยู่ในโครงการ แต่พอมาปีสองพอเราไม่มีลูกของเราในโครงการมันมีความยากอย่างไรบ้าง แตกต่างกันไหม

ตอบ : พูดถึงก็ไม่ยากแต่ความแตกต่างคือช่วงปีแรกเป็นเด็กในชุมชนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอปีที่สองเราจะมีเด็กชุมชนข้างเคียง สองชุมชนนี้เขาก็ไปมาหาสู่กันเป็นประจำอยู่แล้วแต่ปัญหาอยู่ที่ว่าน้องๆ ไม่ได้ร่วมโครงการตั้งแต่แรก เขาก็พยายามปรับตัวเข้ามาหาเราด้วย เราก็ต้องพยายามปรับตัวเข้าหาเขาด้วย ต่างคนต่างพยายามที่จะปรับตัวเข้าหากัน


ถาม : ก๊ะใช้วิธีการอย่างไรในการปรับตัวเข้าหากันและกัน

ตอบ : พูดคุยกันมากขึ้น ฟังมากขึ้นให้เขาเปิดโอกาสให้เขาเสนออะไรมากขึ้น


ถาม : ถ้าในส่วนตัวของเด็กเองมันไม่ยากเพราะว่าเขารู้จักกันมาก่อนอยู่แล้วใช่ไหมคะ แต่ที่ยากจะเป็นพี่เลี้ยงนี่แหละที่ต้องปรับตัวแต่ว่าก็โอเคใช่ไหมคะ

ตอบ : โอเคค่ะ


ถาม :อยากรู้ว่ามีปัญหาอะไรในการทำโครงการปีสองสำหรับก๊ะที่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาสำหรับเราในการทำโครงการมาก ๆ

ตอบ : เด็กและเยาวชนในชุมชนยังไม่พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะสืบทอดสืบสานวัฒนธรรมนี้ต่อไป วัฒนธรรมนี้เป็นของเก่าแก่ เป็นของดั้งเดิม แต่ยุคนี้โซเซียลล้วน ๆ รวมถึงการเรียนของน้อง ๆ เวลาของเขาไม่ตรงกัน เด็กที่นี่มีเรียนทั้งสายศาสนาและสายสามัญ บางคนเขาก็อยู่หอ ถ้าเรียนศาสนาเขาต้องอยู่หอ ว่างแค่เสาร์ อาทิตย์ บางทีเสาร์ อาทิตย์เขาก็ต้องทำงานอันนั้นคือปัญหาหลักเลยเวลาว่างไม่ค่อยตรงกัน


ถาม : แต่เขาก็มีวิธีการจัดการของเขาใช่ไหมคะ

ตอบ : เขาก็พยายามจะคุยกัน ประสานกันว่าว่างวันไหนอะไรอย่างไร เขาก็ประสานกันเอาเองหลังจากที่เขาหารือกันได้ค่อยประสานก๊ะมาอีกที ก๊ะบอกเขาแล้วว่าเวลาไหนก็ได้ให้เขาพร้อมเขาประสานกันเองดีกว่า

ตอบ : ปีสองเป็นเด็กเรียน มีปัญหาเรื่องเวลา แต่ความรับผิดชอบเขามีสูง ปีแรกมีน้องๆ ที่ไม่ได้เรียนด้วย  เด็กกลุ่มนี้เราจะควบคุมยากหน่อยเพราะเขาใช้เวลาไปกับเพื่อนที่เราไม่รู้ว่าเขาไปไหน เขาช่วยพ่อแม่เก็บยาง กรีดยางเสร็จแล้วไม่รู้เขาไปไหนกัน บางทีโทรก็ไม่ได้ ถ้าพูดถึงปัญหาของเด็กเราจะมีปัญหากับปีที่หนึ่งมากกว่าแต่พอปีที่สองเด็กถึงแม้ว่าเป็นสองชุมชนแต่ว่าส่วนมากเป็นเด็กที่เรียนในระบบเขาจะมีความรับผิดชอบของเขาอยู่แล้วถึงแม้ว่าเวลาของเขาจะไม่ตรงกัน  แต่เขาก็พยายามประสานกันอยู่ว่าเราจะทำเวลาไหน จังหวะไหน พอเขาประสานกันเอง  เขาจะประสานกันง่ายกว่าเหมือนเด็กที่เรียนเขาว่าโอเคเขาว่างช่วงนี้เขาก็จะไปประสานกันเองกับคนที่ไม่ได้เรียนทำไงก็ได้ให้พวกเธอมาอยู่รวมกัน


ถาม: พออยู่ด้วยตลอดหลังจากจัดกิจกรรมแล้วก๊ะมาชวนน้องคุยหลังเสร็จกิจกรรมบ้างไหม

ตอบ : ก็มีบ้างแต่ไม่ได้ทุกครั้ง เป็นบางครั้งพอเขาทำกิจกรรมเสร็จแล้วก็มาชวนคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้างแต่ส่วนมากเราจะคุยก่อนทำกิจกรรมเพราะก่อนทำกิจกรรมบางทีน้อง ๆ ตื่นเต้นไม่รู้ว่าทำได้ไหม ต้องทำอย่างไร เราก็ต้องคอยบอกเขาว่าไม่เป็นไรเอาเท่าที่ทำได้ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนทำได้ ทุกคนมีความตั้งใจได้แค่ไหนเราเอาแค่นั้น เพราะว่าทุกคนอยากทำสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว


ถาม : ปีนี้น้องมีการใช้เครื่องมืออะไรในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลไหม

ตอบ : การเก็บข้อมูลของปีนี้เราไม่ค่อยเน้นแล้วเพราะว่าข้อมูลเดิมเรามีอยู่แล้ว เราเน้นไปทางกิจกรรมมากกว่าในปีที่สอง เราอาจเสริมกิจกรรมเล็ก ๆ น้อยๆ อย่างเช่นใช้โทรศัพท์ โน๊ตบุ๊ค (อินเทอร์เน็ต) ในการหาข้อมูลจากที่อื่น


ถาม : ก๊ะคิดว่าเราทำโครงการมาสองปีแล้วกับบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ปกครองแล้วค่อยๆ พัฒนามาเป็นพี่เลี้ยงเราได้เรียนรู้หรือว่าพัฒนาอะไรในตัวเองบ้างที่ก๊ะสัมผัสได้

ตอบ : เราเรียนรู้เรื่องการรับฟังมากขึ้น การใช้ชีวิตในปัจจุบันมากขึ้น บางทีการใช้ชีวิตเราจะคิดว่าตัวเองต้องมาก่อนไม่ได้ ตัวเองต้องถูกเสมอมันไม่ใช่ ที่ได้เรียนรู้เยอะที่สุดแล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันคือการรับฟัง เพราะว่าเหมือนที่ก๊ะบอกว่าก๊ะเป็นคนที่ใจร้อน ปกติจะไม่ค่อยรับฟังใคร เขาต้องรับฟังเรา ต้องเป๊ะ ๆ ตามแบบของเรา ปีนี้ที่เอามาปรับใช้จริงๆ เลยคือรับฟัง มันอาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่คิดว่าก็กำลังพยายามอยู่


ถาม : มีเหตุการณ์ไหนไหมที่รู้สึกว่าการรับฟังมันสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของเรา

ตอบ : เวลาทำกิจกรรมน้อง ๆ มารวมกันหลายคน ถ้าสมมุติว่าเราแค่สั่งเขาอย่างเดียวเขาจะทำเฉย หรือว่าเขาจะทำแต่ทำในสิ่งที่เราสั่งให้ทำ สมมุติว่าเราใช้ให้เขาไปหยิบขวดน้ำ เขาก็แค่ไปหยิบขวดน้ำ เขาจะไม่คิดต่อว่าเขาต้องเอาไปวางตรงไหน เขาต้องเอาไปให้ใครเพราะว่าเราแค่สั่ง เขาแค่ทำตามที่เราสั่ง แต่หลังจากที่ให้เขาพูดแล้วเรารับฟัง เราเลยตั้งคำถามกับเขาว่าถ้าเธอไปเอาขวดน้ำนี้มาเธอต้องทำอย่างไรกับขวดน้ำนี้ ให้เขาพูดมาให้เราฟังว่าเขาจะทำอย่างไร


ถาม : ซึ่งเราก็จะเห็นวิธีการความคิดของน้องใช่ไหมคะ ถ้าเรารับฟังเขา เราทำงานกับเด็กมาหลายปีแล้วประมาณ 7 ปี ก๊ะคิดว่าในเรื่องของการเข้าใจพัฒนาการ หรือว่าความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนเราเข้าใจเยาวชนมากขึ้นไหมในความคิดของก๊ะหลังจากได้ทำกิจกรรมนี้

ตอบ : คิดว่าเข้าใจ เมื่อก่อนเรามองเด็ก จะตัดสินเขาแค่สิ่งที่เราเห็น สมมุติว่าเด็กคนนี้ไม่เรียนหนังสือเราก็จะตัดสินว่าเด็กคนนี้ต้องเป็นเด็กเกเร เป็นเด็กที่ไม่ดี เพราะว่าไม่ได้เรียนหนังสือ แต่หลังจากเราเข้าไปอยู่กับเขา มันทำให้เห็นว่าถึงแม้ว่าเขาไม่ได้เรียน แต่ไม่ได้ความว่าเขาไม่ได้อยากเรียน บางทีเขาอาจจะไม่มีโอกาสตรงนั้น แล้วการที่เขาไม่ได้เรียนไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นคนไม่ดี การเป็นคนดีมันทำได้หลายวิธี  จากเมื่อก่อนเด็กไม่ค่อยเข้าหาผู้ใหญ่ หลังจากที่เราพยายามชวนเขามาทำโครงการ ขนาดพบกันข้างถนนเขายังมีทักทายจากที่เมื่อก่อนไม่เลย ตอนนี้เวลามีงานบุญ เขาไปช่วยมีกิจกรรมจิตอาสาในชุมชน เช่น เก็บขยะ เขาจะเข้าไปช่วย ทำให้เรามองว่าสิ่งที่เราเห็นเมื่อก่อนเราตัดสินเขาไม่ได้ เราต้องค่อยๆ เรียนรู้เขาไป เราต้องเข้าถึงเขาด้วย


ถาม : เป็นเรื่องของการไม่ตัดสินคนตั้งแต่ครั้งแรก มีเรื่องอื่นหรืออาจจะเป็นความประทับใจของน้อง ๆ ในโครงการที่เรารู้สึกก็ได้

ตอบ : เราประทับใจกับความตั้งใจของเขา ทุกคนมีความตั้งใจเหมือนกับที่ก๊ะบอกว่าเขาไม่ค่อยมีเวลาตรงกัน แต่ในเมื่อมีกิจกรรมเขาก็จะหาเวลามา ถ้ามีอะไรให้ช่วยเหลืออย่างเช่น คนนึงลำบากเขาก็จะไปช่วยเหลือกัน ประทับใจในความเป็นห่วงของเขาในทีมเขาจะคอยพุดคุยกัน แล้วคอยห่วงใยกันสอบถามกัน


ถาม : ความสัมพันธ์ของก๊ะกับน้อง ๆ ในทีมเป็นอย่างไร สนิทกันไหม กล้าพูด กล้าเล่น กันไหม

ตอบ : สนิทค่ะ แต่ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์มันไม่ถึงร้อยแต่ก็แปดสิบเปอร์เซ็นต์ได้

ตอบ : ค่อยๆ พัฒนาขึ้น


ถาม : ถ้าอย่างนั้นตอนนี้แปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้วก่อนหน้านั้นที่เริ่มโครงการใหม่ ๆ ให้เท่าไหร่

ตอบ : เริ่มโครงการใหม่ ๆ กับเด็กเราแค่รู้จักว่าเด็กคนนี้อยู่ในชุมชนเรานะ เป็นลูกของคนนั้น คนนี้ เราไม่ได้สัมผัสไม่ได้พูดคุย ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเขา แต่หลังจากทำโครงการเราใกล้ชิดกับเขามากขึ้น เลยเพิ่มความสนิทมากขึ้น สามารถพูดคุยหยอกล้อกันได้


ถาม : อยากให้ก๊ะอาจจะลองย้อนกลับไปนิดนึงก็ได้ว่าก่อนที่เราจะทำโครงการกับหลังจากที่เราทำโครงการแล้วก๊ะเห็นความแตกต่างอะไรบ้าง อาจจะเป็นในเรื่องของการทำงานหรือว่าเป็นตัวก๊ะเองก็ได้หรือว่ากับชุมชนก็ได้ที่เห็นความแตกต่างกัน

ตอบ :เด็กเยาวชนในชุมชน เมื่อก่อนต่างคนต่างเรียนต่างคนต่างอยู่ เยาวชนก็ต่างคนต่างอยู่กับผู้ปกครอง คนในชุมชนก็ต่างคนต่างอยู่ เด็กพอกลับจากโรงเรียนเขาก็อยู่กับกลุ่มคนของเขา 4-5 คน แต่ว่าหลังจากทำโครงการสิ่งที่เห็นก็คือพวกเขาอยู่รวมกันมากขึ้น แล้วในแต่ละกลุ่มเขาสามารถอยู่รวมกันได้ ไม่ใช่กลุ่มใครกลุ่มมัน และกับคนในชุมชนเขาก็เข้าได้ เมื่อก่อนเขาไม่เข้าหาเพราะเด็กคิดว่าผู้ใหญ่มองเขาไม่ดี แต่ว่าหลังจากที่เราทำโครงการแล้วพยายามให้เด็กกับคนในชุมชนทำกิจกรรมร่วมกัน เลยเข้าหากันมากขึ้น เวลางานบุญหรือว่างานจิตอาสาเก็บขยะ เด็กจะมาช่วย จากเมื่อก่อนงานบุญก็งานบุญไป เด็กก็อยู่ส่วนเด็ก ผู้ใหญ่ก็ทำไป


ถาม : ผู้ใหญ่กับเด็กทำงานร่วมกันมากขึ้นด้วยใช่ไหมคะ

ตอบ : ใช่ค่ะ


ถาม : อยากให้ก๊ะลองสรุปการเรียนรู้สำคัญในบทบาทพี่เลี้ยงที่คิดว่าเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญของเรามากที่สุดเลยก๊ะคิดว่ามันเป็นเรื่องอะไร

ตอบ : การเรียนรู้ที่เอามาใช้แล้วได้ผลของก๊ะ เราเรียนรู้ว่าการรับฟังคนอื่นมากขึ้น เกิดผลดีกับเรามากขึ้น การที่เราไม่มองคนในด้านเดียว นำความสบายใจมาให้เรา แล้วคนที่ถูกมอง คนที่เรามองเขาก็จะไม่อคติกับเรา เราก็ไม่อคติกับเขา แรก ๆ ที่เริ่มทำงานบางทีเรากำลังคุยถึงคนคนนึง แล้วก๊ะบอกว่าทำไมคนนี้เป็นแบบนี้ แบบนั้น มะเดียจะคอยค้านว่าไม่ได้บางทีเขามีเหตุผลของเขา แกมองบวกตลอด มันทำให้เราคิดว่าการที่เรามองบวก มันก็ไม่ได้ยากสำหรับเราหรือใครๆ ถ้าเราคิดจะทำแล้วมันก็เป็นผลดีทั้งเราและเขา มันทำให้เรารู้จักฟังไม่ใช่ฟังคนนี้ คนเดียว ฟังอีกหลายๆ คนแล้วเอามารวบรวมข้อมูลที่เราฟังจากหลายๆ ฝ่าย เอามารวบรวมว่าทำไมเป็นแบบนี้ ข้อมูลที่เราได้มาตรงกันไหม นี่คือเรื่องหลัก ๆ ที่ก๊ะคิดว่าก๊ะได้เยอะที่สุด


ถาม : อย่างปีที่หนึ่งเราก็รับฟังไหมในปีแรก ถ้าเปรียบเทียบ

ตอบ : ปีที่หนึ่งเราก็รับฟัง แต่เราจะสั่งมากกว่า ด้วยความที่ว่าลูกเราเองเป็นคนทำ เราสามารถสั่งได้


ถาม : มันดีหรือไม่ดี ถ้าเกิดว่าเรามีลูกของเราอยู่ในโครงการแล้วเราเป็นพี่เลี้ยงกับเราไม่มีลูกของเราอยู่ในโครงการ

ตอบ : ณ ตอนนั้นที่เริ่มทำมันดีนะ เพราะว่าเราสามารถสั่งลูกเราได้ มันต้องเป็นแบบนี้ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างโน้น ลูกเราต้องทำตามความคิดของเขาก็คือของเขาแต่เราก็มีส่วนสั่งด้วย


ถาม : อยากให้ก๊ะลองยกตัวอย่างน้อง ๆ ในโครงการที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเขามากที่สุดเลย

ตอบ : อัฐยุทธ เมื่อก่อนก๊ะดึงเขามาทำกิจกรรม ปีแรกต้องมีการบังคับเขาถึงมาร่วม ปีที่สองเราแค่บอกเขาว่าวันนี้เรานัดกันทำงานนะเขาก็มาร่วม โดยที่เราไม่ต้องใช้วิธีบังคับเหมือนปีแรก ที่ก๊ะต้องบอกเพราะว่าเขาไม่เข้าไปในไลน์กลุ่มในแชทกลุ่ม เขาอยู่ในโลกส่วนตัวของเขา เขาไม่ร่วมกลุ่มกับใครแต่ถามว่าเขาทำกิจกรรมไหมเขาร่วม อันนั้นคือหลัก ๆ เลยที่เห็นเปลี่ยน แล้วจะมีอัดดามานอยู่ต่างชุมชน ต่างหมู่บ้าน แต่เขามีความรับผิดชอบสูงบ้านเขาอยู่ตำบลกำแพง แต่เขาเรียนที่สตูล อยู่หอ ปีแรกเราไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไรแต่เรารู้แค่ว่าเขาเคยคบกับเด็กที่ไม่เรียน แต่พอเขาเข้าโครงการนี้เขามีความตั้งใจมาก ถ้าเราบอกอะไรไปเขารับผิดชอบเลย ถ้าเราบอกว่าวันนี้เรานัดกันทำงานนี้เขาจะประสานกันเอง แต่เราจะเห็นว่าถ้านัดให้เขามาเขามาเป็นคนแรกที่มาถึงก่อนทั้ง ๆ ที่เขาอยู่ไกล


ถาม : ในมุมของการเป็นแม่ อะไรที่ทำให้เราต้องคอยบังคับเขา แต่มาตอนนี้เราไม่ต้องบังคับแล้ว ยินที่ที่จะเข้าร่วมมันเป็นเพราะอะไร

ตอบ : ก๊ะคิดว่าการที่เราเข้าหาเขามากขึ้น เราฟังเขามากขึ้น เหมือนที่เมื่อก่อนก๊ะแค่ถามคำถามเพื่อให้มันผ่านไป แต่ว่าตอนนี้เราพยายามถามเขาด้วยความเป็นเพื่อน เมื่อก่อนเราคิดว่าเราคือแม่ ลูกต้องตาม แต่ว่าหลัง ๆ เราพยายามเป็นทั้งแม่และเป็นเพื่อนให้เขาคิดว่าบางโอกาส บางครั้ง บางสถานการณ์เราคือเพื่อนนะไม่ใช่แม่


ถาม : แล้วอย่างอัดดามานเขามีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหมคะหรือว่าเขาก็ดีอย่างนี้มาตั้งแต่แรก มีอะไรบ้างไหมที่เราเห็นว่าเขาเปลี่ยนไป

ตอบ : เมื่อก่อนก๊ะก็ไม่รู้ แต่คิดว่าที่เขาร่วมโครงการนี้เพราะเขาชอบ อัดดามานพ่อแม่เขาแยกทางกัน  เขาอยู่กับย่า แล้วพ่อเขาทำงานที่เกาะนาน ๆ ถึงจะกลับมาทีหนึ่ง แล้วเขาอยู่หอ เรายอมรับในความรับผิดชอบของเขา เขาสามารถพาตัวเองเข้ามาทำงานทั้งที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนของเรา เขาไม่จำเป็นต้องมาร่วมกับเราก็ได้  แต่ความอยากทำโครงการร่วมกับคนอื่น อยากสืบทอดวัฒนธรรม เขาจะถามข่าวตลอดเลย ณ  ตอนนี้เขาก็ยังถามตลอดว่าเมื่อไหร่เราจะซ้อมกันอีก จะมีโครงการต่อไหม  ทำให้ก๊ะคิดว่าเด็กคนนี้เก่งที่สามารถดำเนินชีวิตด้วยความดีมาตลอด  เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร แต่หลังจากที่เราสัมผัสเขาเราอยู่กับเขาทำให้เรารู้ว่าเขาเก่ง


ถาม : ชุมชนเข้ามามีบทบาทหรือว่ามามีส่วนร่วมในการทำโครงการกับเรามากน้อยแค่ไหน

ตอบ : ชุมชนก็มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเหมือนที่ก๊ะบอกไปว่าเราก็พยายามบอกเล่าเรื่อยๆ ว่าตอนนี้เราทำมาถึงจุดนี้แล้วนะ เด็กเป็นแบบนี้แล้วนะ แล้วเวลาทำกิจกรรมร่วมกันพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม พ่อแม่จะคอยเตือนว่าวันนี้นัดกับทีมนะเราต้องไปซ้อม แต่เราก็จะบอกว่าให้ความสำคัญกับการเรียนก่อน ถ้ามีกิจกรรมอะไรที่ร่วมได้ลูกก็จะไปร่วมพ่อแม่ก็ร่วมด้วย คนในชุมชนก็ร่วมด้วยเหมือนกิจกรรมที่งานมหกรรมชุมชนบ้านทุ่งมีคนร่วมเยอะ


ถาม: ก๊ะคิดว่าเพราะอะไรทำไมถึงมีคนมาเข้าร่วมเยอะแบบนั้น

ตอบ : ส่วนหนึ่งมาจากลูกหลานของเขาเป็นคนทำโครงการ ส่วนหนึ่งเขาก็ยังเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมพื้นบ้านที่อยากให้เด็ก ๆ ได้สืบสานต่อไป เขาเลยมาร่วมด้วย


ถาม : ก่อนหน้านี้ชุมชนให้ความสำคัญอะไรแบบนี้ไหม

ตอบ : ก่อนหน้านี้ในชุมชนไม่ค่อยมีกิจกรรมแบบนี้ มีแค่เป็นกิจกรรมกับ อบต.บอกว่ามีกิจกรรมนี้นะ ต้องไปร่วมนะ ถ้าเป็นโครงการที่ให้เด็กทำ ให้เด็กคิดแล้วให้คนในชุมชนมาร่วมด้วยมันไม่มี


ถาม : อันนี้เหมือนเป็นกิจกรรมแรกที่เด็กเป็นคนคิดเอง ทำเองผู้ใหญ่มีหน้าที่แค่มีส่วนร่วม อย่างนี้มีหน่วยงานอื่นๆ อาจจะเป็นในชุมชนเองหรือว่านอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมบ้างไหมคะ ในการจัดกิจกรรมของน้อง ๆ

ตอบ : มีโรงเรียนมาเสริมด้วยบางครั้งโดยที่ว่าให้เด็กในโรงเรียนมาร่วมกิจกรรมด้วย แล้วในปีที่สองเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ อบต. เขาจัดงานมหกรรมประจำปีแล้วเขาให้เราไปร่วมด้วย

ตอบ : เราเสนอตัวเองไปเข้าร่วมเพื่อให้เด็กได้หาประสบการณ์ มีคนในชุมชนทำงานอยู่ที่อบต. ถ้ามีงานเขาจะมาบอกเล่าและเสนอว่าที่ อบต.มีงานแบบนี้นะ พวกเราสนใจไหม เราก็เลยนัดเด็กว่าพวกเธอสนใจไหม ถ้าสนใจเราจะดำเนินการให้ ไปสมัครให้ แต่ถ้าเขาบอกว่าไม่สนใจเราจะหยุดแค่นั้น เราจะถามความสมัครใจของเขาก่อนน้องๆ เขาโอเคเราก็จัดการให้ เคยมีงานแต่งด้วยที่น้องๆ ได้ไปโชว์อยู่


ถาม : อย่างงานแต่งที่มาที่ไปอย่างไรคะ

ตอบ : เจ้าภาพเขามาเชิญ ชวนให้เราไปโชว์เพราะว่าปันจักสีลัตของที่นี่เป็นประเภทสวยงาม  ใช้รับแขกบ้านแขกเมือง รับบ่าวสาว แล้วพอมีงานแต่งเขาจะมาเชิญให้เราไปโชว์ มีอยู่บ้าง


ถาม : อย่างงานแต่งเขาติดต่อมากับเราโดยตรงหรือว่ามาทางน้อง ๆ

ตอบ : ติดต่อมากับเรา


ถาม : เหมือนเดิมก๊ะก็ถามน้องๆ ว่าสนใจไหม

ตอบ : ใช่ เราเรียนรู้ว่าถ้าเราไปบังคับเขา บางทีเขาแค่รับปากแต่เขาจะไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าเราไปถามเขา เขาสมัครใจเอง ความรับผิดชอบเขาต้องมี เพราะเขาสมัครใจเอง เขาต้องมีความรับผิดชอบ รับปากไปแล้วเขาต้องไป


ถาม : เข้าไปมีส่วนร่วมวางแผนอะไรไหมหรือว่าให้เขาจัดการเองเลยว่าจะทำอย่างไร

ตอบ : ก็มีบ้าง เไปช่วยวางแผนว่าเราจะต้องทำอะไรก่อนหลัง เวลาเขาซ้อมจะอยู่ด้วยตลอด


ถาม : ที่อยู่ด้วยตลอดเพราะอะไรคะ

ตอบ : เพราะเขามาซ้อมที่บ้าน


ถาม : ณ ตอนนี้ก็คือโครงการนี้จบเรียบร้อยแล้วใช่ไหมคะ

ตอบ : โครงการนี้สำหรับปีสองจบเรียบร้อยแล้ว


ถาม : คิดที่จะทำต่อไหมคะมีแนวทางอะไรบ้างไหม

ตอบ : ก๊ะอยากทำต่อนะเพราะว่าอยากให้น้อง ๆ เขาได้วัฒนธรรมอันนี้  ได้สืบสานวัฒนธรรมให้คงอยู่ มันเป็นความสามารถของน้อง ๆ ที่ติดตัวเขาไปได้ สามารถสร้างรายได้ให้กับเขาได้ แต่ว่าต้องคุยกับเขาอีกทีว่าน้องๆ เขาว่างกันอยู่ไหม ช่วงนี้ติดเรียนแล้วมีน้องบางคนที่เขาต้องไปเรียนข้างนอกกันด้วย


ถาม : อย่างในการแสดงครั้งหนึ่งรายได้เป็นอย่างไรบ้างคะ

ตอบ : แสดงครั้งหนึ่งขั้นต่ำก็คือสามพัน แต่ถ้ามากก็อยู่ที่ห้าหกพันแล้วแต่งาน อยู่ที่ความพร้อม ความสมบูรณ์ของวง และอยู่ที่แต่ละงานด้วยบางทีก็เป็นงานเขาช่วยงานบุญ ช่วยเปล่าๆ


ถาม : ถ้าน้องๆ ทำต่อก็สามารถสร้างรายได้ให้กับน้อง ๆ ได้นี่คือมุมที่ก๊ะมอง แต่ก็ยังต้องหารือกับน้องก่อน

ตอบ : ใช่ยกตัวอย่างเหมือนกับของก๊ะ อัฐยุทธ เขาไม่แสดงออก ไม่แสดงความคิดเห็น แต่เขาทำทุกอย่างเป็น รำเป็น ดนตรีได้ ณ ตอนนี้ที่โรงเรียนของเขามีกิจกรรมที่โรงเรียนจ้างโคชทีมชาติปันจักสีลัตมาทำกิจกรรมในโรงเรียน วันก่อนงานวิชาการที่โรงเรียนเขาก็ให้ขึ้นโชว์ ครูมาพูดกับก๊ะว่าอยากให้เขาไปฝึกซ้อมกับทีมยะลา มันป็นความสามารถพิเศษของแต่ละคนได้ถ้าทุกคนทำได้


ถาม : อยากรู้ว่าทำงานมาสองปีความยากหรือความท้าทายที่ก๊ะบอกว่าอยากทำโครงการนี้ต่อก๊ะคิดว่ามันมีความยากหรือความท้าทายอะไรไหมในการจะทำต่อ

ตอบ : ก็คือน้อง ๆ นี่แหละค่ะ เพราะว่าถ้าเราจะทำต่อเราต้องหาน้อง ๆ มาเพิ่ม บางคนก็ต้องไปเรียนข้างนอก ปีนี้มีสองสามคนที่ต้องไปเรียน เราต้องหามาเพิ่ม ความยากคือการที่เราหาเด็กมาเสริมเหมือนเราเริ่มใหม่อีก


ถาม : แล้วถ้าอย่างนั้นมีแนวทางหรือว่าวิธีการอะไรไหมที่จะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับการทำโครงการครั้งต่อไป

ตอบ : เด็กที่มีอยู่น้องๆ ที่มีอยู่ ถ้าให้คงอยู่และทำได้ต่อไปต้องลงไปที่โรงเรียน อย่างน้อยถ้าเราไปที่โรงเรียนเราถามความสมัครใจเด็กที่สมัครเริ่มตั้งแต่ ป. 4 อย่างน้อยก็สามปีที่เขาจะจบป. 6 สามปีเขารำได้แล้ว เราเน้นให้เขาได้ พอป. 6 จบแล้วเขาก็ต้องไปเรียนข้างนอก อันนี้เป็นแนวทางที่คิดว่าเป็นไปได้ที่สุด อัฐวุฒิเรียนเขาจัดเป็นกิจกรรมเลย แล้วถามความสมัครใจของนักเรียนว่าใครสนใจบ้าง แล้วให้สมัคร พอสมัครแล้วเด็กที่สมัครอย่างน้อยเขามีความสมัครใจก็ต้องมีความตั้งใจ บวกกับระยะเวลาที่สองปีสามปีกว่าจะจบออกจากโรงเรียน แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่กำหนดว่าเด็กป. 6 ต้องทำนะ เขาก็ทำด้วยกิจกรรมที่ถูกกำหนด ถูกบังคับ แล้วพอจบไปก็จบระยะเวลาหนึ่งปีมันไม่ได้ง่ายที่จะเป็นเลย ทั้งการแสดงการรำ และเล่นดนตรี ปีเดียวไม่ได้เลย นอกจากคนที่มีความตั้งใจจริงๆ เท่านั้นที่จะได้


ถาม : ก๊ะมองไว้ไหมว่าจะพาเข้าไปโรงเรียน

ตอบ : ก็มองไว้ตั้งแต่ปีแรก ๆ แล้วแต่ยังไม่ได้ทำแบบจริงจัง แค่มอง ๆ คุย ๆ เคยคุยกับครูไว้บ้างแต่เราไม่ได้ลงไปแบบจริงจัง


ถาม : ซึ่งคิดว่าถ้าเอาไปในโรงเรียนจริง ๆ โรงเรียนเขาให้ความสนใจไหมหรือว่าอย่างไร ผลตอบรับตอนคุย

ตอบ : ตอนที่ไปคุยกับครู กับ ผอ.ตอนนั้น ผอ.เขาเห็นด้วยเขายินดีจะร่วมด้วย แต่ว่าบังเอิญปีนี้ ผอ. คนนี้เขาเกษียณไปแล้วมีคนใหม่มาซึ่งเราก็ยังไม่ได้เข้าไปคุย