อารี หวันสู
พี่เลี้ยงโครงการ
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

พี่เลี้ยงเด่น โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล (รวมพลเยาวชนคนสร้างปันจักสีลัต)


ชื่อเรื่อง : พี่เลี้ยงมือใหม่...ดับความ หัว(ใจ) ร้อนด้วยการเปิดใจรับฟัง


“ทำอย่างไรให้ลูกได้มาเข้าร่วมกิจกรรมกับคนอื่น...”

คำถาม How to จาก จ๊ะนุช - อารี หวันสู พี่เลี้ยงโครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเซียล จุดเริ่มต้นที่ทำให้จ๊ะนุชได้เข้ามาสู่เส้นทางการทำงานด้านเด็กและเยาวชน

“ก่อนหน้านี้บ้านทุ่งเป็นชุมชนที่เสี่ยงพอสมควร เพราะมีปัญหาเรื่องเด็กนอกโรงเรียนและปัญหายาเสพติดค่อนข้างเยอะ ทางชุมชนคุยกันว่าทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้หันมาคุยกับครอบครัว เพราะบางทีเด็กต่างคนต่างไป ไม่เข้าหาผู้ปกครอง เขาอยู่ในกลุ่มของเขามีปัญหาเขาก็แก้ปัญหาของเขา ทางชุมชนเลยคุยกันว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้พาเด็กกลับเข้ามาหาครอบครัว มีอะไรเข้ามาปรึกษาเราจะได้ช่วย ให้เขาได้มาช่วยทำงานกับเรา เป็นที่มาของการทำโครงการครอบครัวอบอุ่น มีทีมแม่อาสาที่มีข้อตกลงกันว่าจะดูลูกหลานในชุมชนเสมือนกับลูกของตัวเอง จ๊ะเองเป็นหนึ่งในทีมแม่อาสาด้วย” จ๊ะ เล่าขยายภาพให้เห็นสภาพบริบทในชุมชน

จ๊ะนุช ทำงานด้านจิตอาสาในชุมชนมากว่า 5 ปี แม้ไม่ใช่ตัวหลักในกิจกรรม แต่ทุกครั้งที่มีงานจ๊ะยินดีเข้าร่วมเสมอ จ๊ะนุช บอกว่า ตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรมจิตอาสา เธอมักชวนลูกไปด้วย เพราะต้องการให้ลูกเรียนรู้การเข้าสังคม และทำงานกับชุมชนเหมือนที่ตนทำ ­

จ๊ะนุช เล่าว่า รู้จัก โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล (Satun Active Citizen) จาก มะเดีย-ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในชุมชนที่ร่วมงานกันมาอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้ในโครงการจากบทบาทของความเป็นแม่

“ตอนนั้นมะเดียประชุมกันในหมู่บ้าน ต้องการหาเยาวชนแกนนำในชุมชนเพื่อเข้าร่วม Satun Active Citizen พอดีลูกสาวคนโตได้เป็นแกนนำเข้าร่วมโครงการนั้นด้วย เวลามีกิจกรรมในโครงการเราได้ไปร่วมฟังกับเขา มีเสริมบ้างนิดหน่อยเวลาที่เขาให้เสนอความคิดเห็น ตอนนั้นเราไปในฐานะผู้ปกครองที่อยากไปเห็นว่าลูกทำกิจกรรมอะไรบ้างเท่านั้น ไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงหลักอะไร”

จากบทบาทผู้ปกครองในช่วงต้นโครงการ พัฒนามาสู่การเป็นพี่เลี้ยงโครงการไปโดยไม่รู้ตัว เพราะทุกครั้งที่มีกิจกรรมจ๊ะนุชเดินทางมากับมะเดียอยู่เสมอ

“พอลูกเป็นหนึ่งในแกนนำ เวลามีปัญหาอะไรลูกจะมาปรึกษาเราเป็นหลัก เวลามีกิจกรรมอะไรเราจะไปด้วยทุกครั้ง เราอยู่กับเขาตลอด เมื่อเขามีปัญหามาปรึกษาเราได้ก็เลยค่อยๆ ผันตัวมาเป็นพี่เลี้ยงไปโดยปริยาย”


++ พี่เลี้ยงมือใหม่...หัว(ใจ)ร้อน++

“ทำอย่างไรก็ได้ให้คนอื่นได้รู้จักปันจักสีลัต ให้เยาวชนได้สืบทอดต่อไป เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ตัดสินใจเป็นพี่เลี้ยงในปีที่สอง ประกอบกับจ๊ะเองเป็นลูกสะใภ้ของครูภูมิปัญญาปันจักสีลัต เวลาน้องๆ ในโครงการมาฝึกการรำ ก็จะมาฝึกที่บ้าน ทำให้จ๊ะตัดสินใจเป็นพี่เลี้ยงในปีที่สองเพราะอย่างไรเราก็ต้องได้เจอกับน้อง ๆ เขาเป็นประจำอยู่แล้ว” จ๊ะนุชบอกถึงสาเหตุในการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงต่อในปีที่สอง

ปัญหาของพี่เลี้ยงมือใหม่ส่วนมากที่ได้ยิน คือ ยังไม่เข้าใจบทบาทว่าพี่เลี้ยงต้องทำอะไร เช่นเดียวกับจ๊ะที่เคยคิดว่า “เราเป็นผู้ใหญ่พูดอะไรเด็กก็ต้องทำตาม!!”เธอถือความคิด ความเชื่อนี้เข้ามาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในช่วงแรกของการเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน

จ๊ะนุช เล่าว่า สำหรับการทำโครงการในปีแรก น้องๆ ในทีมสามารถจัดการงานได้ด้วยตัวเอง เธอหน้าที่แค่คอยประสานงาน และให้คำปรึกษาเรื่องที่น้อง ๆ ไม่เข้าใจเท่านั้น แต่โครงการในปีที่สองมีเหตุให้ต้องสะดุดเมื่อกลุ่มเยาชนแกนนำรุ่นแรก จำเป็นต้องไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนอกชุมชน ทำให้ต้องหาสมาชิกใหม่เข้ามาแทน

เธอยอมรับว่าช่วงรอยต่อระหว่างการทำโครงการในปีที่หนึ่งและปีที่สอง เป็นช่วงที่รู้สึกกังวลและเครียดไปพักใหญ่ เพราะกลัวว่าจะไม่มีใครเข้ามารับผิดชอบโครงการต่อ ในขณะเดียวกันเธอได้ค่อยๆ ปรับตัว ปรับบทบาทการเป็นพี่เลี้ยง การได้ร่วมเรียนรู้ ร่วมอบรมในโครงการ ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่าพี่เลี้ยงมากขึ้น โชคดีที่ยังมีแกนนำรุ่นที่หนึ่งบางคนสนใจ จึงได้น้องๆ ที่เคยมีประสบการณ์จากการทำโครงการในปีแรกเข้ามาทำโครงการต่อในปีที่สอง แล้วหาสมาชิกใหม่เพิ่มเติมอีกแค่ไม่กี่คน

“ตอนที่น้องปีสองเข้ามาเราควบคุมค่อนข้างลำบาก เพราะก่อนหน้านี้เราไม่ได้ใช้ทักษะการเป็นพี่เลี้ยงเลย ยังทำตามความเข้าใจเดิม คือ บอกให้เขาทำอะไรเขาก็ต้องทำอย่างนั้น ไม่รับใจรับฟังความคิดเห็นจากน้องๆ สักเท่าไหร่ ผลที่ออกมาคือน้องๆ ไม่อยากทำ ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า เอ๊ะ! ถ้ายังทำแบบนี้ต่อไปโครงการอาจไปไม่รอดแน่นอน ทำให้ค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเองเริ่มเปิดใจรับฟังเขามากขึ้น ให้เขาให้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น”

“ก่อนหน้านี้เป็นคนใจร้อน พูดจาตรงไปตรงมา ยิ่งถ้าได้ทำงานกับน้อง ๆ บอกให้ทำอะไรก็ต้องทำ ถ้าทำไม่ได้จะมีการขู่เข็นให้เขาต้องทำให้ได้” จ๊ะนุช เล่า

ความยากของการทำโครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล ยังมีเรื่องการรวมตัวเยาวชนจาก 2 หมู่บ้าน คือ ชุมชนบ้านทุ่งหมู่ 5 และบ้านทุ่งพัฒนาหมู่ 13 เข้ามาทำงานร่วมกัน เมื่อเปลี่ยนทีมงานใหม่ จ๊ะนุชยิ่งต้องเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเข้าหากลุ่มแกนนำเยาวชน จ๊ะนุชยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อครั้งยังเป็นพี่เลี้ยงใจร้อน ที่เกือบพาน้อง ๆ และโครงการไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่เพราะมีโอกาสได้เข้ารับการอบรมทักษะพี่เลี้ยงจากทางโครงการฯ ทำให้จ๊ะเริ่มกลับมาทบทวนในสิ่งที่ตัวเองเคยเป็น และค่อยๆ นำกระบวนการคิดที่ได้จากการอบรมทักษะพี่เลี้ยงไปประยุกต์ใช้กับน้อง ๆ ในปีที่สอง

“คุยกับเขามากขึ้น ไม่ใช้น้ำเสียงที่บังคับขู่เข็น จ๊ะเป็นคนใจร้อน คุยเสียงดัง เขาอาจมองว่าพูดไม่เพราะ ช่วงหลังๆ พยายามหาเรื่องหัวเราะตลก ๆ กับน้องๆ เป็นเทคนิควิธีการที่มักเอามาใช้ในกลุ่มนี้ตลอดเวลาที่น้องทำกิจกรรม”


++ รับฟัง...เรียนรู้...ปรับเปลี่ยน++

ผลจากการสังเกตพฤติกรรมของแกนนำเยาวชนในทีม หลังพี่เลี้ยงปรับเปลี่ยนมาหนุนเสริมfด้วยพฤติกรรมในเชิงบวกแทนการบังคับ และทำตัวให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น สิ่งหนึ่งที่จ๊ะนุชนำมาประยุกต์ใช้มากที่สุดคือ “การรับฟัง”

“การเป็นพี่เลี้ยงเราต้องมีทักษะทั้งการฟัง การพูด การเข้าใจ นำความรู้ตรงนี้มาปรับใช้ เช่น การที่เราเอาแต่พูด ๆ แล้วให้น้องฟังอย่างเดียว หรือสั่งแล้วให้น้องทำตามอย่างเดียว เปลี่ยนเป็นให้เขาเสนอความคิดขึ้นมาเอง แล้วเราค่อยตาม เราแค่ช่วยชี้แนะในบางเรื่องว่าเขาทำผิดพลาดอะไร หรือว่าตรงไหนไม่สมบูรณ์บ้าง เราแค่ช่วยเสริมตรงนั้น”

เป้าหมายของโครงการ คือ การชักชวนเด็กและเยาวชนในชุมชนเข้ามาเรียนรู้การรำและความเป็นมาของปันจักสีลัต เชื่อมโยงไปสู่การสร้างความรู้สึกรักและเห็นคุณค่าวัฒนธรรมของชุมชน การฝึกฝนการร่ายรำของน้อง ๆ ที่ทำอยู่เป็นประจำทำให้เยาวชนในโครงการมีทักษะติดตัว บางคนรำได้ บางคนเล่นดนตรีได้ ถึงแม้ไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่สำหรับจ๊ะนุชแค่ได้ลงมือทำ แค่เล่นเป็น รำเป็น พอมีทักษะติดตัว ก็ถือว่าเป็นการช่วยสานต่อแล้ว

“โครงการปันจักสีลัตที่เราทำไม่มีที่ไหนแล้วนะ มีที่บ้านทุ่งที่เดียว ถ้าเราไม่รักษาไว้อาจไม่มีคนสืบต่อ โครงการที่เราทำเป็นวัฒนธรรมของชุมชน เราต้องรักษาไว้ สืบทอดให้อยู่คู่ชุมชนเราต่อไป” เป็นคำพูดที่จ๊ะมักใช้กระตุ้นน้องๆ ในโครงการ

“จ๊ะคุยกับน้อง ๆ ให้ชวนเพื่อนมาซ้อมด้วย ทำให้เกิดเป็นทีมของเยาวชน เป็นกลุ่มของเขาเลย ตอนนี้มีน้องๆ ต่างหมู่บ้าน ต่างชุมชนมาร่วมด้วย จากที่น้อง ๆ ในชุมชนของเราประสานเพื่อน ชวนกันมาเรียนรู้ เราก็เปิดโอกาสให้กับทุกคน ใครก็ได้ที่อยากมา เราไม่กีดกั้นแค่ว่าเด็กในโครงการ”

นอกจากการรับฟังแล้ว การหมั่นเติม “กำลังใจ” ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะก่อนขึ้นทำการแสดง

ความใกล้ชิดกับกลุ่มเยาวชน ทำให้จ๊ะนุชเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ได้ดี

“จ๊ะคอยชวนเด็กๆ คุยก่อนทำกิจกรรม บางทีน้อง ๆ อาจตื่นเต้นไม่รู้ว่าทำได้ไหม ต้องทำอย่างไร จ๊ะต้องคอยบอกเขาว่าไม่เป็นไร ทำเท่าที่ทำได้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น เราเชื่อว่าทุกคนทำได้ ทุกคนมีความตั้งใจ และอยากทำสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว”

“เมื่อก่อนเรามองและตัดสินเขาแค่สิ่งที่เราเห็น สมมุติว่าเด็กคนนี้ไม่เรียนหนังสือ เราจะตัดสินเขาว่าเด็กคนนี้ต้องเป็นเด็กที่เกเร เป็นเด็กไม่ดี แต่หลังจากที่เราเข้าไปอยู่กับเขา ทำกิจกรรมร่วมกับเขา เรากลับเห็นว่าถึงแม้เขาไม่ได้เรียน แต่ไม่ได้ความว่าเขาไม่อยากเรียน บางทีเขาอาจไม่มีโอกาสตรงนั้น แล้วการที่เขาไม่ได้เรียนไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดี การเป็นคนดีมันทำได้หลายวิธี” จ๊ะนุช ยกตัวอย่างมุมมองที่เปลี่ยนไปของตัวเอง


++ปันจักสีลัตเชื่อมชุมชน เยาวชนและผู้ปกครอง++

“เมื่อก่อนเด็กไม่ค่อยเข้าหาผู้ใหญ่ หลังจากที่เขามาทำโครงการกับเรา เวลาเจอกันข้างถนน เขายังทักทายจากเดิมไม่มีการทักทายกัน ตอนนี้เวลามีกิจกรรมจิตอาสาในชุมชน เช่น เก็บขยะ เขาเข้าไปช่วย สิ่งที่เราเห็นเมื่อก่อนเราตัดสินเขาไม่ได้”

ชุมชนบ้านทุ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เด็กเยาวชนและคนในชุมชนใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างคนต่างอยู่ นักเรียนหลังกลับจากโรงเรียนมักรวมกลุ่มกันเฉพาะวัย วัยผู้ใหญ่ต่างคนต่างทำงาน จ๊ะนุช กล่าวว่า โครงการเข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์ของเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ในชุมชน เห็นภาพการรวมกลุ่มทำกิจกรรมระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่ใช่กลุ่มใครกลุ่มมัน เยาวชนกับผู้ปกครองสามารถทำงานร่วมกันได้ และชุมชนให้การตอบรับในเชิงบวกกับกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนจัดขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่เยาวชนไม่เข้าหาผู้ใหญ่เลย เพราะคิดว่าผู้ใหญ่มองเขาในทางไม่ดี

นอกจากนี้ จ๊ะนุช ยังทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างทีมแกนนำเยาวชนกับผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองเริ่มเปิดใจมองเห็นความสามารถของเยาวชนในชุมชน มองเห็นความสามารถที่มีในตัวลูก

“ผู้ปกครองหลังจากรู้ว่าลูก ๆ ต้องมาทำกิจกรรมกับเรา เขาจะคอยเตือนลูก ๆ ให้เราอีกทางหนึ่งด้วย ช่วยเตือนว่าวันนี้นัดกับทีมนะ ต้องไปซ้อมนะ แต่เราจะบอกเขาให้ความสำคัญกับการเรียนก่อน บางคนมาดูลูกเวลาซ้อมปันจักสีลัต หรือมีกิจกรรมที่ต้องการความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองเขาก็ยินดี อย่างงานมหกรรมชุมชนบ้านทุ่งที่ผ่านมาคนในชุมชนให้ความร่วมมือดีมาก”

“ก่อนหน้านี้กิจกรรมส่วนใหญ่ที่จัดในชุมชนมักเป็นกิจกรรมที่ทางหน่วยงานราชการเข้ามาจัด เชิญชวนให้คนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม แต่โครงการที่ให้เยาวชนในชุมชนเป็นคนคิดเอง ทำเอง แล้วให้คนในชุมชนมาเข้าร่วมกิจกรรมเหมือนโครงการ Active แบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน โครงการนี้เป็นกิจกรรมแรกที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคิดเอง ทำเอง ผู้ใหญ่มีหน้าที่แค่มีส่วนร่วมและคอยสนับสนุนเขาเมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ”

นอกจากซักซ้อมการร่ายรำและเผยแพร่ข้อมูลปันจักสีลัตทางเพจเฟชบุ๊คแล้ว จ๊ะนุชยังช่วยน้อง ๆ หาเวทีเพื่อนำการแสดงศิลปวัฒนธรรมปันจักสีลัตออกไปเผยแพร่ตามงานต่าง ๆ เป็นโอกาสให้กลุ่มเยาวชนได้แสดงความสามารถ หลายครั้งยังเป็นรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเขา โดยใช้วิธีพูดคุยสื่อสารกับแกนนำกลุ่ม แล้วให้กลุ่มแกนนำปรึกษาหารือและลงมติกันเองว่าจะรับงานหรือไม่ และวางรูปแบบการแสดงอย่างไร

“ทุกครั้งที่มีงานแสดงเข้ามาจ๊ะจะถามก่อนเสมอว่าพวกเราสนใจไหม ถ้าเขาบอกว่าเขาสนใจเราจะจัดการเป็นธุระให้ ส่วนเรื่องการซ้อมหรือรูปแบบการแสดง จ๊ะให้เขาเป็นคนจัดการกันเองทั้งหมด เพราะเราเรียนรู้แล้วว่าไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าไปบังคับให้เขาทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ เขาจะแค่ทำตามที่เราอยากให้ทำเท่านั้น แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราสมัครใจทำ สิ่งที่เราจะได้คือเขาจะรับผิดชอบต่องานที่เขาสมัครใจทำมากกว่า เขาจะทำให้ดีที่สุด”

นอกจากนี้ จ๊ะยังนำกระบวนการทำงานกับเด็กและเยาวชน ไปปรับใช้กับครอบครัวของตัวเองด้วย

“ก่อนหน้านี้ลูกชายคนเล็กของจ๊ะไม่เข้าหาจ๊ะเลย จ๊ะพยายามชวนคุยทุกครั้งหลังกลับจากโรงเรียน แต่ลูกชายจะตัดบทบอกแค่ว่าไม่มี ไม่พูด ไม่ยอมเล่าอะไรให้จ๊ะฟังเลย แต่เราเปิดใจรับฟังเขามากขึ้น”

คุยกับเขามากขึ้น เรียนรู้ชีวิตของเขา และต้องเข้าใจเพื่อนของลูกชายให้มากขึ้นด้วย”

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการรับฟัง นำมาสู่การเปิดใจพูดคุยที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูกชายได้ ทำให้บรรยากาศภายในบ้านเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมลูกชายรีบเดินเข้าห้อง หลีกเลี่ยงการสนทนากับจ๊ะหลังกลับจากโรงเรียน แต่ทุกวันนี้ภาพเหล่านั้นหายไป เปลี่ยนจากการเดินหนีเข้าห้องมาเป็นการนั่งเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของตัวเองหลังเลิกเรียน

“จ๊ะชวนลูกชายคุยทุกคืน เวลามีอะไรเราจะบอกเล่ากันทุกเรื่อง สิ่งไหนที่เห็นว่าเขาทำผิด จ๊ะยอมรับว่าหากเป็นเมื่อก่อนจะดุทันที และลงโทษเขาบอกให้เขาต้องทำแบบนี้ๆ ตามสิ่งที่ต้องการให้เขาเป็น เป็นต้นเหตุทำให้เขาถอยห่าง แต่ทุกวันนี้เราค่อยๆ ตักเตือนในสิ่งที่มองว่าลูกชายทำไม่ถูกต้องและคอยให้คำปรึกษาเวลาที่เขาต้องการ”

จากจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าจะทำอย่างให้ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น นำมาสู่การเรียนรู้ และการปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับลูก จนทำให้ลูกเข้าหาตนเองมากขึ้น และพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เป็นสิ่งที่จ๊ะนุชได้รับผ่านการเรียนรู้จากการเป็นพี่เลี้ยงของเธอเอง…

##############