เรื่องเล่าในโครงการประกวดเรื่องเล่า"บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้" ปีที่ 1 ปี พ.ศ. 2552

อาจารย์คเณศ เทพสุวรรณ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ดนตรี) โรงเรียนเทศบาลจามเทวี จังหวัดลำพูน


แรงบันดาลใจของผมในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนอยู่ที่ไหน มันคืออะไร คือจุดเริ่มต้น ณ ตอนนี้ คงจะบอกได้ก็คือเกิดมาจากความไม่รู้ ความไม่รู้ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ว่าทำไมถึงต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนกันทั่วบ้านทั่วเมือง ในใจผมเคยคิดเช่นนั้น จึงอยากรู้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรกันแน่ คงเป็น



"ความไม่รู้" นั่นเองที่ทำให้เกิดการเริ่มต้น เมื่อมี "ความไม่รู้" ก็ต้องหาคำตอบให้รู้ เพราะ "ความอยากรู้" โดยศึกษาหาความรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสนองความต้องการของตัวเอง เมื่อได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้แล้วก็ตั้งใจน้อมนำมาปฏิบัติจนเห็นผลดี จึงได้ทำต่อ และขยายผลให้กับผู้ร่วมงาน ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการทำงานคือการสอนหนังสือ และการใช้ชีวิตครอบครัวเพื่อให้เกิดการสานต่อและเพื่อชีวิตที่มีความสุข



ส่วนการสอดแทรกแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงลงในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนั้น บริบทของโรงเรียนเทศบาลจามเทวี เป็นโรงเรียนประถมศึกษา นักเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ในชนบท มีวิถีชีวิตของเขาอยู่แล้ว วิถีที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจทั้งหมดแต่เขาอาจยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำและเป็น เป็นสามห่วงสองเงื่อนไขของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว เมื่อท่านผู้บริหารโรงเรียนให้นโยบายสอดแทรกแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงลงไปในการสอน ส่วนตัวได้รับมอบหมายในเรื่องการจัดทำหลักสูตรการบูรณาการ คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากของผมเพราะความเป็นครูและด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


ผมสอนวิชาศิลปะดนตรีได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรดีกับการนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในวิชาศิลปะดนตรีที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องปากท้องเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงแรกผมเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นเช่นนั้น จนกระทั่งได้รับการชี้แนะจากผู้บริหารโรงเรียนคือ ผอ.กรรณิการ์ มาบุญมี ซึ่งยกคำกล่าวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลว่า
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นธรรมะ เป็นหลักปรัชญาซึ่งทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรสามารถนำไปปฏิบัติได้หมด...” ทำให้ได้คิดและตกผลึกวิธีการจัดการการเรียนการสอนสู่การเป็น ดนตรีแห่งความพอเพียง ที่ผมและเด็กร่วมกันคิดขึ้นว่าจะทำอย่างไร โดยเปิดชมรมให้เด็กๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ ผมจะรับแต่เด็ก ป.4-6 ครับ

ในชมรม เด็กๆ จะช่วยกันทำงาน ขับเคลื่อนเครื่องดนตรีเล็กๆ ในมือน้อยๆ ของเขา ปัญหาแรกๆ ที่พบและเราช่วยกันแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มที่วันหนึ่ง เครื่องดนตรีของเด็กชำรุด เด็กมาบอกว่าเขาเล่นไม่ได้แน่ๆ สายไม่มี นมไม่มี แต่เขาไม่รู้ว่าส่วนประกอบแต่ละอย่างของเครื่องดนตรีคืออะไร ผมจึงคิดว่าเราต้องเปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาสให้ได้ ผมให้เด็กไปสำรวจว่าเครื่องดนตรีอะไรชำรุดบ้าง แรกๆ เด็กๆ ก็จะมาชี้ว่าอันนี้อันนั้นชำรุดแต่ระบุเป็นชื่อไม่ได้ แสดงว่าเขาไม่รู้จักแล้ว ผมจึงวางเงื่อนไขความรู้ ให้เขาเรียนรู้ชื่อและส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องดนตรีคือซึงและซะล้อก่อนเป็นอันดับแรก



ใครจะรู้ว่าซะล้อ ส่วนไหนเป็นหย่อง ส่วนไหนเป็นนม ปาก รัดอก คันชัก อยู่ไหน คืออะไร ถ้าเด็กไม่เรียนก็จะไม่รู้เลย ซึ่งเหล่านี้คือภูมิปัญญาที่สั่งสมสืบทอดมาของท้องถิ่นที่เราสอดแทรกเข้าไปในตัวเด็กผ่านกระบวนการสอนของครู จากนั้นผมจึงให้ใบงานเด็กไปสืบค้นว่าสิ่งที่ชำรุดคืออะไรบ้างและโยนคำถามกับเขาว่าวัสดุอุปกรณ์ที่เขาใช้ทำเครื่องดนตรีคืออะไรบ้าง เป็นกุศโลบายให้เขาค้นพบและได้ทำโครงงานไปในเวลาเดียวกัน แต่เรายังไม่บอกเขาว่าเป็นโครงงาน คราวนี้เขาก็มาบอกว่าอุปกรณ์ไม้เขาชำรุด เขาจะเอาอะไรมาซ่อมดี เราก็ถามเขาว่าที่บ้านลูกมีไม้อะไรน่าจะใช้แทนได้บ้าง วันรุ่งขึ้นเขาก็เอาไม้ไผ่จากที่บ้านมาหั่น มาผ่า มาวัดกันเอง เช่นกันกับซะล้อที่ไม่มีสาย ซึ่งปกติเราจะใช้สายกีตาร์เพราะจะมีเสียงกังวานขึ้น แต่เราก็ให้เด็กเขาคิด เขาเสนอให้นำสายเบรครถจักรยานและสายลวดมาทดแทนไม่ต้องซื้อ จุดนี้ผมต้องการจะบอกเขาว่า การใช้สิ่งของที่พอเหมาะพอดีกับตัวเองทำอย่างไร เป็นการฝึกให้เขา มีเหตุผล ผมไม่ได้ใส่ใจว่าเด็กจะต้องเล่นได้หรือใช้ได้ดี แต่สนใจที่ว่าพอใช้ได้ และใช้อย่างคุ้มค่า อันนี้เป็นเรื่องของ ความพอประมาณ ที่เราสอดแทรกให้เขาได้รู้จัก และเวลาที่เขาไปเล่นที่งานไหนแล้วของชำรุด เขาจะเกิดกระบวนการแก้ไขปัญหา เป็น การมีภูมิคุ้มกัน ในการคิดและการทำงาน ดนตรีแห่งความพอเพียงของเราจึงเกิดเป็นเพลงขึ้นมา


คราวนี้เด็กอยากมีเวที เราจะไปเล่นได้ที่ไหน พอดีโรงพยาบาลลำพูนตั้งอยู่หน้าโรงเรียน เราจึงไปติดต่อโรงพยาบาล ซึ่งมีหัวหน้าพยาบาลเป็นเพื่อนกัน เขาบอกว่าที่โรงพยาบาลมีโครงการจิตอาสาด้วย จึงเอานำวงดนตรีของเด็กๆ ไปเล่นที่โรงพยาบาล ผมต้องการให้เด็กเกิดจิตบริการสาธารณะขึ้น เป็นการเติมน้ำใจให้กับชุมชน เป็น เงื่อนไขคุณธรรม ในเรื่องของจิตอาสาให้เขารู้จักการให้ที่เป็นรูปธรรม ทำให้เด็กได้รับรู้ ที่สำคัญที่สุด ผลตอบแทนที่เขาได้รับคือเขาเกิดความภาคภูมิใจและความสนุกสนาน มีความสุขกับการเรียนรู้ เป็นการพัฒนาตัวเขาเองอย่างยั่งยืน


ผลลัพธ์อีกอย่างของการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงกับการสอน เมื่อเทศบาลเมืองลำพูนได้จัดประกวดโครงงานของนักเรียนขึ้น โครงงานดนตรีแห่งความพอเพียงของเราที่เด็กๆ ทำโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นโครงงานยังได้รับรางวัลที่ 3 ซึ่งนำให้เกิดความภาคภูมิใจมาให้เด็กๆ คุณครูผู้สอน ตลอดจนผู้ปกครอง ทั้งนี้ การทำงานของผมน่าจะเสร็จสิ้นลงไปเมื่อครั้งการเรียนการสอนเกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องดนตรี หากแต่ความเป็นครูซึ่งจะต้องพัฒนางานของตัวเองอยู่เสมอยังอยู่ในความคิดของผม จึงเริ่มเขียนรายงานการเรียนการสอนในเรื่องดนตรีแห่งความพอเพียงนี้ขึ้นในรูปแบบการวิจัยในชั้นเรียน และใช้ชื่อ
การพัฒนากิจกรรมชุมนุมดนตรีพื้นเมือง วงสะล้อซอซึงเรื่องการซ่อมแซมเครื่องดนตรีพื้นเมืองด้วยตนเองโดยวิธีการสอนแบบโครงงาน ซึ่งมีผลการดำเนินงานทำให้เห็นพัฒนาการในตัวเด็กๆ เกิดขึ้นเป็นที่น่าพอใจ


และก่อนจะจบเรื่องเล่าในครั้งนี้ ผมในฐานะผู้ปฏิบัติการสอนยังได้ค้นพบการทำงานที่จะทำให้การบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การเรียนการสอนได้แนบสนิทมากยิ่งขึ้น โดยมีหลักและวิธีคือ ครูผู้สอนควรสร้างบรรยากาศในการเรียนโดยการจัดบรรยากาศให้มีความสุขสนุกสนาน ครูและนักเรียนมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะใหักัน เป็นบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด อันจะนำไปสู่บรรยากาศของความรัก ความอบอุ่น ความศรัทธา ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น สร้างเสริมปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียนในชั้นเรียนด้วยกัน


นอกจากนี้ ครูผู้สอนยังต้องไม่ลืมหลักการการได้รับการยอมรับ การยกย่องชมเชย การเปิดโอกาสการมีส่วนร่วม ความสามัคคี ความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อกลุ่ม ความเอื้ออาทร ความซื่อสัตย์ ความพากเพียร ความอดทน และที่สำคัญยิ่งคือบรรยากาศที่ส่งเสริมปัญญาด้วยการกระตุ้นกระบวนการคิด การรับ – แลก -เลือก แนวทางการตัดสินอย่างประนีประนอมในกลุ่มที่มีสมาชิกแตกต่างหลากหลาย การใช้เหตุผลแทนอารมณ์ การคำนึงถึงผลที่ติดตามมา และการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี เช่นนี้แล้วจะนำไปสู่การสร้างฐานนิสัยให้คุ้นเคยกับค่านิยมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกิดการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ครอบครัวได้

กล่าวโดยสรุป กระบวนการเรียนการสอนของผมจึงเป็นการสอนที่เน้นกระบวนการสั้นๆ 3 ขั้นตอน คือ การสอนให้เด็กเป็น การเห็นให้เด็กรู้ และการให้นักเรียนปฏิบัติ นั่นเอง

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองการว่าสิ่งที่ได้รับจากการมาทำงานตรงนี้เป็นการทำหน้าที่ของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของข้าราชการครูไทย ที่ได้นำหลักการสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสอดแทรกสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน เกิดพลัง เกิดภูมิคุ้มกันในการทำงาน มีความสุขใจ และเต็มใจที่ได้ทำงานนี้ และภาคภูมิใจกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของพลังการขับเคลื่อนองค์ปรัชญาที่เผยแพร่สู่รากหญ้าของปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะเยาวชน - ของชาติในอนาคต.

อ้างอิง : หนังสือ “ประสบการณ์จริงบนเส้นทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จัดทำโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล เว็บลิงก์
http://goo.gl/mfPkji