การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการละเล่นดนตรีพื้นบ้านชาวกูย จังหวัดศรีสะเกษ ปีที่ 1

สืบสานสำเนียง “เสียง” ชาวกูย

เวลาผู้สูงอายุมาเล่นดนตรีต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม พวกเราก็แค่มอง หรือรำตามเฉยๆ พอมาเริ่มทำโครงการนี้ เราต้องรู้ที่มา ต้องรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเล่นได้ เราก็ต้องมาแกะตัวโน้ต สำหรับพวกเรามันยากมาก เราต้องใช้ความพยายามมาก...ทุกคนต่างตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ เพราะถือเป็นครั้งแรกของชุมชนที่มีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านให้เป็นระบบ และง่ายต่อการส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไป


บ้านรงระ หมู่บ้านชาติพันธุ์กูย ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 48 หลังคาเรือน มีดนตรีพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาล้ำค่าของชุมชน แต่ของล้ำค่านี้อยู่ในมือของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ที่ทยอยจากไปทีละคนสองคน คนรุ่นใหม่จึงมิอาจอยู่เฉย พวกเขาคิดที่จะเรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาการละเล่นดนตรีพื้นบ้านของชาวกูยไว้ก่อนจะเลือนหายไป...



+ สืบค้นก่อนสืบสาน

ต่าย-สุกัญญา แยงมาส เล่าว่า ดนตรีพื้นบ้านชาวกูย เป็นสำเนียงเฉพาะถิ่นที่สะท้อนทั้งความสุข ความรื่นเริง ปัจจุบันชาวบ้านรงระยังคงมีการเล่นดนตรีพื้นบ้านอยู่บ้างในงานมงคล งานบุญ หรือในโอกาสที่มีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมเยือน แต่ปัจจุบันเหลือคนเล่นเป็นอยู่ไม่มาก เธอและเพื่อนๆ ซึ่งประกอบด้วย อวย-เจนจิรา แสงมาศ นุ่น-สุภาพร พันโนฤทธิ์ กิ๊ฟ-ศิริพร สงพิมพ์ ขวัญ-มาลินี ทวีชาติ และเพชร-วงศ์เพชร ชัยวิเศษจึงรวมตัวกันทำโครงการสืบสานภูมิปัญญาการละเล่นดนตรีพื้นบ้านชาวกูยขึ้น ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เยาวชนในหมู่บ้านได้มีโอกาสเรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาการละเล่นดนตรีพื้นบ้านของชาวกูย ถือเป็นการ “เปิดพื้นที่การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนมากขึ้น

โดยเป้าหมายของโครงการนี้มี 2 ส่วนคือ การสืบค้นประวัติชีวิตครูภูมิปัญญากับการสืบค้นความรู้เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งทีมวางแผนการทำงานไว้คือ เริ่มต้นด้วยการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับรู้ถึงที่มาที่ไปของโครงการและวิธีการดำเนินโครงการ เพื่อขอความร่วมมือคนในชุมชนให้ช่วยสนับสนุน ทำพิธีไหว้ครูภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้าน เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองในฐานะที่จะขอเป็นศิษย์ ก่อนที่เยาวชนจะช่วยกันสืบประวัติชีวิตครูภูมิปัญญาว่ามีใครอยู่ที่ไหน และเล่นอะไรเป็นบ้าง

“การสืบค้นประวัติครูภูมิปัญญาจะรวบรวมตั้งแต่เป็นใคร เกิดที่ไหน ประวัติครอบครัว แต่ที่เน้นคือ เริ่มเล่นดนตรีเมื่อไร ใครสอน ถนัดเครื่องดนตรีประเภทใด ประดิษฐ์เครื่องดนตรีเองได้ไหม เล่นเพลงอะไรเก่งบ้าง” อวยเล่าถึงกรอบคำถามในการรวบรวมประวัติครูภูมิปัญญา

สำหรับวิธีการสืบค้นนั้นต่ายบอกว่า ทีมจะไปพร้อมกันทั้งกลุ่ม แต่จะแบ่งกันสัมภาษณ์ เช่น หากเธอสัมภาษณ์ก็จะมีนุ่นหรือกิ๊ฟช่วย หากอวยสัมภาษณ์ก็มีขวัญหรือเพื่อนอีกคนช่วย ซึ่งบรรยากาศระหว่างการสัมภาษณ์ก็เป็นไปด้วยความสนุกสนาน จะมีปัญหาบ้างเรื่องการสื่อสาร เพราะแต่ละท่านค่อนข้างสูงวัย หูไม่ค่อยได้ยินแล้ว ต้องพูดใกล้ๆ และบางทีท่านก็ตอบไม่ตรงคำถาม หากเป็นเช่นนั้นทีมต้องยกตัวอย่างประกอบ แล้วถามใหม่อีกครั้ง

ส่วนความรู้เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน ทีมงานกำหนดกรอบประเด็นในการรวบรวมไว้ เช่น วิธีการเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ วิธีการประดิษฐ์เครื่องดนตรี อุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์เครื่องดนตรี การเล่นดนตรีในงานมงคลหรืองานอวมงคล ฯลฯ

“การเริ่มด้วยการศึกษาประวัติชีวิตของครูภูมิปัญญา ทำให้พวกเขาทราบถึงวิถีชีวิตของครูภูมิปัญญาแต่ละท่านที่กว่าจะเชี่ยวชาญชำนาญในการเล่นดนตรีอย่างทุกวันนี้ ต้องมีการฝึกฝนอย่างอุตสาหะ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่เยาวชนควรใส่ใจทำตาม”

ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูลข้างต้น ทำให้พวกเขาได้ทราบถึงประวัติชีวิตของครูภูมิปัญญาเช่น นายดัน ทวีชาติ นายคูณ นาคนวล นายน้อม กระสังข์ ทั้ง 3 ท่านเป็น ครูภูมิปัญญาด้านดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีประเภทซอ ซึ่งครูทุกท่านเป็นศิษย์ร่วมครูคนเดียวกัน การเริ่มด้วยการศึกษาประวัติชีวิตของครูภูมิปัญญา ทำให้พวกเขาทราบถึงวิถีชีวิตของครูภูมิปัญญาแต่ละท่านที่กว่าจะเชี่ยวชาญชำนาญในการเล่นดนตรีอย่างทุกวันนี้ต้องมีการฝึกฝนอย่างอุตสาหะ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่เยาวชนควรใส่ใจทำตาม และที่สำคัญการเข้าไปพูดคุยสัมภาษณ์ครูภูมิปัญญายังเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ให้ได้รู้จักคุ้นเคยกันก่อนที่จะเรียนจะสอนกันต่อไป



+ เรียนให้รู้...รู้ให้ลึกซึ้ง...จึงสืบทอดได้

เมื่อรู้จักและมีความรู้พื้นฐานด้านประวัติความเป็นมาของดนตรีพื้นบ้านแล้ว ทีมงานจัดให้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้านจากครูภูมิปัญญาสู่กลุ่มเยาวชนที่มีความสนใจ ซึ่งแต่ละคนสามารถเลือกฝึกฝนกับเครื่องดนตรีที่ชื่นชอบได้ โดยกำหนดนัดหมายเรียนในตอนค่ำ ตั้งแต่หกโมงเย็นของทุกวัน ที่ศาลากลางบ้าน

“สาเหตุที่เราชวนน้องๆ มาทำด้วย เพราะถ้าเราทำแค่ 7-8 คนจะรวมเป็นกลุ่มเยาวชนได้อย่างไร เราเป็นรุ่นพี่ ถ้าไม่สอน น้องก็จะไม่รู้ว่าต้องทำแบบไหน มันก็ต้องมีคนสืบสานต่อ”

“กิจกรรมที่พาน้องๆ ทำในโครงการคือ การรวมกลุ่มน้องๆ ฝึกเล่นดนตรีพื้นบ้าน มีทั้งการเล่นดนตรี และการฟ้อนรำ สำหรับน้องผู้หญิงจะเป็นการฟ้อน การรำ ส่วนน้องผู้ชายจะจับกลุ่มเล่นดนตรีกับผู้สูงอายุ แต่แกนนำต้องเล่นทั้งดนตรีและรำไปพร้อมกัน” อวยเล่าถึงกิจกรรมที่ได้ดำเนินการ

ต่ายบอกว่า การชักชวนน้องๆ มาร่วมกิจกรรมใช้วิธีการประกาศเสียงตามสาย ขอความร่วมมือจากน้องๆ ให้มารวมกัน ซึ่งโดยพื้นฐานของเยาวชนที่นี่มีความสามัคคีกันอยู่แล้ว แค่ประชาสัมพันธ์ก็สามารถรวมกลุ่มน้องได้ประมาณ 20 คน พวกเราแบ่งกันดูแลตามกิจกรรมที่น้องอยากทำ โดยก่อนเริ่มกิจกรรมทีมจะจัดประชุมทำความเข้าใจกับน้องๆ ว่า มีการรำ เล่นซอ ฉิ่ง ฉาบ ให้เลือกเรียนตามความสนใจ โดยมีครูภูมิปัญญาสอนเป็นกลุ่มๆ บางครั้งก็จะมีการรวมเล่นเป็นวงใหญ่บ้าง

“สาเหตุที่เราชวนน้องๆ มาทำด้วย ถ้าทำแค่ 7-8 คนจะรวมเป็นกลุ่มเยาวชนได้อย่างไร เราเป็นรุ่นพี่ ถ้าไม่สอน น้องก็จะไม่รู้ว่าต้องทำแบบไหน มันก็ต้องมีคนสืบสานต่อ ซึ่งกิจกรรมที่เราสอนน้องจะใช้เวลาในช่วงเสาร์ อาทิตย์ และหลังเลิกเรียนเวลา 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม อย่างมาก 3 ทุ่มไม่เกินนี้” นุ่นอธิบาย

เมื่อได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง ทั้งการสอบถามผู้รู้ และการสอนน้องๆ เยาวชนทุกคนต่างรู้ซึ้งว่า การดูกับการลงมือทำมีความต่าง จากที่เคยเห็นผู้สูงอายุเล่นดนตรีต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม ดูเหมือนจะง่าย แต่เมื่อได้มาสัมผัสกับการเล่นดนตรีพื้นบ้านในครั้งนี้จึงซาบซึ้งว่า ยากมาก เพราะระบบการสอนของผู้สูงวัยกับคนรุ่นใหม่แตกต่างกัน ผู้สูงวัยสอนโดยการทำให้ดู พาทำ แต่เด็กรุ่นใหม่จะเรียนดนตรีจากตัวโน้ต จึงเป็นหน้าที่ของแกนนำที่ต้องช่วยกันหาวิธีถ่ายทอดความรู้ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ซึ่งทีมก็ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์จากการเรียนดนตรีในวงดุริยางค์ของโรงเรียนและการเล่นกีตาร์มาปรับใช้ในการเทียบเสียงแกะตัวโน้ตจากเสียงดนตรีของครูภูมิปัญญา

“เวลาผู้สูงอายุมาเล่นดนตรีต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม พวกเราก็แค่มอง หรือรำตามเฉยๆ พอมาเริ่มทำโครงการนี้ เราต้องรู้ที่มา ต้องรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเล่นได้ เราก็ต้องมาแกะตัวโน้ต สำหรับพวกเรามันยากมาก เราต้องใช้ความพยายามมาก”

“เวลาผู้สูงอายุมาเล่นดนตรีต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม พวกเราก็แค่มอง หรือรำตามเฉยๆ พอมาเริ่มทำโครงการนี้ เราต้องรู้ที่มา ต้องรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเล่นได้ เราก็ต้องมาแกะตัวโน้ต สำหรับพวกเรามันยากมาก เราต้องใช้ความพยายามมาก ตอนนี้แกะได้ 2 คือ เพลง กิ๊กกอ กิ๊กแก และเพลงกันตรึม ความยากอยู่ที่เราต้องเทียบโน้ตโดยดูว่า ครูภูมิปัญญาสีสายใด ระหว่างสายในกับสายนอก ถ้าเราดูแต่การสลับนิ้ว เราก็จะไม่รู้ว่าสีสายในหรือว่าสายนอก นิ้วใดเป็น โด หรือเร ซอลเสียงสูง หรือซอลเสียงต่ำ” ต่ายบอกเล่าความรู้สึก


+ เมื่อตัวโน๊ตเปลี่ยนคน

แม้ขั้นตอนของการแกะตัวโน๊ตจะยุ่งยากซับซ้อนเพียงใด แต่ก็ได้สร้างการเรียนรู้ให้กับทีมงานไม่น้อย

ต่ายบอกว่า ช่วงของการแกะตัวโน้ต บางครั้งก็ทำให้ทีมงานมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่จะถกเถียงกันว่าเป็นเสียงใด สีสายนอก หรือสายใน จับนิ้วไหน ซึ่งทีมก็พยายามหาทางออกร่วมกันด้วยการช่วยกันดู คนหนึ่งดูนิ้ว คนหนึ่งดูการสี ซึ่งทุกคนต่างตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ เพราะถือเป็นครั้งแรกของชุมชนที่มีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านให้เป็นระบบ และง่ายต่อการส่งต่อสู่คนรุ่นต่อไป

ขณะที่อวยเสริมว่า พวกเธอและน้องๆ ไม่ได้เรียนสีซอเพียงอย่างเดียว แต่ต้องวนเรียนทั้งรำ ฉิ่ง ฉาบ ไปด้วยพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อให้เล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้น แต่ที่เลือกแกะโน้ต 2 เพลงนี้ เพราะเพลงกิ๊กกอ กิ๊กแกเป็นเพลงพื้นเมืองที่นิยมเล่นในงานเห่ งานบุญ งานกฐิน งานมงคล เป็นเพลงพื้นบ้านของที่นี่ที่อื่นจะไม่มี ส่วนเพลงกันตรึมเป็นเพลงที่ผสมผสานเขมรกับส่วย เป็นเพลงที่มีความสนุกสนาน สามารถเล่นในงานรื่นเริงทั่วไป

ปัญหาเรื่องการไม่ตรงเวลา เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของแกนนำได้มากที่สุด วิ นุ่น ขวัญ สารภาพว่า พวกเธอเคยมีพฤติกรรมสายเสมอ แต่เมื่อต้องมาเป็นแกนนำจัดกิจกรรม จึงต้องปรับตัว ทำให้กลายเป็นคนตรงต่อเวลามากขึ้น ด้วยสำนึกว่า แกนนำต้องมาเตรียมงาน เตรียมสถานที่ก่อนที่สมาชิกคนอื่นๆ จะมาถึง เมื่อตั้งใจปรับปรุงตัวเอง จึงกลายเป็นว่าทำให้เกิดความรับผิดชอบมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว การฝึกเล่นดนตรีที่ต้องมีสมาธิจดจ่อกับตัวโน้ต พัฒนาให้จิตมีสมาธิจึงเป็นสิ่งติดตัวไปถึงการเรียนในโรงเรียน

“เวลาน้องมาไม่ตรงเวลาก็จะนำปัญหามาคุยกับน้องๆ ว่า ให้มาให้ตรงเวลา เพราะว่าแต่ละคนก็มีภารกิจของตนเอง ถ้าทุกคนมาตรงเวลาก็จะเริ่มประชุมได้เร็ว น้องจะได้กลับไปทำภารกิจของตนเอง ส่วนใหญ่น้องๆ จะมาช้าอย่างมากที่สุดประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อได้คุยกับน้องแล้วน้องก็มาเร็วขึ้น แล้วบางคนมาก่อนเวลาด้วย มาช่วยจัดสถานที่รอ” อวยเล่า

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ภายในชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ต่ายเล่าว่า กิจกรรมที่ทำช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเยาวชนกับชุมชน เพราะเวลาที่น้องๆ ซ้อมดนตรีก็จะมีผู้นำ หรือชาวบ้านคนอื่นๆ แวะเวียนมาดู พร้อมทั้งให้คำแนะนำและให้กำลังใจ ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของทีมแกนนำเองก็แนบแน่นมากขึ้น เพราะได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยใจคอของกันและกัน ได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างทางความคิด วิธีการทำงานของเพื่อน ซึ่งทำให้เกิดการปรับตัว รู้จักการให้อภัยเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้

ณ วันนี้เด็กเยาวชนในบ้านรงระ อย่างน้อย 1 คนก็เล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านได้ 1 ชิ้น แม้เพลงที่เล่นจะยังไม่หลากหลาย แต่ก็อยู่ในเส้นทางของการสั่งสมประสบการณ์ ทุกคนสนุกกับการเรียนรู้ และรู้สึกชิดใกล้กับครูภูมิปัญญา ความเสี่ยงจากการหลงผิด ติดยา ท้าซิ่ง ชู้สาว ที่เป็นสถานการณ์ปัญหาของเด็กเยาวชนในสังคมปัจจุบัน ถูกขจัดออกไป ด้วยเพราะที่นี่ ที่บ้านรงระ เด็กๆ มีพื้นที่เรียนรู้ที่ศาลากลางบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ดึงดูด ยึดโยงเยาวชนไว้ โดยไม่ต้องแสวงหาสิ่งเพลิดเพลินใจจากสิ่งอื่นใด

­

+ ถูกผิด...คือการเรียนรู้

จำรูญ นาคนวล ผู้ใหญ่บ้านบ้านรงระ บอกว่า ในฐานะผู้นำที่ต้องหนุนเสริมการทำงานของเยาวชน เขาจึงปล่อยให้เยาวชนคิดและตัดสินใจเอง ทั้งเรื่องการบริหาร และการอยู่ร่วมกัน ผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่ว่ากัน เพราะมันเป็นเรื่องของการเรียนรู้

“สิ่งที่เยาวชนเข้ามาปรึกษาก็มี เช่น เวลาจะจัดกิจกรรมเขาก็จะมาถามว่า ผู้ใหญ่ว่างไหม หรือขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ เราก็สนับสนุนเปิดเครื่องเสียงให้ แต่ให้เขาประกาศเอง เรียกกันเอง ถ้าเราเปิดเวทีให้เขา เขาก็จะมีความกล้า จะพูดผิดพูดถูกอย่างไร ไม่เป็นไร ให้เขาได้ฝึกความกล้าแสดงออก กล้าจับไมค์คุยก็พอแล้ว”

“ในฐานะผู้นำที่ต้องหนุนเสริมการทำงานของเยาวชน เขาจึงปล่อยให้เยาวชนคิดและตัดสินใจเอง ทั้งเรื่องการบริหาร และการอยู่ร่วมกัน ผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่ว่ากัน เพราะมันเป็นเรื่องของการเรียนรู้”

ทั้งนี้ผู้ใหญ่จำรูญเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า การที่เยาวชนได้มีความรับผิดชอบในการทำโครงการเอง ทำให้พวกเขาพัฒนาทักษะในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการช่วยเหลือชุมชน โดยนำแนวคิดจากการทำโครงการหลายๆ วิธี มาช่วยชุมชนเวลามีงาน มีกิจกรรม การได้ลงมือทำโครงการสามารถเปลี่ยนแปลงเยาวชนให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี

นอกจากจะพัฒนาเรื่องทักษะในการทำงานและความรับผิดชอบแล้ว ปรากฏการณ์สำคัญที่พบเห็นได้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนและผู้สูงอายุที่ก่อเกิดขึ้น

“ผู้สูงอายุดูมีชีวิตชีวามากขึ้นเวลาที่ต้องมาสอนเยาวชน ผู้สูงอายุจะดีใจ จะรีบมา รู้สึกอยากเล่น อยากสอน เพราะรู้สึกว่ามีคนให้ความสำคัญ กิจกรรมการเรียนการสอนดนตรีพื้นบ้านจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเด็กและผู้สูงอายุเข้าหากัน ตอนนี้เยาวชนมีอะไรเขาจะรีบไปหาผู้สูงอายุ ถามหากัน ปรึกษากัน ผูกพันกันมากขึ้น”

ในฐานะผู้นำชุมชน เมื่อเห็นการเกื้อหนุนระหว่างวัย ทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศที่อบอุ่นภายในชุมชน ขณะเดียวกันความหลากหลายของเยาวชนที่ก้าวเข้ามามีบทบาทช่วยเหลืองานต่างๆ ในชุมชนอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้รู้สึกคลายใจที่จะมอบหมายงานต่างๆ ให้เยาวชนรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่จำรูญหมดห่วง และเชื่อมั่นว่า ดนตรีพื้นบ้านของชาวกูยจะยังคงอยู่คู่ชุมชนบ้านรงระต่อไป

ขณะที่สรรณ์ญา กระสังข์ พี่เลี้ยงโครงการบอกว่า วิธีดูแลงานของน้องๆ เขาจะดูจากเฟสบุ๊คว่าช่วงนี้น้องทำอะไรไปบ้างแล้ว ตอนแรกคิดว่าน้องๆ ไม่น่าจะทำได้ แต่พอมาดูวิธีบริหารจัดการก็เห็นว่า พวกเขาสามารถบริหารจัดการโครงการได้ วางแผนงานตามกิจกรรมที่คิดได้ ซึ่งตอนแรกคิดว่าโครงการนี้อาจต้องคืนเงินในส่วนของบ้านรงระ เพราะอีกบ้านเขาขึ้นงานกันพรึ่บพรั่บๆ แต่ช่วงหลังเมื่อได้เข้ามาสังเกตการทำงาน กระบวนการเก็บข้อมูลก็ได้เห็นความตั้งใจ คิดว่าทักษะที่สำคัญที่มีคือ เรื่องการบริหารจัดการโครงการที่แต่ก่อนไม่เชื่อว่าน้องจะทำได้ เขาก็ได้เปลี่ยนมุมมองว่าเยาวชนสามารถทำได้

นอกจากนี้สรรณ์ญายังสะท้อนว่า เขาได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนที่มีการพัฒนาทักษะการทำงานมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการจัดโครงสร้างการทำงานในทีม การทำงานข้อมูล การจัดระบบข้อมูล จัดระบบงาน การบันทึก ซึ่งทุกคนสามารถทำให้เห็นโครงสร้างของเนื้องานว่า กิจกรรมที่ทำ ได้ทำอะไรบ้าง บันทึกเนื้อหา และบันทึกภาพถ่าย ซึ่งยืนยันว่า การจัดระบบเนื้อหาเขาก็สามารถทำได้

สรรณ์ญาบอกอีกว่า การทำงานของเยาวชนบ้านรงระ เป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชนมากขึ้น โดยมีผู้ใหญ่จำรูญเป็นผู้ให้โจทย์ มอบหมายให้เยาวชนรับงานวัฒนธรรมภาคกลางคืนรับงานแสดงหรือสรุปเนื้อหาวิชาการ ซึ่งพวกเขาสามารถใช้กระบวนการ สร้างบรรยากาศให้คนสนุกสนานได้เป็นอย่างดี

“ผมสนับสนุนแนวคิดว่า การทำงานของเยาวชน “หัวใจสำคัญ” คือ ต้องผ่านการทำงานจริง เพราะเด็กสามารถทำได้ทุกอย่างถ้าเราเปิดโอกาส และการทำงานของเยาวชนตรงนี้ก็เปลี่ยนมุมมองผมไปเยอะ”

เสียงเพลงอันไพเราะที่แฝงไว้ด้วยความสนุกสนานยังคงดังกังวานทุกย่ำค่ำที่บ้านรงระ เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่า จึงตั้งใจที่จะสืบทอดสานต่อภูมิปัญญาพื้นบ้าน ด้วยการเรียนรู้ความสำคัญของดนตรีพื้นบ้านในงานวัฒนธรรมต่างๆ ของชุมชน รวมทั้งการจัดเก็บความรู้ด้านวิธีการทำเครื่องดนตรีโบราณของชาติพันธุ์กูย เช่น ซอ ตัวโน้ตดนตรี วิธีการเล่น ทำนองเฉพาะของชาติพันธุ์กูย อาทิ กิ๊กกอ กิ๊กแก ทำให้กลุ่มเยาชนเกิดพลังมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาของชุมชน เช่น การจัดกระบวนการเรียนรูชุมชนจัดการตนเองเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง บนฐานวิถีชีวิตชาวกูยบ้านรงระ โดยเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการเติบโตทางความคิด ความรับผิดชอบ และการฝังรากของเชื้อชน ที่หยั่งลึกลงไปในหัวใจของลูกหลานชาวกูยบ้านรงระ แววตาเปี่ยมสุขของผู้สูงอายุสะท้อนความรู้สึกที่ไม่ต้องบรรยายความถึงความสุขและความอบอุ่นที่ได้อยู่ท่ามกลางลูกหลาน แต่ที่สำคัญที่สุดคือการทำงานของคนวัยเยาว์ยังสร้างผลสะเทือนไปถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพี่เลี้ยงที่คร่ำหวอดในกระแสงานพัฒนาว่า “เยาวชนเติบโตและพัฒนาได้ ถ้าผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ สร้างโอกาส อย่างเข้าใจ”



โครงการสืบสานภูมิปัญญาการละเล่นดนตรีพื้นบ้านชาวกูย

แกนนำเยาวชน  1) เจนจิรา แสงมาศ  2) สุกัญญา แยงมาส  3) สุภาพร พันโนฤทธิ์ 4) ศิริพร สงพิมพ์  5) มาลินี ทวีชาติ  6)วงศ์เพชร ชัยวิเศษ

พี่เลี้ยงโครงการ   จำรูญ นาคนวล, สรรณ์ญา กระสังข์