"โซดละเว" ผ้าไหมลายหางกระรอกพบทางรอด เยาวชนศรีสะเกษร่วมสืบสาน


­

"ศรีสะเกษ" เป็นจังหวัดหนึ่งในเขตภาคอีสานตอนล่าง มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ส่งผลถึงศิลปวัฒนธรรมที่ตกทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่รู้จักกันดีคือ “ผ้า”หลากชนิด แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป การนุ่งผ้าพื้นบ้านกลับไม่เป็นที่นิยมสู้เสื้อผ้าสำเร็จรูปไม่ได้ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มี“คนรุ่นใหม่ในชุมชน”ไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องล้าหลัง ไม่อยากสืบทอด แต่เห็นเป็นเรื่องสำคัญที่แสดงถึงอัตลักษณ์และความเป็นกลุ่มก้อนของชุมชน จึงรวมกลุ่มสืบสานในชื่อ “กอนกวยโซดละเว” กับ “โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว)” สรุปสุดท้ายนอกจากได้สืบสานวัฒนธรรมผ้าพื้นบ้านอย่าง “ผ้าไหมลายหางกระรอก” แล้ว ยังมีส่วนเชื่อมร้อยถักทอผู้ใหญ่ในชุมชน และทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆ ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติด ความรุนแรง และพฤติกรรมไม่เหมาะสม


­


“ครูแอ็ด” สิบเอกวินัย โพธิสาร อายุ 24 ปี หัวหน้ากลุ่มกอนกวยโซดละเว เล่าที่มาของโครงการว่า เมื่อพูดถึง “โซดละเว” หรือ “ผ้าไหมลายหางกระรอก” ทุกคนต่างต้องพูดถึงชุมชนของพวกเขาคือชุมชนบ้านแต้พัฒนา ชุมชนชาวกวยใน ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โดยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ผู้หญิงทุกบ้านต้องฝึก - ต้องทำให้เป็น และถือเป็นอาชีพเสริมยามว่างจากการเกษตรสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น การนำผ้าไหมไปใช้ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไปขึ้นกับวาระและโอกาส เช่น “งานบวช” นาคจะนุ่งผ้าไหมลายหางกระรอกยาวโจงกระเบนเข้าพิธีอุปสมบท “พิธีกรรมบุญเทศน์มหาชาติ” จะใช้ผ้าไหมลายหางกระรอกในการห่อพระคัมภีร์ บางพิธีก็ต้องใช้ผ้าหลายชนิด อย่าง “พิธีกรรมสู่ขวัญข้าว” ต้องใช้ทั้งผ้าซิ่นไหมเข็นควบ ผ้าไหมลายหางกระรอกยาวโจงกระเบน ผ้าโสร่งไหม และผ้าไหมมัดหมี่คั่นผ้าไหมลายหางกระรอกในการเซ่นไหว้พระแม่โพสพเพื่อขอพรให้ช่วยปกปักรักษาให้ข้าวและน้ำอุดมบริบูรณ์


ทว่าในระยะหลังเยาวชนในชุมชนไม่ได้สนใจภูมิปัญญาการทอผ้าไหมดังคนรุ่นก่อน แต่หันไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามยุคสมัยมาใส่แทน ผ้าไหมลายหางกระรอกจึงค่อยๆ สูญหาย




จากปัญหานี้ เมื่อ โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เปิดรับสมัครเยาวชนให้รวมกลุ่มทำโครงการสร้างสรรค์ชุมชน ครูแอ็ดและน้องๆ ประกอบด้วย เต๋า - อภิชาติ วันอุบล, ลม - วิภา โพธิสาร, อุ - สายสุดา วันอุบล, คิด - สุกฤตยา ทองมนต์ และกั้ง - ฐิตานันท์ หงษ์นภวิทย์ โดยมีผู้ใหญ่นพดล โพธิ์กระสังข์เป็นที่ปรึกษา จึงเสนอโครงการเข้าขอรับการสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านแต้พัฒนาหันมาเห็นคุณค่าของการสืบทอดและสวมใส่ผ้าไหมลายหางกระรอก



­

­


ครูแอ็ดบอกว่าตลอด 6 เดือนของการทำโครงการเริ่มต้นจากการบอกกล่าวชุมชนให้รับรู้ว่าจะทำอะไร จากนั้นจึงประชุมทีมงาน เข้าหาครูภูมิปัญญาเพื่อสืบค้นข้อมูลประวัติความเป็นมา และกรรมวิธีการทอ จากนั้นจึงฝึกฝนการทอผ้าไหมโดยมีแม่ๆ ยายๆ ครูภูมิปัญญาคอยแนะคอยหนุน อาศัยเวลาว่างวันเสาร์ - อาทิตย์และช่วงเย็นหลังเลิกเรียนชวนกันมาย้อมสี แกว่งไหม ทอผ้า โดยมีน้องๆ เยาวชนในชุมชนกว่า 30 คนสนใจมาร่วมเรียนรู้ทำกิจกรรมที่บ้านครูแอ็ด ผลที่เกิดขึ้นคือผ้าไหมลายหางกระรอก 11 ผืนที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงเยาวชนตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไหมจนถึงการทอเป็นผืน ส่วนเพื่อนๆ น้องๆ คนอื่นก็ดูใส่ใจสืบสานการทอผ้าไหมลายหางกระรอกมากขึ้น ขณะที่ทำกิจกรรม ทุกคนต่างมุ่งมั่นตั้งใจ มีสมาธิ ได้ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ในการทอลาย กล้าลองผิดลองถูก กล้าตัดสินใจ สุดท้ายที่ชุมชนก็พลอยชื่นใจเมื่อเห็นเด็กและเยาวชนใฝ่ใจมาสืบทอด

“เด็กเล็กแกว่งไหม วางโบกเรียงให้เขาแกว่ง เด็กโตทอผ้าเป็นก็ให้ทอผ้าเลย ตกเย็นเด็กๆ ก็จะมาคอยถามว่าวันนี้มีอะไรให้ทำบ้าง พอสนิทสนมกันแล้วเขาก็กระตือรือร้นอยากทำมากขึ้น และยิ่งมีโครงการมาสนับสนุนก็เป็นกำลังใจให้อยากทำต่อไปเรื่อยๆ ส่วนตัวเป็นครูก็มองว่าถ้าเด็กเขาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์วันละนิดในแต่ละวัน มันจะค่อยๆ สะสมประสบการณ์ให้แก่เขาไปเรื่อยๆ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าน้องๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ฝึกนิสัยการทำงาน รับผิดชอบทำงานให้เสร็จในแต่ละวัน” ครูแอ็ดเล่าความคิดเบื้องหลัง



­

­

­

­


เมื่อการทำงานของเยาวชนผลิดอกออกผล ชุมชนก็อุ่นใจให้การตอบรับและสนับสนุน ลุงวรวุฒิ ศรีทองธนเดช อายุ 64 ปี กรรมการหมู่บ้านสะท้อนว่าก่อนหน้านี้ที่เด็กๆ มาบอกว่าจะทำโครงการก็รู้สึกไม่มั่นใจว่าจะทำได้ แต่ก็อยากให้ลองทำดู จึงให้คำแนะนำว่าถ้าจะทำต้องทำอย่างจริงจังนะ อย่าทำทิ้งๆ ขว้างๆ เพราะจะทำให้ชุมชนเสียชื่อเสียง ระยะแรกยอมรับว่ามีแอบไปดูบ้างเหมือนกันเวลาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมกันจนดึกดื่นที่บ้านครูแอ็ด เพราะกลัวว่าเขาจะทำอะไรไม่ดี และในชุมชนมียาเสพติดระบาด แต่เมื่อเห็นเด็กๆ ทำผ้าไหมอย่างจริงจัง และเห็นว่าปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กมั่วสุม ปัญหาเด็กขับรถออกนอกหมู่บ้านทุเลาลง ผู้ใหญ่ก็เริ่มวางใจ กลายเป็นว่าตอนนี้เห็นเด็กๆ เลิกเรียน แล้วไปทำกิจกรรมที่บ้านครูแอ็ด ผู้ใหญ่ก็หมดกังวล ไม่ต้องคอยเป็นห่วง

“กรรมการหมู่บ้านก็ประชุมเหมือนกันนะว่าถ้าเด็กเขาทำจริง ทอผ้าไหม แปรรูป ขายได้ เราก็อยากหาตลาดให้เขาหน่อย เมื่อเขาเรียนจบ ใครไปทำงานข้างนอกได้ก็ไป ส่วนใครเรียนไม่เก่ง ไม่อยากออกจากชุมชน ก็ยังมีงานทำอยู่บ้านได้ อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือเมื่อก่อนผู้ใหญ่ทอผ้าเด็กไม่เอาด้วย ไม่ค่อยอยากคุยกับผู้ใหญ่ บอกว่าล้าสมัยแล้ว ผู้ใหญ่เองเมื่อพูดแล้วเด็กไม่ฟังก็เลิกสนใจ แต่พอเด็กกลุ่มนี้เขาชี้ชวนกันเองแล้วทำได้สำเร็จ เด็กกล้าคิดกล้าคุยกับผู้ใหญ่ คุยกับผู้ใหญ่รู้เรื่อง ว่างๆ ก็มาอาสาช่วยงานชุมชน เราก็ดีใจที่เห็นเขาเปลี่ยนแปลง” ลุงวรวุฒิเล่า




ส่วน เต๋า – อภิชาติ วันอุบล แกนนำอีกคนบอกว่ามาทำโครงการนี้แล้วเมื่อทอผ้าได้ก็รู้สึกภูมิใจ และระหว่างทำกิจกรรมยังได้พูดคุย ได้เล่น ได้หัวเราะไปด้วยกันกับเพื่อน ก็ยิ่งสนุก มีความสุข หากตรงไหนเราทำไม่ได้ แม่ๆ ยายๆ ที่มาคอยช่วยคอยดูก็จะเข้ามาให้คำแนะนำ คิดว่ามาทำตรงนี้แล้วดี มีประโยชน์กว่าเที่ยวห้าง

“พวกผมเคยใส่โสร่งโซดละเวไปจัดนิทรรศการในห้างก็มีคนมาขอถ่ายรูปด้วย แล้วก็ขอยืมไปใส่ถ่ายรูป ถามใหญ่ว่าเราไปซื้อมาจากไหน ผมก็รู้สึกดีใจ รู้สึกว่านุ่งผ้าไหมโซดละเวแล้วมีคุณค่า ดีกว่าใส่กางเกงยีนส์” เต๋าเล่าอย่างภาคภูมิใจ

ส่วนแนวทางการทำงานต่อไปของกลุ่มกอนกวยโซดละเว ครูแอ็ดบอกว่า ทางกลุ่มกำลัง ศึกษาวิธีการทอผ้าไหมลายหางกระรอกด้วยสีธรรมชาติ เช่น แก่นเขให้สีเหลือง ไปถามคนเฒ่าคนแก่บอกว่ามีอยู่ต้นหนึ่งในวัดก็ไปค้นหาจนเจอ มะเกลือให้สีดำ ส่วนครั่งให้สีแดง และใบหูกวางให้สีเขียวเหลือง การย้อมสีธรรมชาติถึงแม้จะยากลำบากเพราะใช้เวลามาก ผืนหนึ่งต้องใช้เวลาย้อม 3 วัน 3 คืน แต่ก็มีคุณค่าและได้ราคาดีกว่า นอกจากนี้จะขยายไปถึงการเรียนรู้และสืบทอดวิธีการทอผ้าชนิดอื่นๆ ของ จ.ศรีสะเกษ พร้อมๆ กับ ศึกษาวิธีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ทำเป็นเสื้อสำเร็จรูป และกระเป๋า รวมทั้งจะ จัดทำพิพิธภัณฑ์ผ้าไหม เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลผ้าแต่ละชนิดให้คนรุ่นหลังได้ร่วมเรียนรู้ เกิดความภูมิใจในตนเอง ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิด และไม่ลืมตัวตนของตนเอง




สำหรับโครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) ของกลุ่มกอนกวยโซดละเว หมู่บ้านแต้พัฒนา ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เป็นหนึ่งใน 11 โครงการเยาวชน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ในจังหวัดศรีสะเกษให้มีสำนึกของความเป็นพลเมือง (Active Citizen) ร่วมดูแลและสร้างสรรค์ท้องถิ่นของตนให้น่าอยู่สืบต่อไป



เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

โซดละเว' ผ้าไหมลายหางกระรอก-เยาวชนศรีสะเกษร่วมสืบสาน

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน 58

หัวข้อข่าว :

โซดละเว ผ้าไหมลายหางกระรอกพบทางรอด เยาวชนศรีสะเกษร่วมสืบสาน

ขอขอบคุณเว็บไซต์ newswit.com ประจำวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 58


หัวข้อข่าว :

สืบสานงานไหมลายหางกระรอก

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 58