การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อชุมชนได้บริโภคผักอย่างปลอดภัย จ.ศรีสะเกษ ปีที่ 1

สวนผักปลอดภัย สร้างคนรุ่นใหม่ไม่ไร้สาระ

การทำโครงการไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเฉพาะแกนนำเท่านั้น แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเพื่อนเยาวชนในชุมชนอีกด้วย เพราะเมื่อเยาวชนได้ลงมือทำงานร่วมกัน ความสัมพันธ์และพฤติกรรมก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างน้อยวัยรุ่นชายหญิงที่เดิมต่างคนต่างอยู่กับพวกของตัว ก็ได้พูดคุยกัน ช่วยเหลือกันมากขึ้น


 

บ้านโนนคูณ-โนนคำ หมู่ 14 และหมู่ 2 ตำบลโนนค้อ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ มีครัวเรือนทั้งสิ้น 205 ครัวเรือน เด็กๆ สังเกตว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ซื้อผักตามตลาดนัด และตามรถพุ่มพวงที่มาเร่ขายในหมู่บ้าน พวกเขาจึงตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ทำไมคนในชุมชนต้องซื้อผักกิน” ทั้งๆ ที่ปลูกกินเองได้ และผักที่ซื้อมาจากไหน มีความปลอดภัยหรือไม่ หลังจากนั้นพวกเขาจึงร่วมกันคิดทบทวนสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชน มองเห็นว่าชุมชนมีทุนเดิมเรื่องการปลูกพืชผักกินตามฤดูกาลในครัวเรือน เมื่อสำรวจในชุมชนพบว่ามีที่ราชพัสดุซึ่งเป็นพื้นที่ว่างประมาณ 2 ไร่ และในชุมชนยังมีคุณยายสุดสาคร อุตส่าห์ และคุณแม่บุญธรรม ไชยโคตร เป็นปราชญ์ชุมชนมีความรู้เรื่องการปลูกผักและการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ จึงเป็นไอเดียให้เด็กๆ คิดทำโครงการสวนผักปลอดภัย เพื่อลมหายใจของชุมชน



+ เห็นปัญหา…มองหาโอกาส

จากสถานการณ์และโอกาสที่เห็นทำให้พิมพ์-พิมพ์ชนก นิลเนตร แต๋-นนท์ฤดี สุขชาติ เปีย-รุ่งฤดี ศรีชุมไชย หวา-สุมาลี สุขวงศ์ อ้อน-เวนิกา ทองนาค อ๋อมแอ๋ม-พิมพฤดา นามบิดา ใหม่-ปีใหม่ เนินสมบูรณ์ชัย และอาร์ม- ธีรพล พรมมา แกนนำชมรม Sister Of Isaan หรือ SOI คิดทำโครงการ ด้วยการปลูกผักขายให้คนในชุมชนใช้บริโภคแทนการซื้ออาหารจากรถพุ่มพวง และซื้อผักสดจากตลาดนัดคลองถม

พิมพ์เล่าว่า ก่อนเริ่มโครงการ ทีมจะมีการประชุมสมาชิกแกนนำเพื่อระดมความคิดเห็น และวางแผนการทำงานร่วมกัน เช่น ก่อนปลูกผักต้องหาความรู้ทั้งเรื่องชนิดผัก พันธุ์ผัก ฤดูกาลในการเพาะปลูก การบำรุงดูแลรักษา การทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ การเก็บรักษาผลผลิต และการขายผลผลิต ซึ่งแกนนำจะร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ แล้วจึงประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกคนอื่นๆ ทราบผ่านเสียงตามสาย โดยในวันทำ

กิจกรรมจะมีการชี้แจงรายละเอียดเพื่อทบทวนความเข้าใจร่วมกันอีกครั้ง ตัวอย่างเช่น การไปเก็บข้อมูลความรู้ตามกรอบที่กำหนดไว้ เช่น เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมตามฤดูกาล การเตรียมดินและเตรียมแปลงปลูก โดยอ๋อมจะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด และแบ่งกลุ่มให้ไปหาความรู้กลุ่มละ 5 คน 5 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะต้องวางแผนไปหาผู้รู้ นัดหมายเวลา เตรียมการบันทึกและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ เมื่อสมาชิกแต่ละกลุ่มเก็บข้อมูลตามที่ได้รับมอบหมายแล้วเสร็จ จึงนำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

เมื่อมีข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบถามผู้รู้แล้ว สมาชิกกลุ่ม SOI จะร่วมกันวางแผนการปลูกพืช ตั้งแต่เตรียมแปลง ซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมตามฤดูกาล แบ่งเวรปลูก และดูแลรักษาประจำวัน ทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมัก

“แต่ละกลุ่มจะต้องวางแผนไปหาผู้รู้ นัดหมายเวลา เตรียมการบันทึกและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ เมื่อสมาชิกแต่ละกลุ่มเก็บข้อมูลตามที่ได้รับมอบหมายแล้วเสร็จ จึงนำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน”

“ยายสอนว่า การเลือกพันธุ์พืชที่จะปลูกต้องคำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศ และควรเป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่มาจากการปลูกแบบอินทรีย์ ส่วนการบำรุงดินก็จะใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งเราได้เรียนรู้วิธีการทำเชื้อจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย และการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์จากเปลือกสับปะรด เพื่อใช้บำรุงดิน” พิมพ์อธิบายความรู้ที่ได้รับ

แม้จะหนักใจบ้างในตอนแรก แต่การทำงานก้าวหน้าไปตามลำดับ เพราะทีมมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 3 ปีจากการเข้าค่ายร่วมกับพี่ๆ จึงซึมซับและเรียนรู้วิธีการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง



+ ล้มแล้วลุก...

และก็ไม่ผิดหวัง ผักที่ทีมลงแรงปลูกงอกงามดี เพราะต่างคนต่างรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ทั้งช่วยกันรดน้ำ ดูแล ใส่ปุ๋ย วิถีชีวิตของสมาชิกกลุ่ม SOI ทุกวันหลังกลับจากโรงเรียนและทำงานบ้านเสร็จ ใครที่เป็นเวรประจำวันก็จะมารดน้ำดูแลผัก เมื่อเห็นผักโตก็รู้สึกภูมิใจในผลงานที่ได้ลงแรงไป ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า ความสำเร็จอยู่แค่เอื้อมแค่เราตั้งใจทำจริงๆ

แต่...ทีมต้องมาเสียน้ำตากับความผิดพลาดที่ไม่คาดคิด เมื่อมีการถมที่บริเวณใกล้เคียง

พิมพ์เล่าถึงความเสียใจในวันนั้นว่า คนงานถมที่โดยไม่รู้ว่ามีแปลงผักของพวกเราอยู่ตรงนั้น เพราะช่วงนั้นผักบางแปลงโตแล้ว เราเก็บไปขายบางส่วน และกำลังจะมาเก็บไปขายอีก แต่หลังจากไปสอบที่โรงเรียนกลับมาเห็นแปลงผักถูกถมก็หมดกำลังใจ นั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้นเลย

แม้จะเสียใจแต่น้องๆ กลุ่ม SOI ไม่ปล่อยให้ความเสียใจนานนัก พวกเขาลุกขึ้นมานั่งคุยกันใหม่ วางแผนปลูกผักกันอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับตนเอง วันเวลาผ่านไปรอยยิ้มก็กลับคืนมาอีกครั้งเมื่อ ผักกาดหอม ผักชี ผักบุ้ง ฯลฯ เติบโตงอกงามดี

ในช่วงท้ายของการทำงานในโครงการ ทีมได้จัดประชุมรายงานความก้าวหน้าในการทำงานให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้รับรู้ พร้อมกับขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยทำเล้าไก่ รวมถึงงานที่ต้องใช้แรงงานหนักๆ ที่ทีมไม่สามารถทำได้ เช่น ทำสำนักงานซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมารวมตัวพูดคุยกัน ถือเป็นหนึ่งความภาคภูมิใจของทีมงาน


+ เติบโต...จากการลงมือทำ

กิจกรรมที่กลุ่ม SOI ทำ นอกจากจะช่วยสานสัมพันธ์คนในชุมชนแล้ว ยังช่วยสานสัมพันธ์ให้เยาวชนสนิทสนมจนรู้จักรู้ใจกันเป็นอย่างดี ด้วยกลุ่มมีกิจกรรมที่หลากหลายให้สมาชิกได้เรียนรู้ร่วมกัน การทำงานกับเพื่อนจึงไม่รู้สึกว่าเป็นงาน แต่ทุกคนกลับรู้สึกสนุก และรู้สึกว่าตนเองเปลี่ยนไปหลังผ่านกิจกรรมหลายอย่าง

“รู้สึกว่าเราเก่งมากขึ้น เพราะเกิดจากการลงมือปฏิบัติบ่อยๆ ยิ่งเวลาทำกิจกรรมแล้วได้กลับมานั่งทบทวนว่าเราผิดพลาดตรงไหนบ้าง ยิ่งทำให้เราพัฒนาขึ้น”

“มันเหนื่อย แต่เวลาทำเสร็จแล้วได้มานั่งคุยกันก็ทำให้เราสนิทกัน ผูกพันกันมากขึ้น” อ๋อมแอ๋มเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของเธอว่า เมื่อก่อนเป็นคนไร้สาระมาก ไม่ค่อยคุยกับใคร ติดโทรศัพท์ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าตัวเองมีสาระมากขึ้น และพูดเก่งขึ้น อาจเป็นเพราะได้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์จึงทำให้ได้พูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น

ส่วนอ้อนซึ่งเป็นนักกีฬาบอกว่า การเข้ามาทำงานในกลุ่ม แม้จะมีงานเยอะ มีภารกิจมาก แต่ก็ทำให้เธอเติบโตขึ้น โดยเฉพาะความคิดที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทำให้รู้จักการแบ่งเวลา ทำงานเป็น และรู้จักการแก้ปัญหา

แม้จะเอาดีในการเป็นนักกีฬา แต่อ้อนยืนยันว่า เธอจะไม่ทิ้งกลุ่มและจะแบ่งเวลามาทำกิจกรรมของกลุ่ม SOI ต่อไป เพราะคิดว่า การรวมกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญ หากมีกิจกรรมแต่ไม่มีคนทำก็ไร้ประโยชน์เหมือนเดิมและที่สำคัญคือที่นี่เป็นชุมชนเกิดของเรา จึงอยากทำเพื่อชุมชนบ้าง เพื่อนๆ ก็มาทำกันหมดแล้ว ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้

ส่วนพิมพ์สะท้อนการจัดการตนเองว่า ตอนแรกเธอคิดว่า งานก็เยอะอยู่แล้ว ทำไมเสาร์อาทิตย์เธอยังต้องมาทำกิจกรรมเพื่อชุมชนอีก แต่พอได้เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม ก็คิดได้ว่าทำไมคนอื่นเขายังสละเวลามาได้ แล้วทำไมเราไม่คิดแบบนั้น เลยเปลี่ยนมุมมองใหม่ คิดใหม่ว่า หากเธอแบ่งเวลาให้ถูกก็จะสามารถจัดสรรภาระหน้าที่ต่างๆ ได้ ทั้งการเรียน งานบ้าน และงานกิจกรรมพร้อมกับมองว่าการทำกิจกรรมน่าจะส่งผลดีกับการเรียนของเธอด้วย เพราะการทำกิจกรรมทำให้เธอมีโอกาสพบปะกับน้องๆ และมีโอกาสปรึกษากันเรื่องการเรียนได้

“การรวมกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญ หากมีกิจกรรมแต่ไม่มีคนทำก็ไร้ประโยชน์เหมือนเดิม และที่สำคัญคือที่นี่เป็นชุมชนเกิดของเรา จึงอยากทำเพื่อชุมชนบ้าง เพื่อนๆ ก็มาทำกันหมดแล้ว ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้”

การทำโครงการไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเฉพาะแกนนำเท่านั้น แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเพื่อนเยาวชนในชุมชนอีกด้วย เพราะเมื่อเยาวชนได้ลงมือทำงานร่วมกัน ความสัมพันธ์และพฤติกรรมก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างน้อยวัยรุ่นชายหญิงที่เดิมต่างคนต่างอยู่กับพวกของตัว ก็ได้พูดคุยกัน ช่วยเหลือกันมากขึ้น เพื่อนผู้ชายบางรายที่เคยเป็นคนเสเพล ดื่มเหล้า ไม่ทำอะไร ก็เปลี่ยนไป

“มีเพื่อนคนหนึ่งเมื่อก่อนเขาเสเพล ดื่มเหล้า ไม่ทำอะไรเลย แต่พอเขาได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน เขาเริ่มมีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น พอพ่อเสียเขาก็หันมาดูแลแม่มากขึ้น ตอนนี้เขาเรียนจบ ม.3 ตั้งใจเลือกเรียน กศน.แทน เพื่อที่จะได้ทำงานช่วยแม่” พิมพ์เล่า



+ ปัญหาเด็กและเยาวชนคือวาระร่วมของชุมชน

พี่ป๊อก-ว่าที่ รท.พิทักษ์สันต์ บุญป้อง พี่เลี้ยงโครงการเล่าว่า เขารับตำแหน่งพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน โดยทำหน้าที่ตั้งแต่ให้คำปรึกษา ช่วยแนะนำ ประสานงาน ขับรถ ทำอาหาร แม้จะต้องทำหลายอย่างแต่ก็รู้สึกสนุก และเต็มใจทำ เพราะพื้นที่ที่เยาวชนทำงานก็เป็นบ้านเกิดของเขา อีกทั้งปัญหาเด็กและเยาวชนถือเป็นวาระร่วมของชุมชน ที่มีบ้าน วัด โรงเรียน และโรงพยาบาลร่วมกันเป็นภาคีสนับสนุน ประคับประคองการทำงานของกลุ่มเยาวชน

สิ่งสำคัญในกระบวนการโค้ชเยาวชนของพี่ป๊อกคือ การสรุปบทเรียนการทำงานเขามองว่าการสรุปบทเรียนการทำงานจะทำให้ทีมงานสามารถพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นหลังจบกิจกรรมทุกครั้ง เขาจึงจัดเวทีให้ทีมงานมีการสรุปบทเรียนก่อนว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนั้นบ้าง มีบทเรียนอะไรที่แตกต่าง หรือมีข้อแก้ไขอย่างไร ในแต่ละฐาน แต่ละกลุ่มก็จะมาคุยกันถึงปัญหา ข้อดี ข้อเสีย และสิ่งที่ต้องปรับปรุง

ในฐานะคนหนุนเสริมพี่ป๊อกบอกว่า การทำโครงการสวนผักปลอดภัยฯ ของเด็กๆ ไม่ใช่ว่าเยาวชนจะมาเรียนรู้แค่วิธีการปลูกผักเท่านั้น แต่พวกเขายังได้เรียนรู้หลักการทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบ ความเอาใจใส่ การประสานงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายอยากให้เกิดเป็นทักษะติดตัวเด็กมากที่สุด ส่วนการให้คำปรึกษาก็ต้องอาศัยจังหวะ ดังนั้นพี่ป๊อกจึงวางตัวไว้แบบดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้เข้าไปช่วยจัดแจงวางแผนให้เต็มตัว แต่จะใช้วิธีให้เด็กคิด เด็กทำก่อน ถ้าสิ่งใดยังไม่เรียบร้อยไม่ถูกต้องจึงจะเข้าไปเติมเต็ม

ทั้งนี้จากการเฝ้าดู น้องๆ กลุ่ม SOI มีจุดเด่นคือ การรู้จักให้ ยอมเหนื่อยก่อน ยอมให้คนอื่นก่อน เช่น แปลงผักจะมีการแบ่งหน้าที่กันทำ แต่บางคนจะไม่มาตามหน้าที่ของตนเอง เขาก็จะทำแทนกัน น้องๆ หลายคนมีพัฒนาการด้านความคิดที่เป็นระบบ กล้าแสดงออก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ควรแก้ไขอยู่บ้างในเรื่อง ความรับผิดชอบ การจัดสรรเวลาที่บางคนยังทำได้ไม่ดี แต่ก็มองว่าเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนต่อไปได้

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อยากให้คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดภัย การได้ลงมือทำจริงนอกจากจะทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำการเกษตรอินทรีย์ครบวงจรแล้ว “คุณค่า” ที่เกิดขึ้นคือ น้องๆ ได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม และการบริหารจัดการตนเอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการทำโครงการนี้ค่อยๆ เชื่อมร้อยเยาวชนในชุมชนเข้ากับเรื่องราวของบ้านของเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ เกิดสำนึกพลเมืองที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชน ไม่นิ่งดูดายกับความเป็นไปของชุมชน วันนี้ผักที่เติบโตงอกงามปราศจากพิษภัย เพราะการใส่ใจดูแลที่ดี ก็เปรียบเสมือนเด็กเยาวชนกลุ่ม SOI ที่ถูกบ่มเพาะประสบการณ์ผ่านกิจกรรมนานาชนิดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด




โครงการสวนผักปลอดภัย เพื่อลมหายใจของชุมชน

แกนนำเยาวชน  1. พิมพ์ชนก นิลเนตร  2. นนท์ฤดี สุขชาติ  3. รุ่งฤดี ศรีชุมไชย  4. สุมาลี สุขวงศ์  5. เวนิกา ทองนาค  6. พิมพฤดา นามบิดา  7. ปีใหม่ เนินสมบูรณ์ชัย  8. ธีรพล พรมมา

พี่เลี้ยง  ว่าที่ รท.พิทักษ์สันต์ บุญป้อง