การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพาะเห็ดขอนขาวสร้างอาชีพ

เหตุเกิดจาก...เห็ด

แม้ผลสัมฤทธิ์ของการทำโครงการในแง่รูปธรรมจะยังไม่เกิด แต่ทีมงานบอกว่า พวกเขาเกิดการพัฒนาตนเอง เพราะอย่างน้อยก็เพาะเห็ดเป็น รู้ขั้นตอน วิธีการ และพัฒนาทักษะด้านการนำเสนอ เพราะต้องทำอยู่บ่อยๆ เมื่อต้องไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในเครือข่าย ซึ่งประสบการณ์การทำงานในโครงการยังนำไปใช้ในการเรียนได้ เช่น การทำงานร่วมกัน และการแบ่งหน้าที่กันทำงาน


กลุ่มเยาวชน TEEN AGE POWER หรือ TAP ก่อตั้งเมื่อ 31 ตุลาคม 2556 เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเยาวชนในชุมชนหนองมะเกลือ หมู่ 3 หมู่ 16 และหมู่ 20 ตำบลโนนค้อ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ มีสมาชิกร่วมกัน 50 คน เพื่อลดปัญหาเด็กและเยาวชนว่างงาน ทะเลาะวิวาท และยาเสพติด ที่ผ่านมาได้มีการเสริมศักยภาพของเยาวชนกลุ่มนี้ ผ่านการจัดค่ายเรียนรู้ทักษะชีวิตและกิจกรรมสันทนาการ โดยการเอื้ออำนวยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้ประสานงานขอความร่วมมือจากกลุ่มเยาวชนจากพื้นที่ใกล้เคียงคือ กลุ่ม SOI ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดค่ายเยาวชนเข้ามาจัดกระบวนการให้ ผลจากการเข้าค่ายทำให้เยาวชนในบ้านหนองมะเกลือหมู่ 3 รวมตัวกันอย่างแน่นเฟ้นยิ่งขึ้น

บ้านหนองมะเกลือ หมู่ 3 ตำบลโนนค้อ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีประชากรทั้งสิ้น 287 คน หรือ 74 ครัวเรือน สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร เพาะปลูกข้าว พริก ข้าวโพด และเลี้ยงสัตว์คือ โค กระบือ สุกร และไก่ ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยอีสานในการสื่อสาร

เมื่อโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ จัดอบรมเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการของเยาวชน อธิวัฒน์ วราพุฒ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองมะเกลือได้เชิญชวนตัวแทนเยาวชนกลุ่ม TAP เข้าร่วม เพราะเห็นว่าการทำกิจกรรมในโครงการเป็นการสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ซึ่งในครั้งนั้นมีจุ๋ม-จารุวรรณ เพตรนิจ และน้ำ-จิรัชยา พันธ์ปกครอง เข้าร่วมอบรม ด้วยคิดว่าการอบรมครั้งนี้เป็นการเล่นสันทนาการเช่นที่เคยมีประสบการณ์กับกลุ่ม SOI

“ครั้งแรกที่ไปอบรมนึกว่าเขาจะให้เล่นเกมอีก ไม่นึกว่าต้องทำโครงการ ตอนนั้นรู้สึกไม่อยากทำ เพราะไม่เคยทำโครงการมาก่อน แล้วก็ขี้เกียจด้วย” น้ำสารภาพตรงๆ



+ วิเคราะห์ศักยภาพตนเอง

แต่คนที่เห็นดีเห็นงามว่าควรทำโครงการคือ พี่บอย-ธีระพงษ์ ป้องกัน ที่มาชักชวนน้องๆ ระดมสมอง แลกเปลี่ยนความเห็นว่าจะทำโครงการอะไร ทีมงานซึ่งประกอบด้วย จุ๋ม น้ำ และแจ่ม-อุทัยพร ทองลือ ต้า-มลวิภา พุ่มจันทร์ อุ๋งอิ๋ง-วนิดา เทนโสภา จึงช่วยกันคิดโจทย์และวิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง ซึ่งพบว่า การเพาะเห็ดขอนขาวมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากมากนัก น่าจะเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพให้แก่เยาวชน และสร้างแหล่งอาหารให้กับชุมชนได้ น้องๆ จึงตกลงใจร่วมหัวจมท้ายทำโครงการเพาะเห็ดเพาะใจสายสายใยชุมชน โดยมีพี่บอยเป็นผู้นำทีม

ทีมงานคาดหวังว่า กิจกรรมเพาะเห็ดจะเป็นกิจกรรมที่นำพาเยาวชนในชุมชนมาร่วมกันทำงาน ทำให้เกิดการพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาร่วมกัน จนบ่มเพาะให้เกิดสายใยแห่งความรักและความผูกพันขึ้นในกลุ่ม

ด้วยความที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน รู้จักสนิทสนมกันเป็นอันดี จึงไม่ยากต่อการรวมตัว แม้ว่าจะเรียนอยู่ต่างระดับชั้น แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะคนที่เป็นศูนย์รวมความสนุกคือ จุ๋มที่ทุกคนบอกว่า เป็นคนตลก สนุก อยู่ด้วยแล้วมีความสุขเป็นแรงดึงดูดให้ทุกคนมารวมตัวกัน



+ เพาะเห็ด...เรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้

เนื่องจากการเพาะเห็ดขอนขาวเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้มากก่อนเลย การเติมความรู้เรื่องการเพาะเห็ดจึงเป็นเรื่องแรกที่ทีมงานต้องแสวงหา พี่บอยได้ประสานวิทยากรเข้ามาอบรมให้ความรู้แก่น้องๆ ก่อนที่จะช่วยกันสร้างโรงเรือน และดำเนินการเพาะเห็ด โดยพี่บอยอีกเช่นกันที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงไปซื้อไม้มะม่วงที่ตัดขายเป็นท่อนๆ มาเจาะรูเพื่อใช้เป็นวัสดุปลูก ขณะที่น้องๆ ขมีขมันช่วยกันคนละไม้ละมือ บ้างก็ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรูที่เจาะเสร็จแล้วเพื่อฆ่าเชื้อโรค บ้างก็นำเชื้อเห็ดมาใส่ในรู แล้วนำจุกไม้ไผ่มาตอกปิด จนในที่สุดไม้มะม่วง 100 ขอนก็ถูกบรรจุเชื้อเห็ดรอวันเติบโต

เวลา 3 เดือนที่ต้องแบ่งเวรกันมารดน้ำทุกวันหลังเลิกเรียน เป็นภาระเพิ่มเติมจากที่ต้องช่วยทำงานบ้านของแต่ละคน เวรที่จัดสรรไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะต่างมาช่วยกันทำงาน งานเป็นเล่น เล่นเป็นงาน สนุกสนานเพราะได้มาเจอกัน

แต่ทีมก็ได้รับบทเรียนบทที่สอง เรื่องการวางแผนการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับฤดูกาล เนื่องด้วยกิจกรรมที่ทำในโครงการเป็นเรื่องการเพาะปลูกที่เกี่ยวข้องกับดิน ฟ้า อากาศ เห็ดชอบอากาศร้อนชื้น แต่โครงการดำเนินงานในฤดูหนาว แม้จะเพียรมารดน้ำอย่างไร ผ่านเดือนที่ 3 มาแล้ว ดอกเห็ดก็ยังไม่บานให้เห็น อาจต้องควบคุมความชื้นให้มากขึ้น จนความรู้สึกของทุกคนสั่นคลอนระหว่างการรอคอย

เมื่อเห็ดขอนแรกเริ่มออกดอก ความชื่นใจจากผลที่ได้ลงแรงก็เกิดขึ้น แต่จากขอนแรกที่เห็ดบานก็ไม่ปรากฏว่าขอนอื่นๆ จะได้ผลผลิตตามมา รดน้ำก็แล้วก็ยังไม่ออก ซ้ำร้ายเห็ดขอนแรกที่ออกดอกยังถูกผู้หวังดีเก็บไปไม่เหลือซาก ความเซ็งจู่โจมจนท้อใจไม่อยากทำโครงการอีกต่อไป

“ถ้าเห็ดออกคงดีใจ แต่ตอนนี้เห็ดไม่งอก และก็ยังไม่ได้หาสาเหตุว่าทำไมเห็ดไม่ออก ถามพี่บอยพี่เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน เราสันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะเราเพาะเห็ดในช่วงหน้าหนาวที่อากาศเย็น” จุ๋มบอกเล่าความรู้สึก


+ พลิกสถานการณ์...สร้างความมั่นใจให้ทีม

พี่บอยในฐานะพี่ใหญ่ที่ดูแลใกล้ชิด พยายามพลิกสถานการณ์ เห็นว่างบประมาณยังพอมีเหลือ จึงชวนน้องๆ วิเคราะห์ศักยภาพตนเองร่วมกันอีกครั้งว่า พอจะทำเรื่องใดได้บ้าง ทุกคนเห็นว่า ข้างๆ โรงเห็ดยังพอมีพื้นที่ว่าง การปลูกพืชผักสวนครัวน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะทุกคนก็เคยผ่านวิชาเกษตรที่โรงเรียนมาแล้ว จึงพอจะมีความรู้ติดตัว การปลูกผักจึงเป็นกิจกรรมเสริมที่ทุกคนเต็มใจลองอีกครั้ง

ทีมงานจึงร่วมกันปรับผืนดินข้างๆ โรงเห็ดยกเป็นแปลงเพื่อเตรียมปลูกพืชผักสวนครัว เพราะชุมชนมีแหล่งน้ำพอเพียงที่จะปลูกพืชผักสวนครัวที่มีอายุสั้น ด้วยหวังว่าถ้าได้ผลผลิตอาจจะช่วยฟื้นฟูความมั่นใจ ให้กลับคืนมาได้

การลงแรงครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น ทั้งแผ้วถางที่ทางให้โล่งเตียน กำจัดวัชพืชรากไม้ ขุดดินยกแปลง น้องทำบ้าง พี่ทำบ้าง คราวนี้แต่ละคนต่างเลือกชนิดผักที่ชอบกินมาปลูก ต่างคนต่างแอบมีความหวังอีกครั้งกับการปลูกพืชผักสวนครัว แต่ก็ยังไม่ทิ้งการดูแลเห็ด ที่ตั้งใจว่ายังจะมารดน้ำและดูแลโรงเห็ดทุกวัน

แม้ว่าขณะนี้ผลสัมฤทธิ์ของการทำโครงการในแง่รูปธรรมจะยังไม่เกิด แต่น้องๆ บอกว่า พวกเขาเกิดการพัฒนาตนเองเพราะอย่างน้อยก็เพาะเห็ดเป็น รู้ขั้นตอน วิธีการ และพัฒนาทักษะด้านการนำเสนอ เพราะต้องทำอยู่บ่อยๆ เมื่อต้องไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในเครือข่าย ซึ่งประสบการณ์การทำงานในโครงการยังนำไปใช้ในการเรียนได้ เช่น การทำงานร่วมกัน และการแบ่งหน้าที่กันทำงาน

“เยาวชนกลุ่มนี้แม้จะพูดไม่เก่ง แต่เรื่องการลงแรงทำงานนั้น ต้องยอมรับว่า น้องๆ ทำได้ดี และตั้งใจทำ”

พี่บอย สะท้อนว่า น้องๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น แต่ยังอาจจะมีจุดอ่อนอยู่ที่ไม่ค่อยกล้าพูดกับคนที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งที่ผ่านมาพี่มวล-ประมวล ดวงนิล เจ้าหน้าที่โครงการเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษได้เข้ามากระตุ้น ด้วยการถอดบทเรียน พบว่า น้องๆ ทุกคนยอมรับว่ามีจุดอ่อนเรื่องอะไร แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พี่บอยการันตีว่า เยาวชนกลุ่มนี้แม้จะพูดไม่เก่ง แต่เรื่องการลงแรงทำงานนั้น ต้องยอมรับว่า น้องๆ ทำได้ดี และตั้งใจทำ

ในวาระที่พี่ๆ เรียนจบชั้น ม.3 และกำลังจะแยกย้ายกันไปเรียนต่อที่ต่างๆ จุ๋มซึ่งเป็นน้องเล็กสุด ยังติดใจการทำโครงการ เธอบอกว่า ถ้าให้ทำโครงการอีกก็ยังอยากทำ อาจจะชวนน้องในหมู่บ้านมาทำเรื่องปลูกผักเลี้ยงปลา เพราะอยากมีเพื่อนช่วยกันทำงาน การทำงานโครงการสนุกกว่าการทำเองคนเดียว



+เรียนรู้จากความไม่สำเร็จ

อธิวัฒน์ วราพุฒ พี่เลี้ยงชุมชนเพาะเห็ดเพาะใจสานสายใยชุมชนเล่าว่า กลุ่ม TAP ตั้งขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อมีโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเข้ามา เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้พัฒนาศักยภาพของเด็กๆ แต่เมื่อดำเนินงานไประยะหนึ่งพบว่า เห็ดไม่ออก ไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจ ทำให้เด็กๆ หมดกำลังใจ ในฐานะพี่เลี้ยงจึงได้อธิบายว่าเป็นเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

“ต้องมีพี่เลี้ยงที่มีเวลาพอสมควรที่จะดูแลกลุ่มเยาวชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรวมกลุ่มเขาในการประชุม วางแผน หรือสรุปบทเรียน ซึ่งจะช่วยประคับประคองการทำงานและสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มเยาวชนได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตามในฐานะพี่เลี้ยงที่ดูแลอยู่ห่างๆ เพราะมีภารกิจประจำในหน้าที่การงานค่อนข้างยุ่ง ประกอบกับเข้าใจว่า เป็นโครงการของเยาวชน ซึ่งทางโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเองก็ไม่อยากให้พี่เลี้ยงเข้าไปนำเด็กมากนัก แต่ก็รู้สึกว่ายังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะหากสามารถเข้าไปดูแลใกล้ชิดกว่านี้จะช่วยสร้างการเรียนรู้ผ่านบทเรียนความไม่สำเร็จของโครงการได้ ซึ่งหากจะปรับปรุงการทำงานกับกลุ่มเยาวชนต่อไปในอนาคต มีข้อเสนอว่า ต้องมีพี่เลี้ยงที่มีเวลาพอสมควรที่จะดูแลกลุ่มเยาวชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรวมกลุ่มเขาในการประชุม วางแผน หรือสรุปบทเรียน ซึ่งจะช่วยประคับประคองการทำงานและสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มเยาวชนได้มากขึ้น

วันนี้เห็ดที่เยาวชนกลุ่ม TAP เพาะไว้จะไม่ผลิดอกออกผล แต่พลังและคุณค่าของพวกเขาที่มาร่วมกันคิดทำกิจกรรมเพื่อชุมชน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เสริม ก็ทำให้พวกเขามีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เห็นความสำคัญต่อการประกอบอาชีพสุจริต รู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และที่สำคัญคือได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดจากการทำงาน สามารถวิเคราะห์เหตุแห่งปัญหา อันนำไปสู่การหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทำให้พวกเขาได้คิดทบทวนตัวเอง จนเกิดความรักความสามัคคีในกลุ่ม และเกิดความแข็งแกร่งขึ้นในการทำโครงการเพื่อชุมชนต่อไป


­

­


โครงการเพาะเห็ดเพาะใจสานสายใยชุมชน

แกนนำเยาวชน  1) จารุวรรณ เพตรนิจ 2) จิรัชยา พันธ์ปกครอง  3) อุทัยพร ทองลือ  4) มลวิภา พุ่มจันทร์  5) วนิดา เทนโสภา

พี่เลี้ยงโครงการ   อธิวัฒน์ วราพุฒ