แก้ปัญหาภาษาอังกฤษในห้องเรียน ผ่านโครงการการจัดการเรียนรู้แบบ PBL โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

Eng Easy พี่ช่วยน้อง “กระตุกต่อมเรียนรู้”


โครงการนี้ถึงมันจะไม่ได้ให้เกรดเรา แต่ทำให้เราหาความหมายของชีวิตเจอมากขึ้น...เหมือนเราดึงศักยภาพของน้องออกมา เพราะจริงๆ น้องเขามีอยู่แล้ว แต่ไม่กล้า เขาไม่รู้จะดึงออกมาอย่างไร...การที่น้องกล้าปลดปล่อยตัวเองออกมา จำเป็นสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะถ้าน้องพร้อมที่จะเรียนรู้น้องจะสามารถรับอะไรได้ ก็จะสามารถต่อยอดการเรียนรู้ต่อไปได้



จากประสบการณ์การทำโครงการวิจัยที่ช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้มาแล้ว ทำให้พวกเธอรู้สึกสนุกและท้าทายกับการเรียนรู้ผ่านการทำโครงการ คือ “ต้นทุน” สำคัญที่ทำให้ ฟาง-ฐิติมา พรมสวัสดิ์ และหมวย-ปิยธิดา เดชธรรมรงค์ อาสาเข้ามาทำโครงการ Eng Easy สานใจเติมฝัน เรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง ขณะที่มุ่ย-สตรีรัตน์ บังคม บอกว่า เธอรู้สึกห่างจากการคิดที่เป็นกระบวนการมานานแล้ว แต่สำหรับอ๋อม-กรรณิการ์ เมธา สะท้อนว่าเธอไม่เคยได้รับโอกาสทำโครงการในลักษณะนี้มาเลยตั้งแต่เด็ก


+Eng Easy สร้างแรงบันดาล

ด้วยเหตุและผลข้างต้นจึงเป็นแรงผลักดันให้น้องพี่ในโรงเรียนกันทรอมวิทยาคม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ รวมตัวกันทำโครงการ Eng Easy สานใจเติมฝัน เรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง โดยมีครูจิราวรรณ เทาศิริ เป็นผู้จุดประกายและเชื่อมร้อยทีม ซึ่งประกอบด้วยพี่ ม.6 ซึ่งเป็นพี่ที่มีความรับผิดชอบและนำน้องได้ ส่วนน้อง ม.3 ซึ่งครูจิราวรรณเป็นครูที่ปรึกษาก็มีจุดแข็งที่เคยผ่านประสบการณ์การทำโครงการในลักษณะนี้มาก่อน ทำให้มีความคิดที่เป็นระบบ มองว่าจะช่วยเสริมความเข้มเข็งของทีมได้

กอปรกับในอนาคตอันใกล้ การเปิด AEC (Asean Economics Community) จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนมากขึ้น จังหวัดศรีสะเกษซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ต้องเตรียมความพร้อมให้กับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะความพร้อมเรื่องภาษา แม้พื้นที่นี้จะมีผู้คนที่สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาลาว เขมร กูย และไทยอยู่แล้วก็ตาม แต่เป็นการติดต่อกันในระดับทวิภาคี ซึ่งในอนาคตที่ระบบการค้าจะเปิดกว้างมากขึ้น การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษจึงเป็นเรื่องจำเป็น ในขณะที่วิชาภาษาอังกฤษเปรียบเหมือนยาขมของเด็กนักเรียนในโรงเรียนกันทรอมวิทยาคมจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นวิชาที่ยาก ด้วยระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เน้นเรื่องไวยากรณ์มากกว่าการใช้งานจริง การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาอังกฤษจึงเปรียบเสมือนการเปิดประตูใจให้เด็กพร้อมเรียนรู้นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ทีมจึงคิดทำโครงการ Eng Easy สานใจเติมฝัน เรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง ด้วยวิเคราะห์แล้วว่า พวกเธอมีศักยภาพที่จะทำโครงการให้สำเร็จได้ เพราะไม่ใช่โจทย์ที่ใหญ่เกินตัว และเป้าหมายไม่ใช่การติวภาษา

อังกฤษอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการจัดกิจกรรมง่ายๆ เพื่อสร้าง “แรงบันดาลใจ” ให้น้องอยากเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ไม่ได้สอนให้น้องเก่งภาษาอังกฤษ แต่ให้น้องมี “ทัศนคติที่ดี” ต่อการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นเท่านั้น เพราะเด็กส่วนใหญ่ถ้าไม่ชอบเรียนวิชาไหน หรือเรียนวิชาไหนไม่เข้าใจ ก็มักจะไม่สนใจเรียน และบางทีถึงขั้นโดดเรียนเลยก็มี

+วิเคราะห์ “กลุ่มเป้าหมาย”

เมื่อได้ข้อสรุปว่าจะทำเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ คำถามที่เกิดขึ้นในใจทุกคนคือ “แล้วจะไปสอนใคร?”

แม้โจทย์จะชัด แต่เมื่อเป้าหมายยังไม่มี งานนี้ทีมจึงระดมสมองวิเคราะห์ “กลุ่มเป้าหมาย” พบว่าน้องๆ ชั้น ม.1 ที่เพิ่งเข้าเรียนในโรงเรียนน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ดีที่สุด เพราะแต่ละคนมาจากต่างโรงเรียนกัน จึงมีพื้นฐานความรู้ด้านภาษาอังกฤษแตกต่างกัน การปรับพื้นฐานความรู้ด้านภาษาอังกฤษให้น้องน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้น้องๆ รู้สึกดีกับการเรียนภาษาอังกฤษ มีพื้นฐานความรู้เพิ่มขึ้น และนำไปต่อยอดการเรียนรู้ได้

และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ทีมจึงพากันไปปรึกษาครูภาษาต่างประเทศ เพื่อสอบถามว่า ในห้องเรียนน้องๆ มีพฤติกรรมการเรียนภาษาอังกฤษอย่างไร ชอบให้ครูสอนแบบไหนและศึกษาหนังสือเรียนภาษาอังกฤษชั้น ม.1 เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

มุ่ยเล่าว่า ตอนแรกทีมตั้งใจไว้ว่าจะคัดคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเข้าร่วมกิจกรรม แต่เมื่อเปิดรับสมัครพบว่า น้องๆ ที่มาสมัครส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ไม่เก่งก็ไม่สนใจที่จะมาสมัครเรียน ทีมงานจึงต้องเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นน้องๆ ที่สนใจแทน โดยตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 15 – 20 คน แต่เมื่อรับสมัครจริงๆ มีน้องสนใจสมัครถึง 27 คน และทีมก็ไม่ได้ตัดทิ้ง เพราะเห็นว่าน้องสนใจจริงๆ

“สาเหตุที่น้องสนใจเข้ามาสมัครกันมากคิดว่าน่าจะมาจากการที่พวกเราเข้าไปประชาสัมพันธ์เชิญชวนน้องๆ ที่ห้อง ทำให้น้องรู้สึกว่าพวกเราตั้งใจจริงก็เป็นได้” มุ่ยบอกเล่าความรู้สึก

หลังจากได้กลุ่มเป้าหมายแล้ว ทีมได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับน้องๆ ว่าโครงการนี้ทำอะไร เพื่ออะไร พร้อมเปิดโอกาสให้น้องแสดงความคิดเห็นว่า สนใจเรียนลักษณะไหน ผ่านแบบสอบถามและมีการทดสอบความรู้ก่อนเรียนไว้ด้วย เพื่อใช้วัดผลหลังทำกิจกรรมเสร็จ

“ผลออกมาน้องบางคนคะแนนดีมาก แต่บางคนก็ทำไม่ได้เลย เลยใช้วิธีคละกลุ่มให้เพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งเทคนิคเพื่อนช่วยเพื่อนก็เห็นจากที่คุณครูทำ ส่วนแบบสอบถาม เราถามว่า น้องที่มาเขารู้สึกอย่างไรกับภาษาอังกฤษ ณ ตอนนั้น เพราะถ้าน้องสนใจน้อย เราต้องทำอะไรให้น้องสนใจมากขึ้นเพื่อดึงน้องเข้ามา” มุ่ยอธิบายแนวคิดการทำงาน

สำหรับแผนกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนั้นทีมวางแผนจัด 5 ครั้ง แต่ไม่ได้กำหนดเวลาตายตัว เพราะแต่ละคนมีหน้าที่อื่นที่ต้องรับผิดชอบด้วย เช่น อ๋อมกับมุ่ยเป็นคณะกรรมการโรงเรียน ฟางและหมวยก็ต้องร่วมกิจกรรมอื่นๆ ในโรงเรียนด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทีมจะพยายามควบคุมไม่ให้ว่างเว้นจากการเรียนการสอนเกิน 2 สัปดาห์ โดยในแต่ละกิจกรรมจะจบในครั้งเดียว เน้นสอนทักษะการฟัง การออกเสียง และการอ่าน ซึ่งเนื้อหาในช่วงแรกๆ เน้นไปที่ทักษะการออกเสียง การเทียบเสียง เพราะเรื่องอื่นๆ ครูจะสอนอยู่แล้ว และน้องส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าพูดภาษาอังกฤษ เพราะออกเสียงไม่ค่อยถูก ทีมจึงคิดว่าหากจะให้การเรียนการสอนสนุกสนานน่าจะเริ่มจากการให้น้องหัดออกเสียงภาษาอังกฤษก่อน เพื่อให้น้องรู้สึกคุ้นชิน ซึ่งงานนี้ก็ได้มุ่ยที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษดีอยู่แล้วเป็นคนนำ โดยนำเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษจากการเรียนพิเศษมาใช้ และบางส่วนก็หาเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต

มุ่ยบอกต่อว่า การจัดกิจกรรมแต่ละครั้งใช้เวลาจัดประมาณ 2 ชั่วโมง แต่มักจะจัดได้แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะน้องๆ ล้ามาจากการเรียนในห้องแล้ว กิจกรรมหนึ่งจึงต้องจัด 2 ครั้ง เช่น พฤหัสบดีตอนเย็น 1 คาบ แล้ววันศุกร์ตอนเย็นก็มาเจอกันอีก 1 คาบ ดังนั้น 5 กิจกรรมที่วางแผนไว้ต้องจัดทั้งหมด 10 ครั้ง โดยก่อนการจัดกิจกรรมทุกครั้งทีมจะต้องจัดประชุมวางแผนการสอนก่อน เพราะต้องดูเวลาว่างให้ตรงกัน กำหนดวัน เวลาที่จะจัดกิจกรรม ออกแบบว่าจะจัดกิจกรรมแบบไหน ใช้สื่ออะไร และแบ่งงานให้แต่ละคนไปทำ

อย่างไรก็ตามก่อนจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ทีมต้องประสานกับคุณครูเพื่อขออนุญาตใช้สถานที่ และประสานงานนัดหมายกับน้องๆ ด้วย โดยแต่ละครั้งที่จัดกิจกรรมจะเริ่มด้วยการเปิดเพลงภาษาอังกฤษในขณะที่น้องๆ ทยอยเข้าห้องเรียน เมื่อน้องมาครบก็จะชี้แจงว่า วันนี้น้องจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไร เพื่ออะไร ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของน้องๆ โดยที่น้องๆ ไม่รู้ตัว จากนั้นอ๋อมจะเปิดการ์ตูนให้น้องชมจนจบ แล้วสอบถามน้องๆ ว่า น้องๆ ได้เรียนรู้อะไรจากการชมการ์ตูนบ้าง จากนั้นจึงเริ่มสอนเรื่องหลักที่ทีมงานเตรียมไว้


+หลากกลยุทธ์เพื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

อ๋อมบอกว่า ด้วยเป้าหมายการสอนที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจและปรับให้ทุกคนมีพื้นฐานภาษาอังกฤษเท่าๆ กัน ทีมจึงให้ความสำคัญกับการคัดสรรเนื้อหาการเรียนรู้ แม้จะเป็นภาคของความบันเทิงก็ตาม ซึ่งทำให้ทีมเกิดทักษะในการสืบค้นข้อมูลมากขึ้นตามไปด้วย

“พอมาทำโครงการนี้ เวลาดูยูทูปก็จะมีเป้าหมายมากขึ้น เมื่อก่อนอาจจะดูไร้สาระเรื่อยเปื่อย เดี๋ยวนี้ถ้าจะไร้สาระต้องว่างจริงๆ วันไหนดูการ์ตูนหรือดูหนังถ้าเจอเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องคลิ๊กเข้าไปดูว่าสามารถนำมาใช้เป็นสื่อการสอนได้หรือไม่” นี่คือพฤติกรรมการรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของเหล่าทีมงาน

อ๋อมบอกอีกว่า ส่วนใหญ่คนหาสื่อคือ มุ่ยกับฟาง ที่จะเป็นคนเตรียมเนื้อหาที่จะสอน รวมทั้งเป็นผู้สอนหลัก หมวยทำหน้าที่เก็บภาพ ส่วนเธอจะเก็บรายละเอียดทุกอย่าง รวมทั้งดูแลงบประมาณ และช่วยเตรียมเนื้อหาด้านบันเทิง เช่น เกม เพลง หรือการ์ตูนภาษาอังกฤษที่สนุกสนานร่วมกับน้องซัน-อภิชญา  เทาศิริ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ หนึ่งในทีมงานที่อยู่ต่างโรงเรียน ทั้งนี้ก่อนที่จะสอนน้องๆ ทีมจะช่วยกันพิจารณาเนื้อหาอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะบางครั้งมุ่ยกับฟางไปหามาก็ว่าง่ายแล้ว แต่ลืมคิดไปว่าทั้งสองคนมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ถ้าเพื่อนสะท้อนว่า ยากเกินไป ก็ต้องปรับ

“ดูการ์ตูนเสร็จต้องให้น้องแสดงความเห็น เพื่อกระตุ้นความคิด เหมือนให้เขารื้อคำศัพท์ที่อยู่ในหัว หรือให้เขาคิดจากสิ่งที่เขาเห็น ถ้าเขาแปลไม่ได้ก็ให้เขาดูจากสิ่งรอบข้างในวิดีโอว่า มันน่าจะเป็นอะไร เพราะเวลาเราใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำมีหลายความหมาย เราต้องดูบริบทรอบข้างด้วย คำถามที่ใช้ง่ายๆ เช่น เห็นอะไรในการ์ตูนบ้าง มีศัพท์อะไรบ้าง ตัวนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร” มุ่ยเล่าถึงเทคนิคการสอน

“สอนเสร็จแต่ละครั้งถ้ามีเวลาเหลือ ก็จะมีการสรุปบทเรียนในกลุ่ม บางทีก็เปิดวิดีโอที่หมวยถ่ายไว้ว่าเราสอนอะไรไป เวลาสรุปกิจกรรมจะคุยว่า วันนี้เป็นอย่างไร บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ไหม”

ขณะที่มุ่ยและฟางวาดลวดลายการสอนอยู่หน้าชั้นเรียน อ๋อม หมวย และซัน ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์และอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ บางครั้งทีมสังเกตการณ์ก็ต้องส่งสัญญาณให้ครูมุ่ยและครูฟางรู้ว่า อาการของน้องที่นั่งเรียนอยู่เป็นอย่างไร เช่น ถ้าน้องไม่เข้าใจ น้องฝ่อ ก็ต้องหาวิธีกระตุ้น ถ้ากระตุ้นไม่ขึ้น น้องมีอาการรับความรู้ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องพักการเรียนการสอน เล่นเกมบ้าง กินขนมบ้าง

“เราต้องเข้าใจน้องด้วย เพราะส่วนใหญ่เราสอนในคาบสุดท้ายของวัน น้องล้ามาแล้ว ถ้าน้องไม่ไหวจริงๆ ก็จะปล่อยและให้งานเขากลับไปทำนิดหน่อย หากน้องกลับไปทำแล้วทำไม่ได้ เราก็ถือโอกาสสอนใหม่” อ๋อมอธิบาย

ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ในช่วงท้ายถ้ามีเวลาเหลือทีมมักจะให้น้องๆ ฝึกทำแบบฝึกหัดในห้องเรียน แต่หากไม่มีเวลา ก็จะให้น้องนำกลับไปทำเป็นการบ้าน แต่ต้องพยายามไม่ให้เป็นภาระที่หนักเกินไป เพราะเข้าใจว่า น้องแต่ละคนมีการบ้านมากอยู่แล้ว สิ่งที่ลืมไม่ได้ก่อนจากกันในแต่ละครั้งคือ ทีมงานจะพูดขอบใจน้องที่ให้ความร่วมมือ และบอกว่าครั้งต่อไปจะจัดกิจกรรมอะไรแบบไหน หรือสอบถามความต้องการของน้องๆ ว่าอยากเรียนแบบไหน หลังจากปล่อยน้องกลับ ทีมงานก็จะนั่งสรุปบทเรียนการทำงานของทีมทุกครั้งเพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

“สอนเสร็จแต่ละครั้งถ้ามีเวลาเหลือ ก็จะมีการสรุปบทเรียนในกลุ่ม บางทีก็เปิดวิดีโอที่หมวยถ่ายไว้ว่าเราสอนอะไรไป เวลาสรุปกิจกรรมจะคุยว่า วันนี้เป็นอย่างไร บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ไหม” มุ่ยบอกเล่ากระบวนการทำงานของทีม

­

+ชื่นใจ...เมื่อน้องสุขและสนุกกับการเรียนรู้

ผลสัมฤทธิ์ของการสอนปรากฏอยู่ในตัวน้องๆ ที่เข้าเรียน บางคนก็เห็นชัดว่าเขามั่นใจมากขึ้น เช่น น้องสักรินทร์ ซึ่งตอนแรกจะขี้อาย แม้หน้าตาเขาอาจดูเหมือนเป็นเด็กที่ชอบโดดเรียน แต่น้องได้เรียนรู้ไปกับพี่ๆ ตลอด จนตอนนี้น้องได้เป็นเด็กในกลุ่มสาระอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อไปแข่งขัน

“เหมือนเราดึงศักยภาพของน้องออกมา เพราะจริงๆ น้องเขามีอยู่แล้ว แต่ไม่กล้า เขาไม่รู้จะดึงออกมาอย่างไร เวลาเรียนอยู่ในห้อง ถ้าน้องตอบคำถามได้เราก็ปรบมือให้น้องสร้างกำลังใจให้น้อง คิดว่าเกือบครึ่งหนึ่งของ 27 คนที่เราช่วยดึงศักยภาพของเขาออกมา บางคนก็รู้สึกชอบภาษาอังกฤษมากขึ้น บางคนก็กล้าคุยกับเรามากขึ้น มีการบ้านอะไรเขาก็จะถามเรา โดยธรรมชาติของเด็กเขาจะไม่กล้าคุยกับครู กลัวครู แต่กับเราซึ่งเป็นรุ่นพี่เขากล้าถามมากกว่า” มุ่ยเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ที่สัมผัสได้

“บางคนเห็นชัดว่าเขามั่นใจมากขึ้น เช่น น้องสักรินทร์ ซึ่งตอนแรกจะขี้อาย แม้หน้าตาเขาอาจดูเหมือนเป็นเด็กที่ชอบโดดเรียน แต่น้องได้เรียนรู้ไปกับพี่ๆ ตลอด จนตอนนี้น้องได้เป็นเด็กในกลุ่มสาระอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฝึกภาษาอังกฤษเพื่อไปแข่งขัน”

แม้จะสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงของน้องด้วยตนเอง แต่ทีมงานยังรอบคอบพอที่จะจัดทำแบบทดสอบหลังเรียน เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ของน้องๆ ซึ่งก็พบว่า น้องมีพื้นฐานด้านภาษา

อังกฤษดีขึ้น ทั้งทักษะการพูด ฟัง อ่าน สามารถปรับระดับให้พร้อมที่จะเรียนต่อในขั้นที่สูงขึ้นไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของทีมคือ การให้น้องมีความสุขกับการเรียนภาษาอังกฤษ มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป้าหมายส่วนนี้ทีมงานทุกคนเห็นตรงกันว่า สามารถทำสำเร็จอย่างน่าชื่นใจ

“การที่น้องกล้าปลดปล่อยตัวเองออกมา จำเป็นสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะถ้าน้องพร้อมที่จะเรียนรู้น้องจะสามารถรับอะไรได้ ก็จะสามารถต่อยอดการเรียนรู้ต่อไปได้” นี่คือทฤษฎีการเรียนรู้ที่มุ่ยสรุป


+เรียนรู้...การจัดการทีม

สิ่งที่คู่ขนานไปกับการจัดการเรียนการสอน คือ กระบวนการทำงานของทีม ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการ ทั้งทีมงาน เนื้องาน งบประมาณ และเวลา ซึ่งทีมงานมีข้อตกลงร่วมกันว่า ในการประชุมวางแผนงานหรือสรุปงานด้วยกันทุกคนต้องจดทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานในการทำงานและกันลืม ซึ่งเป็นภาวะยอดนิยมที่สมาชิกผลัดกันออกอาการบ่อยครั้ง อ๋อมในฐานะที่เป็นคนคอยอำนวยความสะดวกแก่ทีมงานบอกว่า จัดกิจกรรมแต่ละครั้งมีหลายเรื่องที่ต้องคิด ต้องเตรียม ทั้งเนื้อหาที่จะสอน การจดบันทึกว่าจดอย่างไร แบ่งงานกันอย่างไร อาหารว่างจะต้องเตรียมอะไร ต้องใช้เงินเท่าไร ทีมงานต้องวางแผนโดยละเอียดทุกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องเงินที่เพื่อนๆ บอกว่า อ๋อมเป๊ะมาก ซึ่งอ๋อมก็ยอมรับว่า เธอเคร่งครัดในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นการเป๊ะแบบประหยัดที่สมประโยชน์ ไม่สุรุ่ยสุร่ายและไม่ขี้เหนียวจนทำงานลำบาก

“จัดกิจกรรมแต่ละครั้งมีหลายเรื่องที่ต้องคิด ต้องเตรียม ทั้งเนื้อหาที่จะสอน จะจดบันทึกอย่างไร แบ่งงานกันอย่างไร อาหารว่างจะต้องเตรียม ต้องใช้เงินเท่าไร ทีมงานต้องวางแผนโดยละเอียดทุกครั้ง”

“หนูเป็นคนบันทึกค่าใช้จ่าย เวลาใครไปซื้อของแล้วจำราคาไม่ได้ หนูต้องไปหาราคามาให้ได้ บางครั้งก็ต้องซักกันว่าตอนนั้นให้ตังค์ไปเท่าไร เขาทอนมาเท่าไร หนูต้องซักอย่างละเอียดแล้วหนูเหนื่อยเอง บางครั้งหาราคาไม่เจอก็ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปดูที่ร้าน หรือบางครั้งต้องเอาของทุกอย่างที่ซื้อมารวมกัน เช็คว่าอันไหนรู้ราคา อันไหนไม่รู้ราคา แล้วหารดู เรื่องเงินเราต้องเป๊ะ เพราะเอาเงินเขามาใช้” อ๋อมยืนยันความโปร่งใสในการบริหารการเงิน

ความแตกต่างด้านบุคลิกของสมาชิกในกลุ่ม ไม่ใช่ปัญหา แต่กลับช่วยเสริมเติมให้ความเป็นทีมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มุ่ยที่กล้าแสดงออก ขี้เล่น เข้ากันได้ดีกับน้องๆ จึงเผลอเรื่อยๆ มาเรียงๆ อ๋อมที่บุคลิกจริงจัง เหมือนจะดุ ซึ่งก็จำเป็นเพราะต้องมีไว้คอยดึงเพื่อนและน้องไม่ให้เล่นจนเกินไป ขณะที่น้องทั้ง 3 คน ซัน หมวย ฟาง ใช้วัยที่ใกล้กับน้อง ม.1 ทำหน้าที่ประสานงาน อาจมีบางครั้งที่มาผิดเวลานัด แต่ก็อาศัยลูกอ้อนขอโทษพี่ๆ ความเป็นทีมจึงเป็นจุดเด่นที่ทุกคนเรียนรู้ความต่าง รับฟังความคิดเห็นกัน และให้กำลังใจกันตลอดเวลา



+ก้าวข้าม “จุดอ่อน”

สำหรับทีมงานที่เคยขยาดกับภาษาอังกฤษ เช่น หมวยกับอ๋อม ที่มีจุดอ่อนในการเรียนวิชานี้ จึงรู้สึกกังวลมากหากต้องไปสอนน้องๆ แต่ด้วยความที่อยากให้โครงการสำเร็จ ทั้งสองคนจึงต้องขวนขวายพัฒนาความรู้ด้านภาษาอังกฤษของตนเอง เพื่อให้สามารถไปสอนน้องๆ ได้

“พอจะทำเรื่องภาษาอังกฤษ ตอนแรกหนูไม่อยากทำ แต่ก็คิดว่า ถ้าเราทำผลที่ได้ก็เกิดกับตัวเราด้วย เพราะเราจะได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลก่อนที่เราจะไปสอนน้อง ทำให้เราได้ความรู้ไปด้วย” หมวยสารภาพถึงความกังวลใจใจตอนแรก

เช่นเดียวกับอ๋อมที่บอกว่า ตอนลงมติกันในกลุ่มว่าจะสอนภาษาอังกฤษ รู้สึกกังวลใจ รู้สึกแย่มาก เหมือนกับว่าเธอตกอยู่ในเหวคนเดียว ซึ่งก็มารู้ที่หลังว่าหมวยก็เป็นเหมือนกัน

“ที่รู้สึกแย่เพราะไม่ใช่เรื่องที่อยากทำ แต่ที่ไม่เลิกทำ เพราะเป็นนิสัยส่วนตัวที่ถ้าได้ทำอะไรแล้วจะต้องทำให้ถึงที่สุด”

ทั้งนี้อ๋อมยืนยันว่า เธอไม่ได้เกลียดภาษาอังกฤษ แค่ไม่เก่งเท่านั้น แต่เธอก็พยายามฝึกฝนตัวเองด้วยการคุยเล่นกับเพื่อนฝรั่งในเฟสบุ๊ค การทำโครงการนี้ทำให้เธอสนิทกับครู กับมุ่ย กับน้องมากขึ้น มีอะไรก็จะไปบอกครู ทำให้เธอใส่ใจเรื่องภาษาอังกฤษมากขึ้น และทัศนคติต่อภาษาอังกฤษก็ดีขึ้น รู้ว่าภาษาอังกฤษจำเป็นกับชีวิต พอรู้ว่าจะเปิดอาเซียนเราต้องฝึกตนเอง แต่เรื่องแกรมม่ายอมรับจริงๆ ว่าค่อนข้างสับสน ซึ่งปัญหาของเธอคือรู้คำศัพท์ไม่มากพอนั่นเอง

แต่สำหรับคนที่เก่งภาษาอังกฤษอยู่แล้วเช่นมุ่ย ก็บอกกับตัวเองว่า “โครงการนี้ทำให้รู้ว่า ที่เรารู้มาเรารู้จริงๆ นะ เพราะครูที่สอนพิเศษเคยบอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าเราเข้าใจจริงๆ ให้ลองไปสอนคนอื่นดู ถ้าสอนคนอื่นเข้าใจได้ก็แสดงว่า เรารู้จริงๆ การทำโครงการนี้ดูเหมือนเราจะให้น้อง แต่ก็เหมือนเราให้ตนเองด้วย เพราะการสอนน้องก็เหมือนเราได้ทบทวนไปด้วยพร้อมกัน”

­

+จัดการชีวิต...จัดการความรู้สึก

การทำงานนอกเหนือจากบทบาทนักเรียน ทำให้พวกเธอต้องการจัดการกับชีวิตและความรู้สึกค่อนข้างมาก จนบางครั้งแอบเกิดอาการท้อ เมื่อภาระต่างๆ ประดังประเดเข้ามาพร้อมๆ กัน บางครั้งก็ถูกเพื่อนที่ไม่เข้าใจ ถามว่าทำโครงการนี้ไปเพื่ออะไร เพราะมีงานกลุ่มที่ต้องทำด้วยกัน แต่เขาต้องเสียเวลามารอเราที่ทำงานโครงการ

“เหมือนกับว่าทำงานในห้องเรียนเราก็เป็นตัวหลักอยู่แล้วเพื่อนก็รอเรา พอมาทำตรงนี้เพื่อนก็รอเรา เราก็ต้องทำงานนั้นงานนี้ควบคู่กันไปด้วย พอเราทำช้าเพื่อนๆ ก็มาถามว่า ทำไมทำแค่นี้ ทั้งๆ ที่เราก็เป็นคนทำ เลยรู้สึกไม่สบายใจ” อ๋อมระบายความอึดอัดใจ

ขณะที่มุ่ยเสริมว่า “เหมือนเวลาเราไม่อยู่งานก็ไม่เดิน เวลาเราไปเวิร์คช็อปเสาร์อาทิตย์ กลับถึงบ้าน 5 โมงเย็นแล้ว แต่งานกลุ่มก็ยังไม่เสร็จ เราไม่อยู่สั่งงานไปเขาก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม เราก็ต้องจัดการเองเพราะงานต้องส่งวันจันทร์”

“หนูรู้สึกว่าเราเหนื่อยเยอะ แต่หนูคิดว่าหนูใช้ชีวิตคุ้มมาก ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง”

เจอแบบนี้บ่อยๆ เพื่อนซี้คู่นี้จึงต้องหาทางจัดการกับความรู้สึกหาที่ระบาย ซึ่งก็ไม่พ้นบ่นให้กันฟังไปมาอยู่ 2 คน หรือบางครั้งก็บ่นโพสต์ในเฟสบุ๊ค หรือบางทีก็เล่าให้ครูฟังด้วยอาการเหมือนจะร้องไห้ เล่าเสร็จก็สูดลมหายใจเหมือนให้ตัวเองเข้มแข็ง แล้วเดินออกมาจากห้องของครู แม้จะเจอแบบนี้ทั้งคู่ก็ไม่ท้อ พวกเธอรู้สึกว่า การทำโครงการเป็นเรื่องท้าทาย ยิ่งเมื่อเห็นงานเสร็จก็ยิ่งรู้สึกดี

“หนูรู้สึกว่าเราเหนื่อยเยอะ แต่หนูคิดว่าหนูใช้ชีวิตคุ้มมาก ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง” มุ่ยพูดถึงประสบการณ์ที่เธอได้รับ

เช่นเดียวกับฟางที่บอกว่า การทำโครงการเป็นประโยชน์ต่อตนเอง โดยเฉพาะวิธีการทำงาน เพราะได้เห็นตัวอย่างและเรียนรู้จากพี่มุ่ยซึ่งเป็นคนพูดเก่ง ขณะเดียวกันก็มีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักแบ่งเวลา

หมวยเองก็เช่นกันที่บอกว่า เธอได้พัฒนาทักษะในการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานกับพี่ๆ เธอเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนตรงต่อเวลา และจัดสรรเวลาได้ถูกต้อง

ส่วนอ๋อมบอกว่า ได้พัฒนาตนเองในเรื่องการแบ่งเวลา และการจัดการที่ละเอียดมากขึ้น “เมื่อก่อนเรารับผิดชอบแต่งานโรงเรียนกับงานที่บ้าน พอมีงานนี้เพิ่มมา ต้องรู้ว่าเวลาไหนต้องทำงานใด เราต้องให้ความสำคัญกับมันอย่างไร โครงการนี้ถึงมันจะไม่ได้ให้เกรดเรา แต่ทำให้เราหาความหมายของชีวิตเจอมากขึ้น”

กิจกรรมเล็กๆ ในโครงการช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้น้องๆ ชั้น ม.1 กลุ่มเล็กๆ ได้ปรับพื้นฐาน ให้สามารถเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างมีความสุขมากขึ้น มุ่ยเองยังค้นพบจุดยืนที่มั่นคงในการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาบนเส้นทางที่จะจบมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ส่วนหมวยและอ๋อมก็ได้ฝึกที่จะก้าวข้ามจุดอ่อนทางวิชาการบางด้านของตนเอง ที่สำคัญทุกๆ คนในทีมทั้งพี่และน้องต่างได้เรียนรู้การจัดการกับเป้าหมาย ความคาดหวัง ลิ้มรสผลจากการลงมือทำอย่างตั้งใจ และค้นพบตัวตนของตนเอง อันจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างถูกทิศถูกทาง



+ครู...ผู้สร้างคน

จิราวรรณ เทาศิริ ครูโรงเรียนกันทรอมวิทยาคม พี่เลี้ยงโครงการเล่าถึงเบื้องหลังของการสนับสนุนให้นักเรียนทำโครงการเพราะเชื่อว่า หากเด็กได้ผ่านกระบวนการคิด กระบวนการวิเคราะห์ กระบวนการวางแผน ยิ่งมาอยู่ในกระบวนการแบบนี้ สิ่งที่ครูคาดหวังที่สุดคือให้เด็กรู้จักคิด รู้จักการแก้ปัญหา อยากให้สิ่งเหล่านี้ติดตัวเด็ก เพื่อที่เขาจะได้เอาไปใช้ในอนาคต

“โครงการนี้ช่วยให้เด็กพบสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การค้นพบตนเอง การค้นพบศักยภาพตนเอง”

สำหรับผลการทำงานของลูกศิษย์โดยภาพรวมของงาน ครูพอใจเกินคาด ด้วยตอนแรกคาดหวังให้นักเรียนรู้จักกระบวนการทำงานเป็นทีม แต่เมื่อลงมือทำแล้ว นักเรียนสามารถนำปัญหามาวิเคราะห์ร่วมกันได้ โดยครูมีหน้าที่เพียงกระตุกกระตุ้นในบางครั้ง เช่น ช่วงแรกที่เกิดปัญหาจะทำเรื่องอะไรดี ก็ต้องตั้งคำถามให้เขาได้คิด

“จุดที่ไปที่อบรมภูสิงห์แล้วเกิดปัญหามาก อ๋อมเครียดมากเกือบสติแตก เพราะครูจะไม่ตอบคำถามเขาทันที อ๋อมเขาก็จะหงุดหงิดกับครูมาก เด็กเขาจะเคยชินกับที่โรงเรียนว่า ถ้าถามครูต้องเฉลย เขาจะเคยชินกับครูที่สอนในห้องเรียน ถามมาตอบไป แต่ครูจะไม่เฉลย นักเรียนถามมา ครูถามกลับ ถามมา ถามกลับ เขาก็แสดงอาการหงุดหงิด บอกว่าครูไม่ช่วยหนู ครูจะใช้กระบวนการจิตตปัญญา ปล่อยวาง ทำใจให้สงบ แล้วตั้งคำถามกลับว่า อันนี้ใช่ไหม ถามทีละประเด็นให้เขาได้คิด แต่ครูจะไม่ตอบ”

ในช่วงการทำงาน ถ้าลูกศิษย์เกิดเขวครูในฐานะที่ปรึกษาจะดึงมา สร้างเวทีให้ทีมงานได้คุยกัน บางครั้งเวลาประชุม ครูก็จะเปิดเวทีให้เขาประชุมเอง ฟางกับหมวยซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามา จะมีความคิดเป็นระบบ ส่วนอ๋อมกับมุ่ยยังไม่เคยผ่านการทำโครงการ แต่ด้วยความเป็นพี่ ครูก็จะทิ้งโจทย์หนักให้เป็นประธานเป็นเลขา เพราะน้องไม่กล้าสั่งการพี่ ครูก็จะใช้กระบวนการพี่จัดการน้อง แต่กว่าที่เขาจะจัดการคนอื่นได้เขาต้องจัดการตนเองก่อน

โครงการนี้ช่วยให้เด็กพบสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การค้นพบตนเอง การค้นพบศักยภาพตนเอง ครูอยากให้เขารู้ว่าเขามีศักยภาพ เหมือนกับที่ถามครูแล้วครูถามกลับ ซึ่งถ้าเด็กจับได้ก็จะรู้ว่า คำถามนั้นเป็นเสมือนเข็มทิศ จะบอกเขาเสมอว่า ปัญหาบางอย่างถ้าเรามีสติ คิดวิเคราะห์ และยั้งคิด เราจะหาทางแก้ปัญหานั้นได้ แล้วชีวิตจริงบางครั้งปัญหามันไม่ได้มาที่ละเรื่อง บางอย่างมันก็มาพร้อมกันหลายเรื่อง ถ้าเด็กมีกระบวนการคิด วางแผนและจัดการได้ มันก็ก้าวข้ามไปได้ นี่คือคำพูดให้กำลังใจ แล้วเราก็เฝ้ามอง เฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา

พลังและคุณค่าจากการทำโครงการ Eng Easy สานใจเติมฝัน เรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง นอกจากจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเยาวชนเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ ที่ช่วยต่อยอดความรู้ของตนเอง และช่วยดึงศักยภาพให้น้องๆ ในโรงเรียนรักการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นแล้ว พวกเขายังเข้าถึง “หัวใจ” ของการเป็นครูที่มีหัวใจของการกระตุกต่อมเรียนรู้ เน้นกลยุทธ์การสอนที่สนุก เป็นการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน ที่ช่วยซ่อมเสริมความรู้ ลดค่าใช้จ่ายในการติวภาษาอังกฤษ อันนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างรู้เท่าทันในยุคการสื่อสารไร้พรหมแดน และพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ที่ภาษาอังกฤษจะกลายเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญยิ่ง



โครงการ Eng Easy สานใจเติมฝัน เรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง

แกนนำเยาวชน

1)  สตรีรัตน์ บังคม  2) กรรณิการ์ เมธา  3) ฐิติมา พรมสวัสดิ์  4) ปิยธิดา เดชธรรมรงค์ 5) อภิชญา  เทาศิริ

พี่เลี้ยงโครงการ  จิราวรรณ เทาศิริ