การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาสมุนไพรหมาน้อย

ต้นกล้าเยาวชนคนหมาน้อย


ครั้งแรกเราไม่รู้เรื่องเลย คิดว่าแค่ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย แต่พอมาทำโครงการนี้ถึงเข้าใจว่า ทำไมเราต้องมาสนใจ ที่เราต้องสนใจเพราะมันเป็นภูมิปัญญาของบ้านเรา ถ้าเราจะปล่อยให้มันหายไปเฉยๆ ก็ดูกระไรอยู่ มันเป็นประโยชน์ ก็น่าจะเก็บไว้ น่าเรียนรู้ไว้ ถ้าสมมุติว่า ปู่ย่าตายายไม่อยู่แล้วใครจะสอนเรา ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้ไว้ตั้งแต่วันนี้ แล้วเด็กๆ ที่เขาเกิดมาทีหลังจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่บ้านเราเคยมีต้นแบบนี้


จากสิ่งที่เห็นชินตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เคยคิดว่าจะสำคัญอะไร อย่างไร จนเมื่อได้มีโอกาสเรียนรู้และลงมือทำ จึงเกิดความรู้สึกลึกซึ้งกับภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ...

และนี่คือปรากฏการณ์การเรียนรู้ของใหม่-สิวนาท คะรุรัมย์, กุ๊กไก่-ปนัดดา ศรีบุญเรือง, อิ๋ว-อรัญญา แซมรัมย์, แหม่ม-รวีวรรณ สว่างภพ,  เล็ก-ลลิตา จันทะสี,  ชีวัน-สุขชีวรรณ ใจเพ็ง และ ขวัญ-ขวัญฤดี ประสพสุข ที่ได้มีโอกาส “ลงมือ”ทำโครงการต้นกล้าเยาวชนคนหมาน้อย โดยมีเพ็ญทิวา สารบุตร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)โคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชนเป็นผู้ชักชวน

“แต่ก่อนเห็นพ่อแม่ตายายทำ แต่ไม่สนใจ ตอนนั้นนั่งดูเฉยๆ ก็ถามเขาว่า ทำอะไร เขาบอกว่า ทำหมาน้อย หนูก็ไม่รู้จัก” เล็กเล่าถึงอดีตที่เธอไม่เคยสนใจ

หมาน้อย เป็นชื่อของสมุนไพรพื้นบ้านที่มีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณขับสารพิษ ทำให้ขับถ่ายสะดวก นอนหลับสบาย และใช้ทำอาหารคาว-หวานได้ ในอดีตสามารถพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณชายทุ่งและในป่า คนในพื้นที่ชุมชนบ้านเสลา-สุขเกษม ตำบลโคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นิยมปลูกและบริโภคเป็นทั้งอาหารคาว หวาน และใช้เป็นสมุนไพร

ชุมชนบ้านเสลาตั้งอยู่ที่ ม.6 ต.โคกเพชร อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ มีจำนวนครัวเรือน 139 หลังคาเรือน มีประชากร 599 คน ส่วนชุมชนบ้านสุขเกษมตั้งอยู่ที่ ม.11 ตำบลโคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนครัวเรือน 124 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 558 คน ทั้ง 2 ชุมชนมีอาณาเขตพื้นที่ติดกัน คนในชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาเขมรในการสื่อสาร มีองค์ความรู้พื้นถิ่นในการใช้ประโยชน์จากเครือหมาน้อย ซึ่งเป็นพืชที่เดิมจะพบเห็นในป่า แต่เมื่อพื้นที่ป่าลดลง ปริมาณของหมาน้อยจึงลดลงตามไปด้วย ชาวบ้านจึงเริ่มนำหมาน้อยมาปลูกในครัวเรือน ด้วยเกรงว่าหากสูญหายไปชุมชนก็จะขาดแหล่งอาหาร และยาสมุนไพรพื้นบ้าน


+ยิ่งทำ...ยิ่งเข้าใจ

อิ๋วเล่าว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้ทำโครงการในลักษณะนี้ จากเดิมที่ชินกับการไปอบรมตามที่ต่างๆ แล้วก็จบ เมื่อตอนที่หมอเพ็ญทิวา สารบุตร พี่เลี้ยงชุมชนมาชวนไปร่วมอบรมกับเพื่อนๆ ในเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษตอนแรกก็คิดเพียงว่า ไปแค่วันเดียวก็เสร็จ

“แต่พอไปถึง พี่ๆ เขาบอกให้ทำโครงการ อ้าวไม่ใช่มาแค่วันเดียวแล้วนี่ ตอนนั้นเริ่มรู้สึกสนุกและท้าทายมาก อะไรที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ โครงการคืออะไร ทำยังไง แต่ละคนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ต่างคนต่างมึน พอได้เริ่มทำก็เริ่มเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ว่า โครงการคืออะไร ทำอะไร ทำอย่างไร และทำไมถึงต้องทำ มันก็เริ่มเข้าใจไปทีละนิดจนกระจ่าง”

“พวกเราเป็นคนวัยเดียวกันมีเวลาว่างเยอะ หลายคนก็ไม่รู้จะทำอะไร ถ้าต่างคนต่างอยู่ส่วนใหญ่ก็มักจะหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์ เมื่อพี่ๆ ให้คิดประเด็นที่จะทำโครงการจึงได้ทบทวนทุนเดิมของชุมชนพบว่า หมาน้อยซึ่งเป็นพืชสมุนไพรในหมู่บ้านเริ่มจะสูญหายไปแล้ว แม้ชาวบ้านจะมีความต้องการใช้ แต่ก็เริ่มหาได้ยากแล้ว ทั้งกลุ่มจึงเห็นร่วมกันว่า ทำเรื่องนี้แหล่ะ เพราะจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่า และฟื้นฟูภูมิปัญญาสมุนไพรหมาน้อย”

เพราะ “รู้สึกอยากทำ” อิ๋วจึงเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนเพื่อนๆ น้องๆ ในชุมชนให้มารวมกลุ่มกัน เพราะเห็นว่า คนวัยเดียวกันมีเวลาว่างเยอะ หลายคนก็ไม่รู้จะทำอะไร ถ้าต่างคนต่างอยู่ส่วนใหญ่ก็มักจะหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์ เมื่อพี่ๆ ให้คิดประเด็นที่จะทำโครงการจึงได้ทบทวนทุนเดิมของชุมชนพบว่า หมาน้อยซึ่งเป็นพืชสมุนไพร

ในหมู่บ้านเริ่มจะสูญหายไปแล้ว แม้ชาวบ้านจะมีความต้องการใช้แต่ก็เริ่มหาได้ยากแล้ว ทั้งกลุ่มจึงเห็นร่วมกันว่า ทำเรื่องนี้แหล่ะ เพราะจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่า และฟื้นฟูภูมิปัญญาสมุนไพรหมาน้อย

เมื่อคิดตกในเรื่องที่จะทำ ก็มาถึงการแบ่งบทบาทหน้าที่ในการทำงาน อิ๋วซึ่งเป็นพี่ใหญ่ รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม ทำหน้าที่อธิบายทำความเข้าใจและเข้าหาผู้นำชุมชน โดยมีกุ๊กไก่เป็นผู้ช่วยในฐานะรองประธานกลุ่ม ใหม่รับหน้าที่เป็นเลขา เพราะจดงานเร็ว เล็กรับตำแหน่งประชาสัมพันธ์ของกลุ่ม ทำหน้าที่นัดเพื่อน ดูแลเฟสบุ๊คโครงการ รายงานความคืบหน้ากิจกรรมของกลุ่ม ส่วนขวัญเป็นปฏิคมดูแลการเสิร์ฟน้ำ อาหาร จัดการเรื่องสถานที่ด้วยความสมัครใจ แม้การเลือกบทบาทหน้าที่ส่วนใหญ่จะเลือกจากความสามารถ และความอยากทำ แต่วรรณต้องเป็นเหรัญญิก ดูแลเรื่องการใช้จ่าย การเงิน ทำบัญชีรายรับเพราะเพื่อนบังคับด้วยเห็นว่าเป็นคนที่น่าจะรอบคอบที่สุด

เมื่อความคิดตกตะกอน แผนการทำงานก็เริ่มขึ้น เบื้องต้นทีมได้จัดประชุมชี้แจงข้อมูลการทำโครงการให้ผู้นำหมู่บ้านและคนในชุมชนรับรู้ หลังจากนั้นก็เริ่มเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหมาน้อย ทั้งในแง่คุณค่าและการใช้ประโยชน์จากผู้รู้ในชุมชน ฝึกการแปรรูป เพื่อให้ได้รู้จริงและลงมือทำ ทั้งนี้ตั้งใจว่า เมื่อรวบรวมความรู้เรื่องหมาน้อยแล้วจะนำไปบอกเล่าแก่คนในชุมชน พร้อมกับเพาะพันธุ์หมาน้อยเพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกแต่ละครัวเรือนนำไปปลูก โดยเลือกบ้านเสลา-สุขเกษมเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ

กระบวนการสืบค้นข้อมูลเริ่มจากการสำรวจบ้านที่ยังปลูกหมาน้อยว่ามีอยู่กี่หลังคาเรือน พร้อมทั้งสอบถามถึงวิธีการปลูกและการใช้ประโยชน์จากผู้รู้ในชุมชนที่มีอยู่ 3 – 4 คน เช่น ยายสุรัตน์ ใจมน ยายจันทา เถาประ ผู้ใหญ่ทิน พันธุเป็น ทำให้พวกเขาได้รู้ว่า ปัจจุบันมีเพียงเฉพาะบ้านผู้รู้ที่ปลูกและแปรรูปหมาน้อยเพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งๆ ที่หมาน้อยมีสรรพคุณแก้อาการร้อนในและท้องร่วง แต่คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ทราบกันแล้ว สิ่งที่ค้นพบทำให้พวกเขารู้สึกว่าของที่เคยกินแต่เล็กแต่น้อยเริ่มมีความหมายมากขึ้น

เมื่อรู้สรรพคุณ จึงนำมาสู่การเรียนรู้วิธีการแปรรูปหมาน้อยเป็นอาหาร งานนี้สาวๆ ช่วยกันขยี้ ขยำ จนได้ผลผลิตเป็นหมาน้อยที่สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารทั้งคาวและหวาน พร้อมแจกจ่ายแก่พี่ๆ ทีมงานที่มาเยี่ยมในชุมชน ส่วนหนึ่งแบ่งขายในหมู่บ้าน ได้เงินมาไม่มากไม่มาย แต่กลุ่มบอกว่าเป็นเงินขวัญถุงที่จะสะสมไว้เป็นทุนทำกิจกรรมในอนาคต



+“ปลูก” สำนึกรักท้องถิ่น “สร้าง” เด็กให้ชุมชน

มูลค่าที่เป็นดอกผลของการลงมือทำแม้ไม่มาก แต่คุณค่าของการเรียนรู้นั้นมหาศาลเพราะมันแปรเปลี่ยนความรู้สึกสำนึกรักท้องถิ่นที่สะท้อนผ่านคำพูดของอิ๋วซึ่งบอกว่า “ครั้งแรกเราไม่รู้เรื่องเลย คิดว่าก็แค่ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย แต่พอมาทำโครงการนี้ถึงเข้าใจว่า ทำไมเราต้องมาสนใจ ที่เราต้องสนใจเพราะมันเป็นภูมิปัญญาของบ้านเรา ถ้าเราจะปล่อยให้มันหายไปเฉยๆ ก็ดูกระไรอยู่ มันเป็นประโยชน์ ก็น่าจะเก็บไว้ น่าเรียนรู้ไว้ ถ้าสมมุติว่า ปู่ย่าตายายไม่อยู่แล้วใครจะสอนเรา แล้วเด็กๆ ที่เขาเกิดมาทีหลัง เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าที่บ้านเราเคยมีต้นแบบนี้ แล้วเอาไว้ทำอะไร ถ้าเราไม่เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ สนใจตอนนี้ดีกว่า”

นอกจากความตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว การได้ทำงานร่วมกันยังทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากคนข้างบ้านที่เห็นหน้าเห็นตารู้จักชื่อ ก็ได้รู้จักลึกซึ้งไปถึงนิสัยใจคอ ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความรู้สึกนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสมาชิกที่เป็นสังคมก้มหน้าให้ลุกขึ้นมาปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เพราะเมื่อมาทำโครงการแบบนี้ทำให้ได้คุยกันมากกว่า และรู้สึกว่าการอยู่กับเพื่อนสนุกกว่าอยู่กับโทรศัพท์

“การได้ทำงานร่วมกันทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากคนข้างบ้านที่เห็นหน้าเห็นตารู้จักชื่อ ก็ได้รู้จักลึกซึ้งไปถึงนิสัยใจคอ ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างกัน ความรู้สึกนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสมาชิกที่เป็นสังคมก้มหน้าให้ลุกขึ้นมาปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น”

ขณะเดียวกันการได้ไปพบปะกับเพื่อนที่ทำโครงการลักษณะนี้ในเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ทำให้ทั้งกลุ่มสามารถก้าวข้ามความรู้สึกแปลกแยกที่รู้สึกว่า ตนเองด้อยกว่าคนอื่นไปได้

“ครั้งแรกที่ไปอบรมกลุ่มเราไม่พูดกับคนอื่นเลย รู้สึกเหมือนว่าเราเข้ากับเขาไม่ได้ ทำให้เราไม่อยากคุยกับเขาเลย อยากอยู่แต่กับกลุ่มเรามากกว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไปกินข้าวแล้วกลุ่มหนูไปช้า ต้องแยกกันนั่งแทรกตามโต๊ะต่างๆ พวกเราทั้งหมดเลือกที่จะไม่กินเลย ยอมอดข้าวทั้งกลุ่ม คือเราไม่กล้าไปกินกับเพื่อนกลุ่มอื่น ที่เราไม่สนิท”

แต่หลังผ่านฐานการเรียนรู้ซึ่งพี่ๆ จัดกลุ่มคละน้องจากต่างชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเธอเริ่มกล้าพูดกับเพื่อนต่างชุมชนมากขึ้น แต่ละคนจึงค่อยๆ ก้าวออกจากจุดยืนของตนเองไปผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ๆ

การทำโครงการที่ต้องรับผิดชอบตั้งแต่ต้นจนจบภายในระยะเวลา 6 เดือน ดูเหมือนจะไม่นาน แต่สำหรับเด็กสาววัยรุ่นซึ่งมีสิ่งเร้าใจรอบๆ ตัวมากมายถือว่าเป็นเวลาที่นานมาก การที่ได้วางแผนทำงาน การแบ่งบทบาทหน้าที่ และสัมผัสประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำด้วยตนเองกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ความกล้าแสดงออกที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอิ๋วเล่าว่า อยู่ที่โรงเรียนเขาก็สอนให้กล้าแสดงออกกล้าพูด แต่พอทำโครงการและต้องออกไปนำเสนอบ่อยๆ กลายเป็นการฝึกฝน การได้เห็นเพื่อนคนอื่นๆ พูดก็จดจำทักษะการพูดของเพื่อนเป็นประสบการณ์ทำให้เกิดความกล้ามากขึ้น

“เพราะเขาสอนให้กล้าแสดงออก มันก็อยากแสดงออกให้เขาเห็นว่าเราทำได้ เด็กอย่างเราก็มีความสามารถเหมือนกัน อยากให้คนอื่นมองว่าเราก็มีความสามารถไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นเลย”

ขณะที่กุ๊กไก่ ใหม่ ขวัญ ตัวเล็กและแหม่มก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของตนเองในเรื่องนี้เช่นกัน

แหม่มบอกว่า เป็นเพราะบรรยากาศในการเรียนรู้ที่เป็นมิตรสร้างความรู้สึกที่ดีในการแสดงออก “ตอนไปครั้งแรกเขาให้ออกไปนำเสนอเราก็อาย เราไม่รู้จักกับเพื่อนกลุ่มอื่นด้วย พอได้ออกไปนำเสนอต้องจับไมโครโฟนเรายังเอากระดาษปิดหน้า หันหลังให้ ไม่มองหน้าเพื่อนเพราะอาย กลัวพูดผิดพูดถูก รู้สึกว่าเขาจ้องหน้าเรา ถ้าพูดผิดไปเขาจะเยาะเย้ย เป็นความกลัวของเรา แต่พอเราพูดผิดไปเพื่อนเขาก็ไม่เยาะเย้ย เขายิ้มให้ เราก็รู้สึกว่าดีนะ เขาไม่เยาะเย้ย เลยทำให้กล้าพูดมากขึ้น”

เมื่อพาตัวเองออกจากพื้นที่ปลอดภัยได้แล้ว การทำโครงการและการได้ไปเจอเพื่อนๆ ต่างหมู่บ้าน จึงกลายเป็นความสุขและความสนุก หากจะมีอุปสรรคเล็กๆ อยู่บ้างก็เรื่องการจัดการภายในทีมที่บางครั้งบางคราบางคนก็เผลอมีอาการตกร่องเดิม ก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์ไม่สนใจความเป็นไปรอบตัว จนเพื่อนต้องกระตุกกระตุ้นให้วางโทรศัพท์แล้วมาช่วยกันทำงาน ซึ่งอาการแบบนี้มักเป็นสลับกันไปมาในกลุ่ม ทางแก้ก็คือ สลับกันเตือนกันไปเตือนกันมา

ในระยะสุดท้ายของโครงการ เยาวชนทั้งกลุ่มได้จัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานให้คนในชุมชนได้รับรู้ถึงข้อมูลการทำงาน และประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ โดยเชิญตัวแทนผู้นำชาวบ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาร่วมรับฟัง

“ส่วนใหญ่เขาก็สนใจฟังกันดี เพราะตอนที่หนูนำเสนอมีคนคุยกันเขาก็ห้ามกันเอง บอกว่าเขาอยากฟังเราพูด รู้สึกชื่นใจที่มีคนอยากฟังเรา”



+เมื่อไฟในใจลุกโชน

วันนี้...แม้ว่าระยะเวลาการดำเนินงานโครงการจะสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ แต่สำหรับเยาวชนทีมหมาน้อยยังคงไม่สิ้นสุดการทำงานเพียงเท่านั้น ด้วยยึดมั่นที่จะรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับชาวบ้านหลายๆ คน ว่า จะเพาะพันธุ์หมาน้อยมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้นำไปปลูกกันถ้วนหน้า สัญญาที่ติดค้างดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะในช่วงที่ดำเนินโครงการ ไม่ใช่ฤดูกาลที่เหมาะสมที่จะเพาะพันธุ์หมาน้อย ซึ่งทีมตั้งใจที่จะเพาะพันธุ์เองทั้งๆ ที่ทราบว่าต้นกล้าหมาน้อยมีจำหน่ายและงบประมาณของโครงการสามารถจัดซื้อได้

“คิดว่างานที่ทำยังไม่เต็ม100 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีงานที่ไม่ได้ทำคือ การเพาะพันธุ์ เนื่องจากชาวบ้านเขาอยากปลูกมาก พวกเราเลยตั้งใจว่าจะเพาะพันธุ์แล้วนำไปปลูกที่โรงเรียน วัด และแจกตามบ้าน ๆ ละ 5 ต้น ซึ่งคิดว่าวิธีนี้จะช่วยอนุรักษ์พันธุกรรมหมาน้อยให้อยู่คู่กับชุมชนได้บ้างไม่มากก็น้อย”

โครงการนี้เป็นเสมือนการเปิดโลกการเรียนรู้ของกลุ่ม ทำให้พวกเธอติดใจถึงขั้นบอกว่า ถ้ามีโครงการมาอีกก็จะทำอีก เพราะเห็นข้อดีที่ทำให้รู้จักสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชน และรู้จักการวางแผนการทำงาน ซึ่งประเด็นที่มีอยู่ในใจที่อยากทำต่อมีทั้งการต่อยอดศึกษาเรื่องสมุนไพรพื้นบ้านชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ในชุมชน เรื่องวัฒนธรรม ทั้งด้านการแต่งกายและการใช้ภาษา ซึ่งแหม่มในฐานะเยาวชนสะท้อนปัญหาของเยาวชนที่พบเห็นและเป็นอยู่ว่า

“บ้านเราเป็นเขมร อยากให้เด็กรุ่นใหม่เวลาไปวัดตักบาตรใส่ผ้าถุงมันคงดูน่ารักดี และอยากให้พูดจาไพเราะ มีมารยาท เพราะเด็กสมัยนี้เอาคำหยาบมาใช้เยอะมาก อยู่ในวัดเราต้องสำรวม พูดเพราะๆ แต่สมัยนี้เด็กบางคนตะโกนด่ากันข้ามหัวผู้ใหญ่ พวกหนูก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาพูดเพราะ สำรวม”


+สร้างภูมิคุ้มกันแก่เยาวชน

เพ็ญทิวา สารบุตร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเพชร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า เธอจัดรวมกลุ่มเยาวชนหลังจากที่กำนันตำบลโคกเพชรประสานงานมาว่าจะมีโครงการให้เด็กทำ จึงได้พิจารณาว่า มีเด็กคนไหนที่จะสามารถมาร่วมกับกิจกรรมนี้ได้บ้าง แต่ในตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่ากิจกรรมจะเป็นแบบไหน ดังนั้นการรวมกลุ่มจึงเป็นการชักชวนผ่านเครือข่ายแม่ของเด็กที่เป็น อสม. อบต. และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ รพ.สต.เคยทำงานร่วมกัน

“ได้ตัวแทนเยาวชนจำนวน 7 คน ซึ่งเกินจากที่กำหนดไว้คือ 5 คน เกินมา 2 คนเราก็ไม่ตัดออกเพราะเขามาเป็นทีมเป็นเพื่อนกันแล้ว ก็เลยพาไปด้วยกัน ซึ่งก็กลายเป็นจุดแข็งในการทำงานของกลุ่ม เนื่องจากมีตัวแทนที่สามารถสลับกันไปเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกครั้ง แม้ว่าใครบางคนอาจจะติดภารกิจอื่นๆ ไปร่วมกิจกรรมไม่ได้”

“อยากให้เยาวชนกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างแก่เด็กคนอื่นๆ ในชุมชน อีกทั้งเป็นการเฝ้าระวังโดยทำให้เยาวชนรู้สึกว่า มีที่ปรึกษาที่พร้อมจะให้คำปรึกษา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการดำเนินงานในโครงการ แต่ยังรวมถึงเรื่องวิถีชีวิต การคบเพื่อนชาย เพื่อนหญิง ที่เขาจะมีคนๆ หนึ่งคอยให้คำแนะนำ”

เบื้องหลังความคิดในการสร้างโอกาสการทำงานให้แก่เด็กเพ็ญทิวาบอกว่า มาจากความตั้งใจล้วนๆ อยากให้เยาวชนกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างแก่เด็กคนอื่นๆ ในชุมชน อีกทั้งเป็นการเฝ้าระวังโดยทำให้เยาวชนรู้สึกว่า มีที่ปรึกษาที่พร้อมจะให้คำปรึกษาไม่ใช่เฉพาะเรื่องการดำเนินงานในโครงการ แต่ยังรวมถึงเรื่องวิถีชีวิต การคบเพื่อนชาย เพื่อนหญิง ที่เขาจะมีคนๆ หนึ่งคอยให้คำแนะนำโดยหมอเองก็สอดส่องเอาใจใส่ต่อความเป็นไปของน้องๆ เช่น การนั่งรถไปด้วยกันก็ทำให้ทราบถึงความเป็นไปของน้องๆ ว่า กำลังคุยกับใคร มีปัญหาอะไร หรือบางครั้งก็สอบถามถึงสถานการณ์ของเยาวชนคนอื่นๆ

“อย่างน้อยก็มี 7 คนแหล่ะที่เราเฝ้าระวังได้ เพราะว่าเด็กชุมชนตรงนั้นมันค่อนข้างน่ากลัว ถ้าศึกษาย้อนไปในอดีต เด็กอายุ 15 – 16 ปี ตั้งท้องมาทั้งหมดแล้ว มีแต่กลุ่มนี้แหล่ะที่ไปเรียนหนังสือ เราก็จะบอกเขาว่า รู้จักใช่ไหมพี่คนนั้น พี่คนนี้ ถ้ารู้จักต้องระวังไม่ทำแบบเขา ให้เรียนให้จบก่อน การทำโครงการตรงนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ ทำให้รู้จักวางแผน หมอก็จะกล่อมไปด้วยว่า จบ ม.6 ยังไม่ต้องแต่งงานนะ ให้ เรียนต่อ ให้ตั้งเป้าหมายที่การเรียนก่อน”

แม้ว่าการทำงานจะเน้นไปที่โครงการของเยาวชนที่ได้เรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านหมาน้อยที่เป็นยาฤทธิ์เย็น ช่วยปรับสมดุลร่างกาย แก้ร้อนใน ศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ เพื่อขายกล้าพันธุ์หมาน้อย และคิดค้นการแปรรูปเป็นอาหารคาว หวาน เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชน แล้ว ผลที่เกิดยังย้อนมาช่วยผลิตคนรุ่นใหม่ของชุมชนที่มีภูมิคุ้มกันจากสิ่งเร้ารอบตัว สามารถป้องกันเด็กเยาวชนจากปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และปัญหายาเสพติด ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้เป็นทั้งแหล่งข้อมูลเรื่องสถานการณ์ต่างๆ ของวัยรุ่นในชุมชน และเป็นกระบอกเสียงช่วยตักเตือนเพื่อนๆ วัยเดียวกันที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง นำไปสู่การเฝ้าระวังจัดการปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนร่วมกัน ให้สามารถตั้งรับกับเหตุการณ์ที่จะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น




โครงการต้นกล้าเยาวชนคนหมาน้อย

แกนนำเยาวชน

1)  สิวนาท คะรุรัมย์ 2)  ปนัดดา ศรีบุญเรือง  3)  อรัญญา แซมรัมย์  4)  รวีวรรณ สว่างราม  5)  ลลิตา จันทะสี สุข  6) ชีวรรณ ใจเพ็ง  7) ขวัญฤดี ประสพสุข

พี่เลี้ยงโครงการ  เพ็ญทิวา สารบุตร