ลูกหลานเมืองน่าน ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อ

วัฒนธรรมไทลื้อกำลังเลือนหาย? เด็กออกนอกชุมชนเพื่อเรียนหนังสือ เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักกัน อยู่แบบตัวใครตัวมัน ฯลฯ... ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาจู่โจมชุมชนบ้านหนองบัว จ.น่าน ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งไม่นิ่งนอนใจ ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึกรักบ้าน ให้เยาวชนในชุมชนรู้จักรากเหง้าของตนเอง หวนรำลึกถึงบ้านเกิดและวัฒนธรรมแต่ดั้งเดิม....

­

­


หมู่บ้านหนองบัวเป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อที่อพยพมาจากมณฑลยูนาน ประเทศจีน มีประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ทั้งด้านภาษา การแต่งกาย การแสดง ดนตรี ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันแต่ด้วยระยะเวลาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ทำให้เกิดความห่างเหินในกลุ่มเครือญาติ เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าใครเป็นญาติใคร เด็กออกนอกชุมชนเพื่อเรียนหนังสือ อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าวัฒนธรรมของตนกำลังเลือนหาย กลุ่มเยาวชนบ้านหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน จึงรวมพลังกันจาก “รุ่นสู่รุ่น”สานต่อ”วัฒนธรรมดั้งเดิม” ตั้งแต่เริ่มมีโครงการครอบครัวเข้มแข็งบ้านหนองบัว ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงรุ่นปัจจุบัน เยาวชนในชุมชนยังคงรวมตัวกันทำงานอย่างเหนี่ยวแน่นในการทำงานเพื่อบ้านตนเอง จนมาถึงเยาวชนแกนนำรุ่นล่าสุด ประกอบด้วย นายพิทยุตม์ เทพอินทร์(บุ๋น) นายศุภกิต ภิมาลย์(หมอก) นายกรรชัย ปัญญานันท์(ชัดชน)น.ส.ปาลิดา อินต๊ะแสน(ปิ่น) มีโจทย์ใหญ่ของชุมชนให้ช่วยขบคิด ด้วยเกรงว่าวัฒนธรรมไทลื้อกำลังเลือนหายไปในช่วงรุ่นของตน จึงเกิดแนวคิดที่จะช่วยกันทำกิจกรรมปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับเยาวชนในชุมชนอีกครั้ง

­

­


แกนนำเยาวชน จึงรวบรวมน้องๆ เยาวชนทั้งหมู่บ้านตั้งแต่อายุ 8 ปี จนถึง 18 ปี ประมาณ 30 คนมารวมกลุ่มกัน ทำโครงการเรียนรู้เครือญาติสืนสานวัฒนธรรมไทลื้อบ้านหนองบัว ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ที่มีพระปลัดคงศิลป์ ภฺทราวุโธ(เขื่อนอ้น) เจ้าอาวาสวัดหนองบัว เป็นที่ปรึกษา เพื่อเป็นอุบายให้เยาวชนได้มารวมตัวกันเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชุมชนนั่นเอง จึงได้มีการออกแบบกิจกรรมให้น้องๆ เยาวชนและตนเองได้เรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชุมชนโดยใช้กิจกรรม“เรียนรู้ผังเครือญาติ” “กิจกรรมภาพเก่าเล่าเรื่อง” และ “กิจกรรมแสดงละครประวัติศาสตร์” หลังจบกิจกรรมเยาวชนต่างสะท้อนการเรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจ....

­

­


นายศุภกิต ภิมาลย์ (หมอก) แกนนำเยาวชน เป็นตัวแทนเล่าการทำกิจกรรมว่า “การทำผังเครือญาติ พวกเราเรียนรู้วิธีทำกันเองว่าจะต้องทำออกมาอย่างไรให้ได้ตามทฤษฏี ก็ดูตัวอย่างวิธีการทำและไปสอนให้น้องๆ ในหมู่บ้านทำด้วยกัน ก็จะช้าหน่อยเพราะว่ายากมากต้องสืบค้นตั้งแต่รุ่นทวดก็มีไปถามพ่อ แม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ทำกันหลายวันกว่าจะเสร็จ จากนั้นก็ให้ทุกคนมานำเสนอหน้าห้อง ตอนนั้นทุกคนก็ลุ้นกันใหญ่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง อย่างผมก็คอยดูว่าใครจะเป็นญาติเราบ้าง ก็มีน่าตกใจเหมือนกัน พอรู้ว่า จ๊าบ (เพื่อนร่วมกิจกรรม) ก็เป็นญาติเรา จากเมื่อก่อนไม่ค่อยคุยกันพอรู้ว่าเป็นญาติกันก็สนิทกันมากขึ้น มีหลายคนในกลุ่มที่เป็นแบบนี้นะ” ผลการทำกิจกรรมนี้ทำให้เยาวชนเกิดความปรองดองกันมากขึ้นเมื่อดูจากผังเครือญาติในชั้นของทวดทุกคนคือญาติพี่น้องกันนั่นเอง

­

­

­

­

­


สำหรับ“กิจกรรมภาพเก่าเล่าเรื่อง”“ก็แบ่งทีมกันค้นหาภาพในอดีต ใช้เกณฑ์ภาพที่เป็นเหตุการณ์ในชุมชน มีความเก่าแก่ หรือ ปัจจุบันไม่มีแล้ว ก็ไปหาตามบ้าน และสอบถามประวัติของภาพ นำภาพมาให้คนในชุมชนได้ดูจะได้รู้ว่าสมัยก่อนหมู่บ้านเราเป็นอย่างไร แต่ละคนก็ตื่นเต้น เช่นหมอคนแรกของหมู่บ้าน การแต่งตัวที่ไม่เหมือนสมัยนี้ภาพการทำขนมข้าวเกรียบว่าวที่ไม่เห็นแล้วในหมู่บ้านเรา เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าจำได้ตอนเด็กๆ เคยเห็นในงานบวช ตอนนี้ไม่เห็นก็คิดถึงอยากให้ชุมชนมาทำให้กินอีก หรือภาพแข่งเรือยาว ก็ทำให้ทุกคนคุยกันว่าเมื่อก่อนหมู่บ้านเราได้ที่หนึ่งตลอดเลยเนอะ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว (ในภาพจะเห็นถ้วยรางวัลด้วย) กิจกรรมนี้ทำให้ทุกคนได้คุยกันถึงเรื่องราวในภาพที่เกิดขึ้นในอดีตและมาเปรียบเทียบกับหมู่บ้านของเราในวันนี้ ก็คุยกันว่าดีเนอะ หมู่บ้านเราเมื่อก่อนมีของดีๆ เยอะเลย”

ส่วน“กิจกรรมการแสดงละคร” ได้แสดงประวัติศาสตร์ของชุมชน ประมาณ 10 นาที มีแสดงเรื่องราวการมาตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านจากจีนมาถึงจ.น่านและอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข มีแสดงอาชีพการรำไทลื้อ อาชีพ จับปลา ไก (อาหารพื้นบ้าน สาหร่ายแม่น้ำน่าน) “การทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนร่วมกันนานๆ ทำให้พวกเราผูกพันกัน การหาข้อมูลก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าบ้านเรามีอะไรดีๆ เยอะมาก”

­

­


น.ส.ปาลิดา อินต๊ะแสน (ปิ่น) ที่ดูแลเรื่องการแสดงสะท้อนการเรียนรู้ว่า “การทำประวัติศาสตร์ชุมชนเราต้องไปสืบค้นข้อมูลให้ถูกต้อง ตอนแรกพวกเราประชุมกันว่าจะเปิดเรื่องด้วยการตีกันเพราะแย่งผู้หญิง เพราะในประวัติศาสตร์ไม่ได้เขียนไว้ว่า เจ้ามหาวัง และเจ้าหม่อมน้อย อากับหลานทะเลาะกันเรื่องอะไร เราก็เลยเขียนแบบนี้ แต่ท่านพระครูมาดูแลพวกเราทำงานทุกวันก็บอกว่าถ้าเขียนอย่างนี้ประวัติศาตร์ก็อาจจะผิดเพื้ยนได้ เราเลยแก้ให้เป็นแค่ฉากสู้กันเฉยๆ แบบไม่มีสาเหตุ การทำงานก็ทำให้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่นเรื่องประวัติศาสตร์ต้องนำเสนอออกมาให้ถูกต้องเพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายได้ ได้เรื่องของความอดทนที่ต้องสอนน้องๆ ให้เข้าใจในแต่ละเรื่อง และการตรงต่อเวลาด้วยค่ะ”

­

­


พระปลัดคงศิลป์ ภฺทราวุโธ (เขื่อนอ้น) เจ้าอาวาสวัดหนองบัว ในฐานะที่ปรึกษาได้ย้ำถึงการทำโครงการว่า “การเรียนรู้ของเด็กในปัจจุบัน ห่างเกินออกจากชุมชน เราคิดว่าเราน่าจะให้เยาวชนหนองบัว มีกิจกรรมบางส่วนที่จะหวนรำลึกถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง บ้านหนองบัวมีเรื่องของเครือญาติ เทวดาประจำตระกูล ของตนเอง เป็นสิ่งที่ร้อยรัดชุมชนไว้ ถ้าเราไม่มีโจทย์แบบนี้ให้เด็กๆ ได้ทำ สิ่งเหล่านี้จะเริ่มหายไป โจทย์แบบนี้ทำให้พวกเขาเกิดความตระหนัก ทำให้เรียนด้วยตนเอง ไม่ต้องไปอธิบายยืดยาว เพราะเขาต้องศึกษา ทำความเข้าใจ บางทีเด็กด้วยกันก็เพิ่งรู้ว่าเป็นญาติกัน เพราะไปทำข้อมูลด้วยกัน เด็กกลุ่มนี้ได้พัฒนาเรียนรู้เยอะเรื่องการทำงานร่วมกัน”

­

­


นี่คือ “ความภาคภูมิใจ” ของเยาวชนตัวเล็กๆ ที่สามารถแสดงพลังของความเป็นเยาวชนในชุมชนที่ไม่นิ่งดูดาย จิ๊กซอว์แรก “เรียนรู้บ้านเกิด” ก้าวต่อจากนี้ไปเยาวชนเหล่านี้จะต่อจิ๊กซอว์ตัวต่อไปอย่างไรน่าติดตามยิ่ง และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างโครงงานดีๆ ของเยาวชนภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ที่สร้างให้เยาวชนเป็น Active Citizen โดยใช้กิจกรรมมาเป็นเครื่องมือเรียนรู้ตนเองนั่นเอง


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


หัวข้อข่าว :

ลูกหลานเมืองน่าน ร่วมสืบสาน วัฒนธรรมไทลื้อ

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์บ้านเมืองประจำวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2558