การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาเรื่องราวความสำคัญของหนังใหญ่เมืองเพชรบุรี ปี 1

หนังใหญ่...ต้องอยู่คู่เมืองเพชร

โครงการศึกษาและเผยแพร่หนังใหญ่เมืองเพชรบุรี


ขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงานคือ เรื่องข้อมูล แต่ทุกคนยอมที่จะฝ่าฟันทำ เพราะเป็นประสบการณ์ และเป็นเรื่องสำคัญของเพชรบุรีที่มีความโดดเด่นเชิงศิลปวัฒนธรรม เรื่องหนังใหญ่อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ”...การค้นคว้าและคลุกคลีอยู่กับหนังใหญ่นานหลายเดือน จนแทบจะฝันเป็นหนังใหญ่ แต่สิ่งที่ได้ก็คุ้มค่า ถือเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่ดี ที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักการทำงาน ได้แสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการงาน ทีมงาน และงบประมาณ จนกลายเป็นคนรอบคอบ มีระบบ ระเบียบมากขึ้น

หนังใหญ่กับหนังตะลุงเหมือนหรือต่างกัน?

คือคำถามชวนสงสัยสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวง สำหรับคนทั่วไปบางครั้งคำถามนี้อาจผุดขึ้นมาในความคิดแล้วก็ผ่านเลย แต่สำหรับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประกอบด้วย มิลเลี่ยน-สุวรา เรืองเมธาศักดิ์ หมิว-ปริฉัตร กล่อมการ กิ๊ฟ-ณิชากร สมควรดี ตง-ปิติ ช่วยบุญ และพลอย-นงลักษณ์ บุญแก้ว คำถามนี้นำพาพวกเขาไปสู่การเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากที่เคยคุ้นชินในห้องเรียน นั่นคือการก้าวเข้าสู่แวดวงของโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ทั้ง 5 คนคิดว่า นี่เป็น “โอกาส” ที่พวกเขาจะหาคำตอบจากคำถามที่ค้างคาใจมาแสนนาน ประกอบกับข้อมูลเบื้องต้นที่รู้มาว่า การแสดงหนังใหญ่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดเพชรบุรีสูญหายไป เหลือเพียงตัวหนังใหญ่ที่เคยใช้แสดงในอดีตให้ได้ชมเท่านั้น และยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมามีชื่อเสียงได้เหมือนเดิม อาจเป็นเพราะผู้แสดงและเผยแพร่ข้อมูลได้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้มีกำลังไม่เพียงพอที่จะเผยแพร่ให้ทราบกันอย่างทั่วถึงได้ และคนรุ่นใหม่เองก็ขาดความสนใจที่จะร่วมอนุรักษ์สืบสานการแสดงหนังใหญ่นี้ จึงฉุกคิดว่าหากไม่มีคนสานต่อ ในอนาคต “หนังใหญ่” คงหาชมได้เพียงในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

เริ่มจากต้นตาล...ปลายทางคือหนังใหญ่เมืองเพชร

แต่กว่าประเด็นการทำงานจะลงตัวที่เรื่องหนังใหญ่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เริ่มแรกทีมงานอยากทำเรื่องต้นตาลเมืองเพชร แต่เมื่อเข้าร่วมอบรมในเวทีนับ 1 ซึ่งเป็นเวทีพัฒนาโจทย์โครงการ พี่เลี้ยงโครงการให้ทบทวนบริบทของชุมชน เพื่อค้นหาโจทย์ชุมชนที่เยาวชนจะใช้สำนึกความเป็นพลเมืองลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อชุมชน ครั้งนั้นทำให้พวกเขาเห็นเรื่องราวที่หลากหลายในเมืองเพชรบุรี ทั้งเรื่องต้นตาล ขนมหวาน ปูนปั้น เขาวัง หนังใหญ่ ฯลฯ พร้อมกับชวนแลกเปลี่ยนความคิดว่า “ต้นตาลมีคนทำมากแล้ว แต่หนังใหญ่เมืองเพชรยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก” คำถามคาใจเรื่องหนังใหญ่จึงกลับมาสู่ห้วงความคิดอีกครั้ง หลังรับฟังคำแนะนำ พวกเขาค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบข้อมูลทันที และพบว่าจริงตามที่พี่เลี้ยงโครงการให้ข้อมูล “เรื่องหนังใหญ่มีแต่คลิปการแสดง แต่ส่วนที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้เรื่องหนังใหญ่เมืองเพชรยังมีไม่มาก”

เพราะคิดว่าเรื่องที่สงสัยถ้าได้หาคำตอบผ่านกระบวนการทำงานโครงการ อาจทำให้คนอื่นได้เรียนรู้ด้วย...

ทั้ง 5 คน จึงตกลงทำโครงการศึกษาและเผยแพร่หนังใหญ่เมืองเพชรบุรี ที่มีเป้าหมายเพื่อศึกษาเรื่องราวความสำคัญของหนังใหญ่เมืองเพชรบุรีและเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ โดยเล็งกลุ่มเป้าหมายวัยเดียวกันกับทีมงาน คือ เพื่อนๆ ในโรงเรียนพรหมานุสรณ์

“ตอนแรกคิดว่าเป็นการอบรมวิธีการทำงานโครงการ เขียนโครงการ แล้วก็จบ ไม่คิดว่าจะทำเป็นเรื่องราวขนาดนี้ แต่เมื่อได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้ที่ทีมพี่เลี้ยงโครงการจัดให้ในเวทีนับ 1 จึงรู้ว่าเป็นโอกาสดี แม้ทุกคนจะไร้ประสบการณ์ก็ตาม เป็นครั้งแรกที่เราได้ทำโครงการลักษณะนี้ ที่ผ่านมาเคยทำแต่โครงงานในวิชาเรียน เรื่องหนังใหญ่ก็เคยทำมาเหมือนกัน แต่ทำแค่ไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต นำมาทำเป็นพาวเวอร์พอยต์แล้วก็จบ” กิ๊ฟเล่าถึงประสบการณ์ในอดีต

“ข้อมูล” คือหัวใจ

เมื่อไม่เคยทำมาก่อน การวางแผนการทำงานตอนแรกทั้ง 5 คนจึงออกอาการไปไม่เป็น ทีมงานจึงต้องประชุมเพื่อวางแผน และออกแบบการทำงาน ทุกคนช่วยกันค้นหาข้อมูลการทำโครงการลักษณะนี้จากอินเทอร์เน็ต และแอบดูเพื่อนๆ กลุ่มอื่นในเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกว่า เขาทำงานกันอย่างไร เพื่อศึกษาแนวทางว่า ต้องทำอะไร อย่างไร ก็พอจับใจความได้ว่า “ต้องเริ่มต้นที่การหาข้อมูล” เพื่อใช้เป็นฐานความรู้ในการทำงาน

วางแผนการทำงาน คือ ช่วยกันหาข้อมูล ต่างคนต่างไปหามา แล้วเอามาแชร์กัน แล้วค่อยดูว่าจะทำอย่างไรก่อนดี” หมิวเล่าถึงจุดตั้งต้นการทำงานของทีม

เมื่อหาจุดตั้งต้นได้ การออกแบบการทำงานก็ไม่ยาก เริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลเรื่องหนังใหญ่จากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และลงพื้นที่หาข้อมูลในวัดพลับพลาชัย เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จัดกิจกรรมเรียนรู้ให้เพื่อนๆ ศึกษาดูงานที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี หลังจากนั้นจึงจัดทำวิดีโอ “รู้จริงรู้ลึกหนังใหญ่เมืองเพชร” เพื่อเผยแพร่สื่อความรู้ที่พวกเขาทำให้คนทั่วไปได้รับรู้

สำหรับกระบวนการการสืบค้นข้อมูลกิ๊ฟบอกว่า พวกเขาวางแผนสัมภาษณ์ จดบันทึก และถ่ายภาพในคราวเดียวกัน โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความถนัด กิ๊ฟทำบทสารคดี มิลเลี่ยนประสานงาน ตงถ่ายภาพและตัดต่อ หมิวเป็นพิธีกร พลอยช่วยด้านเอกสารเป็นหลัก แต่เรื่องการเงินทุกคนต้องรับรู้ร่วมกัน มีการตั้งไลน์กลุ่มเพื่อใช้ในการประสานงาน นัดหมายประชุมต่างๆ

การสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และศึกษาจากของจริงที่พิพิธภัณฑ์วัดพลับพลาชัย ทำให้รู้ว่า หนังใหญ่เมืองเพชรมีชื่อเสียงมากมายในอดีต

เมื่อรู้...ต้องรู้ให้ลึก

เมื่อทราบว่า หนังใหญ่วัดพลับพลาชัยมีความสำคัญอย่างไรแล้ว ทีมงานยังอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังใหญ่ เมื่อสอบถามข้อมูลจากอาจารย์ รุ่นพี่ และอินเทอร์เน็ต ข้อมูลต่างชี้เป้าหมายไปวัดขนอน จังหวัดราชบุรีซึ่งมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้

“ครั้นจะเหมารถสองแถวคันใหญ่เพื่อเดินทางไปแค่ 5 คน ก็ดูไม่เหมาะสมนัก จึงเกิดแนวคิดที่จะชวนเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการไปเรียนรู้ร่วมกัน”

“ที่พวกเราเลือกไปวัดขนอน เพราะที่นี่มีการแสดงด้วย เขาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ใหญ่เลย เราก็อยากรู้ว่าทำไมเขามีชื่อเสียง ทั้งๆ ที่วัดพลับพลาชัยก็มีตัวหนังเหมือนกัน” หมิวสะท้อนความคิด

เมื่อวางแผนเดินทางไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่วัดขนอน ทีมพบว่า ตัวเลือกเดียวในการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยคือ การเช่าเหมารอสองแถวจากเพชรบุรีไปราชบุรี ครั้นจะเหมารถสองแถวคันใหญ่เพื่อเดินทางไปแค่ 5 คน ก็ดูไม่เหมาะสมนัก จึงเกิดแนวคิดที่จะชวนเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการไปเรียนรู้ร่วมกัน

“ชวนเพื่อนไปด้วย เพื่อนจะได้ความรู้เหมือนเรา เพราะค่ารถมันเท่ากัน จะไปกัน 5 คน หรือ 40 คน เพราะเราต้องเหมารถอยู่แล้ว มันไม่มีตัวเลือกอื่น” ตงเฉลยเบื้องหลังของกิจกรรมพาเพื่อนสำรวจ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายโครงการที่ต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักหนังใหญ่มากขึ้น

การชักชวนเพื่อนๆ เรียนรู้หนังใหญ่วัดขนอนทำผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวของทีมงานแต่ละคน ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายกว่า 40 คน มีครูเก็จ-เก็จวลี กรีฑาธร พี่เลี้ยงชุมชนช่วยประสานงานกับเจ้าอาวาสวัดขนอนให้

“แม้จะได้คิดวางแผนไว้ก่อน แต่การจัดการไม่ได้ยุ่งยากอะไร นำประสบการณ์จากการที่เคยไปทัศนศึกษามาใช้ ติดต่อประสานงานวัดขนอนล่วงหน้า แจ้งวัน เวลา และจำนวนคนที่จะไป วันนั้นบรรยากาศเหมือนไปทัศนศึกษาจริงๆ” หมิวเล่า

กระบวนการเรียนรู้ในวันนั้น มีวิทยากรจากวัดขนอนบรรยายให้ความรู้ระหว่างชมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ และโชคดีที่วัดมีงานประเพณีมีการแสดงหนังใหญ่ให้ชม การได้สัมผัสการแสดงจริงๆ ทำให้ทีมงานตื่นตาตื่นใจ ทั้งลีลาท่าทางการเชิด สำเนียงการพากย์ ที่ดึงดูดตรึงผู้ชมให้อยู่กับที่ จนมิลเลี่ยนสะท้อนว่า เป็นการแสดงที่เหมือนจะน่าเบื่อแต่กลับสร้างความเพลินเพลิด จนสามารถดูจนจบโดยไม่รู้ตัว

และไม่ผิดหวังเมื่อการมาทัศนศึกษาครั้งนี้ ทำให้ทีมงาน “ค้นพบข้อมูลสำคัญ” ที่สร้างความภาคภูมิใจแก่คนเพชรบุรี กล่าวคือ หนังใหญ่วัดขนอนมีจุดเริ่มต้นมาจากวัดพลับพลาชัยนั่นเอง แต่น่าเศร้าใจที่หนังใหญ่วัดพลับพลาชัยเล่นครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่กระแสวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเบียดขับให้การละเล่น และการแสดงวัฒนธรรมไทยซบเซา แต่ที่หนังใหญ่วัดขนอนยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพราะมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก

ความสนุกในการเที่ยวต่างถิ่น ถูกสอดแทรกสาระ เพราะทีมงานขอให้เพื่อนๆ ที่ร่วมขบวนช่วยเก็บข้อมูลและสะท้อนความคิดเห็น

“เวลาไปก็ค่อยๆ อธิบายเพื่อนไปด้วย ตอนมีวิทยากรมาบรรยาย เพื่อนๆ ก็มายืนฟังด้วย เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนเรามีใบสัมภาษณ์ให้เขาเขียน บอกเพื่อนว่า อย่าไปเหมือนไปเที่ยวเฉยๆ ขอให้เพื่อนช่วยตอบคำถามนิดหนึ่ง ซึ่งเพื่อนก็ให้ความร่วมมือดี ตัวอย่างคำถามคือ รู้จักหนังใหญ่ไหม รู้หรือไม่ว่าหนังใหญ่วัดขนอนมาจากเพชรบุรี ในฐานะที่เราเป็นคนเพชรเรารู้สึกอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่บอกว่า ไม่รู้เลยว่าเป็นของเพชรบุรีและรู้สึกภูมิใจ อยากให้หนังใหญ่เมืองเพชรโด่งดังเหมือนวัดขนอน” กิ๊ฟบอกเล่าการทำงาน

บทเรียนจากของจริงที่ได้สัมผัส กระทบใจให้ซาบซึ้ง ความสนใจที่มีอยู่แล้วยิ่งทวีคูณ ทีมงานช่วยกัน เทียบเคียงข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่างๆ ทั้งนี้ทีมบอกว่า ข้อมูลที่มีค่อนข้างเชื่อถือได้ เพราะส่วนใหญ่ตรงกับข้อมูลที่ได้จากวัดขนอน ซึ่งได้รับรางวัลจากยูเนสโก จึงเชื่อได้ว่า ข้อมูลถูกตรวจสอบมาแล้วอย่างดีแน่นอน

การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

หลังกลับจากทัศนศึกษา จังหวัดเพชรบุรีมีงานพระนครคีรีซึ่งเป็นงานประจำปี เด็กๆ ไปเดินเที่ยวเล่นตามปกติ ตงพบบูทสาธิตการทำหนังใหญ่ของอาจารย์มนูญ เนตรสุวรรณโดยบังเอิญ จึงเข้าไปสอบถาม และชวนเพื่อนๆ มาสัมภาษณ์เพิ่มเติม

แต่ข้อมูลที่ได้ไม่ตรงกับข้อมูลที่เคยได้มาจากวัดพลับพลาชัยและวัดขนอน เช่น หนังใหญ่ต้องทำจากหนังวัวหรือหนังเสือ แต่อาจารย์มนูญบอกว่าไม่จำเป็น ส่วนหนังเจ้า เขาบอกว่าต้องใช้หนังวัวตายพายหรือตายทั้งกลมทำ และต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว อาจารย์มนูญบอกไม่ต้องก็ได้ ซึ่งทีมงานเข้าใจว่า เป็นความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่กรณีความขัดแย้งด้านข้อมูลเช่นนี้ ทีมงานเลือกที่จะยึดเอาข้อมูลที่ได้จากวัดพลับพลาชัยและวัดขนอนเป็นหลัก

ถัดจากงานพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรีจัดงานมหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ เพชรบุรี...ดีจังไม่รู้จบ ซึ่งนำเสนอเทศกาลศิลปวัฒนธรรมชุมชน ทีมงานจึงตั้งใจที่จะไปเก็บข้อมูลการตอกหนังใหญ่ซึ่งจัดแสดงอยู่ในงานดังกล่าวด้วย

“ตอนไปงานพระนครคีรีเป็นความบังเอิญที่ไปเจอแหล่งข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในแผน แต่งานเพชรบุรีดีจังพวกเรารู้ว่า มีการตอกหนัง เลยตั้งใจไปดูและเก็บข้อมูลเพิ่มเติม” ตงตอกย้ำความคิด

เมื่อเรื่องราวถูกเล่าขาน

เมื่อได้ข้อมูลตามหัวข้อหลักๆ ครบ ทีมงานเริ่มเขียนบทสารคดี และถ่ายทำวิดีโอ “รู้จริงรู้ลึกหนังใหญ่เมืองเพชร” ความยาว 15 นาที เริ่มด้วยการสอบถามความรู้สึกของคนทั่วไปเกี่ยวกับหนังใหญ่ ความสำคัญของหนังใหญ่ ประเภทของหนังใหญ่ วิธีทำหนังใหญ่ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้ชมมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย ซึ่งทีมตั้งใจนำวิดีโอดังกล่าวไปนำเสนอในการประชุมของเครือข่ายพลังเด็กและเยาวชนฯ ภาคตะวันตก เพื่อเผยแพร่และขอคำชี้แนะ ก่อนที่จะนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุง

“วิดีโอยาวเกือบ 15 นาที อาจจะต้องตัดต่อให้กระชับอีก ถ้าเสร็จแล้วก็จะเผยแพร่ในยูทูป” ตงบอก

นอกจากทำวิดีโอเพื่อเผยแพร่แล้ว ทีมงานยังจัดทำบอร์ดความรู้ที่สรุปเนื้อหาข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับหนังใหญ่ทั้งหมด ทั้งข้อมูลวิธีการทำ ประวัติ ประเภทของหนังใหญ่แบบย่อๆ และความคิดเห็นของคนที่ไปสัมภาษณ์ เพื่อใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่อีกทางหนึ่ง โดยตั้งใจว่าจะมอบบอร์ดความรู้นี้ให้กับชุมนุมสภาของโรงเรียนพรมมานุสรณ์ต่อไป

ด้วยกระบวนการทำงานที่เข้มข้น และการให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” วันนี้ทีมงานได้คำตอบแล้วว่า หนังใหญ่กับหนังตะลุงต่างกันอย่างไร...

“หนังตะลุงคนเชิดจะอยู่ในโรง เวลาแสดงคนดูจะไม่เห็นคนเชิด แต่จะเห็นภาพของหนังตะลุงบนจอ ส่วนหนังใหญ่คนเชิดต้องออกมาเชิดหน้าจอ เหมือนแสดงตามบทบาทตัวละครนั้นๆ คนเชิดหนังใหญ่จึงมีความสำคัญพอๆ กับตัวหนัง หนังตะลุงแสดงเรื่องราวทั่วไป ใช้ภาษาบ้านๆ ส่วนหนังใหญ่แสดงเรื่องรามเกียรติ์” มิลเลี่ยนเฉลยคำตอบที่ค้นพบ

ประสบการณ์ที่คุ้มค่า

การค้นคว้าและคลุกคลีอยู่กับหนังใหญ่นานหลายเดือน จนกิ๊ฟบอกว่า แทบจะฝันเป็นหนังใหญ่ แต่สิ่งที่ได้ก็คุ้มค่า ถือเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่ดี ที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักการทำงาน ได้แสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการงาน ทีมงาน และงบประมาณ จนกลายเป็นคนรอบคอบ มีระบบและระเบียบมากขึ้น

“พี่ๆ จะสอนให้พวกเราคิดวางแผนการทำงาน ไม่เข้าใจตรงไหนก็โทรถามพี่เขาตลอด ตอนนี้ถ้าให้ทำโครงการอีกก็สามารถเขียนโครงการได้ ออกแบบการทำงานได้ มั่นใจว่าทำได้ แต่มันก็ยาก ไม่เหมือนทำโครงงานที่โรงเรียนที่ครูจะไม่มานั่งถามว่า เราจะเอาข้อมูลจากไหน พอส่งงานเสร็จได้คะแนน ก็จบ แต่นี่คะแนนก็ไม่ได้ เกรดก็ไม่ได้ ข้อมูลก็ต้องหาให้เป๊ะอีก เพราะเดี๋ยวเขาตรวจสอบแล้วไม่ตรงกัน ความยากมันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ต้องเป๊ะทุกอย่าง”

แม้ว่าลึกๆ แล้วทุกคนจะรู้สึกกังวล เพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่ทีมก็แก้ปัญหาด้วยการปรึกษาพี่เลี้ยงโครงการอยู่เสมอ เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยในกระบวนการทำงาน

“พี่ๆ จะสอนให้พวกเราคิดวางแผนการทำงาน ไม่เข้าใจตรงไหนก็โทรถามพี่เขาตลอด ตอนนี้ถ้าให้ทำโครงการอีกก็สามารถเขียนโครงการได้ ออกแบบการทำงานได้ มั่นใจว่าทำได้ แต่มันก็ยาก ไม่เหมือนทำโครงงานที่โรงเรียนที่ครูจะไม่มานั่งถามว่า เราจะเอาข้อมูลจากไหน พอส่งงานเสร็จได้คะแนน ก็จบ แต่นี่คะแนนก็ไม่ได้ เกรดก็ไม่ได้ ข้อมูลก็ต้องหาให้เป๊ะอีก เพราะเดี๋ยวเขาตรวจสอบแล้วไม่ตรงกัน ความยากมันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ต้องแป๊ะทุกอย่าง” มิลเลี่ยนเล่า

ทั้งนี้ทุกคนยอมรับว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงานคือ เรื่องข้อมูล แต่ทุกคนยอมที่จะฝ่าฟันทำ เพราะเป็นประสบการณ์ และเป็นเรื่องสำคัญของเพชรบุรีที่มีความโดดเด่นเชิงศิลปวัฒนธรรม เรื่องหนังใหญ่อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ”

“พวกเราหน้าตาเด็กเรียน แต่เราก็ทำกิจกรรมด้วย บางครั้งรู้สึกกลัวเหมือนกันว่า ทำกิจกรรมแล้วจะเสียการเรียน แต่คิดได้ว่า ในห้องเรียนเราก็ได้แต่ความรู้ในห้องเรียน แต่นี่เราได้ออกมาปฏิบัติจริง เราก็ได้ประสบการณ์ ได้แสดงความคิดเห็น มีงบประมาณให้เรารู้จักบริหารจัดการด้วย” หมิวบอก

“บางครั้งรู้สึกกลัวเหมือนกันว่า ทำกิจกรรมแล้วจะเสียการเรียน แต่คิดได้ว่า ในห้องเรียนเราก็ได้แต่ความรู้ในห้องเรียน แต่นี่เราได้ออกมาปฏิบัติจริง เราก็ได้ประสบการณ์ ได้แสดงความคิดเห็น มีงบประมาณให้เรารู้จักการบริหารจัดการด้วย”

ส่วนคำพูดที่ว่า “ทำกิจกรรมแล้วเกรดตก” เป็นสิ่งที่ทุกคนกังวลเช่นกัน แต่ผลที่ออกมาไม่ใช่ทุกคนที่เกรดตก และคนที่เกรดตกก็ยอมรับว่า ไม่ใช่เพราะการทำงานโครงการ ตงบอกว่า เป็นเพราะเขาไม่ตั้งใจเรียนเอง ส่วนหมิวบอกว่า การติดโซเชียลมีเดียที่ดึงเวลาในชีวิตเธอไปค่อนข้างมาก ขณะที่กิ๊ฟซึ่งเสียน้ำตาเพราะพลาดไม่ได้ เกรดมากกว่า 3.3 ตามที่คาดหวัง แต่เมื่อคิดทบทวนตนเองแล้วก็รู้ว่า เพราะเธอคาดหวังไว้สูงเกินไป จึงเยียวยาตัวเอง และลดความคาดหวังเพื่อไม่ให้กดดันตนเองจนเกินไป

“วิธีเยียวยาตนเองส่วนมากก็กินแล้วก็เล่น เทอมต่อไปก็ไม่คาดหวังสูงแล้ว กดดันตัวเองน้อยลง ขอแค่ 3 ขึ้นไป ไม่ติด 0 ไม่ติด มผ (ไม่ผ่าน) ก็พอ ชิลขึ้นนิดหนึ่ง” กิ๊ฟสารภาพอายๆ

นอกจากความกดดันในเรื่องการเรียนแล้ว ปัญหาการทำงานของทีมไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเวลาว่างไม่ตรงกัน ความคิดไม่ตรงกัน แต่ทีมก็ผ่านมาได้ด้วยการประนีประนอม ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นภาระที่ต้องแบกรับคือ ความคาดหวังของผู้ใหญ่รอบตัวที่ต้องการให้ผลงานออกมาดีเยี่ยม เพราะทีมงานซึ่งเป็นเด็กเรียนเก่งจึงรับรู้ถึงแรงกดดันนี้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เลือกที่จะทำอย่างดีที่สุดภายใต้ศักยภาพที่มีอยู่

“เก็บประสบการณ์ไว้ตอนทำงาน เชื่อว่าตอนทำงานจริงต้องหนักกว่านี้แน่ การทำงานโครงการนี้ช่วยเตรียมความพร้อมไปสู่ชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องความกดดัน” ตงกล่าวย้ำถึงประสบการณ์ทรงคุณค่าที่ได้รับ

การไม่ปล่อยให้ “คำถาม” ที่สงสัยค้างคาอยู่ในใจ นอกจากจะนำพาพวกเขาไปค้นหาคำตอบผ่านการลงมือทำจริงแล้ว คำถามชวนสงสัยในวันนั้น ยังส่งผลให้ในวันนี้หนังใหญ่เมืองเพชรถูกหยิบยกเรื่องราวมาบอกเล่าผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่เข้าไปทำความรู้จักจนเข้าใจ และเกิดความตระหนักในคุณค่าของศิลปะคู่บ้านคู่เมือง แม้เป้าหมายที่คิดเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหนังใหญ่สู่คนรุ่นใหม่ยังวัดผลไม่ได้ในวันนี้ แต่เยาวชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ยืนยันว่า พวกเขารู้สึกซาบซึ้งอย่างเต็มหัวใจ จนกล้าที่จะประกาศอย่างมั่นใจว่า พวกเขาจะทำหน้าที่เผยแพร่เรื่องราวของหนังใหญ่ให้อยู่คู่กับเมืองเพชรบุรีต่อไปอย่างแน่นอน


โครงการศึกษาและเผยแพร่หนังใหญ่เมืองเพชรบุรี

พี่เลี้ยงชุมชน : เก็จวลี กรีฑาธร

ทีมงาน :

  • สุวรา เรืองเมธาศักดิ์
  • ปริฉัตร กล่อมการ
  • ณิชากร สมควรดี 
  • ปิติ ช่วยบุญ
  • นงลักษณ์ บุญแก้ว