การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาระบบการจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ปี 1

“สื่อ” สร้าง “สำนึก”

โครงการศึกษาระบบบริหารจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี อย่างมีส่วนร่วม


งานนี้เป็นการสร้างพลเมือง เราก็อยากรู้ว่าตัวเองจะมีความเป็นพลเมืองมากน้อยแค่ไหน สำหรับบทบาทนักศึกษา เราเรียน เรามีความรู้ เราก็ไม่ควรที่จะพัฒนาแค่ตัวเอง ควรเอาความรู้ไปช่วยเหลือคนอื่นบ้าง แม้จะไม่เต็มที่ แต่อย่างน้อยก็แค่คิด และลงมือทำมันก็เป็นการกระตุ้นสำนึกของเราแล้วเหมือนกัน

มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ 621 ไร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2540 ในพื้นที่มีบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ อุดมด้วยพันธุ์ไม้นานาพรรณ การจัดการเรียนการสอนที่นี่ใช้รูปแบบผสมผสาน ระหว่างวิทยาเขตสารสนเทศกับ มหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิม คือมีทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยใช้ระบบสารสนเทศ เข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอน และกิจกรรมด้านอื่นๆ ของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมตามพันธกิจการจัดการศึกษาสาขาต่างๆ โดยจะให้บริการในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดคือ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และชุมพร

เพราะชีวิตจริงอยู่นอกห้องเรียน

เมื่อน้อง ๆ ทีม “หญ้าสาน” จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เพชรบุรี มีความคิดจะเข้าร่วม “โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก” เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา...พวกเขาลงพื้นที่หลังมหาวิทยาลัยเพื่อค้นหา “ปัญหา” แต่แล้วข้อค้นพบบางอย่าง...ทำให้พวกเขาถึงกับ “อึ้ง” ที่พบคนในชุมชนมองว่ามหาวิทยาลัยเข้ามาสร้างปัญหาให้กับชุมชน

“เรียนปี 4 แล้ว...อยากทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวบ้าง” โม- อภิชยา อติเปรมินทร์ หนึ่งในสมาชิกทีม หญ้าสานในฐานะรองประธานกลุ่ม เธอถูกมอบหมายให้ทำหลายอย่าง....งานหลักน่าจะขับรถพาเพื่อนๆ ลงพื้นที่ งานถัดมาเป็นเรื่องของการ “คิดบัญชี” ที่เหลือก็เป็นเรื่องงานสัพเพเหระแล้วแต่จะได้รับมอบหมายจากเพื่อนๆ และท่านประธาน

“พอได้ทำบัญชี..ทำให้เธอมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะต้องคอยตามงานเพื่อน ๆ ตลอดว่า ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ อะไรบ้าง...เหมือนกับว่าเราต้องตามงานคนอื่นด้วย...ตรงนี้เห็นชัดมากเลยว่า เราสนใจงานมากขึ้น ปกติจะไม่ค่อยสนใจอะไรมาก”

งานที่โมกล่าวถึงคือการ “รณรงค์” เรื่องการประหยัดน้ำในหอพักนักศึกษา ในโครงการศึกษาระบบบริหารจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี อย่างมีส่วนร่วม ที่พัฒนามาจากการที่อาจารย์ที่ปรึกษาเห็นว่าการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานชุมชน นักศึกษาต้องลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่จริง และ “โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก” ตอบโจทย์เรื่องนี้

ดังนั้น...เมื่อโจทย์คือ “การสร้างสำนึกพลเมือง” การตีความคำว่า “สำนึก” ของทีม จึงหมายถึงการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมด้วยความรู้ ความสามารถ และทักษะที่เรียนมา

และ “สังคม” ของพวกเขาคือพื้นที่หลังมหาวิทยาลัย

“เงื่อนไขโครงการคือ ต้องมีทีม 5 คน พวกเราก็มารวมกลุ่มกันจนครบ 5 คน คุยกัน วางแผนกัน แล้วก็ลงพื้นไปค้นหาปัญหา...ซึ่งต้องเป็นปัญหาของชุมชน เป็นความต้องการของชาวบ้านจริงๆ ” โมบอก

“ตอนแรกก็งง ๆ ว่าจะเริ่มยังไง....เพราะอาจารย์บอกแค่ว่า ไปทำมาสิ...ไปหามาซิ อยากรู้ก็ไปลงพื้นที่หาข้อมูลเอา....เราก็ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลให้ครบ และครอบคลุมทุกด้าน ”กะหล่ำ-รักขัดดา สุขชาต สมาชิกอีกคนของทีมหญ้าสาน เล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการ แม้แรกๆ จะออกอาการขลุกขลักของคนทำงานชุมชนมือใหม่อย่างน้องๆ ทีมหญ้าสาน แต่เมื่อรวมกันเป็น “ทีม” หลายหัวช่วยกันคิด พวกเขาก็คิดออก

“พวกเราเลือกพื้นที่หลังมหาวิทยาลัยเพราะอยู่มา 4 ปี แต่กลับไม่เคยรู้จักชุมชน ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่นั้นเลย” เอิร์ท-วิกรม นันทวิโรจน์สิริ บอก

หาเหตุ...แห่งปัญหา

นอกจากความแปลกแยกที่น้องๆ บอก ยังมีประเด็นอื่นที่ทำให้ “หลังมหาวิทยาลัย” กลายเป็นพื้นที่ทำงานเพราะข้อมูลที่ฟัง ๆ มาคือ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยมาตั้งอยู่พื้นที่แห่งนี้ วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนจากอาชีพทำไร่ ทำสวนออกไปรับจ้างข้างนอก จากช่วงแรก ๆ นั่งแค่รถกระบะเล็กๆ ออกไปรับจ้าง ไม่นานมากนักขนาดรถรับส่งก็ใหญ่ขึ้น

“ก็ไปเลียบๆ เคียงๆ คุยกับชาวบ้านตามร้านอาหารตามสั่ง ว่าจริงเท็จแค่ไหน และข้อมูลที่ได้ก็ทำให้ถึงกับ...อึ้ง”

“เพราะเราไปหาปัญหา...เอาปัญหาของชาวบ้านมาทำเป็นโครงการ...แต่ปรากฏว่า เรากลายเป็นปัญหาของชุมชน เสียเอง” น้ำตาล-ณัฐปรียา อดุลโสดถ์ เสริม

ซึ่งข้อสรุปของการลงพื้นที่พบว่า ชุมชนมีแหล่งน้ำไว้สำหรับใช้สอยดื่มกิน 2 แหล่งคือ แหล่งน้ำธรรมชาติที่เรียกว่า “หนองจิก” อีกแหล่งคือชุมชนขุดขึ้นมา และเมื่อมหาวิทยาลัยมาตั้ง รับนักศึกษาเพิ่มขึ้น ขณะที่ระบบบำบัด หรือ ระบบการบริหารจัดการน้ำเสียยังไม่ดีพอ ชาวบ้านบอกว่ามหาวิทยาลัยไม่มีท่อน้ำเสีย ไม่มีระบบบำบัดน้ำที่ดี เป็นการปล่อยบนรางดินจากหอไหลไปตามถนน กระทั่งไหลลงอ่างเก็บน้ำ ส่งผลกระทบต่อน้ำในหนองจิกที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ดื่มกิน

“พี่เลี้ยงโครงการแนะนำให้เรารีวิวสถานการณ์ว่าจะทำอะไร พยายามให้เราดึงศักยภาพออกมาว่าใน 5 คนแต่ละคนมีจุดเด่นอะไร แล้วจะทำอะไรได้บ้าง แล้วก็ให้คิดว่า ถ้าจะทำเรื่องใหญ่ แบบการจัดการน้ำหลังมหาวิทยาลัย จะทำได้หรือไม่ แล้วเป้าหมายที่อยากเห็นคืออะไร”

“เมื่อชาวบ้านมองว่าเราเป็นปัญหา...พอเข้าเวทีนับ 1 เราก็เอา โครงการแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากมหาวิทยาลัย ไปนำเสนอ...แนวคิดตอนนั้นคือ ตั้งใจจะทำเรื่องการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งเรามองว่า นอกจากโรงบำบัดใหญ่ ๆ มันมีวิธีอะไรง่ายๆ อีกหรือไม่” น้ำตาลอธิบาย

แม้ไอเดียของน้องๆ จะบรรเจิด โดยเฉพาะการคิดแก้ปัญหาให้มหาวิทยาลัยรอดพ้นจากการเป็นจำเลยของชาวบ้าน แต่พี่เลี้ยงโครงการมองว่า “สิ่งที่พวกเราคิดมันใหญ่เกินไป พี่ๆ แนะนำให้ดูปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ”

กะหล่ำบอกว่า พี่เลี้ยงโครงการแนะนำให้เรารีวิวสถานการณ์ว่าจะทำอะไร พยายามให้เราดึงศักยภาพออกมาว่าใน 5 คนแต่ละคนมีจุดเด่นอะไร แล้วจะทำอะไรได้บ้าง แล้วก็ให้คิดว่า ถ้าจะทำเรื่องใหญ่ แบบการจัดการน้ำหลังมหาวิทยาลัย จะทำได้หรือไม่ แล้วเป้าหมายที่อยากเห็นคืออะไร

ต้องแก้ปัญหาที่...ต้นเหตุ

ทีมหญ้าสานนำสิ่งที่พี่เลี้ยงแนะนำกลับมาหารือ...เมื่อโจทย์คือ “การแก้ปัญหาน้ำเสีย” ดังนั้น เมื่อไม่สามารถเข้าไปดำเนินงานในเรื่องของระบบบำบัด น้อง ๆ จึงมุ่งประเด็นไปที่การลด “ปริมาณน้ำเสีย”

“เราก็อยากรู้ว่าในแต่ละเดือนนักศึกษาตามหอพัก หรือในมหาวิทยาลัยใช้น้ำในปริมาณแค่ไหน...แต่เราก็ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ ทางทีมก็คิดว่า ไม่มีข้อมูลก็ไม่เป็นไร ก็เลยคิดกันใหม่ว่า เมื่อต้องการลดปริมาณน้ำเสียที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ คงต้องรณรงค์ให้นักศึกษาใช้น้ำให้น้อยลง” น้ำตาลอธิบายแนวคิดทีเกิดขึ้นหลังปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน

กะหล่ำเล่าต่อว่า ตอนลงพื้นที่พวกเขาพยายามที่จะเก็บข้อมูลทั้งหมด ใช้เครื่องมือแผนที่เดินดิน เพื่อสำรวจ เพราะแผนที่จะทำให้เข้าใจชุมชนมากขึ้น นอกจากนั้นยังต้องไปเก็บข้อมูลน้ำดี ซึ่งก็คือการผลิตน้ำประปา ว่า มหาวิทยาลัยนำเข้ามาจากไหน อย่างไร แล้วทำสรุปเป็นวีดีโอ จากนั้นก็ใช้ประโยชน์จากงานเครือข่ายที่จัดเป็นประจำเกี่ยวกับการทำสื่อเพื่อชุมชน ประกอบด้วย 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะส่งวีดีโอเข้าร่วมนำเสนอ ทีมหญ้าสานก็นำวิดีโอเรื่องน้ำเสียไปฉาย

เนื้อหาในวิดีโอเป็นการเล่าเรื่อง “ผลกระทบ” ของเด็กหอที่ใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด เนื้อหาที่สะท้อนว่า “หากไม่ช่วยกัน..ปัญหาก็จะเกิดกับท่านเอง” นอกจากนั้นเนื้อหาในหนังยังพูดถึงขั้นตอนที่จะช่วยกันประหยัดน้ำได้อย่างไร

เม-สุชัญญา ยินดีสิงห์ ในฐานะผู้ผลิตวิดีโอบอกว่า วัตถุประสงค์คือต้องการให้คนในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะเด็กหอร่วมกันประหยัดน้ำ เพราะฉะนั้นจึงทำเป็นทำสื่อเพื่อให้คนในมหาวิทยาลัยรู้จักโครงการ

“วิดีโอเป็นเพียงที่ช่วยให้การ “สื่อสาร” เรื่องการรณรงค์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น...แต่กระบวนการที่ทีมทำเพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในมหาวิทยาลัยคือการจัดกิจกรรมนำเสนอข้อมูลหรือคืนข้อมูลให้ชุมชน”

เมบอกอีกว่า พอรู้ว่าต้องรับผิดชอบผลิตวิดีโอ เธอพยายามหาตัวอย่างหนังสารคดีที่เกี่ยวกับชุมชนมาดู โดยเฉพาะรายการข่าวจากสถานีโทรทัศน์ TPBS จากนั้นก็ “ซุ่มเงียบ” อ่านตำรา ฝึกตัดต่อ เพื่อให้ได้ผลงานออกมามีคุณภาพมากที่สุด

วิดีโอเป็นเพียงที่ช่วยให้การ “สื่อสาร” เรื่องการรณรงค์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น...แต่กระบวนการที่ทีมทำเพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในมหาวิทยาลัยคือการจัดกิจกรรมนำเสนอข้อมูลหรือคืนข้อมูลให้ชุมชนนั่นเองซึ่งชุมชนแรกที่ทีมปฏิบัติการคือชุมชนในมหาวิทยาลัยโดยมีพวกเขาเป็นคนนำกระบวนการเองทั้งหมดซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีน้อง ๆ ซึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

“ตอนนี้พวกเราพยายามทำกิจกรรมกับรุ่นน้อง...ชี้ให้เห็นประวัติการใช้น้ำของมหาวิทยาลัยว่ามีความยากลำบากแค่ไหน โดยเฉพาะในหน้าแล้งที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาอย่างไร...แต่ข้อมูลแบบนี้เราเล่าเอง รุ่นน้องอาจจะไม่เชื่อ จึงต้องจัดกิจกรรมให้น้องๆ เห็นว่า “น้ำ” สำคัญกับมหาวิทยาลัยของเรามากแค่ไหน ด้วยการเชิญกลุ่มพี่ๆ ช่างในมหาวิทยาลัย มาอธิบายระบบการจัดการน้ำในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในกรณีน้ำไม่ไหล – ไฟดับ ซึ่งบ้างครั้งยังขาดความเข้าใจกันระหว่างพี่ๆ ช่างและนักศึกษา”

และนอกจากจะเป็นการ “สร้างความเข้าใจ” ผ่านกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างทีมช่างกับกลุ่มนักศึกษาแล้ว ทีมหญ้าสานยังมองไปถึงอนาคตว่า หากโครงการสิ้นสุดลง การรณรงค์ให้ประหยัดน้ำจะยังคงดำเนินต่อไป

“เราช่วยกันทำหนังสือเล่มเล็ก...เป็นการ์ตูนที่วาดอย่างง่ายๆ ที่หลายคนเห็นแล้วบอกว่าน่ารัก เนื้อหาอ่านสนุก และเห็นภาพ แต่ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด จึงพิมพ์ได้จำนวนไม่มาก” น้ำตาลอธิบายถึงแผนการดำเนินงานและกิจกรรมที่จะทำให้การรณรงค์การใช้น้ำของมหาวิทยาลัยจะยังดำเนินต่อไป แม้โครงการของทีมหญ้าสานจะจบลงแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ ดร.ฐิติมา เวชพงศ์ พี่เลี้ยงชุมชนบอกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีว่าในระยะเวลาการทำโครงการกว่า 6 เดือน เริ่มเห็นเค้าลางความสำเร็จ เพราะมีนักศึกษาหลายคนเริ่มพูดแล้วว่า เริ่มมีการสำรวจการใช้น้ำภายในหอของแต่ละคนด้วยตัวเอง

“ได้ยินนักศึกษาบอกว่า...เขาได้สำรวจการใช้น้ำของตัวเองแล้ว ตอนนี้จะเปิดก๊อก ปิดก๊อก เขาเริ่มระมัดระวังมากขึ้น แม้จะใช้น้ำก็ต้องระวัง”

อย่างน้อยก็ได้เริ่ม...

ถึงตอนนี้อาจจะยังตรวจสอบยากว่า ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากหอลงไปตามท่อจะไหลลงสู่แหล่งน้ำที่เรียกว่า “หนองจิก” จะอยู่ในปริมาณแค่ไหน...แต่กิจกรรมการรณรงค์เพื่อลดการใช้น้ำในมหาวิทยาลัย “เข้าตา” คณาจารย์และ ผู้บริหารในมหาลัย พร้อม ๆ กับมีคำสั่งช่วยรณรงค์อีกแรงด้วยการให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในมหาวิทยาลัยเปลี่ยน wall paper เป็นภาพรณรงค์การประหยัดน้ำซึ่งเป็นผลการดำเนินงานของน้อง ๆ “ทีมหญ้าสาน”

แต่เอิร์ทบอกว่า บางทีการรณรงค์ผ่านสื่ออาจช่วยกระตุ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือ ต้องทำให้คนอื่นเห็น

“ผมอยู่หอผมก็ประหยัดน้ำ ทำให้เพื่อนๆ เห็น จากเมื่อก่อนเราก็ใช้น้ำแบบไม่ค่อยประหยัด แต่ทุกวันนี้ก็ใช้แบบระมัดระวังมากขึ้น”

ซึ่งนอกจาก “พฤติกรรม” จะเปลี่ยน ตลอดระยะเวลาการทำงานเพียงไม่กี่เดือน น้อง ๆ ทั้ง 5 คน ต่างคนต่างเก็บเกี่ยวความรู้ และทักษะได้ไปคนละหลายอย่าง

“โครงการนี้สอนให้เราเป็นคนช่าง เอ๊ะ! มากขึ้น เพราะพี่เขาชอบเอ๊ะ!ใส่เรา จนเราติด เพราะฉะนั้นเวลาจะทำอะไรก็ เอ๊ะ! ใช่เหรอ มันมีทางอื่นอีกไหม ทำงานแบบวิเคราะห์หาเหตุเช่น...เอ๊ะ! น้ำมาจากไหน แล้วทำไมต้องไปหาชาวบ้าน ไปหายามไม่ได้เหรอ เลยทำให้เราติด”น้ำตาลบอกเล่าวิธีคิดที่เปลี่ยนไปของเธอ

“ตอนเรียนมีหนังสือให้อ่าน....มีคนป้อน เพื่อนสรุปข้อมูลตอนสอบ แต่งานที่เราทำมันต้องรับผิดชอบเอง เราต้องหาข้อมูลเอง ไม่อย่างนั้นเราไปต่อไม่ได้ถ้าเรียนอาจารย์ป้อนให้เราแต่นี่เราต้องหากินเอง นี่คือความต่าง”

ขณะที่กะหล่ำเสริมว่า เธอก็เอ๊ะ! เหมือนกัน เช่นตอนนั้นไปดูเรื่องการทำน้ำประปา เราก็จะถามจนเขารำคาญ ประเด็นคือเราก็จะถามจนเราเข้าใจมันจะเกิดอาการอ๋อ เหมือนที่พี่ๆ บอกคือ เอ๊ะแล้วอ๋อ ซึ่งอ๋อก็หมายถึงเราเข้าใจแล้วนั้นเอง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน ก็ฟังๆ ไป ไม่ถามต่อ ไม่อยากรู้เพิ่ม

ด้านโมบอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอมีความรับผิดชอบสูงขึ้นจากเดิม “คงเป็นเพาะว่าตอนเรียนมีหนังสือให้อ่าน....มีคนป้อน เพื่อนสรุปข้อมูลตอนสอบ แต่งานที่เราทำมันต้องรับผิดชอบเอง เราต้องหาข้อมูลเอง ไม่อย่างนั้นเราไปต่อไม่ได้ถ้าเรียนอาจารย์ป้อนให้เราแต่นี่เราต้องหากินเอง นี่คือความต่าง”

ส่วนเมตอนนี้เธอค้นพบตัวเองแล้วว่า “ช่างภาพสารคดีโทรทัศน์” อาจเป็นอาชีพแรกๆ ที่เลือกหลังเรียนจบ เพราะเมื่อได้รับมอบหมายงาน เมจะขังตัวเองไว้ในห้องสมุด ดูเทคนิคการตัดสื่อข่าวจากทีวีหลาย ๆ ช่อง เพื่อดูรูปแบบ เทคนิค และการนำเสนอ และหยิบบางอย่างมาใช้กับงานตัวเอง

“ก็ต้องไปหัดใช้โปรแกรม ดูหนังสือบ้าง ดูในยูทูปบ้าง จนทำได้”

สำหรับกะหล่ำสิ่งที่ได้คือ “ประสบการณ์ใหม่” โดยเฉพาะการทำงานกับคนที่ไม่รู้จัก ซึ่งเธอมองว่าเป็นเสมือนการฝึกตัวเองให้มีความกล้ามากขึ้น

“ปกติจะเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด ฉะนั้นบทบาทในทีมกลับกลายเป็นพิธีกรของทีมไปเสียได้ อีกอย่างงานนี้เป็นการสร้างพลเมือง เราก็อยากรู้ว่าตัวเองจะมีความเป็นพลเมืองมากน้อยแค่ไหน สำหรับบทบาทนักศึกษา เราเรียน เรามีความรู้ เราก็ไม่ควรที่จะพัฒนาแค่ตัวเอง ควรเอาความรู้ไปช่วยเหลือคนอื่นบ้าง แม้จะไม่เต็มที่ แต่อย่างน้อยก็แค่คิด และลงมือทำมันก็เป็นการกระตุ้นสำนึกของเราแล้วเหมือนกัน”

6 เดือนของการทำโครงการ นอกจากจะทำให้น้องๆ ทีมหญ้าสานได้ค้นพบ “ศักยภาพ” ของตนเองตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ยังทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ถึง “วิธีคิดและวิธีทำงาน” พยายามแก้ “เหตุแห่งปัญหา” ย้อนหันมามองจุดเริ่มต้นว่า “ปัญหาน้ำเน่าเสีย” ที่ส่งกลิ่นเหม็น และส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยนั้นมี “ต้นตอ” มาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ดีจะทำให้เกิดความขัดแย้งของวิทยาลัยฯและชุมชนรอบข้างขึ้นได้ จึงทำให้พวกเขาหันกลับมาใช้ “ความรู้” ที่มีอยู่จัดกิจกรรมสร้าง “ความตระหนัก” ให้กับน้องนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย ด้วยหวังว่าจะช่วย “ลดความขัดแย้ง” ดังกล่าวลงได้บ้างไม่มากก็น้อย


โครงการศึกษาระบบบริหารจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี อย่างมีส่วนร่วม

พี่เลี้ยงชุมชน : ดร.ฐิติมา เวชพงศ์

ทีมงาน :

  • บัวนัดดา สุขชาตะ 
  • สุชัญญา ยินดีสิงห์
  • วิกรม นันทวิโรจน์สิริ
  • อภิชยา อติเปรมินทร์
  • ณัฐปรียา อดุลโสดถ์