การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษากระบวนการคัดแยกขยะในโรงเรียนเทพมงคลรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ปี 1

หลากกลยุทธ์จัดการขยะ สร้างสำนึกรักษ์สะอาดเพื่อส่วนรวม

โครงการ ท.ษ. ยุคใหม่ใส่ใจการแยกขยะ


เราต้องมั่นใจในตัวเขา ให้เขาคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง แต่ก็เปิดพื้นที่ให้เขาเข้ามาปรึกษาเราได้ตลอด ในฐานะครู เราอยู่กับนักเรียนมากกว่าลูกเราด้วยซ้ำไป ดังนั้นบทบาทของเราก็เหมือนเป็นแม่ที่คอยให้คำปรึกษา และให้กำลังใจเวลาเขามีปัญหา...ตัวครูเองก็ได้เรียนรู้ แล้วเด็กๆ เองก็เปลี่ยนแปลงตัวเอง เห็นได้ชัดว่าเขานึกถึงคนอื่นมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะให้ความสำคัญกับการเรียนอย่างเดียว แต่หลังจากทำโครงการพวกเขาไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาของส่วนรวม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีที่จะติดตัวเขาไปในอนาคต

“ขยะ” ปัญหาโลกแตกที่นับวันจะแก้ไขยากขึ้นทุกที ที่โรงเรียนเทพมงคลรังษี จังหวัดกาญจนบุรีก็เช่นกัน แม้โรงเรียนจะมีการจัดการขยะโดยจัดถังขยะไว้ตามจุดต่างๆ ของโรงเรียน รวมทั้งให้นักการภารโรงเก็บทิ้งตอนเย็นหลังเลิกเรียนแล้วก็ตาม แต่ขวดน้ำดื่ม แก้วพลาสติก ถุงขนม ถุงพลาสติกที่นักเรียนห่ออาหารมารับประทานที่โรงเรียน รวมถึงเศษกระดาษจากห้องเรียนก็ยังล้นถังอยู่เสมอ ยิ่งการคัดแยกขยะแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทั้งขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิลต่างถูกทิ้งลงถังเดียวกัน ปัญหาคือนอกจากโรงเรียนจะสกปรกแล้ว ขยะยังไปอยู่ในท่อระบายน้ำจนเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ

“ขยะ” แก้ได้ด้วย “คน”

เมื่อศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม เข้ามาแนะนำ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก กลุ่มลูกรัก ท.ษ. รู้สึกสนใจ คิดว่าการทำโครงการน่าจะทำให้พวกเธอได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยใช้ “ขยะ” มาเป็นโจทย์ เพราะเห็นว่า ปัญหาขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นปัญหาส่วนรวมที่ทุกคนควรให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหา แทนที่จะปัดภาระไปมาว่าเป็นหน้าที่ของใคร โดยทุกคนควรเริ่มจากการเปลี่ยนตัวเองก่อน

กลุ่มลูกรัก ท.ษ. บอกว่า เหตุผลที่คิดทำเรื่องขยะ เนื่องจากเห็นว่าแม่น้ำแควใหญ่เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านจังหวัดกาญจนบุรี หากพวกเธอเข้ามาจัดการปัญหาขยะบริเวณนี้ได้ ปัญหามลพิษทางน้ำก็จะลดลง และทำให้แม่น้ำดูสะอาดตามากขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างทัศนียภาพที่ดีให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเยาวชนจึงเล็งพื้นที่เป้าหมายไปที่ ท่าโรงแพ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำติดแม่น้ำแควใหญ่ และตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน

“บริเวณนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยว เวลาไปเที่ยวเล่นเราก็เคยสังเกตเห็นว่ามีขยะเยอะ พวกเราเลยตกลงกันว่า ไปทำโครงการตรงจุดนั้นดีกว่า” ฟาร์ – วิไลววรณ สำราญวงษ์ ให้เหตุผล

วิเคราะห์ศักยภาพทีมงาน

ก่อนเข้าร่วมอบรมในเวทีนับ 1 พวกเธอเตรียมความพร้อมด้วยการลงสำรวจพื้นที่ท่าโรงแพ เพื่อสอบถามข้อมูลกับร้านค้าและผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นพบว่า ขยะส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวหรือร้านค้าในพื้นที่ แต่อีกจำนวนมากก็เป็นขยะที่ลอยมาตามน้ำ พวกเธอนำข้อมูลที่ได้มาปรึกษากับทีมพี่เลี้ยงโครงการ ด้วยรู้สึกว่าการจัดการขยะบริเวณท่าโรงแพดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินตัวไปเสียแล้ว

มิ้นท์ – ปิยวรรณ อินทะนิน เล่าว่า พวกเธอเห็นว่าปัญหาขยะบริเวณดังกล่าวมีความสำคัญและต้องเร่งแก้ไข แต่ก็ยังคิดไม่ตกว่าจะจัดการกับขยะเหล่านั้นได้อย่างไรด้วยกำลังของเยาวชนเพียงไม่กี่คน

“ตอนนั้นเครียดมาก เราอยากทำโครงการที่ท่าโรงแพ แต่ขยะสะสมมาตั้งแต่ต้นน้ำ แล้วบริเวณท่าโรงแพเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของแม่น้ำทั้งสาย ถ้าจะแก้ปัญหาบริเวณนั้นแค่ส่วนเดียวคงไม่ได้ผล อีกอย่างชาวบ้านบอกว่าเทศบาลเข้ามาดูแลจัดการขยะบริเวณนั้นอยู่แล้วด้วย...พอเห็นแบบนั้นก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเอายังไงกันต่อดี”

เมื่อคิดว่าการจัดการขยะบริเวณท่าโรงแพไม่น่าจะใช่พื้นที่เป้าหมายที่ดีนัก เมื่อประเมินตามระยะเวลาการดำเนินโครงการ ทีมพี่เลี้ยงโครงการจึงชักชวนให้กลุ่มเยาวชนลองมองปัญหาจากเรื่องใกล้ตัว

แม้ยังไม่เริ่มต้นทำโครงการ กลุ่มลูกรัก ท.ษ. บอกว่า พวกเธอรู้สึกท้อ เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ทำโครงการระยะยาวที่ต้องวางแผนงานอย่างมีเป้าหมายชัดเจนแบบนี้มาก่อน สถานการณ์ตอนนั้นทำให้พวกเธอถึงขั้นกุมขมับ เพราะรู้สึกถึงภาระที่หนักอึ้ง ยาก และท่าทางจะไปไม่รอด ไม่รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ คิดไม่ออกว่ากระบวนการทำงานควรจะเป็นอย่างไรต่อไป

มิ้นท์บอกว่า ฉุกคิดได้ตรงที่พี่เลี้ยงโครงการบอกว่า “ลองมองปัญหาใกล้ตัวสิ” ก็คิดได้ว่า ถ้าพวกเราอยากทำเรื่องขยะก็ทำต่อไป แต่ย่อขนาดให้เล็กลง โดยหันกลับมาทำในโรงเรียนแทน เพราะปัญหาขยะในโรงเรียนก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถจัดการได้ ทั้งยังขาดการแก้ไขมาเป็นเวลานาน

เมื่อความคิดตกผลึก พวกเธอจึงวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาพบว่า เกิดจากนักเรียนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง และไม่มีการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ หลังจากพิจารณาแล้วว่าพวกเธอน่าจะมีศักยภาพในการบริหารจัดการโครงการภายในโรงเรียนได้ โครงการ ท.ษ. ยุคใหม่ใส่ใจการแยกขยะ จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้นักเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการคัดแยกขยะ รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทิ้งขยะให้ลงถังมากขึ้น

ออกแบบการทำงาน “จากเล็กไปใหญ่”

เมื่อโจทย์และเป้าหมายชัด แผนการทำงานจึงถูกออกแบบขึ้น งานนี้กลุ่มลูกรัก ท.ษ. ตั้งต้นจากเล็กไปหาใหญ่ กล่าวคือ เริ่มให้ความรู้แก่เพื่อนนักเรียนระดับชั้นเดียวกันก่อน เพราะมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เมื่อดำเนินโครงการให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ได้ระยะหนึ่ง จึงค่อยขยายฐานความร่วมมือออกไปในวงกว้าง ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะให้นักเรียนและคณะครูในโรงเรียนรับทราบหน้าเสาธง พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าของการทำโครงการ

ด้วยเหตุนี้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 147คนจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกของพวกเธอ โดยจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับเพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นกิจกรรมแรก ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับกลยุทธ์ที่วางไว้ และเพื่อแนะนำโครงการ ท.ษ. ยุคใหม่ใส่ใจขยะ ให้เพื่อนๆ รู้จัก พร้อมกับให้ความรู้เพื่อนนักเรียนเกี่ยวกับประเภทขยะและการคัดแยกขยะก่อน เพื่อปลูกสำนึกเรื่อง การรักษาความสะอาดและการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

กลุ่มลูกรัก ท.ษ. บอกว่า ขยะเป็นผลลัพธ์จากการใช้สอยในชีวิตประจำวันของทุกคน พวกเธอจึงต้องค้นหาข้อมูลทั้งหมดมานำเสนอ เพื่อกระตุ้นให้เพื่อนนักเรียนเข้าใจว่าเรื่องเล็กๆ อย่างขยะ ส่งผลในภาพรวมต่อชีวิตอย่างไร

“การที่อากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นสัญญาณบอกเหตุอย่างหนึ่งของภาวะโลกร้อน ซึ่งทุกคนสัมผัสได้ว่าปัจจุบันอากาศร้อนขึ้น เราต้องชี้ให้เพื่อนๆ เห็นว่าขยะเป็นผลลัพธ์จากการใช้ของมนุษย์ ยิ่งใช้มากก็ยิ่งผลิตมาก ยิ่งผลิตมากก็ยิ่งปล่อยความร้อนออกสู่บรรยากาศมาก และต้องใช้ทรัพยากร รวมถึงพลังงานมากตามไปด้วย” ฟาร์อธิบายได้อย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกันได้อย่างมีเหตุผล

สร้างสรรค์กิจกรรมให้ตอบโจทย์การใช้งาน

นอกจากการนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการแล้ว เพื่อไม่ให้การจัดกิจกรรมครั้งแรกของพวกเธอน่าเบื่อและเคร่งเครียดจนเกินไป กลุ่มลูกรัก ท.ษ. ยังจัดแบ่งเวลาให้เพื่อนๆ แต่ละห้องได้ร่วมสนุกกับ การประดิษฐ์ถังขยะประจำห้องเรียน โดยมีกติกาว่าแต่ละห้องจะต้องประดิษฐ์ถังขยะทั้งหมด 3 ถัง พร้อมระบุว่าถังขยะแต่ละถังมีไว้สำหรับใส่ขยะประเภทใด เกณฑ์การตัดสินอยู่ที่ความสวยงามและประโยชน์ที่นำไปใช้ได้จริง โดยมีกลุ่มลูกรัก ท.ษ. ทีมพี่เลี้ยงโครงการ และครูเป็นคณะกรรมการตัดสิน

“การจำแนกประเภทขยะในห้องเรียนไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลอย่างที่คุ้นเคยกัน กล่าวคือ โดยปกติแล้วการคัดแยะขยะจะแบ่งออกเป็น ขยะแห้ง ขยะเปียก และขยะรีไซเคิล แต่กลุ่มเยาวชนเลือกคัดแยกขยะตามประโยชน์ในการนำไปใช้งานต่อ โดยเกณฑ์การคัดแยกอ้างอิงจากข้อมูลปริมาณขยะแต่ละประเภทในห้องเรียนที่พวกเธอสำรวจเอง”

“เรายังทำงานกับเพื่อนๆ อีกนาน การตัดสินผลงานจึงต้องตัดสินให้มีมาตรฐานและยุติธรรมที่สุด พวกเราเลยจัดให้มีคณะกรรมการตัดสิน มีรางวัลมอบให้กับทีมที่ชนะหน้าเสาธงเพื่อเป็นกำลังใจและเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการให้นักเรียนในโรงเรียนรับรู้ไปในตัว” ฟาร์กล่าว

มิ้นท์อธิบายเพิ่มเติมว่า ถังขยะที่ประดิษฐ์ขึ้นมาไม่ได้ทำไว้เฉยๆ พวกเธอขอความร่วมมือจากเพื่อนนักเรียน และขออนุญาตครูประจำชั้นนำถังขยะดังกล่าวไปวางไว้ในห้องเรียนห้องละ 3 ถัง โดยจำแนกเป็นแต่ละประเภทดังนี้ ขวดพลาสติก กระดาษเหลือใช้ และขยะทั่วไปอื่นๆ

เห็นได้ว่า การจำแนกประเภทขยะในห้องเรียนไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลอย่างที่คุ้นเคยกัน กล่าวคือ โดยปกติแล้วการคัดแยะขยะจะแบ่งออกเป็น ขยะแห้ง ขยะเปียก และขยะรีไซเคิล แต่กลุ่มเยาวชนเลือกคัดแยกขยะตามประโยชน์ในการนำไปใช้งานต่อ โดยเกณฑ์การคัดแยกอ้างอิงจากข้อมูลปริมาณขยะแต่ละประเภทในห้องเรียนที่พวกเธอสำรวจเอง

“ขยะในห้องเรียนมีไม่กี่อย่าง มากที่สุดคือขวดน้ำพลาสติก รองลงมาคือกระดาษเหลือใช้ ส่วนที่เหลือก็เป็นขยะทั่วไป ทั้งขวดพลาสติกและกระดาษเป็นขยะรีไซเคิล การคัดแยกแบบที่เราทำช่วยให้การทำงานของเราง่ายขึ้น เพราะสามารถแยกขวดน้ำพลาสติกและกระดาษเหลือใช้ออกไปขายได้เลย ไม่ต้องเสียเวลามาแยกอีก” มิ้นท์อธิบายวิธีคิดของพวกเธอ

การตอบคำถาม 20 ข้อเพื่อทบทวนความรู้ เป็นกิจกรรมช่วงสุดท้ายของเวทีสร้างความเข้าใจ ที่กลุ่มลูกรัก ท.ษ. เปิดโอกาสให้เพื่อนนักเรียนยกมือตอบคำถามสดๆ หากใครตอบถูกก็จะได้รับของรางวัลไปทันที

“ถ้าเราบรรยายอย่างเดียว เราจะไม่รู้ว่าเพื่อนเข้าใจจริงหรือเปล่า หรือถ้าเข้าใจเราก็ไม่รู้ว่าเขาเข้าใจอย่างไร พวกเราเลยทำคำถาม 20 ข้อนี้ขึ้นมา เพื่อวัดว่าหลังได้รับความรู้ไปแล้ว เพื่อนได้เรียนรู้อะไรบ้าง คาดไม่ถึงว่าเพื่อนๆ จะแย่งกันตอบ บางคนตอบแล้วตอบอีก และตอบถูกทั้งหมด” มิ้นท์เล่าบรรยากาศ

เรียนรู้จากการลงมือทำ

การให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากเพื่อนนักเรียน และผลลัพธ์จากการตอบคำถามทบทวนบทเรียนในเวทีสร้างความเข้าใจ คล้ายเป็นฉากบังตาที่ทำให้ดูคล้ายกับว่า โครงการ ท.ษ.ยุคใหม่ใส่ใจขยะ กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี...แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

กลุ่มเยาวชน ลูกรัก ท.ษ. เล่าว่า หลังจัดเวทีสร้างความเข้าใจ พวกเธอเร่งเก็บข้อมูลราคาขยะจากเว็บไซต์ต่างๆ เทียบเคียงกับราคาจากร้านรับซื้อขยะ 2 ร้านในท้องถิ่น แล้วหาข้อสรุปออกมาเป็นราคาที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานรับซื้อขวดน้ำพลาสติกและกระดาษเหลือใช้จากการคัดแยกในห้องเรียน

แต่...ไม่มีใครนำขยะมาขาย!!

มื่อเป็นเช่นนี้ มิ้นท์ – วรพรรณ ด้วงสวัสดิ์ และ อุ้ม – ภาวิณี สิริพฤกษา จึงรับหน้าที่เดินสำรวจห้องเรียน เพื่อสืบหาสาเหตุ จนพบว่าไม่มีการคัดแยกขยะอย่างที่กลุ่มเยาวชนคาดหวังไว้

อุ้มบอกว่า ห้องเรียนแต่ละห้องไม่ได้เป็นห้องเรียนถาวรของนักเรียนชั้นใดชั้นหนึ่ง ด้วยนักเรียนใช้วิธีเดินเรียนไปตามห้องต่างๆ ตามรายวิชา เมื่อพวกเธอจัดเวทีสร้างความเข้าใจเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนชั้น ม.4 จึงไม่น่าแปลกใจที่จะยังไม่ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนระดับชั้นอื่นๆ

“พวกเราคิดว่าถ้าทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คนอื่นเห็นน่าจะเกิดสำนึกขึ้นมาบ้าง ระหว่างที่ไปเก็บและแยกขยะ เราบันทึกข้อมูลปริมาณขยะจากแต่ละห้องไว้ด้วย แล้วเอาผลมาคำนวณค่าคาร์บอน เพื่อดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมในภาพรวม จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่หน้าเสาธงให้นักเรียนรู้อีกต่อหนึ่ง”

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มลูกรัก ท.ษ. จึงใช้วิธีเดินคัดแยกขยะด้วยตัวเองตามห้องเรียนเพื่อทำให้นักเรียนคนอื่นๆ เห็นเป็นตัวอย่าง และดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเรื่องการจัดการขยะหน้าเสาธงอย่างเป็นทางการ

“พวกเราคิดว่าถ้าทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คนอื่นเห็นเขาน่าจะเกิดสำนึกขึ้นมาได้บ้าง ระหว่างที่ไปเก็บและแยกขยะเอง เราก็บันทึกข้อมูลปริมาณขยะจากแต่ละห้องไว้ด้วยตามจริง แล้วเอาผลมาคำนวณค่าคาร์บอน เพื่อดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมในภาพรวม เราก็นำข้อมูลนั้นไปเผยแพร่หน้าเสาธงให้นักเรียนรู้อีกต่อหนึ่ง” หมิวอธิบาย

“ข้อมูล” ช่วยปลูกจิตสำนึกนักเรียน

เห็นได้ว่า กลุ่มลูกรัก ท.ษ. ให้ความสำคัญกับการ “จัดเก็บข้อมูล” ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก พวกเธอบอกว่า การเก็บและค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียด รวมทั้งการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะข้อมูล ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะเป็นประโยชน์เมื่อนำออกไปเผยแพร่ให้นักเรียนได้รับรู้ การสื่อสารข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจก่อให้ความเข้าใจผิดในระยะยาว แต่ในทางกลับกัน...ข้อมูลที่ถูกต้องจะสร้างการตระหนักรู้และช่วยปลูกจิตสำนึกให้แก่นักเรียนได้

ด้วยมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่กับตัว นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลด้านการจัดการขยะและภาวะโลกร้อนในโรงเรียนแล้ว กลุ่มลูกรัก ท.ษ. ยังเดินหน้าสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวให้แก่โรงเรียนระดับประถมศึกษา 2 โรงเรียนข้างเคียงอีกด้วย ได้แก่ โรงเรียนถาวรวิทยา และโรงเรียนเทศบาล 3

“การสร้างจิตสำนึกต้องทำเรื่อยๆ ไม่ใช่พูดครั้งเดียวแล้วจบ น้องๆ ประถมศึกษาจาก 2 โรงเรียนนี้ ส่วนใหญ่พอเรียนจบก็จะเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเทพมงคลรังษี ถ้าเราบอกให้เขารู้ข้อมูลตั้งแต่ตอนนี้ ต่อไปจะเมื่อน้องๆ มาเรียนกับเรา เราจะทำงานกับน้องๆ ได้ง่ายขึ้น หรือต่อให้ไม่ได้มาทำกิจกรรมกับเราเขาก็มีความรู้ติดตัวออกไป” หมิวกล่าว

นอกจากให้ความสำคัญกับข้อมูลแล้ว โครงการ ท.ษ.ยุคใหม่ใส่ใจขยะ ยังคำนึงถึงความสนุกสนานในการทำกิจกรรม ตะแกรงหรรษา ที่วางไว้บริเวณโรงอาหารของโรงเรียน เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สร้างสรรค์ขึ้นมาให้นักเรียนโรงเรียนได้ร่วมสนุกกับการคัดแยกขยะ

“ตะแกรงนี้ออกแบบขึ้นมาให้มีลักษณะค่อนข้างสูง เพื่อให้นักเรียนโยนขวดน้ำพลาสติกลงในตะแกรงคล้ายการโยนลูกบาสเกตบอลลงห่วง พวกเราประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนเขียนชื่อตัวเองใส่ลงไปในขวดด้วย แต่ละเดือนเราจะจับฉลากขวดน้ำขึ้นมาแจกของรางวัลหน้าเสาธง” มิ้นท์ – วรพรรณกล่าว

ถึงแม้นักเรียนจะให้ความร่วมมือนำขวดมาทิ้งในตะแกรงหรรษาเป็นอย่างดี แต่กลุ่มลูกรัก ท.ษ. ก็ไม่คิดจะผลิตตะแกรงเพิ่ม คิดว่าทำตะแกรงไว้จุดเดียวนั้นเพียงพอแล้ว ในเมื่อนักเรียนเดินไปซื้อน้ำมาดื่มได้ หากมีความตั้งใจ นักเรียนก็ต้องเดินมาทิ้งขวดน้ำในตะแกรงนี้ได้เช่นกัน

ใช้ “ความรู้” ทลายข้อจำกัดทีมงาน

ผลจากการสืบค้นและเก็บข้อมูลเพื่อทำโครงการ กลุ่มเยาวชน ลูกรัก ท.ษ. บอกว่า นอกจากความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และการจัดการขยะแล้ว สิ่งที่พวกเธอได้รับกลับมา คือ การทลายข้อจำกัดบางอย่างของตัวเอง

มิ้นท์ – วรพรรณ อุ้ม และ หมิว บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเธอเป็นคนพูดน้อยและไม่กล้าแสดงออก แต่การทำโครงการบังคับให้พวกเธอต้องกำจัดความกลัวและแสดงความกล้าออกมา เพื่อรับผิดชอบหน้าที่ที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด

“โครงการสอนให้เรียนรู้ว่า การทำงานกับคนหมู่มากต้อง นิ่ง ฟัง และควบคุมอารมณ์ จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่ได้ เราต้องฟังเพื่อนให้มากกว่าเขาฟังเรา ฟังแล้วนำความคิดมารวบยอดอีกที ต่างคนต่างฟังกันถึงจะทำให้งานเดินไปได้”

“จากเด็กแถวหลัง เขินอายเวลาจะพูดหรือแสดงความคิดเห็น โครงการนี้ผลักให้พวกเราต้องออกไปยืนแถวหน้า ต้องกล้าพูด กล้านำ ถ้าขืนมายืนนิ่งเงียบใครจะทำตามที่เราพูด” อุ้มกล่าว

ด้าน มิ้นท์ – ปิยวรรณ บอกว่า เดิมทีเธอเป็นคนอารมณ์ร้อนและไม่ฟังใคร แต่การทำโครงการสอนให้เธอเรียนรู้ว่า การทำงานกับคนหมู่มากต้อง นิ่ง ฟัง และควบคุมอารมณ์ จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไม่ได้ เราต้องฟังเพื่อนให้มากกว่าเขาฟังเรา ฟังแล้วนำความคิดมารวบยอดอีกที ต่างคนต่างฟังกันถึงจะทำให้งานเดินไปได้

ส่วนฟาร์บอกว่า สถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นทำให้เธอแก้ไขปัญหา เป็นบทเรียนที่สอนให้เธอรู้ว่า การเผชิญหน้ากับปัญหานั้นดีกว่าการหนีปัญหาอยู่มากโข

“ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำได้ขนาดนี้ ตอนแรกรู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักหนาเกินไป แต่พอได้ลงมือทำ แล้วเห็นว่าตัวเองทำได้ ก็อยากทำต่อไปอีกเรื่อยๆ”

ถึงแม้โครงการจะไม่สามารถเดินหน้าไปถึงเป้าหมายสุดท้ายที่วางไว้ ด้วยปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลาเข้ามาทำโครงการ ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ปกติต้องเรียนหนักอยู่แล้ว แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของพวกเธอ ทำให้นักเรียนหันมาให้ความร่วมมือในการจัดการขยะภายในโรงเรียนมากขึ้น เห็นได้จากความสะอาดภายในโรงเรียน และความร่วมมือในการคัดแยกขยะภายในห้องเรียน ส่วนตะแกรงหรรษาก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกรัก ท.ษ. บอกว่า พวกเธอยังต้องการต่อยอดโครงการให้ดีขึ้นไปอีก ด้วยการทำให้ปริมาณขยะลดลง ซึ่งถือเป็นการลดการใช้ทรัพยากรที่จะส่งผลต่อเนื่องไปทั้งระบบอย่างแท้จริง

“ครั้งนี้ทำได้แค่นี้ก็รู้สึกภูมิใจแล้ว งานทุกอย่างไม่จำเป็นต้องสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ พวกเราคิดกันว่าขั้นแรกขอแค่ให้นักเรียนรู้ข้อมูลก็ดีแล้ว แต่ถ้ารู้แล้วทำตามจนได้ผลก็ถือเป็นผลพลอยได้ เราไม่สามารถใช้เวลาสั้นๆ เปลี่ยนนิสัยคนได้ ดังนั้น เราต้องทำไปเรื่อยๆ ทั้งพูด ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ตอนนี้ถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่เริ่มต้นขึ้น ขนาดตัวเรายังเปลี่ยนได้ ในระยะยาวคนอื่นก็ต้องเปลี่ยนได้ เมื่อก่อนตัวเราเองทิ้งขยะไม่ลงถังก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่ตอนนี้เวลาไปไหนมาไหนแล้วเห็นขยะเกลื่อนกลาด เรารู้สึกอึดอัด ยิ่งเห็นผู้ใหญ่โยนขยะทิ้งข้างทาง ยิ่งรู้สึกโกรธและสะเทือนใจ หลายครั้งที่ต้องเดินเข้าไปเก็บ เรามั่นใจว่าเมื่อสำนึกเกิดขึ้น มันก็จะอยู่กับเราตลอดไป” มิ้นท์ – ปิยวรรณ สะท้อนถึงสำนึกที่เกิดขึ้น

พี่เลี้ยงต้องแนะนำมากกว่าออกคำสั่ง

กมลเนตร เกตุแก้ว พี่เลี้ยงชุมชน สะท้อนบทบาทของตัวเองว่า แม้เธอจะเป็นครูพี่เลี้ยงชุมชน แต่การวางบทบาทของเธอคล้ายเป็นผู้ให้คำแนะนำมากกว่าออกคำสั่งให้นักเรียนปฏิบัติตาม

“เราต้องมั่นใจในตัวเขา ให้เขาคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง แต่ก็เปิดพื้นที่ให้เขาเข้ามาปรึกษาเราได้ตลอด ในฐานะครู เราอยู่กับนักเรียนมากกว่าลูกเราด้วยซ้ำไป ดังนั้นบทบาทของเราก็เหมือนเป็นแม่ที่คอยให้คำปรึกษา และให้กำลังใจเวลาเขามีปัญหา

“ตัวครูเองก็ได้เรียนรู้ แล้วเด็กๆ เองก็เปลี่ยนแปลงตัวเอง เห็นได้ชัดว่าเขานึกถึงคนอื่นมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะให้ความสำคัญกับการเรียนอย่างเดียว แต่หลังจากทำโครงการพวกเขาไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาของส่วนรวม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีที่จะติดตัวเขาไปในอนาคต”

กมลเนตรบอกว่า จุดเด่นของโครงการนี้อยู่ที่การพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งพี่เลี้ยงชุมชนให้มีศักยภาพในการดูแลชุมชนและสังคมของตนเอง (ซึ่งในที่นี้ หมายถึง โรงเรียน) ด้วยการให้เครื่องมือ หรือ กระบวนการคิดที่เป็นระบบ การพัฒนากระบวนการคิดที่เป็นระบบ ช่วยให้การวางแผนงานง่ายขึ้นและทำให้ครูมองปัญหาอย่างเชื่อมโยงกันมากขึ้น จนเกิดการตระหนักรู้ว่า เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในภาพรวม

“ตัวครูเองก็ได้เรียนรู้ แล้วเด็กๆ เองก็เปลี่ยนแปลงตัวเอง เห็นได้ชัดว่าเขานึกถึงคนอื่นมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะให้ความสำคัญกับการเรียนอย่างเดียว แต่หลังจากทำโครงการพวกเธอไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาของส่วนรวม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีที่จะติดตัวเขาไปในอนาคต”

เมื่อเห็นความสำคัญของ “ชุดข้อมูลความรู้” จึงไม่แปลกที่กลุ่มลูกรัก ท.ษ. จะเลือกใช้วิธีให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือ แทนการวางระเบียบข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ในโรงเรียน เพราะมั่นใจว่า กิจกรรมที่พวกเธอสร้างสรรค์ขึ้น จะมีส่วนช่วยสร้างนิสัยรักความสะอาดและเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมให้แก่นักเรียนอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะพวกเธอรู้ว่าสำนึกที่เกิดขึ้นนี้จะผสมกลมกลืนไปกับพฤติกรรมที่จะแสดงออกในชีวิตประจำวันต่อไป 


โครงการ ท.ษ. ยุคใหม่ใส่ใจการแยกขยะ

พี่เลี้ยงชุมชน : กมลเนตร เกตุแก้ว

ทีมงาน :

  • วิไลววรณ สำราญวงษ์
  • กาญจนา ศรีวัฒนพงศ์
  • ปิยวรรณ อินทะนิน
  • วรพรรณ ด้วงสวัสดิ์
  • ภาวินี สิริพฤกษา