การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาคุณภาพอาหารและโรงเรือนแพะ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในตำบลหนองหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ปี 1

วิชาแพะ

โครงการพัฒนาคุณภาพอาหารและโรงเรือนแพะโดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในตำบลหนองหญ้า


พวกเขาสรุปตรงกันว่า รู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ โดยเฉพาะการทดลองสูตรอาหารเสริมสำหรับแพะจนเกิดผลสำเร็จสมกับที่คาดหวังไว้คือ การได้ใช้ความรู้ในการทำงานจริง ทำให้รู้จักรับผิดชอบ รู้จักการคิดวางแผน รู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น รู้จักการติดต่อประสานงาน และมีมนุษยสัมพันธ์มากขึ้น

ชีวิตนักศึกษาเกษตร การเรียนรู้จากห้องเรียนคงไม่เพียงพอต่อการสร้างทักษะและประสบการณ์ การเรียนรู้ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี (วษท.) จังหวัดกาญจนบุรี จึงไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่มีภาคปฏิบัติให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำงานจริง และกิจกรรม Fix it center ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ทั้งยังเป็นบริการทางวิชาการของ วษท.กาญจนบุรี ที่พานักศึกษาออกไปให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ฉีดยา รักษาโรค ฯลฯ แก่เกษตรกรในชุมชนใกล้เคียง

เห็นโอกาสจากปัญหา

ตำบลหนองหญ้า ซึ่งมีพื้นที่ 7.56 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 1542 คน หรือ 490 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว อ้อย มันสะปะหลัง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดผักอ่อน และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งประกอบไปด้วย โคเนื้อ ไก่พื้นเมือง ปลาทับทิม และแพะ เป็นต้น เป็นพื้นที่ที่ วษท.กาญจนบุรีใช้จัดกิจกรรม Fix it center มาโดยตลอด

การจัดกิจกรรมดังกล่าวทำให้นักศึกษาค้นพบว่า ที่ตำบลหนองหญ้า สัตว์ที่คนในชุมชนนิยมเลี้ยงกันคือ แพะ เนื่องจากลงทุนต่ำ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ให้ผลตอบแทนเร็ว เพราะเนื้อแพะเป็นที่ต้องการของตลาด ที่ชุมชนแห่งนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ 30 รายๆ ละ 30 ตัว แต่เกษตรกรกำลังประสบปัญหาแพะตาย เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงแพะแบบปล่อยไล่ทุ่ง ทั้งยังขาดความรู้เรื่องการนำพืชท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์เรื่องอาหาร ทำให้แพะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และมีโรงเรือนไม่ถูกสุขลักษณะ แพะต้องนอนอยู่กับสิ่งปฏิกูล ส่งผลให้แพะเป็นโรคพยาธิ ปากเท้าเปื่อย และทางเดินหายใจ

แม้จะเห็นปัญหาข้างต้น แต่นักศึกษาไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มากไปกว่าให้คำแนะนำและรักษาตามอาการ จนกระทั่งอาจารย์สำราญ พลอยประดับได้แนะนำว่า มีโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ซึ่งสนับสนุนให้เยาวชนทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชน นักศึกษาเอกสัตว์ศาสตร์ ชั้น ปวส.1 ซึ่งประกอบด้วย ฟอร์ค-สุพัฒน์กิจ หมื่นจงจำปา นัด-สิทธิธร มั่นคง โบ๊ท-รณชัย พรหมบุตร กิ๊ฟท์-อรวรรณ ก่ำบุญมา เก๋- นภาลัย หงส์รัตน์วงศ์ วิ-มัลลิกา ภู่ทอง และโอ-ศุภกร กุลที จึงรวมตัวกันทำโครงการพัฒนาคุณภาพอาหารและโรงเรือนแพะ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในตำบลหนองหญ้า เพราะเห็นว่านี่เป็น “โอกาส” ที่พวกเขาจะใช้ความรู้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาของชุมชน

ค้นลึกถึงต้นตอปัญหา

ด้วยแนวคิดที่อยากช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร การรวมตัวของทีมและการแบ่งหน้าที่จึงทำได้ไม่ยาก ฟอร์ด นัด กิ๊ฟ วิ รับหน้าที่สำรวจ โอดูแลเรื่องอาหารและขับรถ เก๋คอยจดบันทึกและถ่ายภาพ โบ๊ทช่วยดูภาพรวมและอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ รวมทั้งดูแลการเงิน แต่ทีมงานทุกคนยืนยันว่าแม้จะแบ่งหน้าที่กันแล้ว แต่พอถึงเวลาทุกคนก็จะเข้ามาช่วยกันทำงาน ซึ่งก่อนลงมือทำโครงการทีมงานได้จัดประชุมวางแผนการทำงาน พร้อมกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะช่วยลดอัตราการตายของแพะในชุมชนตำบลหนองหญ้า ซึ่งกิจกรรมที่ทีมออกแบบไว้เริ่มต้นจากการสำรวจโรงเรือน วิธีการเลี้ยงดู อาหารของแพะ โรค รวมทั้งสำรวจวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่ในรอบปี ศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงแพะ สูตรอาหาร ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้ทดลองเลี้ยงแพะต่อไป

โบ๊ทเล่าว่า การลงพื้นที่รอบแรก ทีมจะไปสำรวจจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงแพะ ด้วยการเก็บข้อมูลทีละหลังคาเรือน สอบถามวิธีการที่เกษตรกรเลี้ยงแพะ ทั้งเรื่องอาหาร การรักษาโรค พร้อมสำรวจโรงเรือน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาประชุมเพื่อวางแผนการทำงานอีกครั้ง ซึ่งข้อมูลที่พบไม่ค่อยต่างจากที่พวกเขาเคยรับรู้มานั่น คือ ชาวบ้านเลี้ยงแพะแบบปล่อยทุ่ง โรงเรือนไม่ยกพื้น ทำให้แพะเป็นโรคง่าย เช่น โรคปากเท้าเปื่อย โรคท้องเสีย ส่วนอาหารชาวบ้านจะเลี้ยงด้วยหญ้าที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่ โดยไม่มีการให้อาหารเสริมใดๆ เมื่อวิเคราะห์แล้วทีมงานเห็นร่วมกันว่า น่าจะเลือกเกษตรกรเป้าหมายที่มีปัญหาในการเลี้ยงแพะมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลที่พบ 3 ราย ที่มีปัญหาแพะตายมากที่สุด

“เหตุผลที่เลือกเกษตรกร 3 รายนี้เป็นเป้าหมายของการทำงาน ก็เพื่อเป็นตัวอย่างให้บ้านอื่นๆ เห็น ทั้งนี้เพราะฟาร์มแพะส่วนใหญ่อยู่ใกล้กัน สามารถไปมาหาสู่และแลกเปลี่ยนความรู้กันได้”

ด้วยเหตุนี้การลงพื้นที่รอบ 2 ทีมงานจึงสำรวจแบบเจาะลึกที่บ้านของเกษตรกร 3 รายที่ เพื่อดูสภาพปัญหา สาเหตุการตาย ซึ่งก็พบว่า แพะส่วนใหญ่เป็นโรคท้องเสีย เนื่องจากมีการเลี้ยงแบบปล่อย และมีโรงเรือนที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้แพะติดโรคกันไปเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ทีมงานจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการประสานงานกับปศุสัตว์ เพื่อนำซากแพะไปตรวจ พร้อมทั้งขอยามาฉีดรักษาอาการของแพะก่อนในเบื้องต้น

โบ๊ทย้ำว่า เหตุผลที่เลือกเกษตรกร 3 รายนี้เป็นเป้าหมายของการทำงาน ก็เพื่อเป็นตัวอย่างให้บ้านอื่นๆ เห็น ทั้งนี้เพราะฟาร์มแพะส่วนใหญ่อยู่ใกล้กัน จึงสามารถไปมาหาสู่และแลกเปลี่ยนความรู้กันได้

โบ๊ทเล่าต่อว่า หลังลงสำรวจชุมชน 2 ครั้ง ทีมงานนำข้อมูลที่ได้มาลำดับความสำคัญของปัญหา พบว่าปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขคือ อาหารและโรงเรือน โดยเรื่องอาหารเน้นไปที่อาหารเสริมเพื่อสร้างน้ำหนัก ส่วนโรงเรือนเป็นเรื่องของสุขอนามัยที่จะส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของแพะ เพื่อให้แพะเป็นโรคน้อยลง

ทดลองให้รู้แจ้ง...ก่อนขยายผล

เมื่อคัดกรองข้อมูลเพื่อหาทางเลือกในการแก้ปัญหาแล้ว พวกเขายังพิจารณาถึงความสามารถของทีมงานด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า ก่อนให้เกษตรกรแก้ปัญหาตามวิธีการที่ทีมงานเสนอ พวกเขาจะต้องทดลองให้เห็นผลเชิงประจักษ์ก่อน เริ่มจากการแก้ปัญหาเรื่องอาหารให้ถูกสุขลักษณะ โดยการผลิตอาหารเสริม ทีมงานเลือกทดลองสูตรอาหารเสริมที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น กากมันสำปะหลัง กระถิน และหญ้าเนเปียร์ เป็นต้น

“เมื่อคัดกรองข้อมูลเพื่อหาทางเลือกในการแก้ปัญหาแล้ว พวกเขายังพิจารณาถึงความสามารถของทีมงานด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า ก่อนให้เกษตรกรแก้ปัญหาตามวิธีการที่ทีมงานเสนอ พวกเขาจะต้องทดลองให้เห็นผลเชิงประจักษ์ก่อน”

ฟอร์คบอกว่า พวกเขาทดลองอาหาร 2 สูตรคือ กากมันหมักยีสต์ และหญ้าเนเปียกับกระถิ่นป่น โดยสูตรกากมันผสมยีสต์ ใช้ส่วนผสมคือ กากมันประมาณ 500 กิโลกรัม ยีสต์ 100 กรัม อีเอ็ม 15 ลิตร น้ำ 88 ลิตร น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม และยูเรีย 2.3 กิโลกรัม วิธีการทำคือต้องหากระบะขนาดใหญ่เพื่อเทกากมันใส่ แล้วละลายยูเรียกับน้ำ น้ำตาลทรายแดง อีเอ็ม นำน้ำผสมยูเรียมาผสมกับยีสต์ คนไปเรื่อยๆ จนเกิดฟอง จากนั้นจึงนำบัวรดน้ำตักน้ำที่ผสมเสร็จรดกากมันในกระบะ ให้คนขึ้นไปย่ำ จนเข้ากันดี แล้วจึงตักใส่ถังให้เต็มและอัดให้แน่น จากนั้นนำพลาสติกคลุมปิดไว้ 21 วัน เป็นสูตรที่ไม่ใช้ออกซิเจน (กากมันซื้อจากลานมันกิโลกรัมละ 60 สตางค์)

ส่วนสูตรหญ้าเนเปียร์ผสมกระถิน มีส่วนผสมคือ กระถินแห้งป่น 50 กิโลกรัม หญ้าเนเปียร์สดโม่ 70 กิโลกรัม กำมะถัน 0.07 กรัม กากถั่วเหลือง 4กิโลกรัม ยูเรีย 1 กิโลกรัม ข้าวโพดอาหารสัตว์ 8 กิโลกรัม เกลือ 250 กรัม มันเส้น 60 กิโลกรัม วิธีการทำคือ นำส่วนผสมข้าวโพด เกลือ กำมะถัน กากถั่วเหลืองซึ่งเป็นส่วนผสมที่ละเอียดผสมกันก่อน จากนั้นจึงนำหญ้าเนเปียร์ กระถิน มันเส้น ผสมกัน แล้วนำทั้ง 2 ส่วนมาผสมกัน ใช้พลั่วคนให้เข้ากัน ตักใส่ภาชนะปิดให้สนิทไม่ให้ออกซิเจนเข้า หมักไว้ 14 วันก็นำมาใช้งานได้

ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตอาหารเสริมทั้ง 2 ชนิดนี้ ไม่ได้แพงมาก เพราะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น โดยอาหารเสริมสูตรกากมันผสมยีสต์มีต้นทุนกิโลกรัมละ 1.15 บาท ส่วนสูตรหญ้าเนเปียร์ผสมกระถิ่นต้นทุนกิโลกรัมละ 4.81 บาท แต่การจะทำให้เกษตรกรเชื่อจำเป็นต้องมีหลักฐานพิสูจน์ให้เห็น

ระหว่างรออาหารเสริมได้ที่ทีมงานช่วยกันสร้างโรงเรือนมาตรฐานตามที่ได้ศึกษามา คือ มีการยกพื้นสูงจากพื้นดิน 80 เซนติเมตร พื้นปูนมีช่องระบายเพื่อให้อากาศด้านล่างถ่ายเท และสามารถล้างทำความสะอาดได้สะดวก เพราะมูลของแพะอาจมีเชื้ออีโคไล จึงต้องมีการทำความสะอาดคอกบ่อยๆ

เมื่อโรงเรือนและอาหารพร้อม ทีมงานขอยืมแพะจากป้าซึ่งเป็นญาติของฟอร์ด 6 ตัว เพื่อทดลองอาหาร 2 สูตร

“ป้าให้ยืมแพะมา 6 ตัว พวกเราแบ่งให้อาหารสูตรละ 2 ตัว ส่วนอีก 2 ตัวเป็นแพะคอนโทรลให้กินอาหารแบบเดิมที่ชาวบ้านเลี้ยง แต่ก่อนนำมาแพะมาทดลองต้องเอาไปพักรักษาโรคให้หายก่อน” โบ๊ทเล่า

ทั้งนี้โอชี้แจงเสริมว่า พวกเราต้องการทดลองให้ได้ผลจริงๆ ก่อน หากการทดลองไม่ได้ผล การโน้มน้าวชาวบ้านให้เปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงคงไม่สามารถทำได้

สำหรับผลการทดลอง นัดซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบอาหารเสริมสูตรกากมันหมักยีสต์ และฟอร์ดซึ่งรับผิดชอบอาหารเสริมสูตรหญ้าเนเปียร์ผสมกระถินช่วยกันเล่าว่า พวกเขาจะชั่งนำหนักแพะก่อนทดลอง และหลังจากให้อาหารเสริมทุก 15 วัน ซึ่งผลการทดลองพบว่า สูตรกากมันหมักยีสต์ทำให้แพะน้ำหนักขึ้นดีกว่าสูตรหญ้าเนเปียร์ผสมกระถิน แต่แพะกลุ่มคอนโทรลที่กินอาหารทั่วไปนั้น น้ำหนักแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย

“พวกเราต้องการทดลองให้ได้ผลจริงๆ ก่อน หากการทดลองไม่ได้ผล การโน้มน้าวชาวบ้านให้เปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงคงไม่สามารถทำได้”

น้ำหนัก/สูตรอาหาร

กากมันหมักยีสต์

หญ้าเนเปียร์ผสมกระถิน

คอนโทรล

ตัวที่ 1

ตัวที่ 2

ตัวที่ 1

ตัวที่ 2

ตัวที่ 1

ตัวที่ 2

ก่อนทดลอง

16 ก.ก.

18 ก.ก.

20 ก.ก.

24 ก.ก.

20 ก.ก.

17 ก.ก.

15 วัน

17 ก.ก.

20 ก.ก.

21.5 ก.ก.

25.5 ก.ก.

20 ก.ก.

17 ก.ก.

30 วัน

19 ก.ก.

22 ก.ก.

22.9 ก.ก.

26.7 ก.ก.

20 ก.ก.

17 ก.ก.

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ทีมงานยังต้องดูแลทำความสะอาดคอกทุก 2 วัน และเปลี่ยนน้ำดื่มทุกครั้งที่พบว่าน้ำสกปรก เพราะถ้าน้ำสกปรกแพะจะไม่กินเลย หรือถ้าอาหารหล่นพื้นแล้วแพะเหยียบ แพะก็จะไม่กินเช่นกัน และทีมงานยังแขวนเกลือแร่ให้แพะกินทุกตัวๆ ละ 1 ก้อน เพื่อกระตุ้นให้แพะอยากอาหาร

ทีมงานบอกว่า การดูแลแพะไม่ยาก แต่เหนื่อยตรงที่พวกเขาต้องตัดหญ้าให้แพะคอนโทรลทุกเช้า ด้วยพฤติกรรมของแพะจะหากินตอนสายๆ ประมาณ 9-10 โมง ถ้ากินช่วงเช้าจะมีน้ำค้างคิดตามใบหญ้าใบไม้ ทำให้แพะปากเปื่อย ในฐานะผู้ดูแลพวกเขาจึงต้องใส่ใจในรายละเอียดให้มาก แม้อาบน้ำแต่งตัวด้วยชุดนักศึกษาอย่างดีแล้ว ก็ต้องลุยตัดหญ้า หรือบางทีแพะหลุดจากคอก ก็ต้องวิ่งจับกัน แต่เมื่อเห็นแพะน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากการกินอาหารเสริมก็ทำให้ชื่นใจว่า “พวกเขาทำสำเร็จแล้ว”

1 เดือนผ่านไป แพะอ้วนขึ้นสมใจ เมื่อทีมงานพาไปคืนเจ้าของก็รู้สึกดีใจ พร้อมกันนั้นทีมงานได้แนะนำสูตรอาหารและวิธีการดูแลแพะให้แก่เกษตรกร ด้วยหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลี้ยงแพะของคนในชุมชนหนองหญ้าได้

“ป้าหวานที่เป็นเจ้าของแพะ แม้จะเห็นว่าแพะน้ำหนักขึ้น แต่เขารู้สึกว่ามันยุ่งยากที่ต้องผสมอาหาร สู้เลี้ยงปล่อยตามเดิมไม่ได้ แต่ป้าก็ปรับปรุงโรงเรือนใหม่ โดยยกพื้นและทำความสะอาดมากขึ้น” นัดเล่า

โอเสริมว่า ความนิ่งเฉยของเกษตรกรเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การทำงานของพวกเขาไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ได้แต่ปลอบใจกันเองว่า หากการปรับปรุงโรงเรือนที่บ้านป้าหวานให้ผลดี แพะไม่เป็นโรค และไม่บาดเจ็บก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ช่วยกระตุ้นบ้านอื่นๆ ให้เปลี่ยนแปลงตามได้บ้างไม่มากก็น้อย

“เรามีแผนจะออกไปสำรวจอีกครั้งเพื่อติดตามว่า เกษตรกรทำอาหารเสริมหรือไม่ มีการปรับปรุงโรงเรือนหรือเปล่า และเราตั้งใจจะคืนข้อมูลให้ชาวบ้านรับรู้ด้วย” โอเล่าถึงแผนงานที่จะทำในช่วงเปิดเทอม

จุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ภูมิใจ

แม้ผลการทำงานจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็ไม่ทำให้พวกเขาท้อใจแต่อย่างใด เพราะเข้าใจธรรมชาติของชาวบ้านดีว่า ถ้าเห็นใครทำแล้วดีมักจะทำตามๆ กัน พวกเขาจึงเฝ้ารออย่างใจเย็น พอได้รับรู้ว่ามีเกษตรกรเริ่มใส่ใจดูแลแพะมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดของคอกแพะ ที่บางรายนำปูนขาวมาโรยในคอก หรือการที่เกษตรกรเห็นตัวอย่างการประสานกับปศุสัตว์ที่พวกเขาทำในช่วงเริ่มต้น ก็เริ่มเข้าไปขอความรู้ ขอคำแนะนำ รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากปศุสัตว์มากขึ้น ถือเป็นผลพลอยได้ที่ทำให้ทีมงานรู้สึกอิ่มเอมใจ

“ชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าต้องใช้ยาอย่างไร บางทีเขาฉีดเกินโดสจนแพะน๊อคยาตาย ชาวบ้านเขาไม่มีความรู้เลยว่า จะไปขออะไรตรงไหน เราเลยประสานงานให้เขาดูว่าสามารถไปขอยาได้ที่ไหนบ้าง และให้เขาได้ทำด้วยตนเองบ้าง” นัดเล่า

โบ๊ทเล่าว่า พวกเขาสรุปตรงกันว่า รู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ โดยเฉพาะการทดลองสูตรอาหารเสริมสำหรับแพะจนเกิดผลสำเร็จสมกับที่คาดหวังไว้คือ การได้ใช้ความรู้ในการทำงานจริง ทำให้รู้จักรับผิดชอบ รู้จักการคิดวางแผน รู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น รู้จักการติดต่อประสานงาน และมีมนุษยสัมพันธ์มากขึ้น

กิ๊ฟท์สะท้อนบทเรียนว่า เธอได้ความรู้เกี่ยวกับแพะมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโรค พันธุ์ โรงเรือน แม้ในการเรียนในวิทยาลัยจะไม่มีการสอนเรื่องแพะ แต่มันเชื่อมโยงกับการเรียนได้ ทำให้เธอได้หลักการที่สามารถนำมาตอบข้อสอบได้ เช่น ถ้าฉีดยาสัตว์ต้องทำอย่างไร เป็นต้น

ฟอร์ด เสริมว่า เขาพบความเปลี่ยนแปลงในตัวเองคือ “เขากล้าพูดมากขึ้น เพราะพูดในสิ่งที่ทำจึงรู้สึกมั่นใจ”

การได้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงครั้งนี้ ยังย้อนกลับไปเสริมความมั่นใจในวิชาชีพของตนเอง ทุกคนพูดถึงการเรียนเกษตรอย่างภาคภูมิใจว่า เป็นการเรียนรู้ที่ดี เพราะสอนทั้งความรู้และได้ฝึกฝนความอดทนซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของการทำงานทุกประเภท

“พวกเรามั่นใจว่าเราจะเอาตัวรอดในอาชีพเกษตรกรได้ ถึงไม่มีงานทำ เราก็มีความรู้กลับไปทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ที่บ้านก็ได้ เราเคยลำบากมาก่อน ลำบากกว่านี้ก็เจอมาแล้ว ถ้าจะลำบากต่อไปคงไม่เป็นไร พวกเรียนสายสามัญทฤษฎีเขาอาจจะเป๊ะ แต่ปฏิบัติผมมั่นใจว่าทำได้มากกว่าเขา เพราะอึด ถึก ทน” โบ๊ทยืนยันความมั่นใจ

ฝึกกระบวนการคิดผ่านการลงมือทำ

อาจารย์สำราญ พลอยประดับ ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชน สะท้อนมุมมองการทำงานของลูกศิษย์ว่า สาเหตุที่เขาชักชวนให้นักศึกษามาทำโครงการนี้ เพราะเห็นโอกาสที่นักศึกษาจะใช้ความรู้ที่มีอยู่เข้าไปช่วยเหลือชุมชน ลำพังงบประมาณของวิทยาลัยไม่สามารถหนุนเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อชุมชนได้มากนัก และส่วนตัวก็คาดหวังว่า การทำงานโครงการจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการพัฒนาความคิด และการทำงานของพวกเขาต่อไป

“หัวใจของการทำงานคือ นักศึกษาได้คิด ได้ทำ แต่การทำโครงการต้องเป็นประโยชน์ทั้งต่อนักศึกษาและชาวบ้านด้วย การทำโครงการเป็นการฝึกกระบวนการการคิด งานจะประสบความสำเร็จหรือไม่ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ เขาได้คิด ได้เรียน และได้ฝึก สิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ในการทำงานต่อไปในอนาคต ”

ในฐานะพี่เลี้ยงอาจารย์สำราญบอกว่า เขาจะสนับสนุนอยู่ใกล้ๆ บางครั้งก็ต้องกระตุ้นบ้าง การทำงานของทีมไม่มีปัญหาอะไรมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเวลา ซึ่งพวกเขาก็แก้ปัญหาได้ดี ความเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ ความรับผิดชอบ

“เด็กที่ทำโครงการกับไม่ทำโครงการ ผมว่าน้ำใจมันผิดกัน เด็กกลุ่มนี้ผมบอกคำเดียว เขาก็จะรีบทำของส่วนรวม ขณะที่เด็กอีกกลุ่มต้องเรียก ต้องบังคับ ถึงจะมา แต่พวกนี้ไม่ต้องบังคับ เขาก็มีความรับผิดชอบ อย่างตอนนี้ฝึกงานกันผมบอกว่า พี่เขาจะมาสัมภาษณ์ เขาก็มากัน ไม่ต้องพูดมาก รู้หน้าที่รู้เวลาว่าต้องทำอะไร” อาจารย์เล่าถึงลูกศิษย์อย่างภูมิใจ

นี่คือหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการใช้ “ความรู้” จากห้องเรียนเข้าไปรับใช้ชุมชนที่พวกเขาอาศัย เป็นการลดช่องว่างระหว่างสถานศึกษากับชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่ที่สำคัญคือกลุ่มนักศึกษาได้ “ประสบการณ์” การทำงานจริงในพื้นที่ ทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน การเข้าหาชุมชน จนท้ายที่สุดแล้วประสบการณ์ตรงเหล่านี้ทำให้กลุ่มนักศึกษาเกิดความมั่นใจในเส้นทางสายอาชีพที่พวกเขาเลือกเดินได้อย่างภาคภูมิใจ


โครงการพัฒนาคุณภาพอาหารและโรงเรือนแพะ โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในตำบลหนองหญ้า

พี่เลี้ยงชุมชน : สำราญ พลอยประดับ

ทีมงาน :

  • สุพัฒน์กิจ หมื่นจงจำปา 
  • สิทธิธร มั่นคง
  • รณชัย พรหมบุตร 
  • อรวรรณ ก่ำบุญมา
  • นภาลัย หงส์รัตน์วงศ์ 
  • มัลลิกา ภูทอง
  • ศุภกร กุลดี