การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อจัดการขยะในตลาดชุมชนวัดลาดเป้ง จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

ตลาดนัดพาเพลิน เดินไปไร้ขยะ

โครงการตลาดนัดพาเพลินเดินไปไร้ขยะ


ถึงแม้การไม่ให้ความร่วมมือของคนในตลาดจะทำให้ท้อใจ แต่เธอก็เข้าใจว่า “จิตสำนึก” เป็นเรื่องที่สร้างยาก เพราะต่างคน ต่างที่มา ต่างความคิด การพูดเชิญชวนโน้มน้าวใจเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ผล แต่การลงมือทำต่างหากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนได้...จากที่ไม่อยากทำโครงการ บ่ายเบี่ยงบอกไม่ว่าง ไม่อยากไปอบรม ไม่อยากคิด แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และต้องทำจนสำเร็จให้ได้ ถ้าเกิดหยุดกลางทาง ยังนึกไม่ออกว่าทุกวันที่ต้องเดินผ่านตลาดนัด เราจะรู้สึกกับตัวเองและพ่อค้าแม่ค้าที่เราเคยเข้าไปคุยด้วยยังไง

ภาพคุ้นชินที่คนในชุมชนนางตะเคียนพบเจอเมื่อมาซื้อของตลาดนัดวัดลาดเป้งคือ ขยะนานาชนิดที่หล่นเกลื่อนกลาด วัวที่เดินไปเดินมาในตลาด ที่บางครั้งก็ถ่ายมูลไว้ให้คนซื้อคนขายรู้สึกขยาดไปตามๆ กัน แต่เยาวชนกลุ่มเรารักตลาดนัดวัดลาดเป้ง ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่ยอมปล่อยให้ความชินตา กลายเป็นความเคยชิน พวกเขาลุกขึ้นมาทำโครงการตลาดนัดพาเพลินเดินไปไร้ขยะ ด้วยเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “พวกเราอาศัยอยู่ที่นี่ เป็นเด็กข้างวัด และวัดนี้ก็เป็นวัดที่พวกเราเข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก แล้วเราจะปล่อยให้มันสกปรกได้อย่างไร”

ด้วย “ทุนเดิม” ที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนและวัดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานเชิงวิชาการ การบวชภาคฤดูร้อนซึ่งจัดขึ้นทุกปี เมื่อกานต์ โตบุญมี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านปังปืน ชวนให้ไปฟังการนำเสนอโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก จึงรู้สึกสนใจ

ขณะที่กานต์บอกเหตุผลว่า เขาอยากผลักดันและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ถึงแม้บางกิจกรรมจะไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสาธารณสุขของโรงพยาบาลก็ตาม แต่มองว่าทุกโครงการสามารถสานต่อเชื่อมโยงกันได้

และนี่คือจุดเริ่มต้นการทำงานของเยาวชนกลุ่มเรารักตลาดนัดวัดลาดเป้ง ที่มีอ๋อม – ประทานพร ถมยา เป็นแกนนำ พร้อมด้วยเพื่อนร่วมทีมคือ เกม - สุธิมา รสทิพย์ และบิว – ศิลาพร เต็มเปี่ยม ที่แม้จะเรียนต่างที่กัน แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะร่วมมือกันทำงานเพื่อบ้านเกิดของตนเอง

กว่าจะเป็น “ตลาดนัดวัดลาดเป้ง”

แต่กว่าจะได้โจทย์การทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะยังไม่เข้าใจว่าโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกมีเป้าหมายอย่างไร แต่พอได้เข้าอบรมในเวทีนับ 1 ซึ่งเป็นเวทีพัฒนาโจทย์โครงการ จึง เข้าใจว่าการทำโครงการนี้พวกเธอต้องดึงความร่วมมือจากคนในชุมชนด้วย ดังนั้นโจทย์แรกที่คิดไว้ว่าจะทำเรื่องการฟื้นฟูการทำน้ำตาลมะพร้าวจึงตกไป เพราะไม่รู้ว่าจะมีคนในชุมชนเข้ามาร่วมมือด้วยหรือไม่ เนื่องจากแต่ละคนต่างมีภาระหน้าที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว

เมื่อเงื่อนไขตั้งต้นคือ โครงการต้องเกิดประโยชน์กับชุมชน ด้วยความที่พวกเธออาศัยอยู่ใกล้วัด และเคยทำกิจกรรมเพื่อชุมชนร่วมกับวัดอยู่เสมอ จึงรู้สึกผูกพัน ประกอบกับศรัทธาที่มีต่อเจ้าอาวาส โครงการตลาดนัดพาเพลินเดินไปไร้ขยะจึงเกิดขึ้น

“ทีมงานเป็นเพื่อนกลุ่มที่มาบวชเรียนภาคฤดูร้อนด้วยกันมา 5 ปีแล้ว ตอนแรกพวกเราตั้งใจว่าจะเข้ามาช่วยพัฒนาบริเวณวัดและรอบๆ วัด แต่พื้นที่มันใหญ่มาก คิดดูแล้วเราอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง เลยย่อส่วนลงมาที่การดูแลตลาดนัดแทน” อ๋อมอธิบายต้นสายปลายทางของโครงการ

ตลาดสกปรก ไม่เป็นระเบียบ และอบอวลไปด้วยกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นสิ่งที่กลุ่มเยาวชนเห็นและสัมผัสได้ด้วยตัวเอง พวกเขาจึงอยากเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยความเป็นเด็ก แม้จะยังกล้าๆ กลัวๆ แต่พวกเธอก็รวบรวมความกล้าเข้าไปขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดลาดเป้ง และพระพี่เลี้ยงผู้รับหน้าที่ดูแลจัดการตลาดนัด พร้อมบอกเล่าที่มาที่ไปและแผนการทำงาน ที่ตอนแรกพวกเธอวางแผนเรียกประชุมพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเพื่อชี้แจ้งเป้าหมายและรายละเอียดของโครงการ แต่เมื่อวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายแล้วพบว่า ถ้าเรียกประชุม พ่อค้าแม่ค้าอาจจะมาบ้างไม่มาบ้าง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเขา แล้วเขาต้องใช้เวลาสำหรับเตรียมจัดร้านขายของ จะให้มานั่งฟังพวกเธอพูดนานๆ ก็ไม่ได้ เลยคิดว่าใช้วิธีประกาศเสียงตามสายดีกว่า

กลยุทธ์ “เปิดหน้า”

หลังใช้หอกระจายข่าวเป็นเครื่องมือส่งสารแก่ผู้คนในตลาดแล้ว กลยุทธ์ต่อไปที่กลุ่มเยาวชนใช้คือ การประจันหน้าแบบตัวต่อตัว ด้วยการออกไปเดินขอความร่วมมือจากพ่อค้าแม่ค้า พร้อมเดินสำรวจตลาดไปพร้อมกัน โดยเลือกร้านที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นและสร้างขยะก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในภายหลัง พ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านที่เดินตลาดจะได้เห็นตัวอย่างเปรียบเทียบก่อนและหลังอย่างชัดเจน โดยมีแผงหมู ร้านลูกชิ้น ร้านขายผัก ร้านรองเท้า และร้านเสื้อผ้า เป็นเป้าหมายแรก

“ขยะร้านลูกชิ้นส่วนใหญ่เป็นเศษไม้เสียบลูกชิ้นกับพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่ติดมากับลูกชิ้น ส่วนร้านขายเสื้อผ้าและรองเท้าจะมีพวกกระดาษลังกับถุงพลาสติกเยอะ ร้านขายผักเวลาแม่ค้าเด็ดยอดผักจะตัดทิ้งลงบนพื้นไม่มีถังขยะมารองไว้ ส่วนแผงหมูเป็นของสด ส่งกลิ่นชัดเจน...ถ้าเราทำให้ร้านเหล่านี้เปลี่ยนพฤติกรรมได้ ก็จะเป็นตัวอย่างให้ร้านอื่นทำตาม” บิวอธิบายแนวคิด

เมื่อได้ร้านค้าเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว กลุ่มเยาวชนใช้ความซื่อสัตย์ จริงใจ เดินเข้าหาร้านค้าแต่ละร้าน พูดขอความร่วมมืออย่างตรงไปตรงมา “พี่คะ อยากให้ช่วยกันแยกขยะ แล้วก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ขอให้ช่วยกันทิ้งขยะให้ลงถังด้วยนะคะ” อ๋อมยกตัวอย่าง

จากเด็กที่เคยไปเดินเล่นในตลาดโดยไม่มีเป้าหมาย กลายมาเป็นเด็กที่ต้องเดินตลาดเพื่อจุดมุ่งหมายและความรับผิดชอบ กลุ่มแกนนำเยาวชน บอกว่า ประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัวเข้าหาผู้อื่น

“เริ่มต้นเราเดินดุ่มๆ เข้าไปคุยกับพ่อค้าแม่ค้า เขาก็ทำหน้าไม่พอใจ ตอนนั้นใจเสียมาก จนต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่พบว่า พวกเราไปตอนที่เขากำลังยุ่ง พ่อค้าแม่ค้าเวลาเขาเป็นเงินเป็นทอง ถ้าจะเข้าไปพูดคุยและขอความร่วมมือเราต้องเลือกเวลาด้วย แล้วไปนัดเว้นนัด เพื่อไม่ให้เขารำคาญ” อ๋อมเล่าย้อนไปถึงช่วงเริ่มต้นทำกิจกรรม

ประสบการณ์จากร้านขายเนื้อหมู เป็นสถานการณ์ที่ฝึกความอดทนให้พวกเขามากที่สุด เนื่องจากกลุ่มเยาวชนต้องใช้ความพยายามหลายต่อหลายครั้งในการเข้าไปขอความร่วมมือจากเจ้าของร้านให้ช่วยรักษาความสะอาด ทั้งเข้าไปบอกกล่าวอย่างเป็นทางการว่าพวกเธอกำลังทำโครงการฯ หรือแม้กระทั่งเข้าไปพูดทีเล่นทีจริงในสถานะของลูกค้าขณะกำลังซื้อหมู

“เจ้าของร้านไม่ได้ดุ แต่ไม่ค่อยใส่ใจสิ่งที่เราพูด อาจเป็นเพราะเขายังวัยรุ่นอยู่ แต่เราก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ไปกี่ครั้งก็เข้าไปขอความร่วมมือจากเขาทุกครั้ง ทั้งพูดจริงจัง ทั้งพูดแซว สุดท้ายเขาก็ให้ความร่วมมือ จัดการแยกเศษเนื้อ แยกขยะออกจากกันก่อนนำไปทิ้ง” อ๋อมกล่าวอย่างโล่งใจ

นอกจากขยะแล้ว “ขี้วัว” ที่หล่นเกลื่อนตลาดไปทั่วตลาดคือปัญหาใหญ่เช่นกัน เนื่องจากทางวัดไม่มีการล้อมคอกให้วัวอาศัยอยู่อย่างเป็นหลักแหล่ง วัวจึงเดินเพ่นพ่านไปทั่วลานวัด ไม่เว้นแม้แต่วันที่มีตลาดนัด

“ถือถุงผักอยู่ดีๆ วัวก็มากินเสียอย่างนั้น กินตรงไหนก็ขี้ตรงนั้น เวลาเดินต้องคอยระวังขี้วัว” อ๋อมเล่าติดตลก

ด้วยเหตุนี้กลุ่มเยาวชนจึงอาศัยช่วงจังหวะระหว่างทำโครงการ ขอความร่วมมือจากทางวัดให้สร้างคอกวัวขึ้น เพื่อให้วัวได้มีที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทางวัดเป็นอย่างดี รวมทั้งขอความร่วมมือในการจัดหาถังขยะที่แบ่งขยะตามประเภทมาวางไว้ตามจุดต่างๆ ในตลาด ทำให้ทัศนียภาพและบรรยากาศในการเดินตลาดนัดจึงค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

เมื่อคิดเป็น...ก็เริ่มหาทางแก้ไข

วันหนึ่งเมื่อฝนตกลงมาอย่างหนัก น้ำท่วมตลาดเข้าไปจนถึงฐานโบสถ์ อ๋อมบอกว่า น้ำท่วมวัดวันฝนตกไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกคือพวกเธอตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมน้ำต้องท่วมทุกครั้งที่ฝนตก?

“การเข้าอบรมพัฒนาโครงการตั้งแต่เวทีนับ 1 จนถึง นับ 4 มีส่วนช่วยพัฒนามุมมองความคิดของพวกเขา ให้รู้จักตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว หากสิ่งนั้นเกี่ยวข้องและสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่”

คำถามนี้มาได้อย่างไร? อ๋อม บอกว่า การเข้าอบรมพัฒนาโครงการตั้งแต่เวทีนับ 1 จนถึง นับ 4 มีส่วนช่วยพัฒนามุมมองความคิดของพวกเขา ให้รู้จักตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว หากสิ่งนั้นเกี่ยวข้องและสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่

เมื่อเกิดคำถาม จึงต้องตามหาคำตอบ จนพบสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมนั่นคือ ขยะจากตลาดนัดที่เข้าไปอุดตันในท่อระบายน้ำ พวกเขาแก้ไขด้วยการนำขยะที่อุดตันออก

คำตอบที่ได้รับจากการเดินสำรวจ จนค้นเจอความจริงที่คาดไม่ถึง เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาอยากทำโครงการต่อไปเรื่อยๆ ด้วยอยากเห็นตลาดนัดวัดลาดเป้งสะอาด อยากให้พ่อค้าแม่ค้าเกิดสำนึกรักและหวงแหนตลาด แล้วหันมาให้ช่วยกันดูแลความเรียบร้อยของตลาดโดยไม่ต้องบังคับ

แต่ปัญหายังไม่หมดเพียงเท่านั้น ...หินขนาดใหญ่ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาใช้วางทับฐานร่มเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กลุ่มเยาวชนต้องเข้ามาจัดการแก้ไข เมื่อพ่อค้าแม่ค้านำหินมาวางไว้ แต่ไม่มีใครเก็บออกไปเมื่อตลาดวาย รถก็ไม่สามารถสัญจรผ่านได้

“เรื่องหิน เราใช้วิธีทำให้ดูก่อน พวกเราไปช่วยกันขนหินออกจากลานวัด หินก้อนหนึ่งยกกันสามคนยังแทบจะยกไม่ไหว ที่ต้องทำเอง เพราะเราไม่อยากไปจุกจิกกับพ่อค้าแม่ค้ามาก ก่อนหน้านี้ก็เข้าไปคุยและขอความร่วมมือจากเขาเรื่องขยะแล้ว” อ๋อมอธิบายและบอกต่อว่า การทำงานกับชุมชนเราไม่ควรเข้าไปมีปัญหากับชุมชน ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับการทำกิจกรรมของเรา ยังดีหน่อยที่ชาวบ้านเห็นพวกเรายกหินกันเอง เขาก็มาช่วยกันเก็บ จนตอนนี้ปัญหาเรื่องหินวางระเกะระกะก็แทบจะไม่มีให้เห็น ถ้าจะมีบ้างก็แค่ก้อนสองก้อน จากเมื่อก่อนที่วางเรียงกันเป็นแถวยาวเต็มลาน

เราต้องไม่ดูถูกตัวเองว่าทำไม่ได้

โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ถือเป็นโครงการระยะยาวที่มีเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนคิดและลงมือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชุมชน เมื่อเป็นโครงการระยะยาว นั่นหมายถึง กลุ่มเยาวชนเรารักตลาดนัดวัดลาดเป้งต้องบริหารจัดการเวลาให้เหมาะสม เพื่อรับผิดชอบทั้งเรื่องการเรียน การทำงานบ้าน และการทำโครงการ

บิวสารภาพว่า ครั้งแรกที่รู้จักโครงการ เธอไม่คิดว่าจะต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจมากขนาดนี้ เวทีนับ 1 นับ 2 เป็นช่วงที่สร้างความกดดันให้เธอมากที่สุด เพราะไม่เข้าใจว่า โครงการต้องการอะไร ทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร

“แค่หาคนมาร่วมโครงการก็ยากแล้ว โชคดีที่มีกลุ่มน้องๆ ที่สนิทกันอยู่บ้าง รวมกันได้ 5 คนก็ช่วยกันคิดวางแผนโครงการ ช่วงแรกคิดว่า ไม่เอา ไม่อยากทำแล้ว ทำยังไงก็ไม่สำเร็จหรอก เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินตัว ขอถอนตัวออกมา จนน้องๆ ในทีมร้องไห้ แต่พอน้องๆ ยืนยันว่า ถึงเราไม่ทำ เขาก็จะทำต่อ จุดนั้นทำให้เราได้ฉุกคิดแล้วหันกลับมาใหม่...ทำก็ทำ”

ส่วนอ๋อมบอกว่า เธอมีความสนใจอยากทำโครงการเพื่อชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากมีแม่เป็นตัวอย่าง เมื่อมีโอกาสที่เด็กอย่างเธอจะได้แสดงศักยภาพจึงอยากทำให้เต็มที่

“แม่จะเข้าร่วมโครงการงานวิจัยชุมชนต่างๆ อยู่ตลอด แต่งานของผู้ใหญ่ เด็กเข้าไปยุ่งไม่ได้...พอมีโครงการนี้เข้ามา แล้วเป็นโครงการของเราเลย เลยอยากทำมาก อยากทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กอย่างเรายังคิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชน เพื่อบ้านเมือง แล้วเขาไม่คิดจะทำอะไรบ้างเหรอ...บ้านของเรา เราต้องทำให้ดีขึ้นไม่ใช่แย่ลง แล้วเราก็อยากพิสูจน์ว่าเด็กสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องรอผู้ใหญ่”

“ทำงานก็มีทะเลาะกันบ้าง เวลามีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

เมื่อกำแพงอุปสรรคถูกทำลายลง ด้วยการลงมือทำ กลุ่มเยาวชนจึงได้รับบทเรียนที่มีคุณค่าจากการทำโครงการ ทั้งเรื่องการทำงานเป็นทีม การทำความเข้าใจผู้อื่น การเอาใจเข้ามาใส่ใจเรา ตลอดไปจนถึงความอดทนและความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น จนได้รู้ศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง

บิวบอกว่า ทำงานก็มีทะเลาะกันบ้าง เวลามีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

อ๋อมเสริมว่า เวลามีความคิดเห็นเรื่องงานไม่ตรงกัน ก็เอาเรื่องที่เห็นต่างมาประมวลรวมกัน จนเกิดเป็นไอเดียใหม่ ซึ่งพอเอาไปใช้จริงก็เห็นผลดี

การทำโครงการเป็นเวลานาน อาจทำให้รู้สึกเบื่อหรือขี้เกียจบ้าง แต่พวกเธอก็คอยกระตุ้นกันและกันอยู่เสมอ คำปฏิเสธและการไม่ให้ความร่วมมือของคนชุมชนบางครั้งอาจทำให้รู้สึกท้อ แต่ส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่เกิดขึ้นก็เป็นแรงใจให้พวกเธอเดินหน้าทำโครงการต่อไป

“พอได้ทำไปทีละอย่างตามแผน มันก็ไม่ได้ยาก ไม่ได้เครียดอย่างที่คิด จากที่ไม่อยากทำโครงการ บ่ายเบี่ยงบอกไม่ว่าง ไม่อยากไปอบรม ไม่อยากคิด แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และต้องทำจนสำเร็จให้ได้ ถ้าเกิดหยุดกลางทาง ยังนึกไม่ออกว่าทุกวันที่ต้องเดินผ่านตลาดนัด เราจะรู้สึกกับตัวเองและพ่อค้าแม่ค้าที่เราเคยเข้าไปคุยด้วยยังไง” บิวกล่าว

“ถ้าตัดสินใจหยุดแค่วันนั้นแล้วไม่ทำโครงการต่อ เพราะดูถูกตัวเองว่าไม่มีทางทำได้ เราจะไม่มีวันนี้ วันที่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เมื่อเห็นแรงเล็กๆ ของตัวเองที่สามารถช่วยพัฒนาชุมชนได้

นอกจากนี้บิวบอกว่า ถึงแม้การไม่ให้ความร่วมมือของคนในตลาดจะทำให้ท้อใจ แต่เธอก็เข้าใจว่า“จิตสำนึก” เป็นเรื่องที่สร้างยาก เพราะต่างคน ต่างที่มา ต่างความคิด การพูดเชิญชวนโน้มน้าวใจเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ผล แต่การลงมือทำต่างหากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนได้ เธอเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นกับตัวเธอเองมาแล้ว

บิวบอกอีกว่า การออกไปพูดคุยและชักชวนให้ร้านค้าในตลาดรักษาความสะอาดและทิ้งขยะให้ลงถัง เปลี่ยนพฤติกรรมของเธอ จากก่อนนี้เธอมักทิ้งไม้เสียบลูกชิ้นลงตามพื้น ทิ้งเศษขยะไว้ตามซอกตามมุมต่างๆ หรือถ้าโยนขยะไม่ลงถังก็ไม่เดินไปเก็บ มาวันนี้เธอไม่มีทางทำแบบนั้นอีกเป็นอันขาด ตอนนี้ในโต๊ะนักเรียนของเธอไม่มีขยะเลย เมื่อก่อนไม่ต้องพูดถึง ทั้งรกและเต็มไปด้วยขยะ...เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนอื่นได้ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน จะไปบอกให้คนอื่นเปลี่ยนทั้งที่ตัวเองยังทิ้งขยะไม่เป็นที่ เป็นคนไม่รักษาความสะอาดเหมือนเดิมแบบนั้นใครจะมาเชื่อเรา เดี๋ยวนี้แม้แต่เจอขยะบนพื้นยังเก็บเลย ถ้าหาถังขยะไม่เจอก็จะเก็บใส่ไว้ในกระเป๋าก่อน แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่มีทางทำแบบนี้แน่ๆ

“ถ้าตัดสินใจหยุดแค่วันนั้นแล้วไม่ทำโครงการต่อ เพราะดูถูกตัวเองว่าไม่มีทางทำได้ เราจะไม่มีวันนี้ วันที่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เมื่อเห็นแรงเล็กๆ ของตัวเองที่สามารถช่วยพัฒนาชุมชนได้” บิวกล่าว

ใช้กิจกรรมกล่อมเกลาจิตใจเด็ก

“การที่กลุ่มเยาวชนเข้ามาทำโครงการตลาดนัดพาเพลินเดินไปไร้ขยะ ถือว่ากลุ่มเยาวชนได้เสียสละตัวเอง เพื่อเข้ามาทำประโยชน์ให้วัดและชุมชน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง เป็นตัวแทนของเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าวัดและใช้เวลาว่างทำสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์” นี่เป็นเสียงสะท้อนจาก พระเพทาย ฐิตญาโณ พระประจำวัดลาดเป้งและเป็นผู้รับผิดชอบดูแลตลาดนัดวัดลาดเป้ง

พระเพทาย กล่าวถึงสาเหตุที่ทางวัดลาดเป้งให้การสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนว่า เนื่องจากทางวัดเล็งเห็นว่าการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของเด็กและเยาวชนให้คิดดีทำดี เพื่อเป็นรากฐานติดตัวไปในอนาคต

“คนเคยทำสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ แนวคิดและคุณธรรมที่ดีเหล่านี้จะติดตัวเขาไป ถึงแม้ผู้ใหญ่บางคนจะคัดค้านว่าทำแล้วได้อะไร แต่วัดมองว่า ต่อให้ทำแล้วไม่ได้อะไรตอบแทน ไม่ได้เงินทอง ทั้งยังเสียเวลา แต่ถ้าเยาวชนทำด้วยความเต็มใจ ทำด้วยความรู้สึกอยากทำ นั่นคือเขาได้ทำสิ่งที่ดีและมีคุณค่าต่อสังคม”

นอกจากนี้พระเพทายยังสะท้อนว่า การทำโครงการทำให้เยาวชนรู้จัดสรรเวลาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จนไม่มีเวลาไปข้องเกี่ยวกับอบายมุขหรือสิ่งเสพติด เป็นการฝึกให้เยาวชนคิดเป็น สามารถแบ่งเวลาได้ว่า ตอนไหนต้องเรียน เวลาไหนเล่นพักผ่อนได้ แล้วเวลาไหนต้องลงพื้นที่มาทำกิจกรรม

การทำงานของเยาวชนกลุ่มตลาดนัดวัดลาดเป้ง แม้จะเป็นการทำงานในพื้นที่ที่พวกเธอมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน แต่พวกเธอก็ผ่านอุปสรรคปัญหา และล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร ด้วยสำนึกที่มองปัญหาของตลาดนัดใกล้บ้าน เหมือนเป็นปัญหาหนึ่งของตัวเอง จึงไม่นิ่งดูดาย ยิ่งทำยิ่งเจอปัญหา ก็ยิ่งมุมานะทำโครงการด้วยความอดทน ใช้ศักยภาพเท่าที่มีอยู่เข้าแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ ทั้งหมดเป็นผลลัพธ์จากความพยายามของกลุ่มเยาวชนที่อยากเห็นตลาดนัด เป็นตลาดนัดพาเพลินเดินไปไร้ขยะ ใครมาเดินก็สบายตา ได้ของถูกใจ ติดไม้ติดมือไปอย่างมีความสุข โดยหวังว่าท้ายที่สุดแล้วความเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นตัวอย่างให้ร้านค้าอื่นๆ ฉุกคิด จากที่ไม่เห็นด้วย ไม่ให้ความร่วมมือ กลับหันมาสนใจและปฏิบัติตาม เกิดเป็นสำนึกร่วมของคนในตลาดและคนในชุมชนที่จะช่วยกันดูแลรักษาตลาดนัดให้พัฒนาไปทิศทางที่ดีขึ้นต่อไป


โครงการตลาดนัดพาเพลินเดินไปไร้ขยะ (ทีมเรารักตลาดนัดวัดลาดเป้ง)

พี่เลี้ยงชุมชน : พระเพทาย ฐิตญาโณกานต์ โตบุญมี

ทีมงาน :

  • ประทานพร ถมยา
  • สุธิมา รสทิพย์
  • ศิลาพร เต็มเปี่ยม
  • คุณัญญา เอี่ยมสกุล
  • นฤมล ฉิมจินดา