การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนคลองเขิน จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

คลองเขินรักถิ่น

โครงการชวนน้องเรียนรู้ตำบลคลองเขิน


เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่สนใจ และไม่รู้สึกว่ามีความสำคัญกับตัวเอง เมินเฉยต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน ไม่รับรู้ว่าชุมชนกำลังเผชิญสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำให้ขาดความรักและความหวงแหนบ้านเกิด ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ขาดจิตสาธารณะในการเข้ามาร่วมดูแล ทำให้ในอนาคตสิ่งดีๆ ของตำบลจะหมดไป ทรัพยากรที่เคยอุดมสมบูรณ์จะค่อยๆ ลดลง กระทั่งไม่เหลือเพียงพอสำหรับคนรุ่นต่อไป

สมุทรสงคราม...ในวันที่ถนนหนทางเข้ามารับใช้ผู้คน ด้วยการคมนาคมที่สะดวกสบายและรวดเร็วบทบาทของ “คลอง” กลายเป็นเพียงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนต่างถิ่น คลองบางสายถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม บางสายเต็มไปด้วยผักตบชวา และตื้นเขิน มีไม่น้อยที่ส่งกลิ่นเหม็น

วันหนึ่ง...เด็กวัยรุ่นสามสี่คนประกอบด้วยตาล-รัตนาภรณ์ วงษ์โต ตุ๊กติ๊ก-ราตรี กลิ่นพยอม นนท์-ภัทรพงศ์ สายป้อง และ เชียร์-ชินวัตร พูลทรัพย์ ซึ่งสองคนหลังขณะนั้น ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่นเกม ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ที่พวกเขาสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้อย่างไม่ยากเย็น จนสามารถขึ้นแท่นเป็นนักเล่นเกม “เก่ง” อันดับต้นๆ ของหมู่บ้าน

แต่ในชีวิตการเรียน การเอาชนะ “ข้อสอบ” ของครูกลับยากเย็นกว่า บางวิชาติด ร. บางวิชาได้ เกรด 0 ทั้งนนท์ และ เชียร์ เด็กวัยรุ่นจากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม จึงค่อยๆ หันหลังให้โรงเรียนและครู ท้ายที่สุดเกมคือสิ่งที่เขาเลือก

แต่วันนี้ทั้ง 4 คนตัดสินใจ “ออกเดิน” ไปเรียนรู้ชุมชนด้วยการทำโครงการชวนน้องเรียนรู้ตำบลคลองเขิน

หาทีมทำงาน

ตาลในฐานะพี่ใหญ่ของทีมเล่าว่า เธอเห็น “จุดเด่น” ของน้องๆ ในเรื่องของความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะ สังเกตจากตอนที่เขาเล่นเกมจึงชวนมาทำโครงการ

“เห็นน้องเล่นเกมทั้งวัน เลยลองชวนมาทำโครงการดู จริงๆ ก็กึ่งชวนกึ่งบังคับ...แต่น้องทั้งสองคนก็ยอมมา” ตาลอธิบาย

นนท์เล่าว่า เขามาร่วมโครงการกับพี่ตาล เพราะลุงให้มาช่วยพี่ทำงาน

“ลุงบอกว่าพี่ตาลกำลังหาทีมทำโครงการ ผมว่างๆ อยู่ เล่นแต่เกมมันก็เบื่อ เลยมาช่วยงานพี่เขา ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าให้ทำอะไร แต่ก็อยากมาร่วม อยากรู้จักคนอื่น ๆ บ้างที่ไม่ใช่คนแถวบ้าน”

แต่ด้วยบุคลิกของ “วัยรุ่น” ที่ไปไหนมาไหนย่อมมี “คู่หู” นนท์จึงแนะนำให้พี่ตาลไปชวน “เชียร์” ที่วัน ๆ เอาแต่เล่นเกมเหมือนกันมาช่วยอีกแรง

“ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพื่อนชวนก็มา” เชียร์บอก

ด้านตุ๊กติ๊กบอกว่า พี่ตาลชวนให้มาช่วยงาน เราก็อยากทำงาน อยากไปเที่ยว อยากรู้จักเพื่อนใหม่บ้าง คลองเขินจึงมีทีม “คลองเขินรักถิ่น” ที่ก่อตั้งโดยเยาวชนรุ่นใหม่ไฟแรงที่พร้อมจะเดินหน้าช่วยเหลือชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่

ขอความเห็นผู้ใหญ่ในชุมชน

สิ่งที่เด็กกลุ่มนี้คิดและอยากทำคือ “ทำอย่างไรให้คลองที่พวกเขาผูกพันมาทั้งชีวิตกลับมาดีเหมือนเดิม”

ตาลประธานกลุ่มเยาวชนตำบลคลองเขินในฐานะแกนนำน้องๆ บอกว่า สิ่งที่เธอคิดร่วมกับน้องๆ คือการอนุรักษ์คูคลอง โดยเฉพาะ “คลองเขิน” ที่เธอและน้องๆ ผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ

“ขยะเยอะมาก เห็นแล้วเกะกะ” ในเวทีพัฒนาโจทย์โครงการ พวกเราเสนอเรื่องนี้...พี่อาร์ต-สุทธิลักษณ์ โตกทอง พี่เลี้ยงโครงการก็ถามกลับว่า น้องจะทำไหวไหม เพราะต้องลงไปเก็บขยะในคลอง และสมาชิกเรามีเพียงพอที่จะทำให้สำเร็จได้ไหม

เพราะไม่อยากเสียโอกาสในการเรียนรู้ ตาลนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกลุ่มผู้ใหญ่ในเวทีประชุมสภาเยาวชนระดับตำบลที่เธอเป็นประธานอยู่ ซึ่งในที่ประชุมแกนนำเยาวชนจะมีกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นที่ปรึกษามาร่วมประชุมกับกลุ่มเด็ก เพื่อให้ข้อเสนอแนะ

“ลุงองอาจ อินทรสุนทร ผู้นำชุมชน แนะว่าน่าจะลองศึกษาประวัติชุมชนคลองเขิน เพราะปัจจุบันยังไม่มีเรื่องราวของชุมชนจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนก็มีแนวทางจะศึกษาประวัติของชุมชนพอดี จึงอยากให้พวกเราศึกษา เพราะคนเฒ่าคนแก่ในบ้านเราเหลือน้อยเต็มที และเด็กๆ ในชุมชนก็ไม่รู้จักเรื่องราวของชุมชนตัวเอง”

นี่จึงกลายเป็นที่มาของโครงการชวนน้องเรียนรู้ตำบลคลองเขิน ซึ่งแนวคิดคือ ชวนน้องๆ อายุ 9 – 15 ปีจากโรงเรียนวัดปากลัดออกไปเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนตนเอง เพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหนชุมชน

รู้จักชุมชน...ผ่านฐานการเรียนรู้

ก่อนพาน้องเรียนรู้ ทีมลงพื้นที่เก็บข้อมูล 3 ส่วนคือ ประวัติบุคคล อาชีพเด่นๆ และสถานที่สำคัญของตำบล เช่น กลุ่มขนมหวาน กลุ่มดนตรีไทย เป็นต้น โดยตาลเล่าว่า การลงพื้นที่เก็บข้อมูลครั้งนี้ทำให้ทีมเห็น “ทุนชุมชน” ที่สามารถนำมาจัดเป็นฐานการเรียนรู้ได้มากถึง 20 ฐาน โดยแต่ละฐานจะมีผู้ใหญ่ใจดีคอยให้ความรู้

เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ทีมงานวางแผนพาน้อง ๆ ลงเรียนรู้ตามฐานต่าง ๆ ในครบทั้ง 20 ฐาน ซึ่งก่อนเริ่มกิจกรรม ทีมได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับน้องๆ ในโรงเรียนเกี่ยวกับที่มาที่ไปของโครงการ มีลุงองอาจช่วยประสานงานขออนุญาตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปากลัด คัดเลือกเด็กอายุระหว่าง 9 – 15 ปี ซึ่งทีมให้เหตุผลว่า “เพราะเด็กวัยนี้จะพูดรู้เรื่องกว่า และก็ไม่เด็กจนเกินไปที่จะรับรู้เรื่องราวของชุมชน” ทั้งนี้เพราะเป้าหมายของโครงการคือ อยากให้เด็กๆ ทราบประวัติความเป็นมาของตำบลคลองเขิน ถ้ารุ่นนี้ไม่รู้ก็จะทำให้ไม่รัก และหวงแหนถิ่นเกิด

นนท์เล่าว่า ในวันที่ดำเนินกิจกรรมประจำฐาน เขาและเชียร์ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลและกำกับน้องๆ ไม่ให้แตกแถว ดูเหมือนงานที่ได้รับมอบหมาย “ไม่ยาก” แต่ทั้งสองคนก็ตั้งใจจะทำงานนี้ให้ดีที่สุด

“เหมือนการ์ดเลยครับ คอยคุมน้องๆ ดูว่าไม่ให้แตกแถวหายไปไหน เพราะพี่บอกว่า เราเอาน้องออกมาจากโรงเรียน ต้องรับผิดชอบ ต้องดูแลให้น้อง ๆ ปลอดภัย”

แม้จะเป็นงานเล็กๆ แค่การ “คุมน้องไม่ให้แตกแถว” แต่นนท์และเชียร์กลับรู้สึกว่างานที่ตัวเองได้รับสร้าง “คุณค่า” มากมายให้กับตนเอง และที่สำคัญเขา “มีความสุข” กับบทบาทที่ได้รับ เขาบอกว่า ยิ่งตอนที่น้องๆ เดินมาถามเรื่องราวเกี่ยวกับฐานการเรียนรู้ เขารู้สึกว่า “เป็นครั้งแรกในชีวิต” ที่มีคนเดินมา “ขอความรู้” จากเขา

นนท์บอกว่า ประทับใจตอนมีน้องๆ มาทักทาย มาถาม เพราะก่อนหน้านั้นไม่เคยมีคนให้ความสำคัญกับเขาเลย เขาจึงรู้สึกภูมิใจมาก รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ ไม่คิดว่าจะทำได้

“ตอนมาช่วยงานใหม่ๆ ไม่เห็นมีอะไรสนุก พี่ๆ เอาแต่คุยกัน เคยคิดจะถอนตัว แต่ก็ถอนไม่ได้ เพราะไม่มีคนมาแทน...กลัวเพื่อนๆ กับพี่ๆ ไม่มีคนช่วย อีกอย่างคือเราตั้งใจแล้ว เราก็ทำให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จมันก็เหมือนกับเราล้มเหลว”

สำหรับเชียร์ ความรู้สึกภาคภูมิใจก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนนท์มากนัก และความสำเร็จเล็กๆ ทำให้เชียร์ ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมประชุมกับพี่ตาลทุกครั้ง

“จริงๆ ตอนมาช่วยงานใหม่ๆ ไม่เห็นมีอะไรสนุก พี่ๆ เอาแต่คุยกัน เคยคิดจะถอนตัว แต่ก็ถอนไม่ได้ เพราะไม่มีคนมาแทน ถ้าเรากลับไปเล่นเกม ก็กลัวเพื่อนๆ กับพี่ๆ ไม่มีคนช่วย อีกอย่างคือเราตั้งใจแล้ว เราก็ทำให้เสร็จ ถ้าไมเสร็จมันก็เหมือนกับเราล้มเหลว” เชียร์สะท้อนความคิด

ส่วนตาลในฐานะพี่ใหญ่บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอเห็นถึง “หน้าที่ความเป็นพลเมือง” ของตนเองและเชื่อว่าเด็กมีพลังทำสิ่งดีให้ชุมชน เธอจึงเริ่มสนใจเข้าไปร่วมในกิจกรรมของชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะการประชุมของกลุ่มสภาองค์กรชุมชนที่เธอจะเข้าร่วมเกือบทุกครั้ง และพยายามดึงเพื่อนๆ วัยเดียวกันเข้าร่วมทำกิจกรรมด้วย และเธอยังเชื่อว่า ถึงแม้ตอนนี้คนวัยเดียวกันอาจจะยังมองไม่เห็นคุณค่าเหมือนที่เธอเห็น แต่อนาคตเชื่อว่าคนอื่นก็จะเห็นแบบที่เธอเห็น

โครงการ = การเรียนรู้

แม้ความตั้งใจเดิมของทีม “คลองเขินรักถิ่น” จะมุ่งฟื้นความสวยใสให้คลองเขิน แต่ด้วย “กระบวนการ” ของพี่เลี้ยงโครงการที่เติมเข้ามาระหว่างเวทีนับ 1–3 ทำให้เยาวชนทั้ง 4 คนคิดโจทย์ หาประเด็น รวมทั้งออกแบบกิจกรรมได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการและสอดคล้องกับศักยภาพของตนเอง

แม้ผลของโครงการจะไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะยังไม่ได้พาน้องๆ เรียนรู้ครบทั้ง 20 ฐาน แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ นนท์และเชียร์ที่บอกว่า “เล่นเกมน้อยลง” หลังมาทำโครงงานกับพี่ตาล และเริ่มเห็น “คุณค่า” ในตัวเอง พวกเขาค่อยๆ หันหลังให้คอมพิวเตอร์ และหันหน้าเข้าโรงเรียนกลับมา “สอบซ่อม” และ “แก้ ร.” ที่ติดไว้หลายตัว

และที่สำคัญกว่านั้น “ฐานการเรียนรู้” ที่พวกเข้าเริ่มต้นไว้ ได้รับการต่อยอดจากครูในโรงเรียนวัดปากลัด โดยมีสภาเยาวชนที่ตาลเป็นประธานเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน

ซึ่งไม่แน่ว่า...หลังจากนี้ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น “ความฝัน” ที่จะทำให้คลองกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง...อาจเป็นจริงก็ได้

การได้ลงมือทำจริง ทำให้น้องๆ ดึงตัวเองออกมาจากเกม ฝึกที่จะรับผิดชอบทำงานร่วมกับเพื่อน ทั้งยังได้เปิดมุมมองใหม่ให้ตัวเอง ทำให้เห็นว่าตัวเองทำอะไรได้มากมาย เป็นจุดเล็กๆ ให้คนที่อาจไม่เคยคิดว่าจะทำอะไรเปลี่ยนไปเห็น “คุณค่า” ของตัวเอง และเริ่มคิดที่จะทำอะไรมากขึ้น


โครงการชวนน้องเรียนรู้ตำบลคลองเขิน

พี่เลี้ยงชุมชน :  เกสร มณีรินทร์

ทีมงาน :

  • รัตนาภรณ์ วงษ์โต
  • ราตรี กลิ่นพะบอม
  • ภัทรวงศ์ สายป้อง
  • ชินวัตร พลูทรัพย์