การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับต้นจาก จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

ปลูกจาก...ปลูกใจ

โครงการต้นจากเจ้าปัญหา แฝงประโยชน์ล้ำค่า เราใจอาสา ร่วมกันอนุรักษ์

จากหน้าที่ที่ต้องคลุกคลีอยู่กับเด็กเป็นประจำ ทำให้เรียนรู้เรื่องการระงับอารมณ์ต่อสภาวะที่กดดัน...จากที่เคยไม่ชอบเด็ก แต่พอได้อยู่กับเด็ก ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองใหม่ เข้าใจเด็กมากขึ้น เรียนรู้พฤติกรรมของเด็กในแต่ละช่วงวัยมากขึ้น ...ส่วนความสัมพันธ์กับชุมชน จากเดิมที่ไม่ค่อยรู้จักใคร อยู่แต่ในบ้าน...ก็ได้ลงพื้นที่พบปะผู้คนบ่อยขึ้น

ต้นจาก...คือปัญหาจริงหรือ?

คำถามชวนสงสัยที่น้องๆ กลุ่ม LIKE สาระคิดขึ้นเมื่อพี่เลี้ยงโครงการพลังพลเมืองเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกชวนคิดระหว่างการพัฒนาโจทย์โครงการ...

ทำให้น้องๆ กลุ่ม LIKE สาระคิดต้องลงพื้นที่เพื่อค้นคำตอบ จนพบว่าตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำสวนมะพร้าว อาชีพเสริมของคนในพื้นที่นี้คือ รับจ้างทั่วไป ในแต่ละหมู่บ้านของตำบลนางตะเคียนส่วนใหญ่เป็นป่าจาก ที่แทรกซึมไปในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะสองฟากฝั่งคลอง ด้วยคุณสมบัติของต้นจากที่มีการแตกขยายสายพันธุ์ง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียว ถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม

ในอดีตชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนางตะเคียนเคยนำส่วนต่าง ๆ ของต้นจากมาใช้ประโยชน์ เช่น การนำใบของต้นจากมาทำเป็นตับจากมุงหลังคา ยอดอ่อนนำไปตากแดดแล้วมามวนใช้เป็นใบยาสูบ ผลหรือโหม่งนำมาเชื่อมทำเป็นลูกจากลอยแก้ว หรือนำมาเป็นของเล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น แต่ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากต้นจากเริ่มลดน้อยถอยลง จนแทบจะไม่เหลือให้เห็น แถมยังถูกมองว่าเป็นปัญหากีดขวางการสัญจรทางน้ำ ทำให้ลำประโดงตื้นเขิน และเป็นขยะลอยไปลอยมาในลำคลอง ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะตัดต้นจากทิ้ง ซึ่งหากไม่มีการรักษาไว้ ต่อไปต้นจากและวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับต้นจากคงสูญหายไป

“จาก” จุดเริ่มต้นของปัญหาสู่การใช้ประโยชน์

ด้วยความคิดที่อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับชุมชนบ้าง เมื่อมีผู้ใหญ่ใจดีเปิดโอกาสให้ กลุ่ม LIKE สาระ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนในตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่สมาชิกประกอบด้วย มิกซ์-ศดายุ วัฒนานนท์ ต่อ-ฉัตรชัย แตงเกษม กุ้ง–ศราวุธ สังข์ทอง จืด-สินีนาฎ อยู่ร่วม และ ทราย-สิริรักษ์ เปี่ยมสกุล จึงคิดทำโครงการต้นจากเจ้าปัญหา แฝงประโยชน์ล้ำค่า เราใจอาสา ร่วมกันอนุรักษ์

มิกซ์เล่าว่า ตอนแรกที่คิดทำโครงการ ทีมไม่มีโจทย์ใดๆ ทั้งสิ้น คิดไม่ออกว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับอะไร

มีแค่ “ใจ” ที่อยากทำเท่านั้น ใช้วิธีมองหาโจทย์จากสิ่งรอบตัว วันนั้นจำได้ว่านั่งคุยกันอยู่ในศาลาของบ้านจืด เห็นก้านของต้นจากลอยผ่านหน้าไป หรือบางครั้งก็เห็นคนที่กู้โพงพางหรือคนขับเรือต้องมานั่งกู้กอจากออกไป เลยตกลงกันว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของต้นจาก เพื่อช่วยให้ชาวบ้านนางตะเคียนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ต้องคอยพะวงกับกอและใบจากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองอีกต่อไป

แต่ได้เข้าอบรมพัฒนาโจทย์โครงการในเวทีนับ 1 ได้รับคำชี้แนะจากทีมพี่เลี้ยงโครงการว่า “ถ้าหากต้นจากมีปัญหา มันก็ต้องมีประโยชน์ด้วย พี่เขาแนะให้เราลองดึงประโยชน์จากต้นจากออกมาใช้ ผมยอมรับว่าตอนแรกพวกเรามุ่งคิดแต่จะแก้ปัญหาอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงประโยชน์เลย” คำแนะนำจากทีมพี่เลี้ยงได้จุดประกายให้ทีมกลับมาพูดคุยถึงประเด็นการทำงานอีกครั้งถึงเป้าหมายและกิจกรรมของโครงการ ก่อนลงพื้นที่เพื่อศึกษาถึงประโยชน์ของต้นจากอย่างจริงจัง

ไปต่อ...เพราะกำลังใจจากพี่เลี้ยงโครงการ

มิกซ์เล่าต่อว่า เมื่อประเด็นการทำงานชัดว่าจะหาข้อมูลเรื่องการใช้ประโยชน์ของต้นจาก ผลจากการลงพื้นที่ทำให้ทีมงานรู้สึกท้อมาก พวกเราตั้งใจลงพื้นที่กันทั้งวัน แต่ข้อมูลที่ได้มีแค่ประโยคเดียวคือเอาไปทำตับจาก หลังจากนั้นกลับมานั่งคุยกันว่าจะเลิกทำ ปัญหาก็ไม่ใช่ปัญหาของเรา แล้วเราจะทำไปทำไม แต่ได้กำลังใจจากพี่เลี้ยงโครงการที่คอยบอกเราเสมอว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ไม่มีใครเริ่มต้นได้สวยงามทุกอย่าง ชุมชนเองก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ทางที่ดีเราควรจะพูดคุยกันแล้วปรึกษากันว่า พวกเราอยากรู้อะไรจากชาวบ้าน เมื่อเวลาไปถามแล้วเขาจะได้ให้ความร่วมมือ เพราะได้กำลังใจจากพี่เลี้ยงโครงการจึงทำให้พวกเขาฮึดสู้กันอีกครั้ง

“นั่งคุยกันว่าจะเลิกทำ ปัญหาก็ไม่ใช่ปัญหาของเรา แล้วเราจะทำไปทำไม แต่ได้กำลังใจจากพี่เลี้ยงโครงการที่คอยบอกเราเสมอว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ไม่มีใครเริ่มต้นได้สวยงามทุกอย่าง ชุมชนเองก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ทางที่ดีเราควรจะพูดคุยกันแล้วปรึกษากันว่า พวกเราอยากรู้อะไรจากชาวบ้าน เมื่อเวลาไปถามแล้วเขาจะได้ให้ความร่วมมือ เพราะได้กำลังใจจากพี่เลี้ยงโครงการจึงทำให้พวกเขาฮึดสู้กันอีกครั้ง”

เมื่อตกลงกันว่าจะสู้อีกครั้ง ทีมก็มานั่งถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ครั้งแรกที่ลงพื้นที่ พวกเขายังไม่รู้จักเครื่องมือในการลงพื้นที่เลย รู้เพียงว่าอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์จากต้นจากเท่านั้น ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่อะไรเลย ไปด้วยกันหมดทั้ง 5 คน เข้าไปถามตามบ้าน ใช้วิธีสุ่มเข้าไป อาศัยเลือกบ้านที่อยู่ใกล้กับต้นจาก บ้านไหนมีสุนัขก็ไม่เข้าไป จนช่วงที่พี่เลี้ยงโครงการเข้ามาให้คำปรึกษาพร้อมบอกเทคนิคการลงพื้นที่ให้ เช่นการกำหนดกรอบคำถาม การทำแผนที่ทำมือ ทำให้พวกเราเข้าใจขั้นตอน วิธีการจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น

หลังเรียนรู้เทคนิคและเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการลงพื้นที่แล้ว ทีมวางแผนลงพื้นที่กันเดือนละครั้ง ด้วยเหตุผลคือ การลงพื้นที่บ่อย ๆ ซ้ำๆ จะทำให้พวกเราได้ข้อมูลที่ลึกขึ้น โดยพบว่านอกจากทำตับจากแล้ว ลูกจากยังสามารถนำมาทำขนมจากลอยแก้วได้อีก แม้ข้อมูลที่ได้มาจะไม่มากแต่อย่างน้อยก็ได้เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่เพียงหนึ่งชนิดเท่านั้น แต่การลงพื้นที่ด้วยความถี่เช่นนี้ก็ไม่เสียเปล่า เมื่อทีมเห็น “ข้อมูล”ต้นจากในชุมชนจึงทำแผนที่ทำมือขึ้นเพื่อกำหนดจุดที่ต้นจากอุดมสมบูรณ์สามารถตัดมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย

ยิ่งสืบค้น...ยิ่งเข้าใจ

ผลของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างละเอียดของทีมทำให้พวกเขารู้ว่า “ต้นจาก” ที่เคยอยู่คู่ชุมชนมานานเริ่มหมดไป

“ตอนผมเด็ก ๆ ผมเห็นชาวบ้านในหมู่บ้านตากใบจากเพื่อนำมาทำเป็นมวนยาสูบ บางบ้านก็เอาใบจากมาเย็บเป็นหลังคาจาก หรือที่เราเรียกกันว่าตับจาก แต่ตอนนี้ทุกอย่างที่ผมเคยเห็นเมื่อตอนเด็กๆ กำลังค่อยๆ เลือนหายไปทุกวัน แม้ต้นจากจะหาง่ายเพราะมีอยู่แทบทุกบ้าน แต่ขั้นตอนในการทำไม่ได้ง่าย คนจึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน ผมมองเห็นตรงนี้ เลยอยากให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาเรียนรู้และสืบทอดวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่เคยเป็น ให้ยังคงอยู่ต่อไป” มิกซ์บอกเล่าความรู้สึก

ด้วยเหตุนี้ทีมจึงขอใช้พื้นที่ของ กศน.บังปืน จัดนิทรรศการเกี่ยวกับต้นจากให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ และเพื่อให้คนในชุมชนช่วยตรวจสอบข้อมูลไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งก็พบว่าข้อมูลไหนที่ผิดก็จะมีคนที่มีความรู้เข้ามาช่วยแก้ไขให้ ส่วนผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ตั้งเป้าไว้ ด้วยรูปแบบของนิทรรศการที่ไม่ค่อยดึงดูดผู้เข้าร่วมเท่าไร

จืดยอมรับว่า พวกเขาใช้ความไม่รู้เพื่อแลกกับสิ่งที่เขาจะได้รู้เพิ่มขึ้น และก็ได้อย่างที่หวังจริงๆ สิ่งที่เขาได้เพิ่มขึ้นจากการจัดงานครั้งนี้คือเรื่องการขยายพันธุ์ของต้นจากว่า ต้นจากขยายพันธุ์โดยอาศัยการพัดพาของน้ำในคลอง พอน้ำลดลูกจากที่ลอยไปก็จะติดอยู่บนดินเลนแล้วลงรากลึก พอพี่เลี้ยงโครงการถาม เราก็สามารถตอบได้รู้สึกภูมิใจมาก ถึงจะไม่ใช่ข้อมูลที่เกี่ยวกับประโยชน์ของจาก แต่อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลอันดับพื้นฐานที่ต้องรู้ ทำให้เขาเริ่มเห็นและเข้าใจว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร แต่หากเราไม่ใส่ใจ เราก็จะไม่สามารถต่อยอดความรู้ได้

ครั้งนี้...ต้องดีกว่าเดิม

หลังการจัดนิทรรศการครั้งที่ 1 พวกเขากลับมาทบทวนการทำงานใหม่อีกครั้ง โดยนำข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมมารวบรวมแล้วแบ่งเป็นหมวดหมู่ไว้เพื่อง่ายต่อการหาข้อมูลในครั้งต่อไป ส่วนสิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ พวกเขามั่นใจในตัวเองเกินไปว่ามีข้อมูลเพียงพอแล้วที่จะให้กับผู้ร่วมงาน แต่ข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกออกแบบให้น่าสนใจเท่าที่ควร ดังนั้นการจัดนิทรรศการครั้ง 2 พวกเขาจึงนำสิ่งที่ผิดพลาดในครั้งแรกมาปรับใช้ เพื่อให้งานครั้งนี้สมบูรณ์แบบมากที่สุด ใช้การ “ลงมือทำ” ให้ผู้เข้าร่วมเห็นและเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดมีทั้งการทำและชิมขนมจาก ทำตับจาก และทำที่ไล่แมลงวัน โดยเชิญผู้รู้มาคอยสอนภายในงานด้วย ซึ่งการเชิญคนเข้าร่วมก็ใช้วิธีพูดแบบปากต่อปาก เจอน้องๆ ที่ไหนก็ชักชวนให้มากิจกรรม

“พวกเขานำสิ่งที่ผิดพลาดในครั้งแรกมาปรับใช้ เพื่อให้งานครั้งนี้สมบูรณ์แบบมากที่สุด ใช้การ “ลงมือทำ” ให้ผู้เข้าร่วมเห็นและเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด”

การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ทุกคนมีทั้งความพร้อม และความมั่นใจที่ล้นเปี่ยม มิกซ์ในฐานะพี่โตสุดในทีม จัดการแบ่งหน้าที่ให้น้องๆ ในทีมรับผิดชอบในแต่ฐาน ให้ทราย ต่อ และกุ้งอยู่ประจำในฐานขนม ส่วนมิกซ์และจืดอยู่ฐานทำไม้ไล่แมลงวันและตับจาก มิกซ์บอกว่า เหตุที่เขาให้น้องทั้ง 3 คนอยู่ด้วยกัน เพราะเขายังเด็กควรมีผู้ใหญ่คอยดูอยู่ห่างๆ เลยแบ่งให้น้องทั้ง 3 คนดูแลฐานขนม ส่วนฐานที่ไล่แมลงวันกับตับจากต้องใช้แรงค่อนข้างมาก เขากับจืดเลยรับผิดชอบส่วนนี้แทน และไม่ผิดคาด ผลตอบรับในครั้งนี้ค่อนข้างดีกว่าครั้งแรก มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 50 คน

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือจากการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ทำให้ทีมมีเครือข่ายเกี่ยวกับผู้รู้ทางด้านการใช้ประโยชน์จากต้นจาก รวมถึงมีชาวบ้านที่สนใจในโครงการมาร่วมแลกเปลี่ยน ชี้เป้าเกี่ยวกับแหล่งต้นจากที่อุดมสมบูรณ์พร้อมจะนำมาใช้ประโยชน์ในโอกาสต่อไป

“จุดประสงค์หลักอีกอย่างของผมคือ อยากให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่ม ส่วนเด็กเราก็อยากปลูกฝังให้เขาเห็นคุณค่าของต้นจาก ตอนนี้มีเยาวชนที่สนใจเย็บจากในกิจกรรมนี้ทั้งหมด 16 คน เป็นเด็กเทคนิคทั้งหมด อาจเป็นเพราะเขาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานในโรงเรียนได้ เนื่องจากทางโรงเรียนจะมีการจัดซุ้มโดยใช้ตับจากมุงหลังคาอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ยังพอมีหวังที่จะเห็นเยาวชนทั้ง 16 คน เป็นส่วนหนึ่งในการกระจายความรู้ให้คนภายนอกเห็นถึงประโยชน์ของต้นจากมากขึ้น จากเดิมที่เคยกระจุกตัวอยู่แต่พวกเขา” มิกซ์พูดไปยิ้มไป

อย่างไรก็ตามพี่คนโตสุด หลังจบนิทรรศการทั้งสองครั้ง มิกซ์ออกแบบแบบสอบถาม เพื่อถอดบทเรียนการทำงานของน้องๆ ในทีม ซึ่งคำถามมี 5 ข้อ คือ เราได้อะไรจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สิ่งที่ได้จากผู้ร่วมงานเราสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างไร ข้อเสนอแนะสำหรับทีม ความรู้สึกที่อยากจะบอก และตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่สองเราได้เรียนรู้อะไร และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันรวมถึงคนในพื้นที่ได้หรือไม่ ถ้าได้จะทำอย่างไร เพื่อต้องการเช็คความรู้สึกของน้องหลังจากจัดนิทรรศการเสร็จ

นิทรรศการจบ...งานไม่จบ

มิกซ์บอกว่า พวกเขาไม่ได้เพียงแค่จัดนิทรรศการเท่านั้น แต่พวกเขายังได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ต้นจากที่ลดลงให้คนในชุมชนได้รับรู้ด้วย ด้วยคาดหวังว่า “ข้อมูล” ดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนกลับมาเห็นความสำคัญของต้นจากอีกครั้ง และระหว่างทางทีมยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ในพื้นที่มาร่วมกิจกรรมกับพวกเขาทุกวันเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์สงวนไว้สำหรับจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าของทีมงาน สำหรับเหตุผลที่ชวนเด็กๆ ในหมู่บ้านมาร่วมกิจกรรม เพราะเราหวังว่าเด็กๆ จะเป็นสะพานเชื่อมนำความรู้เรื่องต้นจากทั้งจากพวกเขาและจากครอบครัวมาแบ่งปันกัน ทั้งผู้ปกครองเองก็จะได้รับทราบว่าตอนนี้เราทำโครงการอะไรกันบ้าง

“ผมมองไกลไปถึงการจะได้รับข้อมูลจากผู้ปกครองของเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมกับเราทุกวันหยุด ซึ่งเทคนิคการเข้าหาเด็กของผมคือต้องยอมทำตัวเป็นเด็กอีกครั้ง ต้องเข้าหาเด็ก พยายามหาเรื่องมาคุยกับเด็กๆ ให้เยอะ เด็กชอบอะไรอยู่ ตอนนี้เขาคุยเรื่องอะไรกัน ผมต้องไปหาข้อมูลมา เพื่อที่จะได้คุยกับเด็กได้ ให้เขาไว้ใจเรา แล้วเขาก็จะยอมร่วมมือกับเราเอง เราต้องให้ในสิ่งที่เขาอยากได้ก่อน แล้วเราจะได้ในสิ่งที่เราอยากได้จากเขา”

“ระหว่างทำกิจกรรมเขาจะคอยมองหาแววเด็กๆ ที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนในรุ่นต่อไปด้วย เพราะไม่ต้องการที่จะทำแล้วหยุดที่ตัวเองเท่านั้น แต่เขามีความฝันว่าต้องการให้เยาวชนในรุ่นต่อๆ ไปหันมาเห็นคุณค่าของชุมชนมากขึ้น และหวังลึกๆ ในใจว่า เมื่อผู้ใหญ่เห็นเด็กในชุมชนลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ผู้ใหญ่ในชุมชนจะต้องลุกขึ้นมาทำบ้าง ถึงจะไม่ได้ลุกขึ้นมาทำทั้งหมด เพียงแค่ส่วนหนึ่ง ก็ถือว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นสำเร็จแล้ว”

มิกซ์บอกว่า แต่การดึงเด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้ง ต้องมีใบอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน พวกเขาทำจดหมายชี้แจงประโยชน์ที่จะได้รับหลังจากมาเข้าร่วมกิจกรรมให้ผู้ปกครองรับรู้ด้วยเช่นกัน ซึ่งบางครั้งระหว่างจัดกิจกรรมอยู่ก็มีผู้ปกครองเดินเข้ามาดู ถึงแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เข้ามา พวกเขาก็รู้สึกดีที่อย่างน้อยมีคนสนใจโครงการ

และระหว่างทำกิจกรรมมิกซ์ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป เขาจะคอยมองหาแววเด็กๆ ที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนในรุ่นต่อไปด้วย เพราะไม่ต้องการที่จะทำแล้วหยุดที่ตัวเองเท่านั้น แต่เขามีความฝันว่าต้องการให้เยาวชนในรุ่นต่อๆ ไปหันมาเห็นคุณค่าของชุมชนมากขึ้น และหวังลึกๆ ในใจว่าจะให้เด็กเป็นเหมือนกระจกที่คอยสะท้อนสิ่งที่พวกเขาทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็น เมื่อเขาเห็นเด็กในชุมชนลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว มิกซ์เชื่อว่าผู้ใหญ่ในชุมชนจะต้องลุกขึ้นมาทำบ้าง ถึงจะไม่ได้ลุกขึ้นมาทำทั้งหมด เพียงแค่ส่วนหนึ่ง มิกซ์ก็ถือว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นสำเร็จแล้ว

ต้นจาก...เริ่มแตกกอ

ตลอดระยะเวลาการทำโครงการที่ผ่านมา มิกซ์บอกว่า เขารู้สึกเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เพราะป็นพี่ใหญ่สุดในทีมจึงค่อนข้างมีบทบาทในการดูแลน้องๆ คอยดูความเรียบร้อยของทีม อีกทั้งยังต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องเห็น และที่สำคัญยังต้องดูแลเด็กที่มาร่วมกิจกรรมทุกวันเสาร์

จากหน้าที่ที่ต้องคลุกคลีอยู่กับเด็กเป็นประจำ ทำให้มิกซ์เรียนรู้เรื่องของการระงับอารมณ์ต่อสภาวะที่กดดันมากขึ้น เช่น ในช่วงที่เด็กๆ ต่างคุยกัน สมาธิหลุด ไม่อยู่กับสิ่งที่เขาบอก หรือบางครั้งมีทะเลาะกันบ้าง เขาจึงต้องคอยเจรจาดูแลความเรียบร้อย จากที่เคยไม่ชอบเด็ก แต่พอได้อยู่กับเด็ก ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองใหม่ เข้าใจเด็กมากขึ้น เรียนรู้พฤติกรรมของเด็กในแต่ละช่วงวัยมากขึ้น

ในแง่ความสัมพันธ์กับชุมชน จากเดิมที่ไม่ค่อยรู้จักใคร อยู่แต่ในบ้าน หลังจากได้ทำโครงการนี้ ทำให้เขาต้องลงพื้นที่พบปะผู้คนบ่อยขึ้น จากที่เป็นคนขี้อาย การต้องเข้ารับการอบรมถึง 5 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะถูกฝึกเรื่องการพูด การนำเสนออยู่ตลอด ทำให้กล้าพูดมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดโครงการนี้ทำให้รู้จักพืชที่ชื่อว่า “จาก” มากขึ้น จากเดิมที่เคยรู้เหมือนวัยรุ่นทั่วไป คือ รู้แต่ไม่ลึก ไม่ได้ลงรายละเอียดไปถึงที่มา ขั้นตอนการทำประโยชน์จากต้นจาก รู้เพียงผิวผืนเท่านั้น

“แต่ก่อนผมเคยคิดว่าต้นจากมีแต่ปัญหา แต่หลังจากที่ลงพื้นที่มาทำให้ผมพบว่าจริงๆ แล้วปัญหาของต้นจากมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ของต้นจากตั้งแต่รากไปจนถึงยอด สามารถนำมาเป็นประโยชน์ได้ทั้งหมด”

วันนี้ “รากเหง้า” ของชุมชนได้หยั่งรากลึกลงไปอยู่ในใจทีมงานทุกคน จากจุดเริ่มต้นที่อยากทำประโยชน์ให้ชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ แต่เมื่อได้ลงมือทำ ได้ค้นคว้าหาข้อมูล ได้ลงพื้นที่สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน แม้จะเหนื่อย จะท้อ แต่เมื่อพวกเขาทำให้คนในชุมชนหันมาเห็นคุณค่าและประโยชน์ของต้นจากได้ ก็สร้างความสุขและความภาคภูมิใจให้พวกเขาไม่น้อย ที่สำคัญคือการทำงานเพื่อชุมชนได้ฝังลึกลงไปในจิตใจของพวกเขาจนยากจะลบเลือน


โครงการต้นจากเจ้าปัญหา แฝงประโยชน์ล้ำค่า เราใจอาสา ร่วมกันอนุรักษ์

พี่เลี้ยงชุมชน :

ทีมงาน :

  • ศดายุ วัฒนานนท์ 
  • ฉัตรชัย แตงเกษม
  • ศราวุธ สังข์ทอง 
  • สินีนาฎ อยู่ร่วม
  • สิริรักษ์ เปี่ยมสกุล