การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าวท่าคา จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

ลายแทงความหวานที่ท่าคา

โครงการสำรวจท่าคาตามหาน้ำตาลมะพร้าว

­

โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะการทำงานกับชุมชน ซาบซึ้งกับบทเรียนในการทำงานกับเด็ก และการทำงานกับผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญในฐานะหัวหน้าทีมคือได้เรียนรู้เรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ตำบลท่าคาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภออัมพวามีเนื้อที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,631 ไร่ มี 12 หมู่บ้าน พื้นที่ทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำคลองไหลผ่านหลายสาย เช่น คลองท่าคา คลองศาลา และคลองวัดมณีสรรค์ เป็นต้น ประชากร 5,494 คน หรือ 1,345 หลังคาเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวนมะพร้าว ทำน้ำตาลมะพร้าว และรับจ้างทั่วไป

กลุ่มเด็กน้อยตามรอยน้ำตาลมะพร้าวท่าคา เป็นทีมน้องๆ จากกลุ่มสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดสมุทรสงคราม ที่สนใจเรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าวของชาวสวนในตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันที่วิถีชีวิตของคนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป การทำสวนมะพร้าวเริ่มลดน้อยลง อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวจึงเริ่มลดน้อยลงด้วยตามลำดับ คนในชุมชนหันมาประกอบอาชีพรับจ้างหรือเข้าไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้อาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวหาได้ยากมากขึ้นในชุมชน และในอนาคตอาจจะหมดไป หากไม่มีการอนุรักษ์และสืบทอดอย่างจริงจัง

ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลที่เยาวชนทีมตามหาท่าคารวบรวมขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกหัวข้อในการดำเนินโครงการ หลังจากที่สมาชิกซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกของสภาเด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก

ผสมทีม...ผสมความต่าง

เมื่อรับทราบรายละเอียดโครงการ นัด-ชมน์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ พีท-ชาตรี ลักขณาสมบัติ ปีขาล-ขันติพงษ์ กาวิระใจ หนุ่ม-ธรรมนธี สุนทร และกิ๊ฟ-ทวีพร คำสอน คือทีมงานที่รวมตัวกันภายใต้การชักชวนของเพื่อนๆ ในเครือข่ายสภาเด็กฯ แม้จะเรียนโรงเรียนถาวรานุกูลในระดับชั้น ม. 4 เหมือนกัน แต่ก็เรียนกันอยู่คนละห้อง จึงพอคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่บ้าง เมื่อต้องมาทำงานร่วมกันก็เหมือนต้องทำความรู้จักนิสัยใจคอกันใหม่

นัดเล่าเหตุผลการเลือกเพื่อนร่วมทีมที่อยู่คนละห้องว่า คนทำงานแบบนี้มีน้อย ที่โรงเรียนมีเพื่อนๆ เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมด 10 คน จึงแบ่งออกเป็น 2 ทีมคือทีม chip munk กับทีมเราคือทีมสำรวจท่าคาฯ ซึ่งการผสมทีมแบบนี้เป็นการฝึกให้เรารู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งในครั้งแรกที่คุยกับพี่ๆ ที่สภาเด็ก เขาบอกว่า อยากให้พวกเรามีประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย พวกเราก็เลยยอมสลับกัน ทีมเราเลยออกมาเป็นหน้าตาแบบนี้

ไล่ล่าหา “โจทย์” การทำงาน

แต่กว่าที่ทีมจะได้โจทย์ในการทำงาน ต้องผ่านการอบรมที่จัดโดยทีมพี่เลี้ยงโครงการมาแล้วถึง 2 ครั้ง 

นัดเล่าว่า ในเวทีนับ 1 ที่เป็นการพัฒนาโจทย์โครงการ ตอนนั้นพวกเขายังไม่มีหัวข้อเลย รู้แค่ว่าสนใจศึกษาชุมชน จึงกำหนดโจทย์ไว้ว่าจะศึกษาตำบลสวนหลวงทั้งในด้านระบบนิเวศ อาชีพ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม จนได้รับข้อเสนอแนะจากพี่เลี้ยงโครงการว่า ประเด็นกว้างเกินไป ควรเลือกทำในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง

เมื่อได้รับการ “กระตุก” จากพี่เลี้ยงโครงการ ทีมได้พิจารณาถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่พบเห็นอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เห็นว่าการทำน้ำตาลมะพร้าวเริ่มหายไปจากพื้นที่ คนรุ่นใหม่ไม่สนใจสืบสาน บวกกับภาวะขาดแคลนแรงงานในครัวเรือน และค่านิยมการขายที่ดิน จึงนำเรื่องที่นี้มาเป็นโจทย์โครงการสำรวจท่าคา ตามหาน้ำตาลมะพร้าว โดยเลือกพื้นที่ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าวให้กับเด็กและเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ทีมออกแบบการทำงานไว้ว่าจะรวบรวมข้อมูลของชาวบ้านในตำบลสวนหลวงที่ทำอาชีพน้ำตาลมะพร้าว จัดกิจกรรมให้เด็กเยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชนรับรู้ข้อมูล ท้ายสุดนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำแผนที่แสดงการทำอาชีพน้ำตาล

“กระบวนการอบรมพี่ๆ จะซักถามถึงเป้าหมายของงานและสภาพพื้นที่ เพื่อสร้างความชัดเจน จากเด็กที่เรียนเก่ง มั่นใจในตัวเองสูง เมื่อเจอคำถามกดดัน จึงออกอาการที่ทีมยอมรับว่า “แถ” ตอบไปโดยไม่มีข้อมูล จนเกิดวิวาทะคารมกับพี่เลี้ยงโครงการ แต่ก็ต้องยอมจำนน ด้วยยอมรับว่า พวกเขายังมีข้อมูลไม่เพียงพอจริงๆ ดังนั้นบทเรียนจากการอบรมครั้งแรกทำให้ทีมรู้ว่าต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่จะทำ”

หนุ่มบอกว่า การค้นหาโจทย์ในการทำงานจากกระบวนการอบรมของพี่เลี้ยงโครงการทำให้ทีมตระหนักถึงความสำคัญของ “ข้อมูล” เนื่องจากในกระบวนการอบรมพี่ๆ จะซักถามถึงเป้าหมายของงานและสภาพพื้นที่ เพื่อให้พวกเขามีความชัดเจนในงานที่กำลังจะทำ จากเด็กที่เรียนเก่ง มั่นใจในตัวเองสูง เมื่อเจอคำถามกดดัน จึงออกอาการที่ทีมยอมรับว่า “แถ” ตอบไปโดยไม่มีข้อมูล จนเกิดวิวาทะคารมกับพี่เลี้ยงโครงการ แต่ก็ต้องยอมจำนน ด้วยยอมรับว่า พวกเขายังมีข้อมูลไม่เพียงพอจริงๆ ดังนั้นบทเรียนจากการอบรมครั้งแรกทำให้ทีมรู้ว่าต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่จะทำ

ในช่วงระหว่างเวทีนับ 1 พัฒนาโจทย์ และเวทีนับ 2 พัฒนาโครงการ ทีมลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในตำบลสวนหลวงพบว่า จำนวนเตาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวไม่ได้มีมากอย่างที่คิด แต่ที่ตำบลท่าคากลับมีมากกว่า ทีมจึงเปลี่ยนพื้นที่ทำงานใหม่พร้อมกับลงสำรวจพื้นที่ตำบลท่าคา ด้วยตระหนักว่า ตนเองไม่ใช่คนในพื้นที่ หากจะต้องไปทำงานต้องศึกษาข้อมูลของพื้นที่ให้ถ่องแท้

“ตั้งใจไปสำรวจเพื่อมีข้อมูลยืนยันได้ว่าทำไมเลือกทำที่นี่ พี่เขาจะถามทำไมๆๆ เป็นบทเรียนจากการที่ไปเจอในเวทีนับ 1 พอเราไปศึกษาข้อมูลเบื้องต้นมันก็มีข้อมูลไปอธิบายได้” นัดเล่าถึงความจำเป็นที่ต้องลงศึกษาพื้นที่

ทำแล้วต้องทำให้จบ

แม้การเริ่มต้นการทำงานกับทีมพี่เลี้ยงโครงการดูเหมือนจะไม่ราบรื่น เพราะมีการโต้เถียงกันอยู่บ้าง จนเกิดบรรยากาศทั้งกลัวและทั้งเกร็ง แต่ทีมก็ยอมรับว่า ถึงจะพยายามเถียงก็เถียงไม่ค่อยจะขึ้น เพราะตนเองเป็นฝ่ายที่ไม่มีข้อมูล เมื่อโดนซักบ่อยๆ และเห็นเพื่อนๆ กลุ่มอื่นก็โดนซักเช่นเดียวกัน ทำให้ค่อยๆ เข้าใจเจตนาในการซักไซ้ไล่เรียงของพี่เลี้ยงว่า เป็นการถามเพื่อให้ทีมเกิดความชัดเจน และรู้จริงในเรื่องที่กำลังจะทำ เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ก็เลิกกลัวพี่ๆ ไปในที่สุด

“โดนซักมากๆ ก็ท้อนะ แต่ไม่เลิก เพราะผมมองว่าถ้าเรามาแล้วก็ต้องทำให้จบ ต้องไปให้สุด เพราะในชีวิตเรายังต้องเจออะไรที่ลำบากกว่านี้ ยากกว่านี้ เจออุปสรรคที่ยากกว่านี้อีกมาก ถ้าผมยอมแค่อาธเนศ-ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการฯว่า ผมคงไปไหนต่อไม่ได้แล้ว” นัดยืนยันความตั้งใจที่จะเรียนรู้

“ทีมก็ยอมรับว่า ถึงจะพยายามเถียงก็เถียงไม่ค่อยจะขึ้น เพราะตนเองเป็นฝ่ายที่ไม่มีข้อมูล เมื่อโดนซักบ่อยๆ และเห็นเพื่อนๆ กลุ่มอื่นก็โดนซักเช่นเดียวกัน ทำให้ค่อยๆ เข้าใจเจตนาในการซักไซ้ไล่เรียงของพี่เลี้ยงว่า เป็นการถามเพื่อให้ทีมเกิดความชัดเจน และรู้จริงในเรื่องที่กำลังจะทำ เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ก็เลิกกลัวพี่ๆ ไปในที่สุด”

ในขณะที่ปีขาลบอกว่า แม้เขาจะถกเถียงกับพี่เลี้ยงโครงการอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อเห็นว่า มีกลุ่มเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นสมัครทำโครงการด้วย กลายเป็นแรกผลักดันที่ทำให้ต้องทำต่อ “ต้องมีศักดิ์ศรี เพราะในการทำโครงการไม่ได้มีแต่เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายเท่านั้น แต่ยังมีโครงการอื่นๆ ที่เด็กมัธยมศึกษาตอนต้นทำด้วย”

เมื่อเข้าใจเจตนาของพี่เลี้ยงโครงการแล้ว แต่การทำงานก็ยังมีปัญหาอีก แต่ครานี้เป็นปัญหาภายในทีม เพราะต่างคนต่างมีความคิดของตนเอง การถกเถียงกันจึงเป็นเหตุการณ์สามัญประจำกลุ่ม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือเรื่องของการจัดการเวลาในการทำงานร่วมกัน ปีขาลซึ่งเป็นนักเรียนที่ต้องไปตัวแทนของโรงเรียนการแข่งขันหรือการอบรมต่างๆ มักจะหาเวลาที่ลงตัวกับเพื่อนๆ ได้ยาก ส่วนหนุ่มด้วยภาระทางบ้านที่ต้องช่วยแม่ทำงานบ้านทำให้ต้องวางแผนเวลาอย่างรัดกุม ดังนั้นเมื่อนัดกันแล้ว เพื่อนมาไม่ตรงเวลาบ่อยๆ หนุ่มจึงตัดสินใจถอนตัวจากโครงการในที่สุด

“ผมต้องช่วยแม่ทำงานบ้าน ขายของ ไหนจะเรียนอีก เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำงานตลอด แล้วเวลานัดก็มาไม่ตรงเวลา มันหลายเรื่องรวมกัน ทั้งเพื่อนไม่มาตามนัด พี่ๆ ก็กดดัน ผมเลยหายไปเลย หายไปจากวงการ กลับมาอีกครั้งตอนอบรมในเวทีนับ 4 เพราะเพื่อนไปลากกลับมาทำ วันนั้นพี่เขาถามอะไรก็ไม่รู้ ผมก็พยายามแถให้เข้าเรื่องไป เลยคิดได้ว่า ผมต้องกลับมาทำโครงการนี้อีกครั้ง เพราะเราไม่รู้เรื่องเลย จึงบอกกับเพื่อนๆ ว่าจะลงพื้นที่วันไหนให้บอก” หนุ่มเล่า

เพื่อให้เข้าใจและรู้จริง

การทำงานในช่วงแรกๆ มุ่งเน้นที่การเก็บข้อมูล ซึ่งในช่วงนี้มีนัดกับพีทเป็นตัวยืน ช่วยกันเก็บข้อมูล โดยมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่มีบ้านในตำบลท่าคาช่วยอำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ ซึ่งข้อมูลที่เก็บรวมรวมคือ ชื่อ อายุ เบอร์ติดต่อ ที่อยู่ ปัญหาในการทำน้ำตาลมะพร้าว และราคา ในกรณีที่ผู้ให้ข้อมูลสะดวกใจที่จะเปิดเผย

“เวลาลงไปเราลงไปแบบเป็นลูกเป็นหลาน ไปถึงก็ยกมือไหว้ เพราะบางที่เราเข้าไปเขากำลังทำงานอยู่ด้วยก็ไม่อยากให้เป็นการรบกวนถือว่าลูกหลานมาคุยกัน” นัดเล่าถึงวิธีการทำงาน

ขณะที่พีทเสริมว่า การวางแผนการเดินทาง เราเลือกไปที่ละหมู่ๆ และไปทีละหลัง ส่วนมากจะไปช่วงเสาร์อาทิตย์ แต่ช่วงปิดเทอมจะไปช่วงวันธรรมดา บางวันก็จะได้ 3-4 ราย บางวันก็ได้ 5 ราย แล้วแต่ว่าหมู่นั้นเขาทำเยอะแค่ไหน เราไม่ได้กำหนดว่าจะได้วันละกี่หลัง แต่จะกำหนดเวลาในการลงพื้นที่ครั้งหนึ่งไม่เกิน 4 ชั่วโมง

ข้อมูลที่เก็บได้ให้ชวนตกใจ เพราะจากการสอบถามจาก อบต.ท่าคา ฐานข้อมูลบอกว่าในตำบลท่าคามีเตาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว 100 กว่าราย ทำเอาทีมงานอึ้งกับจำนวนข้อมูลที่ต้องเก็บ แต่เมื่อลงพื้นที่จริง กลับพบว่ามีเตาเหลืออยู่เพียง 20 รายที่ยังคงทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่ และน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ มีไม่ถึง 5 ราย

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจยังสะท้อนว่า แม้ผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้จะมีน้อยราย แต่ไม่มีปัญหาด้านการตลาด เพราะมีบริษัทเข้ามารับซื้อถึงที่และได้ราคาดี ส่วนกลุ่มที่ทำน้ำตาลผสมแม้จะช่วยลดต้นทุน แต่กลับมีปัญหาด้านการตลาด เพราะมีการแข่งขันด้านราคา ในกลุ่มนี้หากไม่สามารถควบคุมต้นทุนและหาตลาดได้ก็จะขาดทุน เมื่อขาดทุนก็ไม่มีลูกหลานสืบทอดจึงเลิกทำไปในที่สุด

พีทได้บอกถึงเทคนิคการสังเกตน้ำตาลมะพร้าวว่า น้ำตาลผสมมันจะเป็นก้อนแข็งๆ ไม่เหลวและสีจะอ่อนกว่า ออกสีน้ำตาลอ่อนๆ ถึงขาว และมีเกร็ดเหมือนน้ำตาลทราย เพราะส่วนใหญ่จะผสมน้ำตาลทราย ส่วนน้ำตาลแท้จะออกสีน้ำตาลเข้ม ถ้าเอาไว้ในที่ร้อนๆ จะมีลักษณะเหลวคล้ายคาราเมล

เมื่อได้ลงพื้นที่จริง ทุกคนในทีมต่างสะท้อนว่า การเก็บข้อมูลนอกจากทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตคนในชุนแล้ว ยังกลายเป็นการฝึกทักษะชีวิต ทั้งในเรื่องการเข้าหาคนแปลกหน้า และการเข้าหาผู้ใหญ่

นัดเล่าว่า เขาต้องคอยสังเกตอากับกิริยาของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งจะบ่งบอกว่า เขาพร้อมไหม เช่น บางบ้านจะบอกว่า มีอะไรเร็วๆ ถามมาๆ เสร็จยังๆ บางบ้านก็มีอะไรลูก มานั่งก่อน ซึ่งบ้านหลังไหนที่ยุ่ง ไม่สะดวกต้อนรับ ก็สร้างความรู้สึกอึดอัดให้กับเขาเหมือนกัน แต่ในฐานะเด็กก็ต้องใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นแนวทาง ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ต้องเรียนรู้

“ไม่คิดว่ามันเป็นภาระ เพราะผมคิดว่ามันเป็นการพัฒนาตัวเราเอง และมันเป็นการพัฒนาสังคม ไปเจอบางบ้านเขาถามว่ามาทำไม มานั่งพักก่อน บ้างก็หาน้ำให้กิน ตรงนี้มันเป็นกำลังใจที่ดีมากๆ”

เส้นทางสู่ลายแทงน้ำตาลมะพร้าวท่าคา

หลังจากเก็บข้อมูล ทีมวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้วิถีชีวิตอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวให้กับเด็กและเยาวชนในตำบลท่าคา และโรงเรียนถาวรานุกูล ซึ่งทีมสรุปผลของการทำกิจกรรมว่า ไม่น่าประทับใจเท่าไร เนื่องด้วยทีมไม่พร้อม เพื่อนในทีมไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผน เด็กๆ ในพื้นที่ส่วนหนึ่งมีความรู้ในเรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่แล้ว อีกทั้งกระบวนการจัดกิจกรรมเน้นการบรรยาย ซึ่งน่าเบื่อเกินไปสำหรับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีสร้างบรรยากาศให้เพลิดเพลินด้วยการพาลงเรือเพื่อไปเยี่ยมชมบ้านที่ทำน้ำตาลมะพร้าวในช่วงท้ายก็ตาม อย่างไรก็ดีในกิจกรรมดังกล่าว ทีมได้ขอให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ข้อเสนอแนะต่อการทำน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สะท้อนว่า กระบวนการผลิตหรือเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาคือการขาดแคลนแรงงานขึ้นเก็บมะพร้าว ซึ่งเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตราย และคนไม่นิยมทำ

แม้การทำกิจกรรมกับเยาวชนจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ เพราะสิ่งที่ได้มีแค่ความคิดเห็น แต่ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องความตระหนักถึง “คุณค่า” ของน้ำตาลมะพร้าว เพราะขาดการประชุมวางแผนร่วมกันของทีมงาน “เวลาทำกิจกรรมเสร็จเราก็มีการสรุปบทเรียน วันนั้นก็สรุปบทเรียนกันตรงนั้นเลย ผมกับปีขาลมีปากเสียงกันนิดหน่อย เรื่องไม่ได้วางแผนกัน ทำไมตกลงกันไม่ได้ ทำไมไม่ไปประชุม” นัดเล่าถึงความขัดแย้งในทีมและสะท้อนบทเรียนการทำกิจกรรมว่า

“ถ้าจะทำใหม่ อย่างแรกพวกผมต้องมานั่งคุยกันก่อน ผมค่อนข้างออกแนววิชาการไปนิด พวกนี้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร มันเลยกลายเป็นการบรรยายไป ถ้าจะให้จัดอีกครั้งต้องดึงทุกคนมาร่วมกันให้ได้ แต่ที่แน่ๆ ผมรู้ตัวเองว่า ผมไม่ถนัดทำงานกับเด็ก”

ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จจากการจัดกิจกรรมกับเด็กๆ แต่ก็ไม่ท้อ พี่เลี้ยงโครงการเองก็ยังให้กำลังใจ ทีมวิเคราะห์แล้วว่า จำเป็นต้องหาเครื่องมือใหม่ที่จะสื่อสารกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ปีขาลซึ่งมีความรู้และทักษะทางด้านการทำหนังสั้น จึงอาสาทำการ์ตูนเพื่อเล่าเรื่องราวของการทำน้ำตาลมะพร้าว โดยมีเพื่อนๆ ช่วยกันรวบรวมข้อมูลป้อนเป็นวัตถุดิบทางด้านเนื้อหา ด้วยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการเผยแพร่ความรู้สู่กลุ่มเด็กเยาวชนในพื้นที่

“การทำการ์ตูนไม่ใช่กิจกรรมที่อยู่ในแผน เป็นกิจกรรมที่งอกออกมา แต่เราก็จะทำ เพราะน่าจะเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ดี” ปีขาลเล่า

วันแห่งความสำเร็จ

และแล้วผลของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างละเอียดก็ทำให้ทีมภาคภูมิใจ เมื่อทีมเดินหน้าจัดกิจกรรมกับผู้ใหญ่ โดยเชิญผู้ประกอบการน้ำตาลมะพร้าวในพื้นที่เข้าร่วมประชุม เพื่อระดมความคิดเห็นหาแนวทางพัฒนาอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวให้คงอยู่คู่สมุทรสงครามต่อไป ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจาก อบต. และนักวิชาการในจังหวัด ที่เห็นความสำคัญของโครงการที่ดำเนินงานโดยเยาวชนเป็นอย่างดี

นัดเล่าว่า พวกเขาประสานกับ อบต. ให้ช่วยกระจายข่าวให้ บรรยากาศในวันนั้นคึกคักมาก นายก อบต. ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน นอกจากนี้ยังมีคุณอาคม จันทรกูล รองธรรมาภิบาล ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ยินดีมาเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องสถานการณ์ภาพรวมน้ำตาลมะพร้าวของจังหวัด และให้แนวคิดเรื่องการทำสหกรณ์

นัดเล่าต่อว่า เขาใช้ความรู้และประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรมของสถาบันพระปกเกล้า มาปรับใช้ในการจัดเวทีสานเสวนา เพราะอยากให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้เรื่องการตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผล ไม่ใช่การโต้แย้ง (debate) เพราะถ้าเถียงกันวันหนึ่งก็ไม่จบ เลยใช้วิธีสานเสวนาเพื่อค่อยๆ เกลี่ยการทำงานในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมไปสู่การระดมความเห็นต่อแนวทางพัฒนาอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวต่อไป

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทีมค้นพบว่า กลุ่มผู้ใหญ่มีความพร้อมในการรับข้อมูลเชิงวิชาการมากกว่าเด็กเยาวชน ผลลัพธ์ของการจัดกิจกรรมทำให้ อบต.ท่าคา รับเรื่องที่จะผลักดันสนับสนุนผู้ประกอบการน้ำตาลมะพร้าวในการสร้างแบรนด์ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้เท่านั้น ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการขานรับการรวมตัวเป็นสหกรณ์ โดยคาดหวังว่าจะเข้ามาช่วยในด้านการรวบรวมผลผลิตไปจำหน่าย

สำหรับกิจกรรมช่วงท้ายของโครงการคือ นำข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมจากผู้ประกอบการในพื้นที่ มาทำเป็นแผนที่เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งตั้งใจทำเป็นแผนที่แสดงที่ตั้งของผู้ประกอบการน้ำตาลมะพร้าว แสดงพิกัดเป็น GPS โดยร่างเป็นแผนที่เดินดินก่อน จากนั้นจะลงโปรแกรม Q-GPS ถ้าเสร็จก็จะเอาไปลงในเว็บไซต์ของ อบต. หรือเพจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัด

เรียนรู้...อย่างที่ไม่เคยเรียนรู้

แม้การทำงานจะไม่ครบทีม แต่ยังดีที่มีเพื่อนต่างทีมเข้ามาช่วย โดยเฉพาะกลุ่ม Chip munk ที่ต่างสลับกันไปช่วยเหลืองาน รวมทั้งบรรยากาศที่ชวนอึดอัดในช่วงแรกจากความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นกับพี่เลี้ยงโครงการ และความสัมพันธ์ภายในทีมที่เมื่อทำงานก็ค้นพบว่า แต่ละคนมีตัวตนและความคิดที่แตกต่างกัน นัดและปีขาลต่างเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูง บ่อยครั้งที่ 2 คนนี้ถกเถียงกันด้วยเห็นต่าง พีทที่เป็นคนกลางก็ต้องคอยห้ามทัพ โดยการบอกให้เปลี่ยนเรื่องคุย ความสัมพันธ์ในทีมเริ่มลงตัวเมื่อมีการแบ่งหน้าที่ตามความถนัด ทำให้ต่างคนต่างมีพื้นที่เฉพาะตัวให้แสดงความสามารถ

“แต่ละคนมีตัวตนและความคิดที่แตกต่างกัน นัดและปีขาลต่างเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูง บ่อยครั้งที่ 2 คนนี้ถกเถียงกันด้วยเห็นต่าง พีทที่เป็นคนกลางก็ต้องคอยห้ามทัพ โดยการบอกให้เปลี่ยนเรื่องคุย ความสัมพันธ์ในทีมเริ่มลงตัวเมื่อมีการแบ่งหน้าที่ตามความถนัด ทำให้ต่างคนต่างมีพื้นที่เฉพาะตัวให้แสดงความสามารถ”

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทีมก้าวข้ามได้ แต่สิ่งที่รู้สึกว่า ทำให้เกิดอาการท้อแท้ที่สุด คือ การที่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ รวมทั้งการทำงานกับกลุ่มเยาวชนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จดั่งใจ กระนั้นทีมก็ยังพึงพอใจกับผลงานที่ผ่านมา เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่สมาชิกทีมได้เรียนรู้คือ การทำงานร่วมกัน ที่จากตอนเริ่มต้นต้องฝืนใจร่วมทีม เพราะต่างคนต่างทัศนคติ การที่ร่วมทีมทำงานด้วยกันจนมาถึงที่สุด จึงเป็นความสำเร็จรวมกันของทุกคน

นอกจากได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีมอย่างมากแล้ว แต่ละคนยังเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยเช่นกัน หนุ่มบอกว่า เขากล้าแสดงออกมาขึ้น มีความคิดเป็นของตนเองมากขึ้น การทำงานโครงการนี้เป็นการเปิดโลกกว้างสำหรับเขา เพราะปกติหนุ่มไม่เคยออกนอกเส้นทางไปไหนๆ ชีวิตประจำวันคือ จากบ้านถึงโรงเรียน จากโรงเรียนถึงบ้าน

ส่วนปีขาลบอกว่า พัฒนาตนเองในเรื่องการแบ่งเวลาให้ถูกต้อง

สำหรับพีทแล้ว การได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านเป็นสิ่งที่สนุกและน่าตื่นเต้นสำหรับเขา “ผมว่าผมได้ความรู้เรื่องน้ำตาลมะพร้าวมากขึ้นมากๆ อย่างต้นพะยอมที่เขาบอกว่าเป็นสารกันบูดธรรมชาติ ผมไม่เคยรู้มาก่อน ก็ได้มารู้ เป็นความใหม่สำหรับผม และมันเป็นอะไรที่สนุก amazing สำหรับผม ต้นไม้แค่ต้นหนึ่ง หรือก้านหนึ่งสามารถใช้เป็นสารกันบูดได้เลยหรือ มันสุดยอดมาก การทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นเอกลักษณ์ มันคลาสสิกดี ผมชอบ“

ทั้งนี้พีทบอกว่า สิ่งที่ชอบที่สุดในการเปลี่ยนแปลงของตนเองคือ การเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่มักอยู่ในโลกส่วนตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร นอกจากนี้ประสบการณ์ในการทำโครงการยังสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนวิชาการศึกษาอิสระหรือ IS ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ด้านนัดมีมุมมองว่า โครงการนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะการทำงานกับชาวบ้าน ซาบซึ้งกับบทเรียนในการทำงานกับเด็ก และการทำงานกับผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญในฐานะหัวหน้าทีม เขาได้เรียนรู้เรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

“ทักษะที่ผมได้ฝึก คือ ทักษะการพูด การสอบถาม เหมือนเราได้เป็นวิทยากรกระบวนการ โอกาสมันหาได้ยากที่จะมายืนพูด ชวนให้คนหลายๆ คนมาคุยกันโดยไม่ตีกัน เป็นสิ่งใหม่ที่ได้ลองทำ” นัดเล่าถึงโอกาสที่ได้รับอย่างตื่นเต้น

วันนี้แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่สามารถกระตุ้นจิตสำนึกของเด็กเยาวชนในการเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าวได้อย่างใจ แต่ทีมก็หวังว่า แผนที่แสดงการทำอาชีพน้ำตาลมะพร้าวของชาวสวนในตำบลท่าคา จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเผยแพร่ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าวให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น การได้ทำงานสัมผัสกับของจริงในท้องถิ่น “ปลุกสำนึกตื่นรู้” ในใจของทีมงานให้เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งที่ศึกษา อันเป็นประสบการณ์ที่จะตรึงใจสมาชิกในกลุ่มตราบนานเท่านาน


โครงการสำรวจท่าคาตามหาน้ำตาลมะพร้าว

พี่เลี้ยง :

ทีมงาน :

  • ชมน์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ 
  • ชาตรี ลักขณาสมบัติ
  • ขันติพงษ์ กาวิละใจ 
  • ธรรมนธี สุนทร
  • ทวีพร คำสอน